คุยกับรองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ - Urban Creature

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ Urban Creature ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับ ดร.ยุ้ย-ผศ. ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หนึ่งในหัวหอกสำคัญของทีมนโยบายของชัชชาติ รวมถึงพูดคุยกับชายผู้ควบตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. และบุรุษผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีอย่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในช่วงก่อนเลือกตั้งมาแล้ว

ครั้งนี้ก็ถึงคราวของ ‘ศานนท์ หวังสร้างบุญ’ รองผู้ว่าฯ กทม. ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่จับพลัดจับผลูขึ้นมาดำรงตำแหน่งในวัย 33 ปี หลังได้รับการชักชวนจากชัชชาติในคืนวันประกาศผลเลือกตั้งที่คะแนนเริ่มทิ้งห่าง ให้ดูแลสำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว รวมไปถึงการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร หรือเรียกรวมๆ ก็คือการดูงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นหลัก 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

ทว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศานนท์ได้มาทำงานด้านนี้ เพราะหลายปีที่ผ่านมา เขาทำงานขับเคลื่อนเมืองและซัปพอร์ตชุมชนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายภาคประชาสังคม SATARANA (สาธารณะ) ที่ทำงานเรื่องการพัฒนาเมือง และ Mayday กลุ่มผู้ออกแบบปรับปรุงป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ 

ถึงอย่างนั้น การย้ายฝั่งจากภาคประชาสังคมเข้าสู่ระบบราชการก็ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายศานนท์เป็นอย่างมาก และทำให้เขาได้เข้าใจและมองเห็นสิ่งใหม่ๆ จากมันอยู่ไม่น้อย ทั้งข้อจำกัดของระบบราชการที่มีขั้นตอนยุ่งยากจำนวนมาก งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด หรือการไม่มีเวลาปรับตัวเพราะต้องเริ่มต้นทำงานทันทีหลังจากได้รับตำแหน่ง

คงไม่ผิดนักถ้าหากจะยกให้เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. อีกคนที่ทำงานหนักไม่แพ้ผู้ว่าฯ กทม. เพราะขนาดช่วงที่เราขอสัมภาษณ์ ก็แทบต้องแย่งชิงเวลาอันน้อยนิดที่แน่นขนัดไปด้วยตารางการทำงานของเขา ตรงตามสโลแกน ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ อย่างแข็งขัน นับว่าเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ชาวกรุงเทพฯ กลับมามีรอยยิ้มอีกครั้งในช่วงนี้เลยก็ว่าได้

หลังจากเข้ารับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. มากว่า 1 เดือนแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง

ไม่มีเวลาให้คิดเลย พอเข้ามารับตำแหน่งก็วิ่งเลย (หัวเราะ) แต่ก็รู้สึกสนุกกับงานนะเพราะตัวเนื้องานเป็นความสนใจของเราตั้งแต่แรก เราแค่เปลี่ยนที่ทำงาน แต่เรายังทำเรื่องเดิมที่เคยทำมากว่า 10 ปีตั้งแต่เรียนจบ

เป็น 1 เดือนที่เรามาทำความเข้าใจระบบว่าภาครัฐเขามีอำนาจ มีกรอบความคิด หรือระเบียบแบบแผนอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ และโครงสร้างการทำงานของภาครัฐในฝั่งที่เราไม่เคยเข้าใจ แล้วก็ได้มาทำงานกับพี่ๆ หลายคนที่เราเคยรู้จักกันข้างนอก ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นฝั่งตรงข้ามกันด้วยซ้ำ

คุณค่าอะไรที่คุณใช้ยึดถือเวลาตื่นไปทำงานแต่ละวัน

มันคือภาพที่เราอยากเห็นมาแต่เดิม และอยากทำให้เกิดขึ้นจริง พูดง่ายๆ คือการยึดถือเป้าหมายของ ‘ประชาชน’ เป็นหลัก

