พีระ โองาวา เปลี่ยนเสียงแว่วในหูสู่ศิลปะเรขาคณิต - Urban Creature

ยามผมเปลี่ยนเป็นสีดอกเลา
ยามหลังเริ่มงองุ้มตามกาลเวลา
ยามที่สายตาเริ่มพร่าเลือน
ยามที่คุณอายุเข้าวัยเลข 7
ลองจินตนาการสิว่า ตอนนั้นคุณกำลังทำอะไรอยู่

สำหรับเรา…
ยังเป็นนักเขียน? ยังไปคอนเสิร์ตของนักร้องวงโปรด? ยังชอบเข้ามิวเซียม?
คำตอบคือ ยังไม่รู้เลย ว่าวันนั้นจะยังทำสิ่งที่รักอยู่หรือเปล่า 

แต่สำหรับ พีระ โองาวา ศิลปินวัย 75 ปีท่านนี้ ชีวิตทุกวันตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ยังเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ เพื่อตื่นตอนเที่ยงคืนมาเปิดเพลงบรรเลงของโมซาร์ตและบีโทเฟน แล้วลงมือสร้างสรรค์ ศิลปะเรขาคณิต จนถึงยามฟ้าเริ่มสางช่วง 5 นาฬิกา เขาทำทุกวันอย่างไม่มีหยุดพัก และจะมีความสุขทุกครั้งที่วาดภาพออกมาได้ดั่งใจคิด

พีระ โองาวา

เสื้อเชิ้ตสีฟ้าอ่อน กางเกงสแล็กสีดำ และรอยยิ้มใจดีของคุณพ่อพีระต้อนรับเรา เมื่อ แตง-ประกายจิต โองาวา ลูกสาวคนโตของครอบครัวเชื้อเชิญเข้าบ้าน ตามด้วยคำทักทายของ คุณแม่สว่าง โองาวา และลูกชายคนเล็ก เต้-ยุทธจิต โองาวา 

ครอบครัวลูกครึ่งญี่ปุ่นยิ้มแย้มอย่างเป็นกันเอง ก่อนรวมตัวนั่งล้อมวงบนชั้น 2 เพื่อพูดคุยถึงโลกศิลปะของคุณพ่อพีระ ท่ามกลางงานศิลปะเรขาคณิตนับสิบชิ้นที่รายล้อมอยู่ในห้องรับแขก และอีกหลายร้อยชิ้นที่ซุกซ่อนอยู่ในบ้านหลังอบอุ่น


ศิลปะไร้อุปกรณ์

ชีวิตศิลปะของศิลปินอายุ 75 ปีเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วัยไม่ถึงสิบขวบ เขามักหยิบดินสอมาวาดภาพ Freehand หรือการวาดภาพโดยไม่ใช้เครื่องมือเป็นเหล่าสัตว์นานาชนิดตามที่ใจคิด เพราะมองว่าสัตว์ทุกตัวมีความสวยงามเฉพาะแบบ บ้างวาดสัตว์ตัวนั้นตามแบบที่เป็น บ้างเอาสัตว์หลายตัวมาผสมกันจนมีรูปร่างหน้าตาแปลกไปจากเดิม อย่างรูปไก่ที่มีขนเป็นงู รูปต้นไม้ที่กิ่งก้านของมันกลายเป็นงูเลื้อย แต่นั่นก็เป็นจินตนาการของเด็กชายพีระที่เตะตาคุณครูตอนเรียนชั้น ป.7

พีระ โองาวา (ซ้าย), สว่าง โองาวา (ขวา)

