รุ้ง ปนัสยา-’คุก’ พื้นที่ไร้สิทธิในเมืองไร้เสียง - Urban Creature

รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำนักศึกษาหญิงจากแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ถูกจองจำในเรือนจำมาแล้ว 3 ครั้ง ส่วนอีก 1 ครั้งหลังคือ การใส่กำไล EM จำกัดพื้นที่ในเคหสถาน

ถ้าย้อนกลับไปเกือบสามปีก่อน เราคงจินตนาการไม่ออกเลยว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยจะมาไกลและมีการพูดถึงปัญหาตรงไปตรงมาอย่างในตอนนี้

แต่การกล้าตั้งคำถาม การเสนอแนวทางให้สถาบันปรับตัว และการขับไล่เผด็จการ ก็ต้องแลกมาด้วยพันธนาการผู้เรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่า 

จากการติดตามข่าวคราวของรุ้งและแกนนำคนอื่นๆ ช่วงที่อยู่ในเรือนจำ เราสังเกตเห็นว่าข่าวเหล่านี้ถูกเล่าในวงจำกัด มีการนำเสนอเฉพาะกลุ่มบนโซเชียลมีเดีย จากบุคคลหรือสำนักข่าวเจ้าเดิมๆ ส่วนสื่อกระแสหลัก หรือสื่ออนุรักษนิยม เราไม่เคยได้รับข้อมูลที่ตีแผ่ความเป็นจริงส่วนนี้เลย

ช่วงเกือบสิ้นปีที่แล้ว ก่อนรุ้งเข้าเรือนจำเป็นครั้งที่สาม เราถามเธอ จากข้อสังเกตส่วนตัวว่า คิดยังไงที่ ‘ทัณฑสถาน’ หรือ ‘คุก’ เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองที่แทบไม่เคยถูกพูดถึง และแน่นอน มันเป็นพื้นที่ลับแลที่คนส่วนหนึ่งไม่แยแสว่ามีปัญหามากมายสะสม นั่นหมายถึงคุณภาพชีวิตต่ำเตี้ยเรี่ยดินของผู้ต้องขังที่ไม่เคยถูกยกระดับ และกระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยวที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข

รุ้ง ปนัสยา ชุมนุม

คุก : พื้นที่ห่างไกลเมืองและศิวิไลซ์ 

“คุก ส่วนใหญ่อยู่ไกลจากพื้นที่ชุมชน โดยเฉพาะคุกที่เกิดขึ้นใหม่ หรือคุกในต่างจังหวัด เพื่อให้ตั้งอยู่ไกลจากเมือง และเพื่อให้มีพื้นที่ขนาดใหญ่ เขาคงไม่อยากให้คุกอยู่ในชุมชน แต่ถ้าคุกอยู่ไกลชุมชนมากๆ ก็จะทำให้ผู้ต้องขังลำบากมาก เพราะทนายความและญาติไปเยี่ยมได้ยาก สิ่งนี้สำคัญต่อผู้ต้องขังมาก ถ้าขาดตัวกลางนี้ไปก็แปลว่าคนข้างในจะไม่ได้รู้เรื่องข้างนอกเลย

“มันจะทำให้คนข้างในมีความเครียดสูงขึ้นมากๆ ความคลุ้มคลั่งของผู้ต้องขังก็มีเพิ่มขึ้น เพราะบริบทรอบตัวกดดัน อย่างช่วงโควิด ผู้ต้องขังก็กลัวโรคข้างใน และไม่รู้ข่าวคราวว่าที่บ้านเขาเป็นยังไง จะสังเกตเห็นได้ว่าคนจะตบตีกันข้างในมากขึ้น เพื่อนๆ ข้างในก็บอกว่ามันสัมพันธ์กัน เพราะช่วงนี้ผู้ต้องขังทะเลาะกันเยอะ จากที่เมื่อก่อนไม่ค่อยมี อาจเพราะไม่ค่อยได้เจอญาติ ทำให้สะสมความอัดอั้น จนกลายเป็นความเครียด” รุ้งอธิบายถึงข้อสังเกตที่เธอได้พบเห็นในเรือนจำหญิง