โชคดีที่งานที่เราทำเป็นงานเกี่ยวกับมนุษย์หมดเลย ไม่ได้ทำเรื่องระบายน้ำหรือแก้ปัญหารถติด ถึงแม้จะย้ายฝั่งจากภาคประชาชนมาอยู่ในภาครัฐ แต่เราก็ยังทำงานกับกลุ่มเดิมอยู่ เลยต้องยึดความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง แล้วมาปรับข้างในให้ตอบโจทย์ประชาชนมากกว่า ทำยังไงให้ภาครัฐตอบสนองเขา ไม่ใช่ว่าเข้ามาแล้วกลายเป็นลืมไปว่าประชาชนต้องการอะไร 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

ความยาก-ง่ายของการทำงานเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. แตกต่างจากตอนที่คุณทำงานเป็นนักธุรกิจและขับเคลื่อนชุมชนยังไงบ้าง

ปกติเราทำงานกันแบบ Co-creation (ระดมความคิด) แต่ระบบราชการมีความ Hierarchy (ลำดับขั้น) มาก เลยไม่ค่อยคุ้นเท่าไหร่ เวลาประชุมเราอยากได้ความคิดเห็น แต่ข้าราชการเขาต้องการให้เราสั่งลงไปเลย ก็ต้องมาจูนกันว่าวัฒนธรรมที่เราอยากให้เป็นมันเป็นยังไง

เพราะบางทีเรามาด้วยอุดมคติ เขามาด้วยประสบการณ์ ดังนั้นเขาจะรู้ว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ ปัญหาคืออะไร เลยต้องปรับกันใหม่ ทำยังไงให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียขึ้น การสั่งงานอย่างเดียวไม่ใช่คัลเจอร์ที่เราถนัด ผมเชื่อว่าเราจะไม่สามารถหาไอเดียที่ดีได้ หากไม่เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

พวกเราสิบกว่าคน เข้ามาในองค์กรที่เขามีอยู่เดิม เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่มาถึงแล้วจะรื้อนู่นนั่นนี่ได้เลย สิ่งที่เราทำคือทำความเข้าใจข้อดีและคุณค่าที่มีอยู่ในตัวองค์กรว่าอะไรที่เราเติมเต็มได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องครีเอทีฟ ความสนุกในการทำงานใหม่ๆ

โชคดีที่ก่อนหน้านี้เราทำงานกันค่อนข้างละเอียด มีนโยบาย 216 โครงการอยู่ก่อนแล้ว เหลือแค่ต้องเอา 216 โครงการมาต่อเข้ากับโครงการเดิมที่เขาทำไว้ ถ้าไม่มีเลยคงจูนยากมาก อาจจะโดนกลืนไปเลย เพราะทุกโครงการเขาทำกันมาเข้มข้นแล้ว

แล้วเจออุปสรรคอะไรที่ไม่คาดคิดมาก่อนไหม

เรื่องเงิน (หัวเราะ) แล้วก็ไม่ค่อยมีทีมเท่าไหร่ เมื่อก่อนเราจะรู้มือคนที่เราทำงานด้วย แต่ตอนนี้ต้องทำงานกับข้าราชการที่เขาทำงานมาก่อน ก็ต้องปรับจูนกันใหม่ ปกติกว่าจะเริ่มงานต้องใช้เวลานิดหนึ่งใช่ไหม แต่อันนี้เราต้องเริ่มเลย เพราะมีงานจ่ออยู่เต็มไปหมด ไม่มีเวลาจะละลายพฤติกรรมกับทีม

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

เรื่องอายุที่น้อยเป็นอุปสรรคในการทำงานราชการด้วยหรือเปล่า

มีแหละ แต่ระบบราชการมันมีความเป็นแนวตั้ง ต่อให้เป็นเบบี๋อยู่ข้างบน ข้างล่างก็ต้องทำตามอยู่ดี แต่ประเด็นคือการสร้างความมีส่วนร่วมของข้าราชการ เราอยากให้เขาช่วยคิด ไม่ได้ให้เขาทำตาม อยากให้เกิดการร่วมมือกันมากขึ้น เพราะเราอาจมีแนวคิดการพัฒนาเมืองที่ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าแลกเปลี่ยนกันได้ก็เป็นเรื่องที่ดี 

