เหมือนเพิ่งจะรู้สึกเศร้าเสียดายกับการปิดปรับปรุงไปไม่นาน แต่รู้ตัวอีกทีก็ผ่านไปเกือบ 3 ปี จนได้เวลาที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้แล้ว แถมยังมีคิวงานยาวเหยียดรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นงานหนังสือซึ่งจะกลับมาสู่บ้านหลังเดิมอีกครั้ง หรือการประชุมใหญ่อย่าง APEC Thailand 2022 ที่เราน่าจะได้เห็นการใช้งานศูนย์ประชุมใหม่แห่งนี้อย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก
‘ความเป็นไทย’ เราเฝ้าครุ่นคิดถึงนิยามของคำคำนี้ตลอดบทสนทนากับ ‘ออ–อริศรา จักรธรานนท์’ ในห้องประชุมของ ONION บริษัทสถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบและตกแต่งภายในศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ โดยมี Frasers Property Thailand เป็นผู้บริหารงานก่อสร้าง
ในโลกที่เปรียบเสมือนหม้อใบใหญ่ เคี่ยวกรำวัฒนธรรมอันหลากหลายเข้าจนบางอย่างแทบจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน อะไรคือสิ่งที่เราพอจะบอกได้ว่านี่แหละคือเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ภาษา สถาปัตยกรรม ดนตรี หรือว่าอาหาร
“สืบสาน รักษา ต่อยอด” คือสามคำที่เธอเล่าว่าเป็นแก่นของการออกแบบในครั้งนี้
สิ่งที่อริศราและทีมต่อยอดออกมานั้น ไม่ใช่ความเป็นไทยในแบบที่จับต้องไม่ได้หรือถูกยกไว้บนหิ้ง แต่เป็นสิ่งที่สามารถอยู่ร่วมกับชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไม่ประดักประเดิด ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นที่เชิดหน้าชูตาให้กับคนไทยได้ในฐานะศูนย์ประชุมแห่งชาติ
แม้จะยังไม่สามารถเข้าไปดูศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ให้เห็นกับตา แต่เราก็ขอให้อริศราช่วยพาเราไปสำรวจเบื้องหลังการรีโนเวตในครั้งนี้ ซึ่งท้าทายตั้งแต่ขนาดพื้นที่ที่รับผิดชอบ อย่างการออกแบบอย่างไรไม่ให้คนเดินแล้วหลง ที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงการแข่งขันในระดับนานาชาติอีกต่างหาก
น้อยแต่มาก ไทยแต่เท่
จากโครงสร้างเดิมของศูนย์ฯ สิริกิติ์ที่สร้างขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2534 การรีโนเวตครั้งนี้ได้เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ไม่เพียงพอ พื้นที่อาคารแห่งใหม่จึงถูกขยายให้ครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่จอดรถเดิม จนได้พื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 3 แสนตารางเมตร
แน่นอนว่าการออกแบบพื้นที่ใหญ่ขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับทีม ONION ที่ไม่คุ้นเคยกับงานลักษณะนี้มาก่อน
“ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เราทำแต่โรงแรม แถมเป็นโรงแรมบูทีกอีกต่างหาก พอมาทำงานรีโนเวตช่วงแรกเราพบว่าวิธีดีไซน์มันต่างออกไป ด้วยความที่สเกลของงานไม่เหมือนกัน จากที่ปกติเราดีไซน์ในสเกลที่เราจับต้องได้ แต่อันนี้คือการออกแบบทางเดินยาวสองร้อยเมตร เราจึงต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ วิธีที่ใช้คือการทำม็อกอัป ทดลองไปเรื่อยๆ ได้วัสดุมาแล้วก็เอามาวาง แล้วเราก็ถอยไปดูไกลๆ บางทีเราก็เามาวางไว้ชั้นล่าง แล้วขึ้นไปยืนดูชั้นบน มันยากจนต้องใช้วิธีนั้นจริงๆ” เธอเล่าพร้อมกับหัวเราะเบาๆ
อย่างที่บอกไปแล้วว่าหนึ่งในโจทย์ข้อสำคัญของโปรเจกต์นี้คือ การออกแบบตกแต่งภายในที่ช่วยให้คนเดินง่าย ไม่หลงทาง หลายคนอาจคิดว่าเป็นหน้าที่ของสถาปนิกโครงสร้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วนี่คือส่วนหนึ่งในหน้าที่ของทีม ONION
“นับตั้งแต่คนเดินเข้ามาเหยียบในตัวอาคาร มันคืองานของอินทีเรียที่จะนำทางให้คนเดินไปยังจุดต่างๆ เราต้องใช้ดีไซน์เพื่อจัดโฟลว์คนที่เข้ามาใช้งาน เราจึงต้องเริ่มดูตั้งแต่ Circulation คนว่าใครเข้าออกบ้าง จะเข้าออกทางไหน เดินยังไงให้ไม่หลง” หนึ่งในวิธีที่พวกเขาเลือกใช้คือการสร้างจุดสังเกตที่โดดเด่น ยกตัวอย่างเช่น บันไดเลื่อน 3 จุดซึ่งมีสีต่างกันโดยสิ้นเชิง
“บันไดเลื่อนฝั่งสวนจะเป็นสีทอง ส่วนบันไดเลื่อนที่ติดกับ MRT จะเป็นสีเงิน ขณะที่โถงกลางที่คั่นระหว่างบันไดทั้งสองจะเป็นสีทองแดง นอกจากเพื่อความสวยงามแล้วก็เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน” อริศราอธิบาย
“แต่ถึงอย่างนั้นเราก็อยากให้มันเป็นเรื่องเดียวกัน มีคาแรกเตอร์ของศูนย์ฯ สิริกิติ์ที่คนไปแล้วจำได้ พูดถึงแล้วนึกออก” และเพื่อที่จะร้อยเรียงพื้นที่ในแต่ละโซนให้ออกมาเป็นหนึ่งเดียวกัน อริศราและทีมเลือกนำแม่ลายไทยที่เห็นกันบ่อยๆ อย่างลายประจำยาม มาลดทอนรายละเอียด และจัดเรียงใหม่จนกลายเป็นแพตเทิร์นกลางที่แทรกอยู่ในทุกฮอลล์ ทุกห้องประชุม ตลอดจนโถงทางเดินที่จะสังเกตเห็นขอบหยักเล็กๆ เป็นรายละเอียดที่ให้กลิ่นอายความเป็นไทย
“ความจริงแล้วการทำให้มันเป็นหนึ่งเดียวกันไม่ได้ยากขนาดนั้น แต่การที่เราต้องทำให้มันดูน้อย ลดทอนรายละเอียดในหลายส่วนออกไปต่างหาก นั่นคือสิ่งที่ยาก เพราะในมุมของลูกค้าเข้ามาจัดงาน เขาก็คงไม่อยากให้สถานที่เด่นจนกระทั่งกลบงานเขา ดังนั้นเราต้องคุมน้ำหนักของส่วนนี้ให้ดี ไม่มากไป แต่ก็ไม่น้อยเสียจนเราไม่ได้ดีไซน์อะไรเลย และต้องมั่นใจว่ารายละเอียดที่เลือกมานั้น Effective จริงๆ”
จากผืนผ้าสู่ฝ้า ผนัง พื้น เพดาน
บนพื้นที่กว่า 2 แสนตารางเมตรของศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่แห่งนี้ ประกอบไปด้วยห้องหับน้อยใหญ่มากมายซึ่งมีจุดประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันออกไป อริศราและทีมจึงตั้งใจออกแบบการตกแต่งให้มีบรรยากาศเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
“แทนที่จะทำให้ทุกอย่างหน้าตาเหมือนกัน เราเลือกที่จะสร้างคาแรกเตอร์ให้พื้นที่แทน แน่นอนว่าในฐานะศูนย์การประชุมแห่งชาติ เราก็ตั้งใจที่จะนำเสนอความเป็นไทยเพื่อสร้างเอกลักษณ์ ซึ่งจะเป็นจุดแข็งในการแข่งขันกับนานาชาติ
