ชัชชาติ สิทธิพันธุ์: รอดโควิดได้ ถ้ารัฐเชื่อประชาชน - Urban Creature

ถ้าพูดถึง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วัย 55 ปี บทบาทและหน้าที่ไหนของเขาที่อยู่ในความทรงจำคุณ

นักการเมือง 
อาจารย์ 
วิศวกร 
หรือบุรุษผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี 

ไม่ว่าบทบาทไหน แต่ทุกวันนี้หัวใจของชัชชาติยังคงเต้นเป็นคำว่า “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” จนเป็นที่มาของคำตัวเป้งบนเสื้อยืดสกรีนทีมงานตัวเอง และไม่ใช่แค่งานที่ทำเพื่อส่วนตัวหรอก เพราะทุกๆ งานที่ชัชชาติทำมักมีคนอื่นๆ อยู่ในสมการเสมอ

2 ปีผ่านไป แม้ไม่ได้เห็นเขาในสภา แต่บุรุษคนแกร่งไม่ได้หายตัวไปไหน เขายังขยันลงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เพราะมนุษย์พลังล้นอย่างชัชชาติได้ก่อตั้งกลุ่ม Better Bangkok ขึ้นเพื่อช่วยชุมชนแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญ และนำองค์ความรู้ไปสนับสนุนการพัฒนาคนและพื้นที่อย่างยั่งยืน

Work

ยิ่งในภาวะวิกฤติการณ์โควิด-19 ของไทยทวีความสาหัส จนไม่มีทีท่าจะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ทีม Better Bangkok ยิ่งทำงานหนัก 

ขณะที่ปัญหาโควิดอยู่กับไทยมานาน ถ้ามองแง่โอกาส ภาครัฐน่าจะได้พิสูจน์ตัวผ่านการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผลกลับตรงข้าม ถ้าพูดกันตรงๆ หลายคนส่ายหน้าให้กับการบริหารงานในปัจจุบัน ซ้ำร้ายยังทำให้รอยร้าวระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชนแตกร้าวเกินกอบกู้ โควิดจึงไม่ใช่แค่เรื่องระบบสาธารณสุข 

แต่ปัญหาที่ชัชชาติเห็นชัดเจนคือเรื่องความไว้ใจ ไม่สิ ความไม่ไว้ใจที่รัฐไม่คิดจะมอบให้ประชาชนต่างหาก เมื่อรัฐบาลแก้ปัญหาอย่างไร้แก่น มิหนำซ้ำยังไม่กล้ามอบความไว้เนื้อเชื่อใจให้คนในสังคมร่วมจัดการปัญหา การเปลี่ยนสังคมให้ดีจึงดูเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ 

ถึงอย่างนั้นบทสนทนากับชัชชาติต่อจากนี้ ก็ยังทำให้เรามองเห็นสิ่งที่เรียกว่าความหวัง เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นความหม่นมัวของอนาคตที่รัฐสร้างไว้เท่าภูเขา แต่หากจะมีพรุ่งนี้ที่ดีกว่าได้ เราเห็นมันอยู่ในสิ่งที่ชายคนนี้กำลังขับเคลื่อน 

อาจารย์มักเน้นย้ำเรื่องความไว้ใจกันระหว่างรัฐกับประชาชน สถานการณ์วิกฤติโควิดในประเทศไทยตอนนี้เรื่อง ‘ความไว้ใจ’ สำคัญยังไง 

ผมว่าจริงๆ ความไว้ใจเป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศ รัฐต้องการความไว้ใจจากประชาชน ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องการความไว้ใจจากรัฐ มันต้องไปด้วยกัน ถ้ารัฐอยากให้ประชาชนไว้ใจ ก็ต้องไว้ใจประชาชนก่อน หัวใจคือการเอมพาวเวอร์ เพื่อกระจายอำนาจให้คน ถ้าไว้ใจกันแล้ว เราจะกล้าให้เขาตัดสินใจเอง

ถ้าพูดเรื่องการปกครองมันมี 2 รูปแบบ หนึ่ง ทำด้วยความไว้วางใจ คนจะอยากทำให้คุณจริงๆ หรือ สอง ทำด้วยการบังคับ ซึ่งการทำด้วยความเต็มใจ เป็นสิ่งที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพกว่า เพราะได้มีการแลกเปลี่ยน เหมือนกับบริษัทหนึ่ง ถ้าผู้บริหารอยากให้คนในบริษัทไว้ใจ ก็ต้องเริ่มไว้ใจพนักงาน เมื่อมีการเอมพาวเวอร์ สุดท้ายจะเดินไปด้วยกันได้ ถ้าเราไม่ให้ลูกน้องทำอะไรเองเลย เขาก็จะคิดเองไม่เป็น จะมีแต่ความอ่อนแอ เพราะรอฟังแต่คำสั่ง มิหนำซ้ำยังไม่ได้ทำให้บริษัทเข้มแข็งขึ้น