“ตอนนั้นคุณครูให้วาดภาพลงกระดานดำ แต่ผมก็ไม่ยอมออกไปวาดนะ พอครูบอกว่าถ้าวาดจะไม่ต้องทำการบ้าน ทีนี้ก็เลยยอมออกไปวาดเลยครับ (หัวเราะ) เป็นรูปฉลามเอี้ยวตัว ซึ่งทุกคนในห้องลงความเห็นกันว่าเหมือนของจริง” เขายังเล่าติดขำว่า สมัยเด็กเคยไปวาดภาพ Freehand ที่สวนสัตว์ นั่งมองนกเกาะกิ่งไม้ บางตัวบินไปมาแล้ววาดตาม แต่ภาพที่ออกก็ไม่สวยเท่าของจริงที่เห็นตรงหน้า 

เด็กชายพีระยังใช้เวลาว่างหมดไปกับการวาดรูปเสมอ จนกระทั่งที่บ้านส่งไปเรื่องด้านเครื่องยนต์ถึงแดนอาทิตย์อุทัย แต่ด้วยความเครียดเรื่องภาษา วัฒนธรรม ไปจนถึงการเรียน ทำให้เขาป่วยมีอาการได้ยินเสียงคล้ายกับแมลงในหูตลอดเวลา เมื่อกลับเมืองไทย นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว เขาก็มีศิลปะเป็นคุณหมอใจดีประจำตัวจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งคอยช่วยให้เสียงที่ได้ยินทุเลาลง 

“เมื่อจดจ่ออยู่กับภาพที่กำลังวาด จะทำให้เสียงแมลงในหูที่ได้ยินน้อยลง และลืมไปในที่สุดครับ”

แม้เติบโตเป็นวัยหนุ่มจนกระทั่งแต่งงานมีครอบครัวในปี 2418 คุณพ่อพีระก็ยังคงไม่ทิ้งการวาดภาพที่รัก หลังจากช่วยคุณแม่สว่างขายข้าวหมูแดงที่ประตูน้ำถึงเที่ยงเสร็จแล้ว เขาจะกลับบ้านมาเข้าคลาสศิลปะของตัวเอง หยิบกระดาษไข ปากกา Rotring แล้วนั่งวาดภาพที่สวนหน้าบ้านตลอดช่วงบ่ายของวัน 

“แม่ยังบอกเลยว่า โอ้โฮ เธอใช้ปากกา Rotring นี่แพงนะ” แม่สว่างเอ่ยแซวอย่างขำขัน


ศิลปะเรขาคณิต

หลังจากที่พ่อพีระวาด Freehand ลงกระดาษไข เข้าปี 2529 ก็ถึงเวลาเปลี่ยนสู่การใช้เครื่องมือเรขาคณิต ทักษะที่เขามีติดตัวตั้งแต่วัยเด็กจากที่คุณครูสอน แม้ตอนนั้นไม่ได้นึกอยากใช้เหล่าสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม หรือเส้นตรง อย่างจริงจัง แต่พอเอามาลองทาบ แล้ววาดลงกระดาษไขกลับพบความมหัศจรรย์ของเหล่าอุปกรณ์

พีระ โองาวา

แตงหยิบแฟ้มสะสมผลงานของคุณพ่อยื่นให้เราดู ก่อนบอกว่านี่คือกบ สัตว์ตัวแรกที่คุณพ่อวาดด้วยเครื่องมือเรขาคณิต

“ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจวาดรูปกบ แต่พอเอาวงกลมมาเขียน แล้วเอาครึ่งวงกลมมาทาบไปทาบมา แล้วมันก็ไหลไปเรื่อย จนเห็นเป็นรูปกบครับ ซึ่งเป็นการใช้เครื่องมือกับงานศิลปะยุคแรกที่เมื่อเอามาวางแล้วรู้สึกว่ามันเกิดเป็นภาพได้ เลยวาดมาตลอดจนทุกวันนี้ จากพวกสัตว์ ก็ขยับเป็นแอบสแตร็กบ้าง ภาพเกี่ยวกับศาสนาที่ผมนับถือบ้าง” 

