สารคดี Netflix ‘Period. End of Sentence’ - Urban Creature

‘ผ้าอนามัย’ คุณคิดว่าไม่สำคัญจริงๆ เหรอ


รู้หรือไม่ ปัญหาผ้าอนามัยสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างชัดเจน เริ่มต้นจากการออกกฎหมายและการกำหนดนโยบายที่ไม่ครอบคลุมความต้องการของคนในสังคม และยังตามมาด้วยวาทกรรมเรื่องเพศที่เข้ามามีบทบาทกับความเชื่อ ความคิด และทัศนคติของคนในสังคมที่มองว่า ‘ประจำเดือน’ เป็นสิ่งสกปรก ห้ามพูดถึง ต้องเก็บเอาไว้เป็นความลับในร่มผ้าเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ความเป็นอยู่ของผู้มีประจำเดือนถูกมองข้ามไป กลายเป็นความเพิกเฉยและมองว่ามันไม่ใช่ปัญหาในที่สุด

เราจึงชวนมาตามติดเรื่องราวของผ้าอนามัย ผ่านสารคดีสั้น 25 นาที จาก Netflix ที่ชื่อว่า ‘Period. End of Sentence’ กับเรื่องราวในอีกแง่มุมของโลกอย่างประเทศอินเดีย เมื่อการเป็นประจำเดือนซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของร่างกายผู้หญิง แต่กลับไม่สามารถพูดออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา และผ้าอนามัยควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้มีประจำเดือนควรเข้าถึงได้

แต่ในประเทศอินเดีย การมีประจำเดือนกลับกลายเป็นเรื่องต้องห้ามและถูกตีตราว่าผิดแปลกจากธรรมชาติ ถูกใส่ร้ายว่าประจำเดือนคือของสกปรก ผู้หญิงหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผ้าอนามัยคืออะไร แถมบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมต้องมีประจำเดือน ไปจนถึงเรื่องชวนสงสัยที่ว่า ผู้ชายหลายคนยังไม่รู้จักการมีประจำเดือนของผู้หญิงเลย ยิ่งผสมรวมเข้ากับปัจจัยของความห่างไกลของพื้นที่อยู่อาศัยที่เข้าถึงสาธารณูปโภคได้ยาก บวกกับประเทศอินเดียที่คนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ทำให้การไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัยใช้กลายเป็นปมปัญหาใหญ่

ด้วยตัวเลขในปัจจุบันที่ประเทศอินเดียใช้ผ้าอนามัยกันไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ การร่วมแรงร่วมใจของบรรดาผู้หญิงในชุมชนจึงเกิดขึ้น ผ่านโปรเจกต์ ‘The Pad Project’ การสร้างเครื่องผลิตผ้าอนามัยต้นทุนต่ำ ด้วยความหวังว่าประเทศอินเดียต้องเป็นประเทศที่ผู้หญิงได้ใช้ผ้าอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ หลังจากเครื่องมือพร้อมแล้ว ‘Fly’ แบรนด์ผ้าอนามัยชื่อจำง่ายติดหูนี้จึงเกิดขึ้น โดยคำนี้ต้องการสื่อสารว่า ต้องการพาหญิงสาวโบยบินจากแรงกดทับบนกรอบของความเชื่อที่ใครต่างสร้างเอาไว้

ทั้งที่ความจริงแล้ว ประจำเดือนคือเรื่องปกติ
ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของมนุษย์เพศหญิงเท่านั้น

ซึ่งกว่าแสงแห่งความหวังนี้จะถูกจุดประกายขึ้นนั้น ต้องผ่านเส้นทางของความเชื่อเก่าๆ ที่มีมานานก็เป็นเรื่องยากอยู่ไม่น้อย เรื่องราวของสารคดีดำเนินให้เห็นถึงความพยายามทำความเข้าใจ และสร้างมุมมองใหม่เพื่อให้ผู้คนเปิดใจเรียนรู้ว่า ‘ผ้าอนามัย’ เป็นเรื่องใหญ่ของผู้หญิง และอันที่จริงก็เป็นเรื่องใหญ่ด้านสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลกด้วยเช่นกัน เพราะยังมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงสินค้าอย่างผ้าอนามัย สาเหตุมาจากความยากจน และจำต้องใช้วัสดุอื่นมาทดแทน เช่น ถุงเท้า เศษผ้า หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขอนามัยตามมา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเรื้อรังนี้ทำให้มีหลายคนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้สังคมตระหนักถึงปัญหาผ้าอนามัยจริงจังมากขึ้น หากลองนึกถึงโลกที่ไม่มีผ้าอนามัยที่ทำให้ผู้หญิงใช้ชีวิตได้อย่างปกติในทุกวันนั้นของเดือน ชีวิตของพวกเธอจะต้องพบเจอกับความยุ่งยากวุ่นวายแค่ไหน

