ร้านข้าวแกง ร้านโชห่วย งดพลาสติกเหมือนห้างฯ ได้ไหม? - Urban Creature

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการรณรงค์ให้ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อกว่า 80 บริษัท ‘งดแจกถุงพลาสติก’ ทำให้การใช้ถุงพลาสติกลดลงถึง 9,000 ล้านใบต่อปี 

แต่ร้านค้าทั่วไปยังที่ไม่สามารถงดใช้พลาสติกอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านขายของชำ โชห่วย และตลาดสด ทำให้พลาสติกยังคงเป็นปัญหาของบ้านเรา แต่หากร้านค้าเหล่านี้จะหันมาเปลี่ยนถุงหูหิ้ว ถุงแกงร้อน หรือกล่องข้าว มาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคงใช้ต้นทุนที่สูงเอาเรื่อง

งดแจกถุง = ขยะที่ลดลง ?

นับเป็นเรื่องท้าทาย เพราะถึงแม้ห้างฯ จะงดแจกถุงพลาสติก แต่ปัญหาจริงๆ นั้น ถุงพลาสติกมีที่มาจากหลายแหล่ง 

โดยแบ่งสัดส่วนออกเป็น ร้านค้ารายใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต  30%, ร้านค้ารายย่อย เช่น ร้านโชห่วย ร้านค้าภายในชุมชน 30% และตลาดสด 40% รวมทั้งหมดประมาณ 2 ล้านตันต่อปี หรือ 30,000 ล้านใบต่อปี ดังนั้น การที่ร้านค้ารายใหญ่งดแจกถุงพลาสติก จึงคิดเป็นเปอร์เซ็นเพียง 20% เท่านั้น

จะเห็นได้ว่าร้านค้ารายย่อยและตลาดสด ยังคงเป็นแหล่งหลักที่กระจายถุงพลาสติกสู่มือประชาชน ซึ่งอาจเป็นความเคยชินและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่มาใช้บริการ รวมถึงของบางอย่างนั้นจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกอีกด้วย

พ่อค้าแม่ขายเลือกที่จะไม่ใช้พลาสติกได้หรือไม่ ?

ปัจจุบันได้มีนวัตกรรมมากมายที่จะทดแทนการใช้ถุงพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นถุงผ้า, กล่องอาหาร หรือถุงไบโอพลาสติก ที่ทำมาจากอ้อย แป้งมันสำปะหลัง และข้าวโพด โดยย่อยสลายตามธรรมชาติได้ 100% ที่จะช่วยลดขยะพลาสติกได้จำนวนมาก

เรามาดูกันเลยดีกว่าว่า หากพ่อค้าแม่ค้าเปลี่ยนถุงพลาสติกที่เคยใช้ ไปเป็นถุงไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงจานและกล่องข้าวรักษ์โลก พ่อค้าแม่ค้าต้องควักเงินจ่ายกี่บาท 

ถุงหูหิ้ว (ขนาด 6×14 นิ้ว) ครึ่งกิโล ราคา 42 บาท
ถุงหูหิ้วไบโอ (ขนาด 6×14 นิ้ว) ประมาณครึ่งกิโล ราคา 105 บาท
สำหรับใส่ถุงแกง ผลไม้ ขนม ของชิ้นเล็กๆ ต้องเพิ่มเงินถึง 63 บาท

ถุงหูหิ้ว (ขนาด 8×16 นิ้ว) ครึ่งกิโล ราคา 42 บาท ถุงหูหิ้วไบโอ (ขนาด 8×16 นิ้ว) ประมาณครึ่งกิโล ราคา 105 บาท
สำหรับใส่พวกกล่องโฟมขนาดเล็ก หรือของที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ต้องเพิ่มเงินถึง 63 บาท 

ถุงหูหิ้ว (ขนาด 9×18 นิ้ว) ครึ่งกิโล ราคา 42 บาท
ถุงหูหิ้วไบโอ (ขนาด 9×18 นิ้ว) ประมาณครึ่งกิโล ราคา 105 บาท
สำหรับใส่ของชิ้นใหญ่ อย่างกล่องโฟมขนาดใหญ่, ผลไม้ 1 กิโลฯ หรือขวดน้ำแบบลิตร ต้องเพิ่มเงินถึง 63 บาท 

ถุงร้อน (ขนาด 6×9 นิ้ว) ครึ่งกิโล ราคา 36 บาท 
ถุงร้อนไบโอ (ขนาด 6×9 นิ้ว) ครึ่งกิโล ราคา 125 บาท
สำหรับใส่อาหารคาวหวาน ร้อนและเย็น ต้องเพิ่มเงินถึง 89 บาท 

จานกระดาษ (ขนาด 7 นิ้ว) 100 ใบ ราคา 59 บาท
จานจากชานอ้อย (ขนาด 7 นิ้ว) 50 ใบ ราคา 99 บาท หรือ 100 ใบ ราคา 198 บาท ต้องเพิ่มเงินถึง 80 บาท

กล่องข้าวกระดาษ (ขนาด 600 มล.) 50 ใบ ราคา 79 บาท
กล่องข้าวพลาสติก (ขนาด 600 มล.) 50 ใบ ราคา 210 บาท
กล่องข้าวชานอ้อย (ขนาด 600 มล.) 50 ใบ ราคา 299 บาท

หากเปลี่ยนจากกล่องกระดาษมาใช้กล่องชานอ้อย ต้องเพิ่มเงินถึง 220 บาท
หากเปลี่ยนจากกล่องพาสติกมาใช้กล่องชานอ้อย ต้องเพิ่มเงินถึง 89 บาท

แม้ว่าหลายหน่วยงานจะพยายามลดใช้ถุงพลาสติก แต่ยังมีบางร้านที่ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้า ที่ไม่สามารถเข้าถึงด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง จึงเป็นเรื่องยากที่บรรดาพ่อค้าแม่ขายจะเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สุดท้ายแล้วพลาสติกจากร้านค้าเหล่านี้ อาจลดใช้ได้ด้วยความร่วมมือของประชาชนเอง เพราะหากมีมาตรการ ‘งดแจกถุง’ ออกมาไม่ให้ร้านค้าใดๆ ใช้พลาสติกเลย คงกลายเป็นวิกฤตของคนค้าขายที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน

เราจึงควรช่วยกันคนละไม้คนละมือ เร่ิมจากเรื่องง่ายๆ อย่างการพกถุงผ้าติดกระเป๋าไว้ พกแก้วน้ำคนละใบ หรือการปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติก ซึ่งจะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่สร้างความเคยชิน และยังช่วยลดขยะพลาสติกที่กำลังล้นเมืองในตอนนี้อีกด้วย

Sorce : https://bit.ly/2SdLshm
https://bit.ly/2v3NpVC
https://bit.ly/391iTuc
https://bit.ly/36XOPya
https://bit.ly/2UjkFmB
https://bit.ly/2Or8FeP

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.