จากนักศึกษาสู่นักโทษทางความคิด

ขณะที่มีการพิจารณาคดี รุ้งเล่าว่าผู้ต้องหาจะถูกขังในห้องกรงใต้ถุนศาล ซึ่งภายในมีเพียงห้องน้ำที่กั้นด้วยประตูเล็กๆ สั้นๆ เมื่อพิจารณาว่าไม่ให้ประกันตัวและถูกคุมขัง เธอต้องขึ้นรถที่มารับบริเวณหน้าใต้ถุนศาลเพื่อเดินทางไปเรือนจำ เมื่อไปถึง กระบวนการแรกคือการตรวจร่างกาย

“เมื่อเข้าไป เขาจะให้ถอดเสื้อผ้าออกหมด และให้ลุกนั่งห้ารอบ เพื่อตรวจสอบว่าซ่อนอะไรไว้ไหม เผื่อมีของหล่นลงมา ถ้าไม่มีก็จะให้ใส่ผ้าถุงกับเสื้อสีน้ำตาล แล้วเดินเข้าเครื่องสแกน”

กระบวนการถัดมาคือการซักประวัติส่วนตัว พิมพ์ลายนิ้วมือ และสแกนนิ้วมือสำหรับการซื้อข้าวของในเรือนจำ จากนั้นจะได้รับห่อย่ามบรรจุเครื่องใช้ส่วนตัว สิ่งแรกที่ต้องทำคือการอาบน้ำ กินอาหารมื้อแรก เก็บข้าวของ จากนั้นเข้าห้องขัง และสุดท้าย ฟังแนวทางการปฏิบัติตัวและวิธีการใช้ชีวิตข้างใน

รุ้ง สามกีบ

“เราไม่รู้จักใคร เขามีคดีอะไรกันมาบ้าง และมีภาพจำว่านักโทษน่ากลัว แต่สุดท้ายจะมีแม่ห้องที่ผู้คุมบอกไว้ว่าเราเป็นแกนนำนักศึกษานะ ให้ช่วยดูแลหน่อย ซึ่งเขาดูแลเราจริง ก็ไม่ได้มีการกลั่นแกล้งอะไร เข้าใจว่าช่วงนี้กระแสประชาธิปไตยสูง ไม่เหมือนเมื่อก่อน ถ้าเป็นช่วงพี่ลูกเกด (ชลธิชา แจ้งเร็ว) เข้าไป เขาไม่ได้มีประสบการณ์แบบหนู เพราะในอดีตแย่กว่านี้เยอะ” 

กิจวัตรประจำวันของรุ้งและผู้ต้องขังหญิงทุกคนเป็นกิจกรรมซ้ำๆ ต้องตื่นประมาณตีห้า เข้านอนเวลาสามทุ่มตรง ภายในหนึ่งวันต้องสวดมนต์ เต้นแอโรบิค เคารพธงชาติ ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี อาบน้ำ กินข้าว ทำความสะอาดพื้นที่ต่างๆ ดูโทรทัศน์ และพักผ่อนตามอัธยาศัย

วนเวียนเช่นนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

รุ้ง ปนัสยา แนวร่วมธรรมศาสตร์

โรคระบาด : ภาวะที่ผู้ต้องขังลำบากมากขึ้น

ช่วงที่รุ้งเข้าเรือนจำ โควิดกำลังระบาดอย่างหนัก ทัณฑสถานจึงมีมาตรการกักตัวในห้องแยก 14 วัน ก่อนจะลงแดนจริง ซึ่งมีคนเข้ามาอยู่พร้อมกันหลายสิบคน ถ้าเป็นในสถานการณ์ปกติผู้ต้องขังจะได้เข้าไปอยู่ข้างในเรือนจำทันที แม้จะมีการกักตัวตรวจโรคก่อน แต่ถ้าได้เห็นข่าวเมื่อปีที่แล้ว ช่วงที่รุ้งถูกกักขังครั้งที่ 2 เธอกลับต้องติดเชื้อโควิดมาจากภายใน นั่นอาจสะท้อนว่ามาตรการเหล่านี้ยังไม่รัดกุมมากพอ ตรงกับข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคม 2564 ที่กรมราชทัณฑ์เคยรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อสะสมในเรือนจำในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนกว่า 33,009 คน 