สำหรับในประเทศอินเดีย มีเด็กวัยรุ่นจำนวนมากจำเป็นต้อง
ลาออกจากโรงเรียนเมื่อพวกเธอเริ่มมีประจำเดือน
ซึ่งความจริงแล้วเหตุการณ์นี้ไม่ควรเป็นจุดจบของการแก้ปัญหา

แม้เวลาเพียง 25 นาทีอาจดูสั้น แต่การสะท้อนถึงปัญหาและความรู้สึกที่หญิงสาวชาวอินเดียต้องเผชิญนั้น ผลักดันให้สารคดีเรื่อง Period. End of Sentence ได้รับรางวัลออสการ์ใน ค.ศ. 2019 ในสาขาภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม ที่กลายเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงให้ทั่วโลกได้เห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนและผ้าอนามัยในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้าเอื้อนเอ่ยออกมา

โดยล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางรัฐสภาสกอตแลนด์มีการประกาศผ่านร่างกฎหมายให้ผู้หญิงในประเทศสามารถใช้ผ้าอนามัยได้ฟรี ด้วยชื่อร่างกฎหมายที่ว่า ‘The Period Products (Free Provision) (Scotland) Bill‘ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยมติเป็นเอกฉันท์ 121 เสียง ทำให้สกอตแลนด์กลายเป็นชาติแรกของโลกที่จุดประกายมาตรการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมสำหรับทุกคนที่มีประจำเดือน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะทำให้ผู้มีประจำเดือนทุกคนในสกอตแลนด์ สามารถขอใช้ผ้าอนามัยทั้งแบบแผ่นและแบบสอดได้ฟรีตามสถานที่สาธารณะ เช่น ศูนย์ชุมชน สโมสรเยาวชน และร้านขายยา เป็นต้น คาดว่าจะใช้งบประมาณจากเงินภาษีราวๆ 24 ล้านปอนด์ต่อปี ซึ่งร่างกฎหมายนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและใส่ใจต่อคนในประเทศดังเช่นคำกล่าวของ ‘นิโคลา สเตอร์เจียน’ รัฐมนตรีของสกอตแลนด์ที่ว่า “นี่คือนโยบายที่สำคัญสำหรับผู้หญิงและเด็กสาว”

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มองเห็นความสำคัญของผ้าอนามัยว่าเป็น ‘สิ่งจำเป็น’ ในการบริโภค จึงไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยเหมือนกับสินค้าอื่นๆ เช่น แคนาดา อินเดีย เคนยา ไอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย มาเลเซีย นิการากัว ยูกันดา แทนซาเนีย ไนจีเรีย จาเมกา เลบานอน และหลายๆ รัฐในสหรัฐอเมริกา

แต่ลองมองกลับมาที่บ้านเรา ความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้อาจไม่ได้รับความเข้าใจ และการส่งเสียงถึงผลกระทบที่อาจไม่ดังพอ จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่า ในกรณีของผู้มีรายได้น้อยหรือครอบครัวที่มีผู้มีประจำเดือนหลายคนที่ต้องพึ่งพาเพียงค่าแรงขั้นต่ำ ต้องแบกรับภาระรายจ่ายนี้อย่างไร คำถามเหล่านี้ยังคงเป็นคำถามที่ไร้คำตอบมาจนทุกวันนี้


Sources : 
Blockdit : Netflix Addict | bit.ly/3gkHCPn
Jeab | bit.ly/3opIiFY
Matichon | bit.ly/2Ib8GUv
The Pad Project | thepadproject.org/

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.