“รูปหนึ่งคุณพ่อใช้เวลาวาดกี่วันคะ” เราถาม 

“ถ้าลงเส้นอย่างเดียวได้วันละประมาณสองรูป ส่วนลงสีแล้วแต่ภาพครับ เพราะจะวาดไว้ก่อนแล้วค่อยมาลงสีทีหลัง”

โต๊ะไม้ริมหน้าต่างคือมุมลงโครงเส้นภาพที่พ่อพีระนั่งทุกวัน เขาจะหยิบสารพัดเครื่องมือเรขาคณิตมาทาบตัดกันไปมาให้เกิดรูป วาดเพียงเค้าโครงทิ้งไว้ ก่อนจะจุดสีที่อยากลง หรือเขียนชื่อสีกำกับไว้ตามช่องต่างๆ ในภาพ

พีระ โองาวา

ไม่ไกลกันนั้นเป็นโต๊ะเขียนแบบที่พ่อพีระใช้สำหรับลงสี เหตุผลที่เลือกโต๊ะนี้ เพราะมีไฟส่องจากด้านล่าง ทำให้คอนโทรลสีได้แน่น สำหรับการลงสี เขาเริ่มจากการใช้สีไม้ที่เอ่ยปากบอกเราทันทีว่า เป็นเทคนิคสีที่ยาก แต่หากลงแล้วจะได้งานละเอียด 

“แม้จะใช้เวลานาน เพราะต้องใช้สีไม้ค่อยๆ ระบายไล่ไปเรื่อยๆ แต่สีที่ได้ออกมาก็จะแน่น เนียน สวย” คุณพ่อว่าเมืองมองไปยังภาพสีไม้ในแฟ้มผลงาน 

จากกระดาษไข สู่เฟรมผ้าใบ พ่อพีระเปลี่ยนจากสีไม้เป็นสีอะคริลิก ใช้นิตโต้ปิดทับกั้นเส้น ก่อนค่อยๆ ใช้เครื่องมือเรขาคณิตตามรูปที่วาดวางทาบแล้วกรีดคัตเตอร์ตรงส่วนที่อยากลงสี จนได้ภาพเนี้ยบกริบ แต่ข้อเสียคือเหล่าอุปกรณ์พังไม่เป็นท่า

“เมื่อก่อนซื้ออุปกรณ์เขียนแบบจากห้างไดมารู ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือออกแบบสถาปนิกสมัยก่อน มีวงกลม ครึ่งวงกลม เหลี่ยมต่างๆ แต่มันแพงเหลือเกินครับ พอต้องเอาคัตเตอร์กรีดแล้วใบคัตเตอร์กินเครื่องมือเสียหมด ก็เลยหาร้านที่ราคาถูกกว่า ต้องปรับมาใช้แบบแยกชิ้น

“พอตอนนี้อยากหาแบบที่ไดมารูเคยมีก็หาไม่ได้เลย ที่ญี่ปุ่นก็หาซื้อยาก ใครรู้แหล่งก็ฝากบอกทีครับ (หัวเราะ)”

ด้วยวัยที่เพิ่มขึ้น เมื่อประมาณ 7 ปีก่อน เต้ลูกชายคนเล็ก จึงปรับให้คุณพ่อใช้สีเมจิกแทน และถึงแม้ว่าอายุจะเกือบเข้าเลข 8 แต่พ่อพีระก็ยังยืนยันกับเราว่า ยังระบายสีไม่ออกนอกเส้นนะ 

เราฟังแล้วอดยิ้มตามด้วยไม่ได้ ก่อนถามถึงผลงานมากมายที่ตั้งเรียงรายอยู่ด้านหน้า คุณพ่อเดินไปยังเหล่าภาพ แล้วเริ่มเล่าเรื่องราวของแต่ละชิ้นให้ฟัง