Politician

แสดงว่าสถานการณ์ที่ผ่านมา อาจารย์สังเกตเห็นว่าความไว้ใจระหว่างคนกับรัฐขาดการเชื่อมโยงกัน

ผมคิดว่าอาจเป็นโครงสร้างการปกครองไทย ที่คนทั่วไปยังไม่มีอำนาจแท้จริง เพราะปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจทุกอย่าง ประชาชนมีหน้าที่ทำตามคำสั่ง ซึ่งจริงๆ แล้ว ภาคประชาชนมีความร่วมมือร่วมใจเข้มแข็ง แต่รัฐไม่ได้เอาพลังตรงนี้มาใช้ 

เท่าที่สังเกตช่วงแรกของโควิด ผมว่ารัฐไม่ไว้ใจประชาชนเท่าไหร่ เขามองประชาชนเหมือนเด็ก ต้องทำตาม ถ้าให้ทำเองจะทำถูกไหม ทำแล้วจะมีปัญหาไหม ซึ่งเมื่อเริ่มมีโควิดเขาก็ยังเชื่อและทำแบบนั้นต่อเนื่องมา แต่ว่าในช่วงหลังก็เริ่มเห็นว่ารัฐมีกำลังไม่พอ สุดท้ายก็ต้องอาศัยเรี่ยวแรงและทุนของประชาชนไปแก้ปัญหา ซึ่งถ้าเกิดมีความไว้ใจกันแต่แรก เชื่อว่ามันจะประสานกำลังได้เข้มแข็งมากกว่านี้ครับ

ถ้าอาจารย์ประเมินสถานการณ์โควิดตอนนี้ บาดแผลของประเทศจะเลวร้ายลงไปมากแค่ไหน 

ขึ้นอยู่กับว่าเลือกเดินทางไหน สุดท้ายไอ้โควิดนี่ก็จบลงแน่นอน เหมือนๆ กับโรคห่า โรคอหิวาตกโรคในสมัยก่อน แต่จะจบแบบไหน จะเสียชีวิตเป็นหลักพันหรือหลักล้าน จะทิ้งบาดแผลไว้ และต้องเยียวยาเท่าไหร่ ก็ขึ้นกับการบริหารจัดการ และความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำในปัจจุบันและในอนาคต เช่น ถ้าลุยฉีดวัคซีนคุณภาพเต็มที่ ทำ Home Isolation เร็ว รีบตรวจคนเชิงรุก แยกคนป่วยออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ เราก็ไม่เจ็บหนัก ถ้าเกิดเราเรียนรู้จากประเทศอื่นที่มันมีตัวอย่างการบริหารงานที่ดีทั่วโลก เราจะเห็นว่าเขาผ่านจุดนี้มาแล้ว เลยลดความรุนแรงลงได้ไว เพราะโควิดระลอกนี้ของเรามันมาหลังคนอื่นเขาด้วยไง 

ถ้ามองในแง่การบริหารจัดการงานที่ดี ตอนนี้วิกฤติโควิดกำลังทดสอบศักยภาพของประเทศไทยยังไงบ้าง

ตอนที่โควิดระบาดทั่วโลกช่วงแรกๆ ประมาณเดือนมีนาคมปี 2563 ผมได้ดูสัมภาษณ์ของคุณหมอ Vivian Balakrishnan ท่านเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ หมอวิเวียนพูดเลยว่า โควิดจะเป็นบททดสอบสำคัญของระบบสามระบบในประเทศต่างๆ ถ้าเกิดระบบไม่เข้มแข็ง โควิดมันจะไม่ปรานีใครเลย 

สามระบบที่พูดถึง หนึ่ง คือระบบสาธารณสุข สอง คือระบบบริหารจัดการของภาครัฐ และ สาม คือเรื่องทุนทางสังคมหรือว่า Social Capital เกราะนี้จะเป็นสามขาที่ช่วยพยุงแต่ละประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิดไปได้

พอผ่านไปปีหนึ่ง และจากที่ผมลงพื้นที่มาปีครึ่งนี้ เข้าใจชัดเลยว่า เฮ้ย มันเป็นบททดสอบจริงๆ เรากำลังเห็นปัญหาของทั้งสามระบบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย สองขาแรกคือเรื่องสาธารณสุขกับเรื่องการบริหารจัดการภาครัฐที่กำลังมีปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องของทางฝ่ายบริหารจัดการโดยตรง ซึ่งตอนนี้ประชาชนคงไม่ได้มีส่วนร่วมเท่าไหร่ 

แต่ว่าไอ้ขาที่สามที่เรียกว่า Social Capital หรือทุนทางสังคม ซึ่งคือเครือข่ายของคนในสังคมที่มีค่านิยมร่วม มีการทำงานประสานกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลเป็นประโยชน์ส่วนตัวของแต่ละคนด้วย เพราะถ้าส่วนรวมรอด ส่วนตัวก็รอด เครือข่ายนี้ผมว่าเป็นพลังที่สำคัญมากๆ เพราะขานี้แหละจะเป็นตัวพยุงสองขาแรกได้อย่างเข้มแข็ง เราเห็นกลุ่มคนในสังคมและชุมชนต่างๆ ช่วยเหลือตัวเอง ทั้งกลุ่มคนในชุมชนและกลุ่มอาสาสมัคร 

