ขนส่งสาธารณะแบบไทยๆ มีแต่อันตราย? - Urban Creature

กรุงเทพฯ คือเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยขนส่งสาธารณะหลากประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือข้ามฟาก มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสองแถว รถตุ๊กตุ๊ก ฯลฯ ที่พร้อมพาผู้โดยสารฝ่าทุกรถติดและซิ่งไปให้ถึงทุกพื้นที่เส้นเลือดฝอยที่กระจายอยู่ทั่วเมือง ถือเป็นยานพาหนะที่เกิดมาเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์แสนเร่งรีบของชาวกรุง ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาเครือข่ายขนส่งมวลชนไม่ครอบคลุมของมหานครแห่งนี้ด้วย

แต่ถ้าสังเกตดีๆ นอกจากความรวดเร็วและความสะดวกสบาย การใช้บริการขนส่งสาธารณะแบบไทยๆ เหล่านี้ยังมาพร้อมความเสี่ยงและอันตรายรอบด้าน เช่น รถเมล์ขับเร็วและกระชาก เรือข้ามฟากเจอคลื่นลมแรงจนเกือบจม หรือแม้แต่วินมอเตอร์ไซค์ที่พาขี่ซิกแซกปาดซ้ายขวา จนผู้โดยสารต้องนั่งลุ้นตัวเกร็งและรู้สึกไม่ปลอดภัยเอาเสียเลย

ในเมืองที่ผู้คนเดินทางแทบจะตลอดทั้งวัน มีขนส่งสาธารณะประเภทไหนบ้างที่ดูไม่ค่อยปลอดภัย เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุต่อทั้งคนขับและผู้โดยสาร คอลัมน์ Report ขอชวนไปสำรวจอันตรายใกล้ตัวผ่านบทความนี้ โดยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการชี้ปัญหาซึ่งนำไปสู่การเสริมสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับขนส่งสาธารณะไทย

รถเมล์ : รถโดยสารประจำทางที่ทั้งเร็วและแรง

ขนส่งสาธารณะแบบไทยๆ หันไปทางไหนก็เจอแต่อันตราย?

เริ่มกันด้วยขนส่งสาธารณะที่คนส่วนมากเลือกใช้อย่าง ‘รถเมล์’ เพราะค่าเดินทางถูกกว่ารถไฟฟ้าบีทีเอสหรือรถไฟฟ้าใต้ดินหลายเท่าตัว แต่ข้อเสียที่ผู้โดยสารต้องเจอคือการจราจรที่ติดขัด ทำให้การเดินทางหนึ่งเที่ยวอาจใช้เวลานานเป็นชั่วโมง

เท่านั้นยังไม่พอ การเดินทางด้วยรถเมล์ไทยยังมาพร้อมกับอันตรายและความเสี่ยง โดยเฉพาะ ‘รถเมล์ธรรมดา’ หรือ ‘รถเมล์ร้อน’ ที่มีสภาพเก่าคร่ำครึ ประตูหน้าต่างชำรุด แถมยังไม่เหมาะกับสภาพอากาศร้อนหรือฝนตกชุกของเมืองไทยอีกด้วย

ที่อันตรายไปกว่านั้นคือ รถเมล์ไทยที่มีสภาพทรุดโทรมยังอาจก่อให้เกิดเหตุไฟลุกไหม้ได้เช่นกัน โดยระหว่าง พ.ศ. 2555 – 2561 มีรายงานข่าวรถเมล์เกิดเพลิงไหม้อย่างน้อย 13 ครั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเกือบทั้งหมดเป็นรถประจำทางแบบปรับอากาศ

ทางนายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) อธิบายถึงสาเหตุส่วนใหญ่ว่า มักเกิดจากน้ำมันรั่วในห้องเครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้าลัดวงจรที่เกิดจากสายไฟเสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งาน รวมถึงการใช้งานรถเมล์แบบไม่พักจนทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัด

นอกจากอันตรายที่เกิดจากอายุของยานพาหนะแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้รถเมล์เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เช่น พนักงานขับรถเร็ว ฝ่าไฟแดง ขับรถเลนขวาแต่พอจะจอดป้ายรถเมล์ก็เบียดเข้าเลนซ้ายทันที นี่ยังไม่รวมถึงการจอดรับส่งผู้โดยสารกลางถนน ซึ่งทำให้ประชาชนต้องรีบกระโดดขึ้นลงรถ เสี่ยงต่อการโดนรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ชนอีกด้วย