คิดเห็นอย่างไรกับระบบราชการที่คนมองว่าช้า ซับซ้อน และยุ่งยาก 

ก็ต้องเปลี่ยน จากเดิมที่ถ้ามีเรื่องร้องเรียนต้องโทร 1555 แล้วกว่าจะรับเรื่องไปถึงสำนักที่เกี่ยวข้องต้องใช้เวลานาน ก็ปรับมาใช้ Traffy Fondue ที่ตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไป อย่างตอนนี้เราเอา AI มาช่วยดูว่าถ้าเป็นถนนใหญ่ให้ตัดเข้าสำนัก ถ้าเป็นถนนย่อยให้ตัดตรงเข้าเขต ซึ่งเป็นตัวอย่างการตัดขั้นตอนของหน่วยงานรัฐ ใช้เวลาน้อยลง 

อีกสิ่งที่เราทำคือ ให้ทีมไปดูระเบียบการจองสวนสาธารณะ เพราะจริงๆ แล้วคนทั่วไปจัดดนตรีในสวนไม่ได้นะ เนื่องจากมีข้อระบุไว้ว่าการใช้เครื่องเสียงในสวน ต้องเพื่อการออกกำลังกายเท่านั้น แต่พอเราจัดดนตรีในสวน มันก็ไปเปลี่ยนข้อบัญญัติบางอย่างกลายเป็นว่าถ้า กทม.ร่วมจัดก็ทำได้

ตอนนี้เลยกำลังพัฒนา ‘แพลตฟอร์มพื้นที่สาธารณะ’ ที่ใครอยากถ่ายวิดีโอ ถ่ายภาพยนตร์ หรืออยากทำกิจกรรมอะไรในสวน ก็เลือกสวนสาธารณะ และเวลาได้เลย เหมือนการจองโรงแรม เป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนกระบวนการของราชการ ไม่เอาข้อจำกัดของราชการเป็นตัวตั้ง แต่ต้องยึดประชาชนเป็นหลัก และต้องง่ายด้วย 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

มีโครงการไหนอีกไหมที่คุณอยากทำ เพื่อแก้ไขปัญหาเมือง

โครงการที่เราทำแล้วและเป็นสิ่งที่ผมอยากทำมาตลอดคือ ‘Open Bangkok’ คนอาจมองว่าเป็นการ Open Data อย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วมันเป็นการ Open Innovation ด้วย อย่างในไต้หวันเขาจะมี Secutech มาช่วยกันคิดหาทางออกใหม่ๆ ให้กับเมือง สมมติเราโยนเรื่องแผงลอยลงไป ก็จะมีผู้ใช้งานแบบไม่ระบุตัวตนมาแสดงความคิดเห็น พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน 

ดังนั้น อะไรที่เป็นอุปสรรคของ กทม. เราจะเอากลุ่มคนที่เขาเชี่ยวชาญมาช่วย Shortcut ให้กับบริการเมือง มาแก้โครงสร้างภายใน ถ้ามันเวิร์ก มีประชาชนหนุนหลัง ยังไงกรุงเทพฯ ก็ต้องเปลี่ยนอยู่แล้ว

อยากให้เล่าถึงแผนคร่าวๆ ของนโยบายและการปฏิบัติงานที่อยู่ภายใต้งานด้านการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวที่คุณรับผิดชอบ

ถ้าเป็นระยะสั้นคงเป็นการจัดกิจกรรมให้ต่อเนื่อง แต่ถ้าเป็นระยะยาวก็ต้องคิดในเชิงเศรษฐกิจให้มันทะลุ ไปคิดร่วมกับหน่วยงานอื่นอย่างกระทรวงวัฒนธรรมหรือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของรัฐบาลว่าเราจะทำอย่างไร ต้องทำการบ้าน ดูว่าในเมืองของเรามีอะไรที่จะดึงดูดคนให้เข้ามาได้บ้าง