พีระ โองาวา

“ภาพสีน้ำเงินที่เป็นงานแอบสแตร็ก ตอนนั้นมองออกนอกหน้าต่างเห็นตึก เห็นหลังคาบ้านก็เลยนำมาวาด เส้นสีเทาเป็นหลังคา ตรงด้านข้างคาดสีน้ำเงิน แล้วก็คาดเส้นสีดำเป็นตัวตึก แล้วข้างในก็จะมีตึกย่อยๆ อีก

“ส่วนภาพ กงกรรมกงเกวียน เป็นรูปหัวกะโหลกควาย แซมใบไม้ใบหญ้าด้วยสีเขียวแกมฟ้า มีต้นไม้ แล้วก็ลงสีพื้นเป็นเส้นตรง” 

แตงเสริมว่าภาพกงกรรมกงเกวียนเป็นภาพแรกและภาพเดียวที่คุณพ่อส่งประกวด ซึ่งเป็นงานของบัวหลวง สองพ่อลูกพากันนั่งรถแท็กซี่ พร้อมเฟรมภาพวาดไปถึงที่ และรอจนประกาศผล เพราะเมื่อไม่เข้ารอบจะได้ยกผลงานกลับมาที่บ้านด้วย 

“ลองทายสิครับว่าอันนี้ภาพอะไร” เต้เอ่ยถาม ก่อนยื่นรูปหนึ่งให้เราดู เรานิ่งไปก่อนจะเดาเท่าไหร่ก็เดาไม่ถูก จนพ่อพีระหัวเราะเล็กน้อยก่อนเฉลยว่า หน้าปีศาจทะเล

“ผมไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้เป็นรูปอะไรก่อน เอาเครื่องมือทาบแล้วก็วาดเลย ตามที่เรารู้สึก เลยมีทั้งหน้าปีศาจ คน นก ใบไม้ มีหลายอย่างแล้วแต่คนดูจะจินตนาการครับ”

ผลงานศิลปะเรขาคณิตนับพันชิ้นของคุณพ่อพีระ บางภาพท่านมอบให้เพื่อน มอบคุณหมอที่ดูแลสุขภาพ ไปจนถึงคนรอบตัว และยังมีภาพ Jesus ที่คุณพ่อวาดศาสนาคริสต์ผสมผสานกับศาสนาพุทธ กลายเป็นภาพพระเยซูตรึงกางเขน ด้านหลังเป็นจีวรพระจากกระดาษทราย ยืนอยู่บนสรวงสวรรค์ มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ และทะเล ซึ่งเพื่อนจากเซนต์คาเบรียลเห็นแล้วขอซื้อ และนั่นคือภาพแรกที่ขายได้ในราคา 5,000 บาท สร้างความปลื้มปีติให้คุณพ่อมากทีเดียว 

กว่าหลายสิบปีที่พ่อพีระคลุกคลีกับศิลปะเรขาคณิตอย่างไม่นอกใจไปหาศาสตร์แขนงอื่น เราจึงอดถามท่านไม่ได้ว่า เสน่ห์ของเหล่าเรขาคณิตในมุมมองของคุณพ่อคืออะไร 

“ความตายตัวครับ (ยิ้ม) สามเหลี่ยมก็คือสามเหลี่ยม เส้นตรงก็คือเส้นตรง เส้นโค้งก็คือเส้นโค้ง แต่พอเอามาผสมผสานเป็นรูปต่างๆ เอามาตัดเหลี่ยม ตัดมุมกันแล้วมันสวยมากครับ”


ศิลปะเป็นของทุกคน


ผลงานศิลปะเรขาคณิตของคุณพ่อพีระจากที่เคยเก็บไว้ชื่นชมกันภายในครอบครัว หรือส่งต่อให้คนใกล้ชิด และคนรู้จัก วันหนึ่งขยับสู่การเปิดให้สายตาทุกคนได้รับชม เนื่องจากเต้ส่งงานคุณพ่อเข้าร่วม Bangkok Illustration Fair 2021 ด้วยชื่อ PIRA เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกิจกรรมออนไลน์เพื่อขับเคลื่อนวงการ Illustration ที่เปิดให้ศิลปินส่งผลงาน แล้วจะคัดเพียง 150 ผลงานโดดเด่นมามอบรางวัลพิเศษ โดยภาพศิลปะเรขาคณิตของท่านก็กลายเป็นขวัญใจใครหลายคน รวมถึงเรา จนคว้ารางวัลป็อปปูลาร์โหวต

