มนุษย์ต่างวัย เพจที่ชวนคนทุกวัยใช้ใจผสานความห่าง - Urban Creature

‘สวัสดีวันอังคาร ขอคุณพระคุ้มครอง’

ทุกคนเคยได้รับข้อความแบบนี้ยามเช้าผ่านไลน์กันหรือเปล่า แน่นอนว่าคำตอบคงเป็นเคยอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นผู้สูงวัยที่ส่งมาหากัน เราเคยเป็นหนึ่งคนที่แอบหงุดหงิดใจเล็กน้อยเมื่อได้รับ แต่เชื่อไหมว่าการตามอ่านเพจ มนุษย์ต่างวัย มาร่วมปี ทำให้เราเลิกคิดแบบนั้น เพราะคลิปวิดีโอหนึ่งบอกให้รู้ว่า ที่พวกท่านส่งรูปดอกไม้ รูปพระ หรือรูปคำคมยามเช้ามาหา เพื่อให้รู้ว่าห่วงใย และยังอยู่ตรงนี้เสมอ

ประสาน อิงคนันท์ คือผู้ก่อตั้งเพจมนุษย์ต่างวัย เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของคนสูงวัยให้คนทุกวัยเข้าใจ เพราะเขาเชื่อว่า เรื่องสูงวัยไม่ใช่แค่เรื่องผู้สูงอายุ แต่คือเรื่องที่คนทุกช่วงวัยควรทำความเข้าใจ ดังนั้นเราขอชวนแก๊งวัยรุ่น คนทำงาน คนเกือบแก่ และเหล่าคนหลังเกษียณมาค้นหาคำตอบของการอยู่ร่วมกันในรูปแบบที่ต่างวัยแต่ไม่ต่างใจกับพี่ประสานไปพร้อมกัน

Photo : Prasan Ingkanunt

เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับพี่ประสาน จากบทบาทพิธีกรรายการ คนค้นฅน และ กบนอกกะลา แต่ช่วงหลังเขาเปลี่ยนมาทำรายการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ อย่าง ลุยไม่รู้โรย และ The Senior รุ่นใหญ่หัวใจไร้ขีดจำกัด จนมาถึงเพจ ‘มนุษย์ต่างวัย’ แต่เขากลับเปิดบทสนทนาครั้งนี้ว่า “ตอนแรกไม่สนใจประเด็นผู้สูงอายุเลย”

พี่ประสาน : เราไม่ได้สนใจประเด็นผู้สูงอายุ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ชอบคุยกับผู้สูงอายุนะครับ (หัวเราะ) เพราะส่วนใหญ่หลายๆ ที่จะนำเสนอประเด็นผู้สูงวัยด้านสุขภาพ การออม ซึ่งจะเป็นประเด็นที่สื่อสารให้กับผู้สูงอายุ แต่เรากลับสนใจภาพกว้างกว่านั้น เลยเริ่มรีเสิร์ชอย่างจริงจัง จนเราพบว่า เรื่องสูงวัย เป็นเรื่องทัศนคติที่สังคมมีต่อผู้สูงอายุ ทัศนคติที่ผู้สูงอายุมีต่อตัวเอง และสังคมผู้สูงวัยไม่ได้มีแค่ผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของคนทุกวัย

.

มนุษย์ต่างวัย

เมื่อสูงวัยกลายเป็นเรื่องที่พี่ประสานให้ความสนใจอย่างลึกซึ้ง จนค้นพบสิ่งที่เรียกว่า ‘ความต่างของช่วงวัย’ ที่เขาอยากจะสร้างสื่อที่เป็นเหมือนกาวผสานให้ความห่างนี้กลายเป็นศูนย์ 

พี่ประสาน : คนหนุ่มสาวมองคนรุ่นเก่าเป็นไดโนเสาร์ คนรุ่นเก่าก็คิดว่าฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน นี่คือชุดความคิดหนึ่งที่ยังมีอยู่ในสังคมระดับโลกครับ เพจมนุษย์ต่างวัยจึงเกิดขึ้นด้วยการนำเสนอคอนเทนต์ที่ไม่ได้คุยเรื่องผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่ยังโฟกัสไปที่ช่องว่างระหว่างวัย นั่นหมายถึงการให้ความสำคัญเกี่ยวกับทัศนคติของวัยอื่นที่มีต่อผู้สูงอายุ และทัศนคติของผู้สูงอายุที่มีต่อวัยอื่นด้วยครับ เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างวัย