ตัวอย่างรถเมล์ที่เต็มไปด้วยความหวาดเสียวคือ ‘รถเมล์สาย 8’ เส้นทางแฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ ที่ขึ้นชื่อเรื่องพนักงานขับรถเร็ว ไม่รับผู้โดยสารตามป้าย และยังเคยมีเหตุเบียดรถเก๋งจนล้อลอยจากพื้นมาแล้ว ทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายต่อหลายครั้ง เช่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เกิดเหตุรถเมล์สาย 8 ชนกับรถกระบะกลางสี่แยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว ทำให้รถพุ่งชนเจ้าหน้าที่ที่กำลังซ่อมบำรุงทางอยู่ จนมีผู้บาดเจ็บมากถึง 16 คน

ไม่ใช่แค่รถเมล์สาย 8 เท่านั้น แต่เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ยังมีข่าวอุบัติเหตุรถเมล์สาย 13 ชนรถกระบะตู้ทึบ และชนเสาไฟฟ้าเสียหายบริเวณแยกไฟแดงประชาสงเคราะห์ ถนนอโศกฯ-ดินแดง ซึ่งสาเหตุเกิดจากรถหลุดโค้ง ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 4 ราย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้พยายามพัฒนารถเมล์สายต่างๆ ให้เป็นรถเมล์ติดแอร์ที่มีมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยและการบำรุงรักษา แต่คงจะดีกว่านี้หากรถเมล์ทุกคันในประเทศไทยได้รับการยกระดับให้มีความปลอดภัยสูงสุด

รถสองแถว : กระบะดัดแปลงคู่ใจชาวเส้นเลือดฝอย

ขนส่งสาธารณะแบบไทยๆ หันไปทางไหนก็เจอแต่อันตราย?

ถัดมาคือ ‘รถสองแถว’ รถโดยสารสาธารณะสไตล์ไทยที่ดัดแปลงมาจากรถกระบะหรือรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งในกรุงเทพฯ รถสองแถวมักให้บริการอยู่ในพื้นที่เส้นเลือดฝอยที่รถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินเข้าไม่ถึง ส่วนในต่างจังหวัดรถสองแถวแทบจะเป็นรถโดยสารประจำทางหลักของแต่ละเมือง

รถโดยสารประเภทนี้เกิดจากการนำรถกระบะมาต่อเติมหลังคาที่ท้ายกระบะของรถ จากนั้นใส่เบาะเป็น 2 แถว แบ่งเป็นฝั่งซ้ายและฝั่งขวาเพื่อเป็นที่นั่งสำหรับผู้โดยสาร ที่น่าสังเกตคือเรื่องกฎหมาย เพราะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศห้ามผู้โดยสารรถสองแถวยืนหรือนั่งโดยสารในลักษณะที่เป็นการเสี่ยงภัย ทั้งยังกำหนดให้รถกระบะและรถกึ่งกระบะบรรทุกผู้โดยสารในตอนท้ายกระบะได้ไม่เกิน 6 คน

แต่ในความเป็นจริงทุกคนคงรู้ดีว่ากฎหมายเหล่านี้ปฏิบัติตามได้ยาก เพราะส่วนใหญ่รถสองแถวมักอัดแน่นไปด้วยผู้โดยสารทั้งคนที่นั่งและยืน หลายครั้งแออัดถึงขั้นที่ว่ามีคนยืนห้อยโหนบริเวณท้ายรถ ถือเป็นการปฏิบัติที่เสี่ยงอันตรายต่อตัวผู้โดยสารและผู้ขับขี่ยานพาหนะประเภทอื่นๆ บนท้องถนน

แน่นอนว่าอุบัติเหตุรถสองแถวเกิดขึ้นให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ทั้งเหตุรถชน หลุดโค้ง หรือแม้แต่กลับรถจนเหวี่ยงผู้โดยสารตกรถบาดเจ็บก็ยังมี นอกจากการเป็นรถโดยสารสาธารณะ รถสองแถวยังมักถูกใช้เป็นรถขนส่งคนงานก่อสร้าง ซึ่งบางคันไม่มีหลังคาป้องกันเลยด้วยซ้ำ ทำให้ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาผู้โดยสารจะเสี่ยงอันตรายมากกว่าที่ควร

วินมอเตอร์ไซค์ : จักรยานยนต์พาซิ่งสุดซอย

ขนส่งสาธารณะแบบไทยๆ หันไปทางไหนก็เจอแต่อันตราย?