BTS

จะเห็นว่ามีกลุ่มคลองเตยดีจัง กลุ่มต้องรอด หรือกลุ่มเส้นด้ายที่ออกมาร่วมมือช่วยเหลือกัน หรืออาจจะเป็นกลุ่มที่อยู่บนโซเชียลมีเดียอย่าง Drama-addict หรือ หมอแล็บแพนด้า พวกนี้เป็นพลังทางสังคมที่ปรากฏขึ้นอย่างไม่ต้องร้องขอ พวกเขาไม่ได้พึ่งพาฝ่ายรัฐเลย แต่กลับเป็นขาสำคัญที่ช่วยประคองสังคมอยู่ 

ในจุดนี้ ปัญหาที่มองเห็นคือเรามีทุนทางสังคมพร้อม แต่ภาครัฐไม่ใช้ประโยชน์มากนัก เพราะยังไม่ไว้ใจภาคสังคม ทำให้ศักยภาพตรงนี้ยังไม่ได้ทำงานอย่างเต็มที่

นิยามเข้าใจง่ายๆ ของ ‘ทุนทางสังคม’ หรือ ‘Social Capital’ คืออะไร

Social Capital คือเครือข่ายของคน ประชาชนและภาคเอกชน เป็น Networking ที่มีค่านิยมร่วมกัน ดูแลกันและกัน มีความผูกพัน และมาช่วยเหลือกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จริงๆ แล้วทั้งส่วนตัวและส่วนรวมจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่แสดงถึงความเข้มแข็งของประเทศต่อไปได้

ถ้าหากสองขาแรก ทั้งสาธารณสุขและรัฐบาลอ่อนแอมาก แล้วอย่างนี้ขาที่สามจะแบกรับไหวเหรอ

มันเป็นตัวเลือกที่ประชาชนไม่มีทางเลือก สองขาแรก เราทำและไปมีส่วนร่วมโดยตรงได้ไม่มาก อาจบ่น ติชม ให้คำแนะนำ และวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ปฏิบัติการของขาที่สามนี่แหละจะไปกำกับสองขาแรก สุดท้ายถ้าประชาชนเข้มแข็ง จะสะท้อนกลับไปถึงการบริหารจัดการภาครัฐได้ดีขึ้น

หลายๆ อย่างที่เราเห็นกันตอนนี้ การปรับวิธีการจัดการมาจากการรวมพลังของขาที่สาม เป็นเสียงสะท้อนกลับไปว่าเราไม่ไหวแล้วนะ ฉะนั้นขาที่สามเหมือนกระจกส่องให้ขาที่หนึ่งและขาที่สองรู้ว่าตัวเองมีปัญหาจุดไหน ถ้าไว้ใจประชาชนมากขึ้น รัฐจะเห็นปัญหาของการจัดการว่าอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วนำพลังของประชาชนไปช่วยอุดรูรั่วได้ 

อย่างสาธารณสุขไทย มีจุดแข็งที่โรงพยาบาลคุณภาพที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ ในกรุงเทพฯ เรามีเตียงจำนวนสามหมื่นเตียง แต่ปัญหาค้างอยู่ที่เส้นเลือดฝอยซึ่งก็คือชุมชน เพราะฉะนั้นเราเอาชุมชนมาเป็นตัวอุดช่องโหว่ของระบบสาธารณสุขได้ ปรับเพื่อทำงานร่วมกันได้ทั้งสามขา ชุมชนต่างๆ เขาไปช่วยดูแลเรื่องการส่งอาหาร การทำโลจิสติกส์ การส่งยาฟาวิพิราเวียร์ (ยาฟาเวียร์) ได้ หลายๆ องค์ประกอบเป็นตัวที่จะช่วยเสริมกัน ถ้าขาที่สามแข็งแรงมาก ผมว่ามันจะช่วยดึงขาที่หนึ่งกับสองให้ดีขึ้นมาได้

Home Isolation

พูดถึงการลงไปทำงานในพื้นที่ชุมชน 2 ปีที่ผ่านมา อาจารย์ได้เห็นพลังจากทุนทางสังคมแบบไหนมาบ้าง

ในกรุงเทพฯ เรามีชุมชนที่จดทะเบียนแล้วประมาณ 2,020 ชุมชน ซึ่งมีคนอยู่ประมาณสองถึงสามล้านคน หลายแห่งเป็นชุมชนแออัด แต่การที่เขาอยู่รอดได้ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดขนาดนี้ ทั้งด้านรายได้และสาธารณูปโภค ในสภาวะที่ยากลำบาก ผมว่าเขาก็มีความเก่งและเจ๋งระดับหนึ่งเลย เพราะชุมชนต้องคิด Innovation เพื่ออยู่รอดด้วยตัวเองมาตลอด ผมคิดว่าในสถานการณ์ปกติหลายๆ ชุมชนมีองค์ความรู้ที่ดูแลกันและกันได้ ความจริงเป็นจุดแข็งที่ภาครัฐมองไม่เห็น 

