เมื่อพูดถึงการเปิดกว้างเรื่อง ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ‘ไต้หวัน’ น่าจะเป็นประเทศที่โอบรับความหลากหลายทางเพศมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ เพราะเป็นประเทศแรกที่ให้คู่รัก LGBTQ+ แต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
แต่สิทธิที่ชาว LGBTQ+ ในไต้หวันได้หลังจากแต่งงานยังไม่เท่าเทียมกับคู่แต่งงานชายหญิง เพราะกฎหมายยังห้ามไม่ให้คู่แต่งงานเพศเดียวกันรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมร่วมกัน เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไต้หวันพูดเรื่องความเสมอภาคได้อย่างไม่เต็มปาก
แต่ล่าสุดไต้หวันได้ผลักดันการแก้กฎหมายที่ยังละเมิดความเท่าเทียมทางเพศ โดยอนุญาตให้คู่รัก LGBTQ+ รับสิทธิเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศในทุกๆ ด้าน ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศที่มีความเสมอภาคมากที่สุดในเอเชีย
‘ไต้หวัน’ ประเทศแรกในเอเชียที่ให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมาย
แต่เดิมการแต่งงานของเพศเดียวกันยังเป็นข้อห้ามทางด้านกฎหมายในไต้หวัน จนกระทั่งปี 2560 ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและตัดสินว่ากฎหมายข้อนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิและความเสมอภาคของพลเมืองตามหลักรัฐธรรมนูญ รัฐสภาไต้หวันจึงต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามคำตัดสินของศาล
ทำให้ในปี 2562 รัฐสภาไต้หวันได้ผ่านร่างกฎหมายให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ไต้หวันก็สามารถเป็นประเทศแรกในเอเชียที่อนุญาตให้คู่รัก LGBTQ+ แต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
แต่งงานกับชาวต่างชาติได้ถ้าประเทศคู่รักรองรับสมรสเท่าเทียม
การสมรสเท่าเทียมทำให้คู่รัก LGBTQ+ ได้รับสิทธิเกือบเท่าเทียมคู่รักชายหญิง แต่พวกเขายังถูกจำกัดสิทธิเรื่อง ‘การแต่งงานกับชาวต่างชาติ’ และ ‘การรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม’ ที่ยังคงจำกัดสิทธิบางอย่างอยู่
เพราะตามกฎหมายเดิม ชาว LGBTQ+ ในไต้หวันจะแต่งงานกับชาวต่างชาติได้ก็ต่อเมื่อ คู่รักมาจากประเทศที่มีกฎหมายรองรับสมรสเท่าเทียมเท่านั้น เช่น ถ้าคู่รักเป็นชาวไทยก็จะไม่สามารถแต่งงานกันได้ เพราะประเทศไทยยังไม่บังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม
แต่เมื่อเดือนมกราคม 2566 การสมรสเท่าเทียมของไต้หวันก็มีความเท่าเทียมมากขึ้น หลังจากกฎหมายเพิ่มสิทธิรองรับการแต่งงานคู่รัก LGBTQ+ ชาวไต้หวันและชาวต่างชาติ โดยไม่ต้องพิจารณาตามกฎหมายเดิมว่าประเทศต้นกำเนิดของคู่สมรสรองรับกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้วหรือไม่
หมายความว่าในตอนนี้ ไต้หวันรองรับคู่สมรสชาวต่างชาติจากเกือบทุกประเทศทั่วโลกแล้ว ยกเว้นคนจากจีนแผ่นดินใหญ่ หากชาวไต้หวันคนไหนที่มีคนรักจากต่างประเทศ ก็สามารถจูงมือกันมาแต่งงานภายใต้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไต้หวันได้เลย
เงื่อนไขเก่าในการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมของไต้หวัน
อีกข้อจำกัดที่ทำให้คู่รัก LGBTQ+ ในไต้หวันยังไม่ได้รับสิทธิเท่าคู่แต่งงานต่างเพศคือ เรื่องของการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ที่มีเงื่อนไขในการพิจารณาผู้รับเลี้ยง ดังนี้
– ผู้รับเลี้ยงร่วมกันต้องเป็นคู่แต่งงานชายหญิง
– ผู้รับเลี้ยงสถานะโสดสามารถรับเลี้ยงเด็กได้โดยไม่จำกัดเพศผู้ปกครอง
– คู่รักเพศเดียวกันจะรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้ก็ต่อเมื่อเด็กเป็นสายเลือดเดียวกันกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