โดยปกติวิสัย การติดเชื้อโควิดถือเป็นภาวะที่ยากลำบากอยู่แล้ว ยิ่งในพื้นที่ปิด ที่เต็มไปด้วยความแออัดอย่างเรือนจำ ความลำบากก็ยิ่งทบทวีคูณ ทั้งการระบาดที่ยากเกินจะควบคุม การรักษาฟื้นฟูอาการที่เป็นไปอย่างทุลักทุเล รวมถึงสุขอนามัยที่ย่ำแย่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดส่งผลต่อภาวะทางร่างกายและจิตใจของผู้ต้องขังอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

รุ้ง ปนัสยา ประชาธิปไตย

“ช่วงปีที่แล้วมีกระแสข่าวเรื่องโควิดในเรือนจำเยอะ เพราะเราและหลายคนออกมาพูด หลายสื่อก็นำเสนอไปพร้อมกัน ทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลคนติดเชื้อ แต่ว่าในตอนนี้ราชทัณฑ์ก็เงียบไป สุดท้ายก็เป็นพื้นที่ที่ไม่โปร่งใสขนาดนั้น ส่วนคนตายเราก็เข้าใจว่ามีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจว่ามีการปกปิดไหม เมื่อเป็นข้อมูลตรงจากราชทัณฑ์ เราตรวจสอบต่อเองไม่ได้ ก็มีความน่าสงสัยประมาณหนึ่ง เพราะอย่างที่รัฐบาลพูดเรื่องจำนวนคนติดเชื้อโควิดข้างนอก ถ้าเทียบกับข้อมูลจากภาคีบุคลากรสาธารณสุขที่ทำสำรวจไว้ก็ตัวเลขไม่เท่ากันแล้ว” รุ้งเสริม 


กระบวนการยุติธรรมที่กดทับโอกาสความเป็นมนุษย์

“ก่อนพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงคุกให้ดีขึ้น เราอยากให้กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนแปลงด้วย เราเชื่อว่าคนแต่ละคนที่เขากระทำความผิดมา เขามีปัจจัยและพฤติการณ์จากการทำผิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องมีวิธีรับมือแตกต่างกันไปในแต่ละเคส สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ถ้าไม่อยากให้คนกระทำผิด ต้องมีรายละเอียดที่มากกว่าการทำทัณฑ์บนหรือการลงโทษ เราอยากให้มองคนที่กระทำผิดเป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ใช่คนเลวหรือคนร้าย เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป” รุ้งกล่าว 

ทั้งนี้รุ้งเสริมว่า การกักขังมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงรายละเอียดด้านการเยียวยาและการฟื้นฟูชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดอัตราการกระทำผิดซ้ำๆ ซึ่งเธอเล่าว่า ปัจจุบันคนที่ติดคุกซ้ำมีอัตราที่สูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เหมือนไม่มาก แต่ก็ไม่ใช่จำนวนที่น้อยเลยว่าไหม?