ไม่เพียงเท่านั้น พ่อพีระยังได้รับเลือกเป็น 1 ใน 5 ศิลปินจากการประกวดครั้งนี้ ให้วาดภาพในหัวข้อ ‘หอศิลป์’ เพื่อจัดแสดงภาพที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขาจึงบรรจงวาดผลงานชื่อ ‘ดวงตาหอศิลป์’ ในรูปแบบเรขาคณิตของศิลปินวัย 75 ปี ซึ่งครอบครัวพาคุณพ่อไปนั่งที่หอศิลป์ เพื่อซึมซับบรรยากาศก่อนลงมือวาด

“ภาพดวงตาหอศิลป์ สื่อถึงดวงตาของหอศิลป์ที่มองเห็นผลงานของศิลปินทุกคนที่มาร่วมจัดแสดง และมองไปยังคนดูงานศิลปะ ซึ่งผมได้แรงบันดาลใจมาจากความโค้งภายในหอศิลป์ครับ”

เขายังเสริมต่อว่า การประกวดและการได้รับเลือกให้จัดแสดงผลงานครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าในประเทศไทยยังมีศิลปินเก่งๆ อีกหลายคนที่ยังไม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะเปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีโอกาสได้แสดงผลงาน รวมถึงเปิดพื้นที่แสดงผลงานให้คนทุกชนชั้นเข้าถึงได้ เพราะทุกคนคือคนเท่ากัน

“รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงฝีมือ ด้วยการมีพื้นที่แสดงศิลปะมากขึ้น อย่างหอศิลป์ เวลาไปแล้วรู้สึกว่าที่นี่คือจักรวาลศิลปะที่ควรอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อช่วยคนที่ยังมีฝีมือ และมีไอเดียดีๆ ให้มีโอกาสได้แสดงงาน เพราะจริงๆ แล้วคนไทยเราเก่ง มีนักวาดรูปเก่งๆ อีกหลายคนที่ยังไม่ได้เผยตัวออกมา ซึ่งถ้าเขาได้แสดงงานที่หอศิลป์ ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จครับ”

พีระ โองาวา

เมื่อพูดถึงความเท่าเทียม พ่อพีระจึงเล่าถึงภาพหนึ่งที่ชอบที่สุดและภูมิใจที่สุดให้เราฟัง นั่นคือภาพผู้หญิงนั่งถ่างขา ซึ่งสื่อถึงการเกิดของมนุษย์ ที่ไม่ว่าจะเป็นใคร จากชาติไหน ประเทศใดก็ล้วนเกิดจากอวัยวะของผู้ชาย และผู้หญิงทั้งนั้น 

“ไม่ว่าคุณจะใหญ่โต หรือเล็กกระจิ๋วหลิว ทุกคนก็เกิดมาจากที่เดียวกัน ดังนั้นทุกคนคือคนเท่ากัน”

ศิลปะของครอบครัวโองาวา

ยุทธจิต, พีระ, สว่าง, ประะกายจิต โองาวา

ตลอดการพูดคุยเราสัมผัสได้ถึงมวลความสุขที่ฟุ้งมาจากพ่อ แม่ และลูกทั้งสองที่เกิดจากการวาดภาพเรขาคณิตของพ่อพีระ ไม่เพียงเท่านั้น งานอดิเรกตั้งแต่วัยเยาว์จวบจนสูงวัยของท่าน ยังเป็นสิ่งที่แตงและเต้ซึมซับตั้งแต่เด็กอย่างไม่รู้ตัว 