“จากชื่อของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งตั้งตามชื่อของสมเด็จพระพันปีหลวง เราลองย้อนกลับไปดูว่ามีอะไรบ้างที่เป็นภาพจำของท่าน คือท่านมักจะนำผ้าไทยมาใช้อยู่เสมอ ซึ่งเบื้องหลังการใส่ชุดไทยที่เราเห็นมันคือการพัฒนาชุมชน งานฝีมือ การอนุรักษ์ผ้าไทย และนำกลับมาใช้จริงในชีวิตประจำวัน เราจึงนำคอนเซปต์ของผ้าและชุดไทยมาสร้างคาแรกเตอร์ให้แต่ละโซนในพื้นที่ เพื่อให้จดจำได้ง่าย คนที่มาเดินก็ไม่หลงด้วย”
ในฐานะคนที่ไม่ได้คุ้นเคยกับการแต่งชุดไทยมากนัก เราไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่า ผ้าไทยแต่ละชนิดจะสร้างบรรยากาศที่แตกต่างและมีความเฉพาะตัวได้มากแค่ไหน กระทั่งอริศราค่อยๆ พาเราชมทีละชั้น
ชุดผ้าขาวม้าและความเป็นไทยพื้นบ้าน
ชั้น LG เป็นชั้นที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) โดยตรง และมีโซนร้านค้ารีเทล รวมถึงห้องอาบน้ำเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้มาใช้สวนเบญจกิติ ส่วนฮอลล์ใหญ่ที่ชั้นนี้จะเป็นฮอลล์มีเสา ใช้สำหรับจัดงานคึกคัก หรืองานออกบูท เช่น งานหนังสือที่เราคุ้นเคยกัน โดยทีม ONION ตั้งใจออกแบบบรรยากาศให้ออกมาสบายๆ ภายใต้คอนเซปต์ ‘Casual Thai’ ที่มีผ้าขาวม้าและผนังซ้อนเกล็ดแบบบ้านทรงไทยเป็นองค์ประกอบหลัก
“ด้านนอกฮอลล์ของชั้นนี้ เราใช้วัสดุเป็น Laminate Postform แบบเดียวกับที่เขาชอบใช้ทำขอบโต๊ะกัน โดยเอามาทำให้เป็นขอบโค้งมนซ้อนเกล็ดสีขาว ซึ่งดึงมาจากบ้านทรงไทยของชาวบ้านสมัยก่อนที่เราเคยเห็นกันบ่อยๆ ในการทำดีเทลโค้งมนนี้เราจำเป็นต้องขึ้น Mold ใหม่เพื่อให้ได้รูปทรงที่เราจะใช้
“ส่วนด้านในฮอลล์เราเลือกใช้ประโยชน์จากลายผ้าขาวม้าบนพื้นพรม คือให้เส้นยาววิ่งยาวสุดผนังตลอดสองร้อยเมตรเป็นพื้นลาย แล้วใช้เส้นตั้งมาวางทับ โดยตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์ในการระบุตำแหน่งของห้องน้ำกับทางหนีไฟ เป็นดีเทลเล็กๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งาน” อริศราอธิบาย และไม่ลืมที่จะเล่าถึงงานศิลปะชิ้นสำคัญของศูนย์การประชุมแห่งนี้ซึ่งได้ถูกนำกลับมาติดตั้งอีกครั้ง
“ในชั้นนี้ พอเดินเข้ามาจาก MRT ปุ๊บก็จะเจอยักษ์แกะสลัก (พระราชพิธีอินทราภิเษก จำหลักนูนต่ำนูนสูงและกึ่งลอยตัว โดย จรูญ มาถนอม) ติดอยู่ในโซนพรีฟังก์ชัน ในส่วนนี้เราตั้งใจดีไซน์ให้ออกมาคล้ายโถงแกลเลอรี หลังจากนี้จะมีงานศิลปะชิ้นอื่นๆ มาเติมจนเต็มยาวตลอดทั้งผนัง”
ชุดไทยประยุกต์โจงกระเบน
ที่ชั้น G หรือชั้นพื้นดินนั้นมีจุดสำคัญคือ VIP Drop Off เปรียบเสมือนประตูหลักของที่นี่ เราจะได้เห็นประตูลายกัลปพฤกษ์ หรือประตูลายรดน้ำทั้ง 16 บานที่คุ้นเคยจากทางเข้า Plenary Hall เดิม โดยถูกนำกลับมาติดตั้งอีกครั้งในส่วนนี้ และเมื่อเดินเข้ามาด้านในจะพบกับโซนพรีฟังก์ชันหรือส่วนโถงก่อนเข้าสู่ฮอลล์หลัก ตกแต่งภายใต้คอนเซปต์ ‘Formal Thai’ ที่มีชุดไทยประยุกต์โจงกระเบนจากสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นแรงบันดาลใจ
