PHKA STUDIO : นักจัดดอกไม้ในหลอดแก้ว - Urban Creature

ไม่ต้องใช้ดอกไม้ราคาแพง  ไม่ต้องแต่งช่อด้วยของประดับสวยหรู
ใช้เพียงดอกไม้ “Bad Taste” ราคาถูก และความจริงใจที่มีทำให้มันมีคุณค่า

“เราพยายามย้อนกลับไปสำรวจว่า จริงๆ แล้ว เหล่าดอกไม้ bad taste ที่ดูไม่มีราคา อย่างของไทยจะเป็นดอกกล้วยไม้ ถ้ามันถูกนำกลับมาใช้งานจะเป็นอย่างไร มันเหมือนเป็นการตั้งคำถามกับความสวยงาม”

นั่นคือ ช่อดอกไม้สำหรับคนรักแบบฉบับ “PHKA STUDIO (ผกา สตูดิโอ)” กลุ่มนักจัดดอกไม้ที่คำนึงถึงการใช้งาน มากกว่าความสวยงามของดอกไม้ ชอบตั้งคำถามกับความงาม และใช้ศาสตร์แห่งการจัดดอกไม้สะท้อนเรื่องราวของคน และสถานที่ ซึ่งในวันนี้ ภายในสตูดิโอที่มีดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทราย ต้นไม้ใหญ่ เรามีนัดเจอกับ ‘คุณตุณ – ตุณ ชมไพศาล’ และ ‘คุณปอย – วิศทา ด้วงวงศ์ศรี’ สองนักช่างฝันที่ร่วมกันสร้างสรรค์ ผกา สตูดิโอ

| เพราะเห็นความพิเศษเฉพาะตัวของดอกไม้ จึงสรรสร้าง ผกา สตูดิโอ ให้เกิดขึ้น

PHKA STUDIO : ด้วยความที่ทุกคนมีพื้นฐานการเรียนมาคล้ายๆ กันหมด เรียนอินทีเรียร์ อาคิเต็ก แลนด์สเคป หรือ โปรดักท์ ดีไซน์ เลยรู้สึกว่า มันมีวัสดุตัวหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ “ดอกไม้” ที่ปกติไม่ได้มีใครเอามาใช้มากมาย แต่จริงๆ แล้วมันมีคุณสมบัติเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเล่าเรื่อง ความเกี่ยวข้องเชิงวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา ประวัติศาสตร์ หรือความเป็นท้องถิ่น เช่น เราเห็นดอกไม้ชนิดนี้ มันอาจชวนให้นึกถึงว่า มันเป็นดอกไม้เมืองร้อน เมืองนอก มงคล อัปมงคล หรือใช้แทนความรัก

| ดอกไม้ต้องเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ จุดยืนการทำงานที่ใช้มาตลอดสี่ปี

PHKA STUDIO : เวลาเราคิดถึงดอกไม้กับสเปซ เราจะนึกว่ามันเป็นของตกแต่ง หมายถึงว่ามีห้องอยู่ แล้วดอกไม้ก็ถูกเอาไปแปะใส่แจกัน เป็นอะไรบางอย่างที่ตามมาทีหลัง แต่เราเชื่อว่า ดอกไม้ทำได้มากกว่านั้น เราเลยมีความตั้งใจว่า อยากให้ดอกไม้มันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสเปซ มันต้องรีเรทกับพื้นที่ตรงนั้นในทางใดทางหนึ่ง เช่น ถ้าคนเดินไปตรงมุมนั้นต้องทำอย่างไร พวกดอกไม้ก็จะไปอยู่ตามจุดที่ตอบโจทย์การใช้งานมากกว่า รวมถึงเรื่องราวของสถานที่ หรือคุณค่าทางสถาปัตยกรรมก็สามารถดึงมาเล่นได้ เช่น ถ้าเป็นโบสถ์ อาคารเก่าแก่ มันอาจจะมีองค์ประกอบที่สะท้อนเรื่องราวให้หยิบมารีเรทกับดอกไม้ได้ อะไรเหล่านั้นเลยจะเป็นตัวกำหนดรูปทรงของดอกไม้

| ความหลากหลายที่ซุกซ่อนอยู่ในดอกไม้ คือสไตล์การทำงานที่อยู่เบื้องหลัง

แบ็คดรอปงานแต่งงานที่ทดลองทำแบบ #nofloralfoam และใช้โครงสร้างให้น้อยที่สุด
บรรยากาศงานแต่งงานคุณจอย และคุณกอล์ฟ