“ถึงแม้โตมาจะไม่ได้ทำงานด้านศิลปะโดยตรง แต่แตงเห็นคุณพ่อวาดรูปมาตั้งแต่เด็กค่ะ เลยซึมซับศิลปะอย่างไม่รู้ตัว ซึมซับการมองความสวยงาม จนชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งเวลาเราวาด นั่งทำงานศิลปะ พ่อก็จะชอบมามอง รู้เลยว่าเขาภูมิใจที่เราวาดรูป แต่ไม่เคยไกด์ ไม่เคยบังคับ เขาปล่อยอิสระให้เราเต็มที่ 

“คุณพ่อซื้อสีเมจิกที่เป็นกล่องเหล็กสองชั้นให้ เวลาไปประกวดวาดภาพแล้วเปิดออกมา ก็จะรู้สึกชนะเลย (หัวเราะ) ส่วนเต้ ก็ชอบวาดภาพเหมือนกัน โตมาเขาเรียนด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกค่ะ จบมาทำงานเป็นแอนิเมเตอร์ และยังคงวาดภาพเป็นงานอดิเรก” แตงเล่า

เธอเสริมว่า ทุกวันนี้คุณพ่อยังคงวาดรูปตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงตีห้าของทุกวันอยู่ แม้จะยังดูแลตัวเองได้ แต่ก็ต้องติดกล้องวงจรปิดไว้คอยเปิดเช็กดู เพราะท่านเคยล้มไปครั้งหนึ่ง แต่เมื่อเปิดกล้องแล้วเห็นว่าคุณพ่อยังนั่งวาดภาพ ฟังเพลงบรรเลงอยู่ ก็ทำให้ครอบครัวสบายใจ และยินดีที่จะให้คุณพ่อได้วาดรูปเรขาคณิตที่รักไปจนกว่าจะถึงวันที่ท่านไม่ไหว เพราะสิ่งนี้คือทั้งชีวิตของชายที่ชื่อ พีระ โองาวา

“ศิลปะคือชีวิตของพ่อเลย ท่านวาดทุกวัน วาดเป็นประจำตั้งแต่หนุ่มยันแก่ แล้วตั้งแต่แตงเกิดมาก็เห็นเขาวาดรูปอย่างตั้งใจมาตลอด เนอะพ่อเนอะ” เธอหันไปถามคุณพ่อด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

“อย่างนั้นถ้าวันหนึ่งโลกของคุณพ่อไม่มีศิลปะ คิดว่าจะเป็นอย่างไรคะ” เราถามคุณพ่อต่อ

“โลกก็คงเฉา กระด้าง เพราะศิลปะทำให้เราเห็นหลากหลายความคิด นอกจากนี้การทำงานศิลปะยังทำให้ผมรู้สึกดีใจเมื่อวาดภาพได้ดั่งใจคิด และภูมิใจในผลงานของตัวเองครับ” พ่อพีระกล่าวปิดท้าย

ถึงเวลากลับ แม่สว่างยื่นข้าวหมูแดงและบะหมี่หมูแดงสูตรที่คิดเองให้เราเป็นของฝากติดมือ พ่อพีระ แตง และเต้ เดินออกมาส่งเราหน้าบ้าน คุณพ่อโบกมือลาพร้อมรอยยิ้มใจดี เราขึ้นรถกลับด้วยความอิ่มเอมใจ เป็นการพูดคุยที่ทำให้เรามีตะกร้าแรงบันดาลใจใบใหญ่ติดตัวกลับไป และมีความตั้งใจว่า เมื่อแก่ตัวลง จะพยายามประคับประคองและทำสิ่งที่รักเหมือนที่คุณพ่อพีระ โองาวายังคงตื่นตอนเที่ยงคืนมาวาดภาพศิลปะเรขาคณิตทุกวัน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.