อย่างการศึกษา เรารู้สึกว่าโรงเรียนในกรุงเทพฯ มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีเลย ทั้งที่มีคุณภาพ เราเลยอยากสร้างความเชื่อมั่นว่าโรงเรียนใน กทม.ไม่ได้แย่ อยากยกระดับภาพลักษณ์ของการศึกษา ทำยังไงให้เด็กนักเรียนเลือกมาโรงเรียนใน กทม. การบอกว่าเรียนโรงเรียนฟรีมันไม่ได้ดึงดูดเสมอไป เพราะถึงประชาชนบางคนอาจไม่ได้มีเงินเยอะ แต่เขาก็ยอมจ่ายให้โรงเรียนเอกชน ซื้อสภาพแวดล้อมกับสังคมให้ลูก เราเลยต้องมาปรับกันว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องว่าฟรีแล้วดี แต่เป็นเรื่องของแบรนดิ้ง ทำยังไงให้คนเชื่อถือ

เรื่องของการศึกษานอกระบบก็เช่นกัน สิ่งที่ต้องทำคือ สร้างการศึกษาคู่ขนานรองรับ ให้เหมาะสมกับเขาที่หลุดออกมาจากระบบ เผลอๆ การแข่งขันทางเลือกนี้อาจเป็นตัว Disrupt ให้การศึกษาในระบบต้องปรับด้วยซ้ำ

สำหรับการพัฒนาสังคมก็เป็นเรื่องระยะยาวพอสมควร แต่ถ้าทำได้ไวๆ อาจเป็นเรื่องเศรษฐกิจ อย่างโครงการ Bangkok Brand ที่เป็นสินค้าชุมชนที่คัดเกรด เราจะมาดูว่าสามารถส่งเสริมอะไรได้บ้าง

ส่วนมิติของการคืนความสุข เปิดพื้นที่ต่างๆ เราก็ต้องทำไปด้วย อย่างกิจกรรม Music in the Park ก็เป็นการสร้างรอยยิ้ม แล้วเดี๋ยวเราจะมี Art in the Park กับ Film in the Park รวมถึงกิจกรรมที่ Niche ขึ้นอย่างกิจกรรมตามห้องสมุด กิจกรรมกีฬาที่อยากจัดแข่งขัน เพื่อสร้างรอยยิ้ม สร้างความหวังให้คนในเมือง

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

แล้วไอเดียนโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาล เกิดขึ้นได้ยังไง

ไอเดียแรกคือ จะทำยังไงให้คนออกมาเฉลิมฉลองหรือใช้พื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น หลังจากไม่ได้ใช้พื้นที่สาธารณะมาเกือบ 3 ปี ซึ่งจริงๆ มีหลายกลุ่มที่เขาจัดกิจกรรมอยู่แล้ว เราเลยใช้โอกาสนี้ทำและช่วยประชาสัมพันธ์ว่ามีพื้นที่กลางแจ้งที่สามารถมาใช้ได้

อีกทั้งกิจกรรมส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นโดยเอกชน หรืออย่างมากก็เป็นรัฐบาลจัด แต่ในฐานะกรุงเทพฯ มันไม่ได้มีการรณรงค์อย่างชัดเจน กิจกรรม 12 เดือน 12 เทศกาลเลยเป็นเหมือนการกำหนดธีม ดูว่าเราอยากช่วยโปรโมตเรื่องอะไร ซึ่งตอนทำนโยบายเราก็คิดกันเร็วๆ เดี๋ยวคงมีการกำหนดตัว 12 เทศกาลใหม่ให้เหมาะสมกับงบประมาณที่มีและความร่วมมือจากส่วนอื่นๆ