อย่างในคลองเตยมีประชากรประมาณเก้าหมื่นคน เลยจะมีอยู่หลายกลุ่ม ผมลงไปดูหลายๆ กลุ่มเลยนะ ตัวอย่างที่จะยกให้เห็นภาพคือกลุ่มมูลนิธิดวงประทีป กลุ่มคลองเตยดีจัง กลุ่มคลองเตยต้องรอด และกลุ่มลูกหลานคลองเตย ซึ่งเข้ามาช่วยกัน กลุ่มเหล่านี้เข้ามาโดยไม่ได้มีความช่วยเหลือจากภาครัฐด้วยซ้ำ 

ถ้าดูอีกกลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มคลองเตยดีจังของคุณครูอ๋อมแอ๋ม จริงๆ แล้วเขาเป็นครูดนตรี เริ่มทำกลุ่มมาตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตอนนั้นอ๋อมแอ๋มเห็นเด็กในชุมชนคลองเตยขาดโอกาส ก็เริ่มสอนดนตรีให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ โดยใช้พื้นที่ตรงโรงฆ่าหมูเก่าในชุมชนเป็นศูนย์บัญชาการ ครูอ๋อมแอ๋มเป็นครู แต่มีความเข้าใจในพื้นที่ เขารักเด็กและเด็กก็รักครู ทำให้เป็นผู้นำของชุมชนได้ 

ตอนที่โรคโควิดมาระลอกแรกปุ๊บ จากที่เป็นครูสอนดนตรีก็เปลี่ยนกลุ่มคลองเตยดีจัง เป็นกลุ่มที่ช่วยเหลือคนในชุมชน ส่งอาหารให้ชาวชุมชน เพราะเขารู้หมดว่าใครป่วย แล้วคนไหนคือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเขาทำเองได้อย่างเข้มแข็ง ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน แต่เราเห็นว่ามันคือทักษะในการอยู่รอด 

ถ้าเกิดเรียกในเชิงการบริหาร มันเป็น Agile Management เขาปรับบริบทให้เข้ากับสถานการณ์ได้ ผมว่ามันมหัศจรรย์ตรงนี้ เราเห็นแล้วประหลาดใจ เขารวมกลุ่มกันในรูปแบบที่มีเด็กประมาณ 10 – 20 คน มีการคุยงานกันทุกๆ เย็น ทำกลุ่มประเมินสถานการณ์ ทำ Flowchart แบบละเอียดว่าจะต้องดูแลคนป่วยอย่างไร แบ่งเป็น Case Manager หรือ Case Worker ร่วมกันทำข้อมูล ส่งน้ำ อาหาร และยา ตอนนี้เขาก้าวไปถึงการทำ Home Isolation ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานสาธารณสุข ดูแลคนป่วยเป็นจำนวนร้อยๆ คน อันนี้สร้างขึ้นมาจากชุมชนเอง ไม่ได้มีภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ผมว่านี่แหละคือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในบริบทชุมชนอย่างแท้จริง 

เห็นว่าวัดสะพานในชุมชนคลองเตยก็ผันตัวมาทำ Community Isolation เป็นแห่งแรกของประเทศด้วย

เจ้าอาวาสวัดสะพาน ท่านเป็นผู้มาก่อนกาลเลย เมื่อสามเดือนที่แล้ว ท่านคิดทำ Community Isolation เพราะเห็นว่าคนป่วยในคลองเตยมีเยอะมาก และกักตัวในบ้านไม่ได้เพราะพื้นที่จำกัด ท่านเลยเอาวัดมาตั้งเป็นศูนย์ Community Isolation พักรอก่อนจะส่งไปโรงพยาบาล

ตอนแรกมีคนคัดค้าน ภาครัฐไม่เห็นด้วย บอกว่าทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อ แต่สุดท้ายท่านจะทำ เพราะท่านเข้าใจสถานการณ์ ปัจจุบันมีคนป่วยโควิดในวัดสะพานจำนวนสี่ร้อยกว่าคน ซึ่งยังระบายออกมาไม่ได้ ถ้าท่านไม่คิดทำก่อนราชการ ผมว่าสถานการณ์ในชุมชนคลองเตยจะหนักกว่านี้ 

นี่คือตัวอย่างความเข้มแข็งในชุมชนที่เข้าใจปัญหาของตัวเอง เขาเข้าใจปัญหาของคนและจิตใจของชุมชนได้ดีกว่าภาครัฐ ซึ่งบางทีคนที่อยู่ข้างบนบริหารแบบ Top Down แต่มันต้องเอา Bottom Up มาทำงานประสานจากล่างขึ้นบนไปมาด้วย เพราะถ้าทำได้มันจะเข้มแข็งและครบทั้งระบบ 