รุ้ง ปนัสยา ม็อบ

“เราคิดว่ารัฐทำให้อัตรานี้ลดต่ำลงได้ ประเทศที่ไม่มีคนทำผิดซ้ำ ก็มีเคสให้เห็นจริง ถ้าเปรียบเทียบกับคุกประเทศนอร์เวย์ นักโทษแต่ละคนจะมีห้องนอนส่วนตัว มีเตียง มีโต๊ะอ่าน-เขียนหนังสือ มีตู้เย็น มีห้องน้ำ และจะมีกิจกรรมกับเวิร์กช็อปเพื่อพัฒนาให้นักโทษฝึกฝนอาชีพ แต่สำหรับคุกไทย คือการกักขังเราไว้ในกรงรวมกัน ไม่ได้มีการจัดสรรปันส่วน ไม่มีสเปซของตัวเอง ทุกอย่างรวมกันไปหมดเลย 

แกนนำ มวลชน รุ้ง ปนัสยา

“เรามองว่าคุกมีไว้เพื่อกักขังอิสรภาพ แต่ไม่ใช่เพื่อลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือสิทธิมนุษยชน ไม่ควรมีการละเมิดตรงนี้ เราควรเอาตัวอย่างที่ดีจากต่างประเทศมาปรับใช้ สิ่งที่ไม่โอเคก็อย่าผลิตซ้ำ เพราะคุกไทยไม่ได้แค่พรากอิสรภาพ แต่ทุกทางที่เขากระทำ คือการทำให้รู้สึกว่าคุณน่าอับอาย คุณผิดบาป คุณมีกรรม เพราะคุณเป็นคนเลวร้ายถึงไม่ควรถูกปฏิบัติดีด้วย และไม่มีสิทธิ์ร้องขออะไรอีก สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นตลอดเวลา 

“อย่างตอนกินข้าว จะต้องท่องว่า ข้าพเจ้ารับประทานอาหารมื้อนี้เพื่อประทังชีวิต ข้าพเจ้าเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนเอง จึงต้องรับผลกรรมนั้น ข้าพเจ้าจะทำความดี และปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งทำให้คนจำยอมว่าเราไม่ได้กินอาหารเพื่อลิ้มรสชาติ หรือเพื่อพัฒนาการที่ดี แต่มีไว้แค่ประทังชีวิตเท่านั้น

“อย่างคูลเลอร์ในห้องขังก็มีสนิม กินแล้วเจ็บคอ คนไม่มีเงินก็ต้องกินไป ถ้าเรามีพอแบ่งปัน ก็จะแบ่งให้คนที่ไม่มีด้วย เพราะแต่ละคนก็อายุมากกันแล้ว เลยบอกว่ากินน้ำขวดของหนูเถอะ แต่จริงๆ มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมากๆ เพราะประชาชนทุกคนควรได้ดื่มน้ำที่สะอาด แต่จะว่าไปนะ ข้างนอกน้ำก็ไม่ได้สะอาด น้ำประปาบ้านเรากินได้ไหมล่ะ ทั้งๆ ที่มันควรจะกินได้” รุ้งเสริม


คุกควรเป็นพื้นที่คืนลมหายใจ ไม่ใช่พื้นที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เมื่อสภาวะในคุกไม่ได้เอื้อให้คนที่พลาดพลั้งรู้สึกว่าเขาได้รับศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างที่ควรจะเป็น มิหนำซ้ำเมื่อออกมาเผชิญโลกภายนอก สิ่งที่เปลี่ยนยากกว่าคือทัศนคติของคนในชุมชนที่กีดกันและไม่ยอมรับ จึงเป็นเรื่องยากที่จะหลุดออกจากวงจรการก่ออาชญากรรมซ้ำอีก

สิ่งที่สะท้อนว่าโครงสร้างสังคมไทยมีปัญหามาก คือการที่สำนักวิจัยและจัดทำสถิติระดับโลกหลายแห่ง ชี้ให้เห็นว่าไทยไม่เคยหลุดจากท็อป 10 ของประเทศทั่วโลกที่มีผู้ต้องขังล้นคุก และถ้ามองในระดับอาเซียน ไทยครองแชมป์จำนวนผู้ต้องขังอันดับ 1 ในภูมิภาคอย่างไม่ต้องสงสัย

ชุมนุมธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

World Prison Brief ประเมินว่า อัตราประชากรผู้ต้องขังของไทยมีอยู่ราว 445 คนต่อประชากร 100,000 คน ส่วน World Population Review ระบุว่า การมีผู้ต้องขังจำนวนมหาศาล นำไปสู่ปัญหาหลายมิติ ทั้งความเสี่ยงสุขภาพ และความสุขทางกาย ซ้ำร้าย ยิ่งคนอยู่ในคุกนาน รัฐยิ่งสูญสิ้นงบประมาณมหาศาล

“ถ้าเราจัดการปัญหาจากต้นเหตุได้ และช่วยเยียวยาผู้ต้องขังให้ดีเพียงพอ อย่างน้อยมันก็ทำให้อัตราการเกิดอาชญากรรมในสังคมลดน้อยลง ถ้าทุกหน่วยในสังคมเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ทั้งกระบวนการยุติธรรม กระบวนการในทัณฑสถาน รวมถึงการสร้างแรงสนับสนุนจากคนที่อยู่ในชุมชนหรือสังคม จะทำให้อัตราการเกิดอาชญากรรมน้อยลงเรื่อยๆ คนที่อยู่ในชุมชนอาจมีความสุขมากขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องการขโมย จี้ ปล้น ยาเสพติด หรืออันตรายอื่นๆ

“อย่างคนที่เราเจอในคุกก็ไม่ใช่คนที่เพิ่งเข้ามาอยู่ใหม่ แม่ห้องที่คอยดูแลเราก็เข้า-ออกคุกซ้ำๆ มาแล้วหกถึงเจ็ดครั้ง เราถามเขาว่าทำไมวะ ทำไมวะพี่ เพราะรู้สึกเสียดายเวลาและต้นทุนชีวิตแทนเขา พี่เขาเข้าคุกตั้งแต่อายุยี่สิบกว่าปี ตอนนี้อายุสี่สิบปี อยู่ในคุกเวลารวมกันแล้วไม่น้อยกว่าสิบห้าปี

“อีกคนที่เราเจอแล้วน่าสนใจคือ พี่ที่เกิดในชุมชนที่มีการค้าและขายยาเสพติดกันเป็นปกติ เขาพยายามแสวงหาอนาคตที่ดีให้ตัวเอง แต่กลับต้องตกงานเพราะโควิด ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก เขาไม่รู้จะทำยังไงต่อไป เลยไปขายยาแล้วสุดท้ายก็โดนจับ ปัญหามันวนเวียนซ้ำซากเพราะภาพรวมสังคมไม่ถูกแก้ไข”

รุ้งเล่าเสริมจากจุดนี้ว่าที่ประเทศนอร์เวย์ เมื่อพ้นโทษจะมีระบบติดตามชีวิตว่าอดีตผู้ต้องขังกลับไปอยู่ในสังคมได้ดีไหม คนในชุมชนยอมรับและปฏิบัติกับเขาอย่างไร หรือแม้แต่มีงานทำ หรือมีชีวิตที่ดีหรือยัง ซึ่งเมื่อไปต่อได้ดีก็จะได้รับอิสรภาพในที่สุด

“ถ้าเป็นกรมราชทัณฑ์ของไทย ปล่อย ก็คือปล่อยไปเลย ไปดิ้นรนกันต่อเอง แล้วคนในสังคมก็ไม่ยอมรับ งานข้าราชการเองก็ไม่ยอมรับคนที่เป็นอดีตนักโทษอีก ถึงแม้จะมี พ.ร.บ. ล้างมลทินแล้ว แต่ว่ามันก็ยังขุดประวัติขึ้นมาได้อยู่ดี เมื่อคนเข้าคุกไปแล้วออกมา ถ้าหากไม่มีต้นทุนหรือโอกาส มันก็กลายเป็นทางตันที่ไปต่อไม่ได้