อย่างตอนแรกเดือนนี้เราวางให้เป็น ‘ภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ’ แต่ว่าทำไม่ไหวเลยเปลี่ยนเป็น ‘กรุงเทพฯ กลางแปลง’ แทน เอาหนังที่มีฉากในกรุงเทพฯ ไปฉายในสถานที่นั้นๆ อย่าง รักแห่งสยาม ก็จัดที่สยาม ให้มันมีกิมมิก ส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังให้เดินต่อได้ อีกแง่หนึ่งคือเรื่องของเศรษฐกิจ การจัดอีเวนต์แบบนี้เป็นการพาผู้คนไปอยู่ในที่ต่างๆ ทำให้ร้านค้าที่อยู่ตรงนั้นได้ประโยชน์จากงานด้วย 

สิ่งสำคัญของการทำอีเวนต์แบบนี้คืออะไร แล้วจะทำยังไงให้อีเวนต์ไม่ใช่แค่การจัดงานแล้วจบไป

โจทย์มันไม่ใช่แค่เรื่องเทศกาลอย่างเดียว แต่เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมหนึ่งอุตสาหกรรมต้องทำอย่างไร อย่างที่กำลังจัด กรุงเทพฯ กลางแปลง เราได้คุยกับคนในแวดวงภาพยนตร์มาแล้ว รู้สึกว่าการที่จะยกระดับทั้งอุตสาหกรรมมันเป็นเรื่องยาว งั้นเอาสัก Pain Point หนึ่งมาทำในเดือนนี้กันก่อนดีกว่า นั่นก็คือเรื่องของการเปิดพื้นที่เพราะอย่างน้อยเราทำได้ แต่ถ้าเราจัดกิจกรรมแล้วจบไปมันก็ไม่มีความหมาย หัวใจของมันคือการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยต่อไป

คิดว่าทุกเทศกาลที่จะทำก็น่าจะเป็นลักษณะเดียวกัน อย่างแวดวงหนังสือเขาก็มีปัญหาเยอะ เราเลยชวนว่างั้นเดือน 10 จัดมหกรรมหนังสือไปก่อน แต่เดือน 3 ปีหน้า เราอยากให้มีการสร้างย่านหนังสือ แทนที่จะจัดในฮอลล์แล้วเก็บของกลับ เพราะการจัดงานในบางพื้นที่อาจสร้างภาพจำให้ย่านนั้นๆ กลายเป็นย่านหนังสือเลยก็ได้

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

ถึงจะเป็นอีเวนต์ระยะสั้นแต่การจัดงานสเกลนี้ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ อยากรู้ว่าทำงานยังไง มีใครเข้ามาช่วยในส่วนนี้บ้าง

พูดตามตรงว่าเราไม่มีนโยบายที่จะทำอะไรใหญ่โตมากไปกว่าการส่งเสริมระดับเส้นเลือดฝอยให้ขึ้นมามีผลประโยชน์ด้วย แต่ก่อนเวลา กทม.จะทำอะไรก็ต้องลงมือทำเอง แต่ถ้าเราเปลี่ยนจาก Push เป็น Pull ดึงความร่วมมือเข้ามา แล้วช่วยกันซัปพอร์ตด้วยการหาทีมครอบ ก็จะทำให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย 

ฟังดูเหมือนเล็กนะ แต่เปลี่ยนวิธีคิดเยอะมาก เปลี่ยนให้ความคิดสร้างสรรค์มันเบิกบาน แทนที่เราจะไปดูว่า กทม.ทำอะไร ผมก็จะถามว่าคุณอยากทำอะไร ประชาชนอยากทำอะไร แล้ว กทม.จะช่วยได้อย่างไร

พอมีการจัดกิจกรรมในเมือง กรุงเทพฯ ก็ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมา คนมีหวังมากขึ้น คุณมองปรากฏการณ์นี้ยังไงในฐานะรองผู้ว่าฯ

ผมว่าเมืองไม่ได้เปลี่ยนไปเยอะ แต่เราต้องทำให้คนรู้สึกมีความหวังกับเมือง ถ้าไปดูเมืองที่เราว่าดีอย่างยุโรปหรืออะไรก็แล้วแต่ คนก็รู้สึกว่ามีปัญหาเหมือนกัน อย่างออสเตรเลียเขาก็ไม่พอใจในบ้านเขา แต่ถามว่าปัญหาอะไรที่ใหญ่ที่สุด เขาบอกว่ามันคือการที่คนไม่เชื่อมต่อกัน ในขณะที่ของเรายังเป็นเรื่องปัญหาท่อระบายน้ำ น้ำท่วมอยู่เลย