Community Isolation

อย่างกรณีชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือซึ่งเป็นชุมชนแออัดเหมือนกัน เขามีคนติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งคนป่วยเยอะเลย ทำให้ Home Isolation ไม่ไหวแล้ว เพราะฉะนั้นเขาเลยเลือกหนทางที่ง่ายที่สุด ถ้าสังเกตบริเวณใต้ทางด่วนคลองเตย มีที่ว่างอยู่เยอะ คนในชุมชนเลยไปกางเต็นท์ แล้วเอาพาเลตของท่าเรือมาปูเพื่อไม่ให้น้ำท่วมเต็นท์ และมีการกางสแลนรอบๆ ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคกระจายไปที่อื่น เพื่อให้ผู้ป่วยที่แยกจากบ้านไปพักในนั้น แต่ยังมีคนคอยส่งข้าวและส่งอาหารตลอด 

นี่คือแนวคิดที่ชุมชนจะช่วยตัวเองให้รอด แต่พอตั้งปุ๊บมีหน่วยงานของรัฐมาบอกเลยว่าทำไม่ได้นะ มันผิดกฎหมาย ให้กลับไปที่บ้าน ซึ่งจริงๆ การกลับไปยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับชุมชนอย่างมหาศาล นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บริหารงานจากข้างบนอย่างเดียว คุณต้องมาคุยกับคนที่อยู่ข้างล่างด้วยสิว่าจะแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างไร อย่างน้อยต้องช่วยเขาก่อน มันอาจไม่ถูกกฎหมายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าร่วมมือกัน เชื่อว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดีสำหรับทุกคน 

ในกรณีของขาที่สาม เราเรียกพลังของชุมชนเหล่านี้ว่าความหวังของสังคมไทยได้ไหม 

ใช่เลยครับ เครือข่ายเหล่านี้ ถ้าทำให้เข้มแข็งมันอยู่อย่างยาวนาน ยั่งยืนกว่าท่านนายกฯ คณะรัฐมนตรี นักการเมือง ผู้ว่า กทม. หรือ ผอ.เขตเสียอีก เพราะชุมชนส่วนใหญ่ คนต้องอยู่กันตลอดชีวิต ถ้าเราสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง จะเป็นตัวแปรที่ทำให้นโยบายของประเทศมีความต่อเนื่อง เพราะระบบการเมือง คนมาดำรงตำแหน่งแล้วก็หมดวาระไป แต่ชุมชนเขาดูแลกันเองได้ หลายๆ ครั้งเลยที่การเมืองต้องเข้ามาฟังเสียงของชุมชนนี่แหละ เพราะว่าเขามีไอเดียและเข้าใจปัญหา เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าทุนทางสังคมก็เหมือนกับทุนที่เราลงทุนไปกับบริษัทให้พนักงานได้พัฒนาอย่างยั่งยืน

ภาครัฐมองว่าประชาชนเป็นหนี้เขา แต่เขาต้องปรับมุมมองใหม่ว่าคน ชุมชนและสังคมคือทุน พวกเขาคือทรัพย์สินสำคัญที่จะช่วยให้เรารอดพ้นทุกวิกฤติได้ ซึ่งในอนาคตจะมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่ตามมา ทั้งวิกฤติเรื่องที่อยู่อาศัย วิกฤติความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา วิกฤติเรื่องสุขภาพจิต หรือแม้แต่เรื่องเศรษฐกิจ 

เมื่อรวมศูนย์อำนาจไว้ที่คนเพียงกลุ่มเดียว โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด ทำให้เกิดปัญหาอะไร

อย่างเช่นระลอกแรก ตัวรัฐเองก็รวบรวมทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลางหมด ถ้าป่วยก็เข้าโรงพยาบาลศูนย์กลาง ตรวจก็ตรวจที่โรงพยาบาลส่วนกลาง แต่พอมันเกิดวิกฤติขึ้นเนี่ย รัฐทรัพยากรไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงแรกทุกคนต้องไปตรวจ Swab Test ที่โรงพยาบาล อาจใช้เวลาหนึ่งวันถึงสามวัน ทำไมเราตรวจเองที่บ้านไม่ได้ ทั้งที่เมืองนอกมีตัว Rapid Test หรือ Antigen Rapid Test ใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งนานแล้ว แต่ของไทยไม่เคยได้ใช้ ฉะนั้นประชาชนจึงเข้าถึงการตรวจยาก ทำให้ไม่รู้จำนวนผู้ติดเชื้อจริงสักที

เมื่อเราเปิดโอกาสให้คนตรวจเองได้ที่บ้าน มี Rapid Test ให้ประชาชนเข้าถึง ก็ตรวจเองได้เลย พอติดก็ได้เตรียมตัวรักษา ช่วยลดความกังวลของสังคมไปได้เยอะ หรือว่าการทำ Community Isolation การจัดตั้งศูนย์พักคอยเอง ช่วงแรกก็ทำยากมาก เพราะผิด พ.ร.บ.โรคติดต่อ แต่พอเริ่มเห็นปัญหาว่าชุมชนเริ่มไม่ไหว ก็ให้เอกชนมาเริ่มช่วยทำ ซึ่งตอนนี้มีศูนย์พักคอยกระจายอยู่ 50 เขต แต่อาจจะเริ่มช้าไปหน่อย 