หัวใจสำคัญสำหรับการทำงานคือ ‘ต่างวัยแต่ไม่ได้มาจากต่างด่าว’ หมายถึง เราแค่อายุต่างกัน แต่เราไม่ใช่คนแปลกประหลาด ซึ่งเป็นประโยคที่คนทุกวัยสามารถพูดได้ 

แล้วเนื่องจากเราทำงานเกี่ยวกับรายการผู้สูงอายุมาก่อน เลยหากลุ่มคนที่อยากสัมภาษณ์ง่ายขึ้นครับ โดยเอากรอบความคิดของเพจเป็นตัวตั้ง คือผู้สูงอายุที่มีทัศนคติที่ดีเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก หรือที่เรียกว่ากลุ่ม ‘Active Aging’ เป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่ยังใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีเป้าหมาย มีแพสชันที่อยากจะทำอะไรต่างๆ อีกมากมาย และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปกับสิ่งใหม่ ซึ่งเหตุผลที่เราหยิบยกพวกเขาขึ้นมา ก็เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนวัยเดียวกัน เพราะมีงานวิจัยบอกไว้ว่า หากผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำ ลุกขึ้นมาใช้ชีวิตมากขึ้น ก็จะทำให้ระยะเวลาของการเป็นผู้ป่วยติดเตียงสั้นลงได้ครับ 

.

ช่องว่างระหว่างวัย

ลองนึกสิครับว่าช่องว่างระหว่างวัยเกิดจากอะไร ? พี่ประสานโยนคำถามกลับมาเมื่อเราถามถึงสาเหตุของการเกิดช่องว่างที่สร้างความไม่เข้าใจ เราเลยลองคิดย้อนมาถึงตัวเอง ก่อนตอบออกไปว่า ช่องว่างที่เกิดขึ้นมาจากความคิดที่ต่างกันในแต่ละช่วงวัย

พี่ประสาน : ใช่ครับ แต่ความคิดเป็นแค่ส่วนหนึ่งนะ เรามองว่า การตีกรอบคือสาเหตุหลักมากกว่า เพราะไม่ว่าเขาหรือเราจะคิดอย่างไร บางทีก็ไม่ได้มีโอกาสมองให้เห็นอย่างถ้วนทั่ว เช่น คุณมองว่า ผู้สูงอายุที่บ้านล้าสมัย ไม่เท่าทันโลก และมีความเชื่อที่แตกต่างจากคุณเสมอ แต่ถ้าคุณลองมองย้อนกลับไปสู่อดีตที่เขาเติบโตมา จะรู้สึกได้เลยว่า ยังมีส่วนที่ยังมองไปไม่ถึง ยังมีบางมุมที่ลืมคิด นั่นเพราะเราตีความ และให้คุณค่าผู้สูงอายุแค่ตอนที่เราเห็นเขา กลายเป็นว่าคนแต่ละวัยไปคาดหวัง ไปสร้างกรอบว่าคนวัยนั้นต้องคิด ต้องทำแบบนี้ เลยพาลไปถึงตอนสื่อสารหรือพูดคุยกัน ที่บางทีไม่ได้นึกถึงใจกันและกัน ซึ่งเรามองว่ามันเกิดกับทุกๆ การเปลี่ยนแปลงของช่วงวัยนะ

.