“โดยภาพรวมของชั้นนี้จะดูทางการมากขึ้น แต่ยังคงคอนเซปต์ชุดไทยแบบชุดงานกลางวัน วัสดุที่เราเลือกใช้เป็นผนังหิน ให้ความรู้สึกหนักแน่นและเป็นทางการ อารมณ์คล้ายกับวัด วัง หรือสถานที่โบราณในสมัยก่อน” ฮอลล์หลักในชั้นนี้มีความสูงถึง 13.5 เมตร กินเนื้อที่ตั้งแต่ชั้น G จรดชั้น 2 ที่สำคัญคือภายในนั้นไม่มีเสาเลยสักต้น เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่รองรับการจัดงานหลากหลายรูปแบบ
ชุดชาวเขาและเครื่องประดับเงิน
เมื่อขึ้นมาถึงชั้น 1 โซนสำคัญของชั้นนี้คือห้องบอลรูมที่ถึงแม้จะมีขนาดเล็กกว่าฮอลล์หลัก แต่ก็ยังมีเนื้อที่รวมกว่า 4,500 ตารางเมตร ภายในสามารถกั้นแยกได้เป็น 4 ห้องย่อย ทั้งนี้ยังไม่รวมพื้นที่พรีฟังก์ชันหรือโถงด้านนอกที่มีขนาดอีกกว่า 1,000 ตารางเมตร
อริศราและทีมออกแบบห้องบอลรูมนี้ขึ้นมาภายใต้คอนเซปต์ ‘Modern Thai’ โดยหยิบเอาเครื่องแต่งกายของชาวเขามาประยุกต์ให้เข้ากับการตกแต่ง สร้างกลิ่นอายที่โมเดิร์นมากขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวไว้ได้อย่างครบถ้วน
“แพตเทิร์นของชุดชาวเขาส่วนมากเป็นลายเรขาคณิตที่ลดทอนรายละเอียดลง เป็นลายที่ร่วมสมัยและเข้าใจง่าย เราเลยเลือกนำมาใช้กับห้องบอลรูม โดยนำลายจากชุดปักลูกเดือยเปลือกแข็งของชาวเขา จับคู่กับสีเงินซึ่งมาจากเครื่องประดับของชาวไทยภูเขาอีกเช่นกัน โดยวิธีทำงานของเราคือจะใช้เงินเป็นแผ่นๆ คล้ายทองคำเปลว นำไปแปะกับผนังแล้วค่อยๆ ลูบทีละแผ่นเหมือนเวลาปิดทอง งานละเอียดมากแต่ผลที่ได้เนี้ยบดี”
ชุดไทยจักรี-ชุดไทยพระราชนิยม
ต่อเนื่องจากชั้นล่าง คอนเซปต์หลักของชั้น 2 ยังคงเป็น ‘Modern Thai’ แต่ด้วยจุดประสงค์การใช้พื้นที่ที่แตกต่างออกไป พวกเขาจึงหยิบเอาชุดไทยจักรีหรือชุดไทยพระราชนิยมมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบห้อง Plenary ที่ภายในมีขนาดเล็กกว่า แต่รายละเอียดมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับฮอลล์อื่นๆ ทั้งยังรองรับการจัดงานในโอกาสพิเศษที่มีความหรูหรา
“ภายในห้องนี้เราทำเพดานดับเบิลสเปซสูงเก้าเมตร ขวามือมีกระจกบานใหญ่มองเห็นวิวสวนและทะเลสาบ ผนังและฝ้าเพดานตกแต่งด้วยลายประจำยาม ซึ่งเป็นแม่ลายเดียวกันกับแพตเทิร์นหลักที่เราใช้ในภาพรวมดีไซน์ทั้งหมด ส่วนฝ้าสีเงินด้านบนตรงนี้ได้ชื่อเล่นจากทีมผู้รับเหมาว่า ‘เพดานผีเสื้อ’”
ในขณะที่ผนังสีขาวอีกด้านนั้นได้นำเอาลายประจำยามแบบเดียวกันมาขยายจนใหญ่จรดเพดาน เล่นระดับและซ่อนไฟไว้ด้านใน ทำให้กำแพงสีขาวเรียบๆ ดูมีมิติขึ้นมา อริศราเล่าว่านี่เป็นห้องที่ให้ความสำคัญกับ Lighting Design เป็นพิเศษ เพราะต้องการความสวยงามและให้รองรับการจัดงานหลากหลายรูปแบบ