Chatchart

Home Isolation ช่วงแรกเราไม่ได้พูดถึงมันเลย มีแต่การพูดถึงว่าต้องหาเตียงและจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ฉะนั้น Mindset ของคนเลยคิดว่าติดโควิดปุ๊บต้องไปนอนโรงพยาบาล แต่จริงๆ เราดูแลตัวเองที่บ้านได้นะ 

โควิดจริงๆ คนส่วนใหญ่หาย ถ้าไปดูตัวเลขสถิติกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ล้วนรักษาหาย แต่ขึ้นอยู่กับว่าให้ยาได้เร็วแค่ไหน จุดนี้จะช่วยให้คนไม่ต้องอยู่ในระดับสีเหลืองกับแดง มันเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ด้วยการกระจายอำนาจลงไป เมื่อไม่จัดการตั้งแต่เนิ่นๆ ผู้ป่วยสีเหลืองและแดงจึงมีจำนวนมาก ทำให้ภาระไปโหลดอยู่ที่บุคลากรทางสาธารณสุข 

อย่างการแจกเงินช่วยชุมชนได้แค่ไหน

การแจกเงินคนละสามพันถึงห้าพันบาท มันเป็นการให้แค่ปัจเจกแต่ละคน ไม่ได้ช่วยสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็ง เพราะไม่มีใครเอาเงินที่แจกมาลงทุนในเครือข่าย แต่ละคนก็ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน แทนที่รัฐจะให้แต่ปัจเจก ก็ควรเอางบประมาณมาลงทุนเพื่อการสร้างเครือข่าย เพราะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมทุนทางสังคมให้มันเข้มแข็งขึ้น 

ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย ผมลงไปในหลายๆ ชุมชน เขามีการทำครัวกลางของตัวเอง โดยจะมีแรงงานแม่ครัวที่อาจว่างงานอยู่มาทำอาหารให้ ซึ่งเขาช่วยกันลงทุนซื้อเตาแก๊ส อุปกรณ์ครัว และวัตถุดิบทำอาหารมาจากตลาด แบบนี้ประหยัดกว่าเยอะ เพราะต้นทุนถูกอยู่แล้ว

People

ปัจจุบันรัฐใช้เงินเยียวยาเป็นหลักล้านล้านบาท แต่เราควรให้เงินทุนลงไปในแต่ละหมู่บ้านเลย เพื่อให้เขาไปดำเนินการเรื่องโควิด สมมติในกรุงเทพฯ มีสองพันกว่าชุมชน ก็ให้ชุมชนละหนึ่งล้านบาท เป็นทุนที่เอาไปให้แก้ไขปัญหาภายใน เราเอมพาวเวอร์ประชาชนได้โดยให้ทรัพยากรลงไปดูแลช่วยเหลือกันเอง เขาอาจต้องการหน้ากาก แอลกอฮอล์ ระบบล้างมือหน้าทางเข้าชุมชน และต้องการการปรับปรุงแก้ไขในด้านต่างๆ 

ผมว่านี่คือแนวคิดหนึ่งที่ใช้เงินน้อยกว่าการแจกเงินรายคน ถามว่าต้องกลัวประชาชนทุจริตไหม ก็อาจจะมีรูรั่วบ้าง เป็นเรื่องปกติ แต่นี่คือความเป็นความตายของคน หรือว่าแทนที่เขาจะแจกเงินทุกคนฟรีๆ เราจ้างงานแทนได้ไหม แทนที่เราจะใช้ระบบอาสาสมัคร ซึ่งมาช่วยกันโดยไม่ได้รับเงินตอบแทน แต่ในระยะยาวคนจะอยู่ไม่รอด เพราะว่าไม่มีใครที่จะมาเสียสละได้ตลอด ข้าราชการที่ลงมาทำเรื่องโควิดยังได้เงินเดือนกันทุกคน 

ฉะนั้นแทนที่จะแจกเงิน เราอาจจ้างงานคนในชุมชน หรือจ้างนักศึกษาจบใหม่มาช่วยด้านการจัดการโควิด เพื่อดูแลคนป่วย เก็บข้อมูล ทำฐานข้อมูลประจำชุมชน แล้วส่งข้อมูลไปที่ส่วนกลางผ่านระบบคลาวน์ จะได้เห็นภาพรวมของทั้งประเทศได้แบบเรียลไทม์ หรือเราทำระบบขนส่งที่ให้คนขับรถเองได้ เขามีรถกระบะเยอะแยะ เพียงแค่ให้เขาปรับแต่งกระบะเพื่อส่งคนป่วยได้ เพราะฉะนั้นแทนที่จะรอรถรับส่งจากโรงพยาบาล เราจ้างให้ในชุมชนนั่นแหละเป็นหน่วยโลจิสติกส์ด้วย