กาวใจลดระยะวัย

พี่ประสาน : เราคิดว่า การมองเห็นคุณค่ากันและกัน เป็นเรื่องสำคัญมาก หมายถึงถ้าเราลองเปรียบเทียบเป็นของ วันหนึ่งเราอาจมองว่า ของชิ้นนั้นไม่มีค่าสำหรับเราแล้ว แต่ถ้ามองย้อนกลับไปจะพบว่า สิ่งของเหล่านี้สร่างคุณค่าให้กับเรามาตั้งเยอะ เพียงแต่เราลืมเส้นทางที่ของชิ้นนั้นเคยสร้างคุณค่า 

เช่นเดียวกับการลดช่องว่างระหว่างวัยครับ ถ้าต่างคนต่างมองหาจุดเด่น มองเห็นศักยภาพ และหยิบยื่นคุณค่าให้กันไว้ก่อน แล้วดึงมารวมกันตรงกลาง เราก็จะเจอคำตอบในการอยู่ร่วมกันได้ สูตรสำเร็จเลยเป็นการนำคุณค่าของคนแต่ละอายุมาผสมผสานเป็นเนื้อเดียว

Photo : Prasan Ingkanunt

มีอาม่ากับหลานที่น่ารักมากคู่หนึ่ง ซึ่งเรารู้สึกว่าเล่าเรื่องการมองเห็นคุณค่าได้ชัดเจนมากครับ คือหลานเติบโตมากับอาม่า ซึ่งเป็นคนทำกับข้าวให้กินประจำตั้งแต่เด็ก กลายเป็นความผูกพันกัน พอหลานเข้ามหาวิทยาลัย เรียนสายไอที เลยชวนอาม่าทำธุรกิจข้าวกล่องออนไลน์ด้วยกัน ให้อาม่าเป็นคนทำอาหาร ส่วนหลานดูแลเพจ เราจะเห็นว่าหลานก็กลับมามองเห็นศักยภาพของอาม่าในการทำอาหาร ในขณะเดียวกันอาม่าเองก็ได้ใช้ศักยภาพของลูกหลานยุคใหม่เรื่องการทำธุรกิจออนไลน์ 

คนรุ่นใหม่เจ๋งในเชิงความคิดก้าวหน้าที่กล้าและลองทำ แต่หัวใจที่ทำให้เกิดความสำเร็จ คือประสบการณ์ ที่ต่อให้คุณมีความคิดสร้างสรรค์แค่ไหน แต่ประสบการณ์จากคนรุ่นเก๋าจะเติมเต็มจนเกิดความสำเร็จ

ถึงเก๋าก็พร้อมปรับตัว

พี่ประสาน : มีผู้สูงอายุหลายคนเลยครับที่มีศักยภาพและพร้อมทดลองทำสิ่งใหม่ที่ออกนอกกรอบไปจากตัวเองครับ พวกเขาสามารถหยิบจับความรู้ และปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อเชื่อมโยงกับตัวเองได้ อย่างการเรียนรู้ผ่าน LINE ด้วยการส่งสติกเกอร์ หรือรูปภาพคำคม นั่นคือการเรียนรู้ของเขา ลองคิดดูสิว่าคนที่อายุ 10 ไปจนถึง 20 กว่าๆ ที่เป็น Digital Native อยู่แล้วก็สามารถใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ได้โดยธรรมชาติ

Photo : Prasan Ingkanunt

ซึ่งผู้สูงอายุไม่ใช่แบบนั้น แต่เขาก็พร้อมที่จะเริ่มเรียนรู้ เราจะเห็นว่ามีบางครอบครัวที่ลูกรู้สึกว่าทำไมสอนแม่เท่าไหร่แม่ก็จำไม่ได้ แต่ในมุมหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถึงเขาจะใช้เวลาในการจดจำสักหน่อย แต่การที่อยากจะเรียนรู้และเข้ามาอยู่ในโลกใหม่นั้นมีมากทีเดียว ในทางกลับกันหากวันหนึ่งคนรุ่นใหม่กระโดดลงไปทำกิจกรรมอย่างที่ผู้สูงอายุชอบทำ ไปปลูกต้นไม้ ไปนวด ไปนั่งฟังเรื่องราวในวันเก่าก่อน เขาก็อาจจะรู้ว่าสิ่งที่ผู้สูงอายุทำไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่อเข้าใจกัน โลกก็จะกลายเป็นโลกที่น่าอยู่ขึ้นครับ

.