หน้าที่ของผู้บริหารจึงเป็นการสร้างความหวังให้คนในเมือง แล้วก็มาร่วมกันพัฒนา ซึ่งอาจารย์ชัชชาติใช้วิธีนี้ แกพยายามจะทำให้คนเห็นว่าเราไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น แกไปดูโรงขยะ ไปดูน้ำท่วม มันคือการบอกว่าเราต้องการพยายามแก้ปัญหา อยากทำให้มันดีขึ้นจริงๆ สร้างความตระหนักให้คนรับรู้ว่าผู้บริหารหรือข้าราชการทุกคนเขาก็อยากทำให้มันดีเหมือนกัน

เป็นไปได้ อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดขึ้นในเมืองก่อน

ผมคิดว่าต้องเป็นเรื่องของกลไก ความคิดสร้างสรรค์มันมีอยู่แล้วและไม่เคยหายไป นับวันมันยิ่งเติบโต แต่สิ่งที่ไม่เคยมีคือกลไกที่รัฐจะฟังเสียงคนจริงๆ สิ่งที่ต้องทำให้ได้ภายในเร็ววันนี้ คือการสร้างกลไกให้ประชาชนมีอำนาจ มีสิทธิ์มีเสียงในย่านของเขา ทำให้เขาอยากทำงานหรือขับเคลื่อนชุมชน ทำให้เขาเห็นว่าเขาสามารถดูแลบ้านของตัวเองได้

ต่อให้ในอนาคตคนมีอำนาจไม่ใช่เรา แต่กลไกที่ดีมันจะเดินต่อเพื่อเป็นปากเสียงให้คนในพื้นที่ เพราะสุดท้ายเรามาแป๊บเดียวก็ต้องไป

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

บทเรียนที่ได้รับจากการได้รับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ

ชีวิตนี้สอนว่าไม่ต้องวางแผนเลย ชีวิตที่วางแผนไว้มันไม่ตรงสักอย่าง ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้มาอยู่ตรงนี้ ก็เลยไม่ค่อยวางแผนอะไร แล้วไม่รู้ว่าจะอยู่นานแค่ไหนเหมือนกัน ดังนั้นเราก็แค่ต้องทำสิ่งที่อยากทำมานานให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่รู้ว่า 4 ปีนี้จะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยๆ อยากทำให้คนรู้สึกว่าเมืองนี้ยังมีความหวัง และอยากทำให้กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดขึ้นได้จริงๆ เพราะต่อให้เราออกจากตำแหน่งไปแล้วก็ยังมีพื้นที่ให้คนตัวเล็กๆ ได้มีส่วนร่วมในเมือง

สุดท้าย อยากบอกอะไรกับคนกรุงเทพฯ และคนทั้งประเทศไทย

อยากบอกว่า จริงๆ แล้วกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดี ถึงแม้ว่าอยู่ในเมืองนี้อาจจะมีประสบการณ์ทั้งดีและไม่ดี แต่วันนี้เราอยากชวนให้ทุกคนหันมามองมันแบบมีหวัง นำโดยอาจารย์ชัชชาติ ผมเชื่อว่าหลายปัญหาที่มันไม่เคยถูกแก้ไข จะทำได้ในครั้งนี้

ผมคิดว่านี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นใหม่จะมีส่วนร่วมในการทำให้เมืองดีขึ้นได้ และผมก็พร้อมสนับสนุนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็เข้ามาคุยกันได้ และอีกสักพักคงจะมีกลไกที่ทำให้การมีส่วนร่วมเป็นรูปธรรมจริงๆ ไม่ใช่ผ่านคอนเนกชัน

เราสัญญาว่าจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด อย่าเพิ่งหมดหวัง ขอให้มีหวังกับเมืองนี้ต่อไป

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.