ถ้าสนับสนุนพลังชุมชน เราจะเห็นศักยภาพของพลเมืองและสังคมเพิ่มขึ้นยังไงบ้าง

มองลงไปในแต่ละชุมชน เราไม่ต้องไปหาใครที่ไหนเลย สร้างงานให้คนในชุมชนนี่แหละดีที่สุด ได้เงินและงานด้วย คือได้สองต่อเลย เพราะได้ช่วยระบบเศรษฐกิจด้วย อาจจะให้เครื่องมือตรวจเชื้อประชาชนทุกคนฟรีเลย ก็ต้องกล้าทุ่มเงินไปเลย เพราะนี่คือการสกัดปัญหาที่ต้นทาง 

แทนที่จะไปเสียงบประมาณเป็นล้านล้านบาทเพื่อรักษาคนป่วยที่เกิดขึ้นจำนวนมากทีหลัง เราให้ประชาชนตรวจตัวเองแล้วทำพาสปอร์ตรับรองตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องมาตรวจที่โรงพยาบาล แค่รัฐเอาพลังของประชาชนมาช่วย แล้วมาเน้นที่การสร้างระบบที่ยั่งยืน เราจะได้คนที่เก่งๆ มีทักษะและความสามารถขึ้นมาในชุมชนจำนวนมาก สุดท้ายจะเกิดเครือข่ายคนที่เข้มแข็งขึ้น และคอนเนกชันเหล่านี้จะอยู่คู่สังคม แทนที่จะแจกเงินแล้วสูญหาย ก็จะใช้เงินได้อย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

Disability

ในอนาคต ประเทศไทยควรไปต่อยังไงดี

ถ้ามองไปในอนาคต เราปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ผมคิดว่าโควิดเป็นบททดสอบหนึ่งของประเทศ แต่ไม่ได้เป็นบทสุดท้ายหรอก เพราะก็จะมีปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ เราเคยเจอโรคติดต่อ ภาวะปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือเหตุการณ์น้ำท่วม ได้เห็นเหตุการณ์พวกนี้มาเรื่อยๆ ซึ่งต่างก็เป็นบทเรียน ผมคิดว่าหลังโควิด สังคมจะไม่เหมือนเดิม แต่ต้องดีขึ้นกว่าเดิม แต่ทั้งนี้ต้องใส่ใจประชาชน เพื่อนำทุนทางสังคมมาเป็นแนวร่วมแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศ 

คนไทยยังมีความหวังที่จะรอดวิกฤตินี้ได้อย่างมีสวัสดิภาพไหม

ถ้าในอนาคตรับมือตรงนี้ไม่ดี ไอ้ความไว้วางใจทางสังคมจะน้อยลง อย่างปัญหาการจัดการ ทำให้ความไว้วางใจในหน่วยงานต่างๆ หายไปเลย ทั้งที่ไม่ควรจะหายด้วยซ้ำ พอบุคลากรบางคนหรือบางหน่วยงานออกมาพูด เราก็ไม่เชื่อกันแล้ว 

ในอนาคตเนี่ย ถ้าเราไม่แก้ไข ผมว่ารัฐจะไม่ได้รับความไว้วางใจอีกต่อไป การฟื้นฟูกลับมาจะยากขึ้น และจะกัดกร่อนทุนทางสังคมด้วย สุดท้ายทั้งระบบมันจะล่มสลายลง คนจะกลับไปเห็นแก่ตัวมากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องระวัง แต่ผมยังมีความหวังนะ 

ฉะนั้นคิดว่าอย่าไปหมดหวัง ช่วงนี้ต้องพยายามผ่านจุดนี้ไปให้ได้ เพราะเรายังมีทุนทางสังคมที่พร้อมมารวมกันให้เข้มแข็ง พอวิกฤติผ่านพ้นไป ผมเชื่อว่าเราจะเข้มแข็งขึ้น แล้วจะมีสังคมที่น่าจะดีขึ้นกว่าเดิมด้วย 

Transpotation

มองให้ไกลกว่านั้น เราจะกอบกู้ความไว้ใจที่ต่างชาติมีต่อไทยกลับมายังไง 

ความสามารถในการรับมือโควิดจะสะท้อนถึงประสิทธิภาพของประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของความไว้วางใจของต่างชาติ ไทยเป็นประเทศที่ระบบเศรษฐกิจแข็งนอกแต่อ่อนใน เราเน้นการส่งออกและการท่องเที่ยว มีรายได้เพราะต่างชาติเข้ามาเยอะ ซึ่งรายได้อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าต่างประเทศเขาไว้ใจเราแค่ไหน สมมติว่าการส่งออกของเราเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ประเทศเขา เช่น การทำอะไหล่รถ เรามีส่วนในระบบการผลิตใหญ่ที่มีโรงงานทั่วโลก แต่ถ้าเขาเห็นว่าไทยจัดการเรื่องโควิดได้ไม่ดี อนาคตก็จะไม่อยากซื้อของจากเรา เพราะไม่รู้ว่าโรงงานจะปิดเมื่อไหร่ มีความเชื่อมั่นให้นานาชาติเพียงพอไหม 