ต่างวัย (ไม่) ต่างใจ 

แม้เพจมนุษย์ต่างวัยจะมีพระเอกเป็นเหล่าผู้สูงอายุ แต่พี่ประสานบอกกับเราว่า คนติดตามเพจนั่นหลากหลายมาก ไม่ได้มีแค่ผู้สูงวัยอย่างเดียว แต่ยังมีหนุ่มสาววัยทำงาน รวมถึงคนที่มีผู้สูงอายุในครอบครัว หรือเด็กๆ ที่มีสายสัมพันธ์กับครอบครัวที่ติดตาม กลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่ดูแล้วรู้สึกว่า อยากจะแก่ตัวไปแล้วยังมีแพสชัน อยากใช้ชีวิตแบบนี้นั่นเอง

พี่ประสาน : เราทำเรื่อง ‘60 แล้วโสด แต่ยังมีความสุข’ ก็มีคนรุ่นยี่สิบปลายๆ ไปจนถึงสี่สิบแท็กหากันเยอะมากว่า ถ้าเราจะแก่แล้วโสด เราก็จะโสดแบบนี้ (หัวเราะ) ซึ่งเรารู้สึกดีใจมากนะครับที่สร้างให้คนวัยอื่นได้เห็นว่า เมื่อคุณอายุมากขึ้นแล้วควรเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่สูงวัยอย่างไร ได้จินตนาการภาพตัวเองในอนาคต ซึ่งแน่นอนครับผลลัพธ์ที่ตามมาคือ เขาเหล่านั้นจะเข้าใจผู้สูงอายุมากขึ้น 

.

ความพร้อมไทยกับสังคมผู้สูงอายุ

ไม่มีความพร้อมเลยครับ หลังเกษียณก็ยังไม่มีอะไรมารองรับ

พี่ประสาน : แค่เรื่องการออมเงินให้พอใช้หลังเกษียณก็เหมือนจะยากแล้วครับ พอจบมหาวิทยาลัยบางคนก็เป็นหนี้กยศ. แล้ว ในขณะที่คุณใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกับเงินเดือนที่คุณได้ เรามองไม่เห็นเลยว่าช่วงบั้นปลายที่อยากมีเงินสิบล้าน อยากมีเงินออมที่มั่นคงจะมีคนทำได้กี่เปอร์เซนต์ นอกจากนี้เรื่องอายุเกษียณก็สำคัญครับ ในสังคมไทยมีแต่จะสั้นลง แม้ว่าข้าราชการจะขยายไปถึง 65 ปี แต่คำถามคือหลังจากเกษียณไป มีใครยกเรื่องการเพิ่มสกิลหรือการทำอะไรบางอย่างหรือเปล่า หรือในภาคเอกชน คุณเกษียณตอนอายุ 55 ซึ่งคุณยังทำอะไรได้อีกตั้งเยอะ แล้วต่อจากนี้จะทำอะไรต่อ 

ในขณะเดียวกันกับเหล่ามนุษย์เงินเดือน อายุช่วงสามสิบถึงสี่สิบปลายๆ แน่นอนว่าต้องเจอกับอาการป่วยของพ่อแม่หรือผู้สูงอายุในครอบครัว คำถามที่ตามมาคือ สังคมไทยได้เตรียมพร้อมให้พวกเขาด้วยหรือเปล่าครับ เช่น สวัสดิการสำหรับพนักงานที่สามารถลากิจ เพื่อพาพ่อแม่ไปโรงพยาบาลโดยเฉพาะ จุดนี้ก็ยังไม่มีครับ

อีกอย่างตอนนี้เราเริ่มไปไกลกว่าสังคมผู้สูงอายุนะ แต่กำลังเข้าสู่ สังคมอายุยืน ที่คนรุ่นเก่าอยากทำงานอยู่ คนรุ่นใหม่อาจมองว่าอายุสัก 45 ก็อยากจะเกษียณมาใช้ชีวิตชิลๆ แล้ว แต่คนรุ่นเก่าไม่นะครับ เขายังอยากทำงานต่อไปอีก 10 ปี ดังนั้นเราต้องมีพื้นที่รองรับพวกเขา แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีครับเราเลยมองว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมจริงๆ ยังไม่ได้คิดถึงภาพรวมเชิงโครงสร้างเลย

.