นอกจากนี้ ในส่วนพรีฟังก์ชันด้านหน้ายังมีการนำ ‘เสาช้าง’ หนึ่งในงานศิลปะชิ้นสำคัญของศูนย์ฯ สิริกิติ์กลับมาจัดแสดง โดยคราวนี้หน้าตาจะเปลี่ยนไปเล็กน้อยเนื่องจากทีมอินทีเรียได้ปรึกษากับศิลปินอย่าง ธานี กลิ่นขจร และตัดสินใจทำสีเสาและฐานใหม่ให้เข้ากับสีขาวของฮอลล์นี้ รวมถึงออกแบบไฟเพิ่มเติมในส่วนของฝ้าเพดานเพื่อให้เสาดูเด่นขึ้น เนื่องจากสเปซด้านบนนั้นสูงกว่าจุดติดตั้งที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์เดิมค่อนข้างมาก
ศูนย์ประชุมแห่งชาติ และโอกาสของคนไทย
นอกจากทีม ONION ที่เข้ามาดูแลงานออกแบบตกแต่งภายในของศูนย์ฯ สิริกิติ์ใหม่แห่งนี้แล้ว ยังมีเหล่า ‘ดรีมทีม’ อีกมากมายที่เข้ามาช่วยกันดูแลส่วนงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบสถาปัตย์โดย Design 103 งานออกแบบภูมิทัศน์โดย Shma รวมถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้างไทยโอบายาชิ และที่ปรึกษาอีกมากมายหลายด้าน
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างศูนย์ประชุมแห่งชาติที่ได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
“โปรเจกต์นี้มีแต่คนเก่งๆ คนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาทำงานด้วยกัน เราเองได้เรียนรู้ในหลายเรื่อง เพราะมันเต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อย อย่างที่ชั้น LG มีฮอลล์ขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน เราก็ต้องคิดถึงในกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ ทำให้เป็นที่มาของการมีบันไดกว้าง 50 เมตร เพื่อรองรับการอพยพโดยเฉพาะ เราต้องยึดตามข้อกำหนด NFPA (National Fire Protection Association) เพื่อรองรับการจัดงานประชุมระดับนานาชาติ ซึ่งเราก็มีที่ปรึกษาด้านกฎหมายมาช่วยโดยตรงเลย” อริศราว่า ก่อนเล่าต่อ
“ทีแรกเราเคยสงสัยว่าทำไมที่นี่ต้องมีห้องประชุมตั้งห้าสิบห้องทั้งที่ก็เป็นห้องเปล่าๆ แต่ที่ปรึกษาเขาอธิบายให้ฟังว่ามันจำเป็นและจะถูกใช้จริงๆ เพราะการที่เราจะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เราต้องถอยออกมามองไกลๆ มองในภาพใหญ่ เราเลยจำเป็นต้องสร้างที่นี่ให้พร้อมที่สุด เพราะเวลางานมาลงสักงานหนึ่ง เขาไม่ได้ใช้แค่ฮอลล์เดียว มันมีการประชุมย่อยหลายวง แปลว่าต้องใช้ห้องเล็กๆ ทั้งหมดที่เราสร้างขึ้นมาด้วย
“ที่สำคัญคือการจัดงานครั้งหนึ่งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล การที่เรามีศูนย์ประชุมดีๆ มันเหมือนกับเรามีสนามบินดีๆ นั่นแหละ มันจะเปิดโอกาสหลายอย่างให้ประเทศด้วย” เธอสรุป
“ในฐานะผู้ออกแบบ คุณอยากให้คนที่ได้มาเยือนรู้สึกอย่างไร” เราถาม
“อยากให้เขารู้สึกถึงความเป็นไทยในยุคปัจจุบัน ความเป็นไทยที่เขาเข้าถึงได้ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้อย่างไม่เขิน และด้วยความที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์ประชุมแห่งชาติ ที่จะอยู่กับคนไทยไปอีกห้าสิบปี เราก็อยากให้คนไทยรู้สึกภูมิใจกับศูนย์ประชุมแห่งนี้” อริศรากล่าวปิดท้าย