นอกจากรถสองแถว กรุงเทพฯ ยังมี ‘มอเตอร์ไซค์รับจ้าง’ หรือ ‘วินมอเตอร์ไซค์’ ที่เป็นอีกหนึ่งฮีโร่ของชาวเส้นเลือดฝอย เพราะปัจจุบันกรุงเทพฯ มีรถมอเตอร์ไซค์สาธารณะหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างถึง 93,077 คัน กับจำนวนวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้งหมด 5,575 วินฯ จึงไม่แปลกที่จะเห็นแทบทุกซอยมีพี่วินฯ คอยสแตนด์บาย พร้อมพาผู้โดยสารฝ่ารถติดเพื่อไปส่งถึงทุกจุดหมายปลายทางไม่ว่าจะอยู่ไกลหรือในซอยลึกขนาดไหน

แต่ถ้าพูดถึงความปลอดภัย การนั่งวินมอเตอร์ไซค์ถือเป็นเรื่องหวาดเสียวอยู่ไม่น้อย เพราะหลายคนมักขี่เร็ว ซอกแซก ปาดซ้ายขวาจนอาจเสียหลักล้ม หรือชนกับรถโดยสารประเภทอื่นๆ แถมหลายครั้งวินมอเตอร์ไซค์ยังพาผู้โดยสารขึ้นไปบนทางเท้าหรือย้อนศรสวนเลน

มากไปกว่านั้น กฎหมายไทยยังระบุว่าผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถมอเตอร์ไซค์จะต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง แต่ดูเหมือนว่ากฎหมายนี้จะบังคับใช้ไม่ได้จริง เพราะถ้าดูตามท้องถนนส่วนใหญ่จะเห็นว่าวินมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่สวมหมวกกันน็อก ขณะที่ผู้โดยสารที่นั่งซ้อนท้ายแทบจะไม่สวมหมวกนิรภัยเลย

วินมอเตอร์ไซค์นับเป็นทางเลือกที่สะดวกรวดเร็วก็จริง แต่หากผู้โดยสารไม่สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่เดินทาง นอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว ยังเป็นการพาตัวเองไปเสี่ยงกับอันตรายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วย

ทั้งนี้ ปัญหาและความอันตรายที่เกิดขึ้นกับวินมอเตอร์ไซค์ ล้วนเกิดขึ้นกับ ‘มอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคล’ เช่นกัน เพราะผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรและข้อบังคับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่บนทางเท้า ขับขี่ย้อนศร ไม่สวมหมวกนิรภัย แถมบางคันยังนั่งซ้อนกันมากถึง 3 – 4 คนอีกด้วย ส่งผลให้อุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ (ข้อมูลระหว่างปี 2018 – 2021)

รถตุ๊กตุ๊ก : สามล้อเครื่องนำเที่ยวของไทย

ขนส่งสาธารณะแบบไทยๆ หันไปทางไหนก็เจอแต่อันตราย?

แม้ว่า ‘รถตุ๊กตุ๊ก’ อาจมีอุบัติเหตุไม่บ่อยเท่ากับยานพาหนะประเภทอื่นๆ เนื่องจากมีจำนวนที่น้อยกว่า และพื้นที่ให้บริการค่อนข้างจำกัด เพราะส่วนใหญ่จะอยู่ในตัวเมืองหรือสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น

แต่การนั่งรถสามล้อเครื่องก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถตุ๊กตุ๊กมีตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงมากอย่างการเฉี่ยวชน ล้มตะแคง ไปจนถึงอุบัติเหตุใหญ่ๆ อย่างโดนรถชนจนมีคนเสียชีวิต

ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เกิดเหตุรถตุ๊กตุ๊กบรรทุกผู้โดยสารเสียหลักพุ่งชนเสาไฟฟ้า ส่งผลให้คนขับเสียชีวิตคาที่ และมีผู้บาดเจ็บติดภายในและกระเด็นออกมานอกรถอีก 3 ราย

อีกเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2558 ในจังหวัดเชียงใหม่ เกิดเหตุรถตุ๊กตุ๊กพลิกคว่ำบนถนนช้างคลาน ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย เนื่องจากคนขับรถหักเลี้ยวรถกลางถนนอย่างรวดเร็วจนทำให้ล้อหลังยกขึ้นและเกิดการพลิกคว่ำ

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้รถโดยสารสามล้อเกิดอุบัติเหตุคือการโดนชนจากรถประเภทอื่น หรือเกิดจากผู้ขับขี่ประมาท ขับเร็ว หรือฝ่าไฟแดง ที่สำคัญรถตุ๊กตุ๊กยังไม่มีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยใดๆ ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุทั้งคนขับและผู้โดยสารอาจได้รับอันตรายมากกว่าที่ควร หรือบางทีอาจกระเด็นออกนอกรถไปเลย