“ถ้าเป็นอย่างนี้ แสดงว่ากระบวนการฟื้นฟูผู้ต้องขังของเรามันไม่ได้ผล เรารู้สึกว่ามันเหมือนหลักสูตรการเรียนการสอนของไทย ต้องนั่งฟังเรื่องความดี อบรมแล้วจบไป แต่ว่าพอใช้ชีวิตประจำวัน มันไม่ได้มีอะไรที่เอื้อให้เขาได้รู้สึกว่า อยากทำอะไรดีๆ ขึ้นมา อยู่ในนั้นมันบังคับให้คนต้องดิ้นรนและเห็นแก่ตัว 

“ยังมีการขโมยของกันเป็นปกติ ถ้าขนาดว่าอยู่ในคุกแล้ว ระบบยังช่วยแก้ไขสิ่งนี้ไม่ได้ แล้วออกไปจะไม่ทำต่อเหรอวะ ขนาดเข้าแถวอาบน้ำและกินข้าวยังต้องแซงคิวกัน เพราะว่าอยู่ท้ายๆ หม้อจะไม่มีเนื้อเหลือให้กิน ต้นเหตุมาจากการจัดสรรอาหารที่ไม่เพียงพอสำหรับทุกคน แถมยังมีระบบอุปถัมภ์กันข้างในอีก มันมีคนมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่น สภาพนี้ก็สะท้อนสภาพสังคมไทยได้ไม่แตกต่างกัน

รุ้ง ปนัสยา เรือนจำไทย

“การทำให้คนเรียนรู้จากความกลัว ต้องกลัวนะจะได้ไม่ทำอีก ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับการอยากจะทำดีเอง คิดว่าอะไรจำเป็นและยั่งยืนกว่ากัน ระหว่างความกลัวกับความสำนึกรู้ว่าฉันไม่ควรทำมันตั้งแต่แรก เพราะไม่อยากทำให้ใครเดือดร้อน แต่เรือนจำไทยไม่เคยให้ช่องทางที่ดีกว่านี้ได้ ระบบสังคมก็ไม่ได้ช่วยให้ทุกคนมีโอกาสได้ เราไม่มีสวัสดิการรัฐที่ดี ไม่มีระบบซัปพอร์ตที่ทำให้ชีวิตทุกคนไม่ลำบาก ทุกอย่างคงไม่แย่ขนาดนี้ ถ้าตั้งต้นกันมาดีๆ ตั้งแต่ต้นทาง

“เวลาพูดถึงการพัฒนาเมืองที่ดี เราไม่เคยเห็นเขาพูดถึงคุกเลย เราชอบแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ คนถึงล้นคุกขนาดนี้ แล้วคนที่ทำพลาดก็มี ต้องไม่ลืมว่าคนที่ไม่ได้อยากทำผิด แต่ถูกสภาพสังคมบังคับให้ทำก็มีไง”

รุ้ง ปนัสยา กับเพนกวิน พริษฐ์

เรานิ่งฟังรุ้งจนจบ ระหว่างที่เจอเธอในวันนั้น มีเพื่อนแกนนำหลายคนของรุ้งยังถูกกักขังอยู่หลายสิบคน รุ้งไม่รู้ว่าเธอจะถูกขังอีกกี่ครั้ง แต่นี่คือการต่อสู้เพื่ออนาคตที่เธอยังถอยไม่ได้ ส่วนตัวของเราได้ข้อสรุปจากการคุยกันวันนี้ว่า

ถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ และรัฐมองเห็นคนเป็นคน เราจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกจับ ในขณะที่ ถ้าคนทั่วไปได้รับการซัปพอร์ตทางเลือกในการใช้ชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการกระทำผิดได้มากขึ้นด้วย

เพราะอย่างน้อยๆ อำนาจการกำหนดทิศทางประเทศไทยก็ไม่ได้อยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่กลุ่ม ทั้งๆ ที่เรามีเสียงอันมีความหมายของพลเมืองเกือบ 70 ล้านคน และเสียงจากคนในเรือนจำก็มีคุณค่าและความหมายไม่แตกต่างกัน

รุ้ง ปนัสยา ชูสามนิ้ว

แหล่งที่มาข้อมูล

brandinside

กรมราชทัณฑ์

iLaw

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.