ในกรณีของนักท่องเที่ยว เขายังจะกล้ามาเที่ยวเมืองไทยไหม มันมีอะไรรองรับเขาได้บ้างในกรณีที่ติดเชื้อ อย่างล่าสุด Key Index ที่ดูเรื่อง Covid Recovery index ใน 121 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ลำดับ 119 ซึ่งเป็นตัวเลขที่จะต้องระวัง เพราะสะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจในอนาคต หลังโควิด ไทยต้องสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้กลับมา ผมว่าถ้ามียุทธศาสตร์ที่ดี ตัวเลข 119 ไม่ได้น่ากลัว เพราะก่อนหน้านี้ สหรัฐอเมริกาก็อยู่อันดับล่างๆ แต่ปัจจุบันถีบตัวเองไปอันดับหนึ่งแล้ว เพราะแก้ปัญหาโรคระบาดได้ดี ฉะนั้นผมว่าเรื่องความน่าเชื่อถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ต้องรีบสร้าง เพื่อไม่ให้ไทยมีปัญหาในระยะยาว 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา อาจารย์มักเน้นเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยพูดเสมอว่าเราไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทำไมเรื่องพวกนี้ถึงสำคัญขนาดนั้น 

ผมคิดว่าประเทศก็คือคน ถ้าไม่มีคนเท่ากับว่าประเทศก็ไม่ได้มีความหมาย เมืองคือคน เมืองไม่ใช่ตึก ไม่ใช่ถนน และไม่ใช่โครงสร้างพื้นฐานอะไร เพราะฉะนั้นคนคือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะคนคือเมือง ชาติ และประเทศ คนคือหัวใจของการขับเคลื่อนประเทศ เราทุกคนไม่ใช่เครื่องจักร หัวใจของเราคือความผูกพัน เรามีความเอื้ออาทร และดูแลกันและกัน นี่คือพื้นฐานของคำว่าทุนทางสังคม ผมว่าจริงๆ แล้วจุดนี้คือตัวตนของคำว่าชาติ ประเทศ และเมือง 

บางครั้งเวลามองเมือง เราจะไปโฟกัสแค่ถนนหนทาง หรือตึกรามบ้านช่องมากเกินไป แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เมืองคือมนุษย์ เพราะถ้าคนเป็นยังไงก็จะสะท้อนว่าเมืองเป็นแบบนั้น

ที่ผ่านมาเราไปลงทุนกับพวกโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ทั้งทางด่วน หรือรถไฟฟ้า แต่เราลืมไปว่าหัวใจของเมืองไม่ใช่แค่รถไฟฟ้า ถนนหนทาง หรือการมีตึกสูงที่สุดในโลก แต่มันคือประชากรที่อาศัยอยู่ในนั้นด้วย เพราะฉะนั้นผมว่าเราต้องให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับหนึ่งเลย เราต้องเข้าใจชีวิตและจิตใจของเขา เรา Live One Live เพราะคนเรามีเพียงชีวิตเดียว 

ผมว่าการที่เราต้องมาทนทุกข์กับสิ่งที่มันไม่มีประสิทธิภาพ มันสร้างบาดแผลที่ลึกให้กับชีวิต และบางครั้งอาจจะเป็นช่วงชีวิตที่สำคัญที่สุดของเขาด้วย นี่คือสิ่งสำคัญที่เราต้องช่วยกันดูแลหัวใจเขา ยิ่งเด็กที่เกิดมาแล้วเขาต้องเจอโควิดตั้งแต่ปีแรก ตอนนี้อายุสองขวบแล้วนะ นั่นคือครึ่งชีวิตที่เขาจะได้มีพัฒนาการเติบโตสูงสุด เขาไม่ได้เจอเพื่อนเลย พัฒนาการของเด็กจะมีปัญหาหมด ผมว่าจริงๆ แล้วผลกระทบของโควิด ถ้ามองในระดับบุคคลคือเรื่องใหญ่มาก ถ้าเป็นประเทศยังไม่สำคัญเท่าด้วยซ้ำ

ประเทศไม่เคยร้องไห้และท้อแท้หมดหวัง แต่บุคคลและครัวเรือนต่างหาก ที่กำลังมีความทุกข์ ความเศร้าและความเจ็บปวด สำหรับผมหัวใจของการดำรงชีวิตต้องลงลึกไปยังรายละเอียด เพราะนี่คือสิ่งที่เชื่อมโยงกันทั้งสังคม ถ้าคุณได้ลองไปสัมผัสสังคมด้วยตัวเองแล้ว มันจะทำให้เราเห็นคุณค่าของชีวิต และสะท้อนกลับมาที่ตัวเราว่าหากเรามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ จริงๆ แล้วเราควรจะต้องลงมือทำอะไรกันบ้าง 

Bangkok

Source : ภาพถ่ายจากกลุ่มเพื่อนชัชชาติ

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.