ไม่ใช่แค่คนไทยที่รู้สึกเสี่ยงอันตรายเมื่อนั่งรถตุ๊กตุ๊ก แต่ชาวต่างชาติก็ยังกังวลถึงเรื่องความปลอดภัยเหมือนกัน เพราะหลายเว็บไซต์ท่องเที่ยว เช่น Tripadvisor Travelcredible และ Ramblingj ได้เผยแพร่บทความที่ระบุว่ารถตุ๊กตุ๊กในประเทศไทยไม่ปลอดภัย เนื่องจากไม่มีเข็มขัดนิรภัย แถมบางคันยังมีสภาพทรุดโทรมและสกปรก ส่วนถนนในเมืองไทยก็อันตรายและลื่นเวลาฝนตกด้วย นี่ยังไม่รวมถึงอันตรายที่เกิดจากรถตุ๊กตุ๊กโกงค่าโดยสาร รวมถึงหลอกขายโปรแกรมทัวร์ให้ชาวต่างชาติ

เรือโดยสาร : พาหนะทางน้ำที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

ขนส่งสาธารณะแบบไทยๆ หันไปทางไหนก็เจอแต่อันตราย?

ปิดท้ายด้วยขนส่งสาธารณะทางน้ำอย่าง ‘เรือโดยสาร’ ที่เป็นหนึ่งทางเลือกของคนที่อาศัยหรือทำงานใกล้กับแม่น้ำลำคลอง แม้จะมีข้อดีคือค่าตั๋วถูก คาดการณ์เวลาได้ เพราะไม่ต้องเผชิญรถติดเหมือนการเดินทางบนท้องถนน แต่ข้อเสียและความเสี่ยงของเรือโดยสารก็มีให้เห็นไม่น้อยเหมือนกัน

ตัวอย่างเช่น ‘เรือโดยสารคลองแสนแสบ’ ที่หลายคนมองว่าคุณภาพและบริการอาจยังไม่ได้มาตรฐาน เช่น เสื้อชูชีพไม่เพียงพอ ท่าเรือมีผู้คนเกินจำนวนที่กำหนด และจำนวนผู้โดยสารอัดแน่นเกินการรองรับ โดยข้างเรือระบุว่าบรรทุกได้ครั้งละ 80 คน แต่ในความเป็นจริงมีผู้ใช้บริการมากกว่านั้น

นอกจากนี้ เรือด่วนคลองแสนแสบยังขึ้นชื่อเรื่องความอันตรายที่เกิดจากพนักงานขับเรือเร็วมาก ขับชนโป๊ะจนผู้โดยสารล้มไหลไปกองรวมกัน ไม่ผูกเชือกเมื่อเรือจอด จอดเทียบท่าไม่สนิท ทำให้ผู้โดยสารต้องรีบกระโดดขึ้นจากเรือ แถมเวลาที่เรือแล่นสวนกันยังทำให้มวลน้ำกระเด็นเข้าตาหรือทำให้เสื้อผ้าของผู้โดยสารเปียกชุ่มทั้งตัว มากไปกว่านั้น ยังมีอันตรายจากปัจจัยภายนอกอย่างมลพิษทางเสียง ควัน และกลิ่นจากน้ำคลองที่เน่าเหม็น

ขนส่งสาธารณะประเภทนี้ทำให้ผู้โดยสารต้องใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น ผู้โดยสารพลัดตกเรือและจมน้ำเสียชีวิต ผู้โดยสารพลัดตกคลองขณะกำลังก้าวลงเรือบริเวณท่าประตูน้ำจนเสียชีวิต คลื่นจากคลองพัดเข้าท่าทำให้ผู้โดยสารลื่นล้มได้รับบาดเจ็บ เรือไฟไหม้ เรือระเบิด ฯลฯ

ส่วนเรือโดยสารประเภทอื่นๆ อย่าง ‘เรือข้ามฟาก’ ก็มีข่าวคราวอุบัติเหตุให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ไม่น้อยไปกว่ากัน เช่น เรือรับจ้างข้ามฟากล่มกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีทั้งผู้บาดเจ็บและผู้สูญหาย เรือด่วนเฉี่ยวชนกัน และล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 มีวิดีโอที่เผยให้เห็นเรือข้ามฟากโคลงเคลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยาจนเหมือนจะจม ซึ่งเกิดจากโดนคลื่นขนาดใหญ่ซัด แม้จะไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่วิดีโอไวรัลนี้ก็ชวนให้เราตั้งคำถามถึงความปลอดภัยทางเรือไม่น้อย

Sources :
BBC | bit.ly/3QzEhzV
Marine Department | bit.ly/47o8vvM
Pantip | bit.ly/3KB4Fp4
Ramblingj | bit.ly/3OC2PG2
Siamrath | bit.ly/3Ow5vEN
TCIJ | bit.ly/3OQtZdq
Thai PBS | bit.ly/3QyTL7f, bit.ly/3QEdJ0B
Thairath | bit.ly/3OsT7FB
TNEWS| bit.ly/45ozplw
Travelcredible | bit.ly/3YrpPvR
Tripadvisor | bit.ly/3s5990X

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.