ห้องสมุดมหาวิทยาลัย คือหนึ่งในสถานที่พักผ่อนและใช้ประโยชน์มากมายของนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งพื้นที่เรียน อ่านหนังสือ ติว นั่งเรื่อยเปื่อย หรือกระทั่งที่สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้นอกจากพื้นที่ใช้สอยที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักศึกษาแล้ว ดีไซน์และการออกแบบภายในก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่มองข้ามไปไม่ได้
เมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยโทรอนโต ในประเทศแคนาดา ได้มีการปรับปรุงโซนห้องอ่านหนังสือในห้องสมุด ‘Robarts’ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งที่นี่ถือเป็นตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมแนว Brutalist ที่โดดเด่น
สถาปัตยกรรมแนว Brutalist คือสิ่งก่อสร้างที่มีภาพจำเป็นคอนกรีตเปลือย กระจก เหล็ก ที่ให้ภาพลักษณ์แข็งกร้าวทะมึนขึงขัง โดยโปรเจกต์รีโนเวตห้องอ่านหนังสือเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูห้องสมุดที่สำคัญของมหาวิทยาลัยโทรอนโต และอาคารห้องสมุดวิชาการที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา
‘Superkül’ สตูดิโอผู้รับผิดชอบโปรเจกต์นี้ได้ปรับปรุงพื้นที่เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้แบบร่วมสมัยของนักศึกษาและคณาจารย์ ในขณะเดียวกันก็ยังให้ความเคารพกับสถาปัตยกรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดก
นอกจากการเชื่อมต่อโครงสร้างแนว Brutalist ที่มีอยู่ดั้งเดิมกับส่วนต่อขยายของโถงห้องสมุดที่อยู่ติดกันแล้ว ยังมีการเพิ่มมุมเรียนรู้ในพื้นที่ห้องขนาด 1,886 ตารางเมตรที่เพดานสูงสองชั้น ซึ่งให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง สบาย
ภายในสเปซนั้นประกอบไปด้วยพื้นที่เรียนรู้ส่วนบุคคล สถานีการเรียนรู้แบบดิจิทัล ห้องให้คำปรึกษา และโซนแสงบำบัด (Light Therapy) อีกสองโซน อีกทั้งยังมีการนำวัสดุธรรมชาติมาใช้งานเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับอาคารคอนกรีต รวมถึงให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการเรียนรู้ ผ่านมุมเรียนรู้ที่ผู้ใช้งานสามารถปรับความสูงโต๊ะ กำหนดค่าที่นั่ง และปรับแสงตามต้องการได้
นอกจากนี้ ตัวสตูดิโอยังทำงานกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านความรู้เรื่องเสียงในการสร้างระบบลดเสียง โดยใช้แผ่นไม้เจาะรูและแผ่นโลหะที่ออกแบบมาอย่างกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมภายใน ช่วยให้เสียงของกลุ่มคนที่ต้องสนทนากันไม่ไปรบกวนนักศึกษาคนอื่นๆ
“เพื่อเป็นเกียรติแก่รูปทรงเรขาคณิตและวัสดุอันโดดเด่นที่ทำให้ห้องสมุด Robarts เป็นไอคอนที่ตระการตา เราจึงตั้งเป้าหมายที่จะออกแบบส่วนนี้โดยให้ความเคารพกับสถาปัตยกรรมเดิม และเติมเต็มพื้นที่อื่นๆ ของห้องสมุดด้วย” ตัวแทนสตูดิโอกล่าว
Sources :
Dezeen | bit.ly/3yEG38N
Dsign Something | bit.ly/3Fi6nJG