เพราะทำงานผสานวัย ประสานจึงได้เรียนรู้

ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกันของคนต่างวัย เพราะพี่ประสานเล่าให้ฟังว่า ภายในทีมงานมนุษย์ต่างวัยมีความต่างของช่วงวัยอยู่พอสมควร หลักๆ เลยคงเป็นตัวเขาเองกับคนในทีมที่อายุเฉลี่ยประมาณ 25 แต่สิ่งที่ยึดให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้คือความผูกพันกับผู้สูงอายุของแต่ละคนในครอบครัว 

Photo : Prasan Ingkanunt

พี่ประสาน : สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากช่องว่างระหว่างวัยภายในทีมงานคือ โอกาสเพื่อแลกเปลี่ยน เพราะเรามาจากการทำงานในวงการสื่อแบบเก่า เมื่อวันหนึ่งต้องขยับมาทำสื่อออนไลน์แบบใหม่ ก็ได้เรียนรู้จากน้องในทีมว่าคนสมัยนี้เขาชอบดูอะไร ไปจนถึงเทคนิคการใช้โซเชียลมีเดียบางอย่าง ขณะเดียวกันน้องในทีมก็ยังได้เรียนรู้วิธีการเฉพาะด้านสื่อบางอย่างจากเรา กลายเป็นการทำงานที่เราช่วยกันเคี่ยวประเด็นให้เข้าถึงทุกวัย ช่วยกันปรับภาษาให้อ่านเข้าใจทุกคน

ได้เรียนรู้ว่าอนาคตอยากแก่แบบไหน พี่ประสานบอกกับเราอย่างติดขำว่า คงไม่ได้ไปอยู่ในที่สงบๆ เหมือนกับที่หลายคนคิด แต่อยากเป็นคุณประสานในวัย 60 ที่ยังคงยอมรับได้กับทุกการเปลี่ยนแปลง

Photo : Prasan Ingkanunt

พี่ประสาน : เราอยากเป็นผู้สูงอายุที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ ที่มันจะเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่หนังหน้าที่เหี่ยวลง หลังที่ค่อมลงเรื่อยๆ สิ่งที่เราทำได้แต่พอแก่ก็ทำไม่ได้แล้ว เช่น วันหนึ่งอาจมีคนทักเราว่า คนนี้เหรอที่เคยเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ (หัวเราะ) ดังนั้นเราอยากยอมรับตรงนี้ให้ได้นะ เพราะอดีตคือสิ่งที่เก็บไว้นึกถึงแล้วยังยิ้มได้ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้ปฏิเสธโลกใหม่ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไปทำตามทุกอย่าง แค่เป็นคนแก่ที่ยังมองเห็นความสนุกของตัวเอง และของคนทุกวัยก็พอใจแล้วครับ 

.

ฝากถึงเด็ก คนทำงาน คนใกล้แก่ คนที่แก่แล้ว

ขอแค่มีความสุข มีความสนุกที่สมวัย อย่างไม่ลืมว่ายังมีช่วงวัยต่อไปที่ทุกคนจะต้องขยับไปข้างหน้า เพราะเมื่อโตผ่านไปแต่ละช่วง แน่นอนว่าความสุขแบบเดิมอาจไม่หวนกลับมา นั่นแปลว่ามีอะไรที่อยากทำในแต่ละช่วงอายุก็พยายามทำให้สำเร็จครับ และที่สำคัญเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะมีความสุขในวัยที่เป็นปัจจุบันของเราเสมอ

การพูดคุยครั้งนี้เดินทางมาถึงจุดสุดท้าย ทุกคำตอบของคำถามที่เราได้รับจากพี่ประสาน คือสิ่งที่ทำให้เราฉุกคิดถึงตัวเองในวัยนี้ว่า ใช้ชีวิตกับผู้สูงอายุที่บ้านอย่างไร ไม่เพียงเท่านั้น ยังทำให้เราได้ลองจินตนาการถึงตัวเองตอนผมเริ่มขาวว่าจะเป็นแบบไหน จะยอมรับได้ หรือตามไม่ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นทุกวัน แล้วทุกคนที่อ่านมาถึงย่อหน้าสุดท้าย มองว่าตัวเองอยากเป็นคนแก่แบบไหนกัน ?

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.