– คู่แต่งงาน LGBTQ+ ต้องหย่าก่อน คนใดคนหนึ่งถึงจะรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้
เงื่อนไขเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดว่า กฎหมายของไต้หวันยังจำกัดสิทธิและบังคับให้คู่รัก LGBTQ+ ต้องเลือกระหว่างการแต่งงานหรือการรับเลี้ยงเด็กเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
การผ่านกฎหมายที่ให้คู่รักเพศเดียวกันรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
ด้วยข้อจำกัดนี้จึงทำให้เกิดกรณี ‘Chen Chun-ju’ และ ‘Wang Chen-wei’ คู่รัก LGBTQ+ ที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมานานกว่า 16 ปี ทั้งคู่รอจน Wang ได้สิทธิในการรับเลี้ยงลูกสาวบุญธรรม ก่อนจะตัดสินใจแต่งงานกัน หลังจากนั้นพวกเขาได้เรียกร้องต่อศาล เพื่อพิจารณาให้ทั้งคู่มีสิทธิในการเป็นผู้ปกครองร่วมกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
และเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ศาลได้ตัดสินให้ Chen สามารถจดทะเบียนเป็นผู้ปกครองร่วมกับ Wang ได้ เนื่องจากมองเรื่องผลประโยชน์สูงสุดที่เด็กจะได้รับต่อไปในอนาคต
การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นเคสแรกที่ไต้หวันอนุญาตให้คู่แต่งงานเพศเดียวกันรับเลี้ยงเด็กที่ไม่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดร่วมกันได้ ซึ่ง Wang ได้เขียนเรื่องราวบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า พวกเขาใช้เวลาในการดำเนินการนานกว่าสองปี หากต้องการรับเลี้ยงเด็กอีกก็อาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการเดิม ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการแก้กฎหมายเพื่อให้ทุกคนไม่ต้องลำบากเหมือนที่พวกเขาต้องเจอ
คดีนี้ทำให้ชาวไต้หวันหลายคนต่อสู้เพื่อผลักดันให้ภาครัฐเปลี่ยนให้การรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมร่วมกันของชาว LGBTQ+ ถูกกฎหมายเสียที
ในที่สุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 รัฐสภาไต้หวันได้ผ่านร่างกฎหมายเพื่อรับรองให้คู่แต่งงานเพศเดียวกันสามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมร่วมกันได้อย่างถูกกฎหมายแล้ว
โดย ‘Fan Yun’ สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ผู้ผลักดันและริเริ่มการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้มองว่า การรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมร่วมกันของคู่รัก LGBTQ+ จะช่วยให้พวกเขาปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของกันและกันได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องข้อกฎหมายที่จำกัดสิทธิบางส่วนที่ควรจะได้รับอีกต่อไป
ความเคลื่อนไหวนี้ยิ่งตอกย้ำว่า เกาะไต้หวันได้กลายเป็นประเทศที่โอบรับความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง ก็ได้แต่หวังว่าความก้าวหน้าครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งต้นแบบที่ทำให้ประเทศอื่นๆ ในเอเชียมองเห็นถึงความสำคัญของการให้สิทธิและความเสมอภาคแก่ชาว LGBTQ+ มากขึ้น
Sources :
Bangkok Post | tinyurl.com/mrycc492
BBC | tinyurl.com/u7h2fe5b
CNN | tinyurl.com/3k56er6x
iLaw | tinyurl.com/yck4k2d9
NextShark | tinyurl.com/yck5kur8
Nikkei Asia | tinyurl.com/yck48p9n
Prachatai | tinyurl.com/58r5359t
Taipei Times | tinyurl.com/fax9efns
Taiwan Immigration | tinyurl.com/5n82hzjz
Thai PBS | tinyurl.com/2kv7ums9
The Guardian | tinyurl.com/2s3tk5hy