PHKA STUDIO : ผกา สตูดิโอมีงานหลากหลายมาก ตอนเริ่มเราคิดว่า อยากทำงานอะไรที่มันเล่นกับพื้นที่เท่านั้น ซึ่งเราไม่ได้จำกัดอยู่ที่อีเวนต์ แต่ด้วยธรรมชาติของวัสดุ ซึ่งคือดอกไม้ มันเป็นของชั่วคราว เลยพาเราเข้าสู่วงการอีเวนต์ มีทั้งงานแต่งงาน งานคอร์ปอเรทสำหรับเปิดตัวสินค้า ทำอินสตอเลชั่น หรือแม้กระทั่งเป็น Flowers Consultant หรือที่ปรึกษาด้านดอกไม้ให้กับหน่วยงาน หรือองค์กร รวมถึงเรายังทำงานดีไซน์เฉพาะของตัว เพื่อแสดงความคิดในแบบที่เป็นเรา

installation ที่ปากคลองตลาด ในโครงการ #theflowermarketishere โดยเอาวัสดุทั่วไปจากในปากคลองมาใช้สร้าง installation ดอกไม้ เพื่อสร้างการรับรู้ใหม่ให้กับตลาด

| #nofloralfoam จัดดอกไม้ไม่ใช้ฟลอรัล โฟม

PHKA STUDIO : ช่วงปีที่แล้ว เรารู้สึกว่า เราทำงานมาเยอะมาก ปีๆ หนึ่งถ้ารับงานแต่งงานน่าจะหลายร้อยงาน เราใช้แมททีเรียลไปเยอะพอสมควรกับการทำอีเวนต์ เพราะเราผลิตทุกอย่างมาเพื่อช่วงเวลา 1 วัน  2 วัน หรือ 7 วัน แล้วก็ไม่มีใครแคร์แล้วว่า มันจะถูกใช้ซ้ำไหม หรือปลายทางมันไปที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วเราจะจัดการมันยังไง เราเลยรู้สึกว่า มันจะมีทางไหนที่เราสามารถจัดการเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้นไหม

New Year Gift – หยิบแท่งอะคริลิกที่เหลือจากการตัดมาใช้ทำที่ปักดอกไม้แบบ ikebana

พอมาเสิร์ชข้อมูลดูก็เจอว่า ที่ต่างประเทศมีเทรนด์ “#nofloralfoam” มันเป็นเรื่องของการไม่ใช้ก้อนฟลอรัล โฟม ซึ่งทำมาจากโฟมสำหรับจัดดอกไม้ เพราะมันเป็นวัสดุที่สร้างขึ้นมาจากสารเคมี หลังจากใช้งานเสร็จ มันใช้ซ้ำไม่ได้อยู่แล้ว มันต้องทิ้ง แล้วพอทิ้งมันแตก เล็กสุดก็กลายเป็นฝุ่นผงลงตามท่อ แต่มันจะไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติ มันจะอยู่อย่างนั้นตลอดไป อีกอย่างมันมีพิษกับร่างกายคน ซึ่งเมืองนอกเขารณรงค์กันจริงจัง อย่างงานแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษ จะเลือกเจ้าที่จัดดอกไม้แบบไม่ใช้ฟลอรัล โฟม ซึ่งเราคิดว่า คนไทยไม่ค่อยทำเลย เพราะงานๆ หนึ่งที่จัดดอกไม้ก็ใช้โฟมประมาณ 200-300 ก้อน เราเลยคิดถึงวัสดุทดแทนขึ้นมา เช่น เอาดอกไม้ไปปักกับตาข่าย หรือใช้กระเปาะน้ำแทน มันก็จะเป็นท่อเล็กๆ ที่เสียบดอกไม้ลงไป แล้วมีน้ำเลี้ยงอยู่ข้างในนั้น

| การปรับตัวเข้าสู่ยุค “ผกาไร้ฟลอรัล โฟม”

The Fouetté Flower – Bangkok Design Week 2019

PHKA STUDIO : เราไม่ได้ไปเร็วขนาดนั้นนะ เพิ่งเริ่มทำเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งไม่ได้อยู่ดีๆ จะเลิกใช้ฟลอรัล โฟมเลย  แต่มันมีความโชคดีอย่างหนึ่ง ที่สมัยนี้ลูกค้าเขาก็รู้สึกว่า อยากจัดงานในสเกลที่เล็กลง ไม่ต้องจัดใหญ่ๆ ในโรงแรม ไม่ต้องมีแบ็คดรอปหน้างาน มันกลายเป็นเทรนด์ที่คนจะชอบสถานที่เล็กๆ สถานที่เปิดใหม่ในกรุงเทพฯ หรือตามต่างจังหวัด อาจจะจุคนได้ 100-200 คน เพราะทุกคนรู้สึกว่า มันไม่มีประโยชน์อะไรที่ต้องจัดงานใหญ่ๆ ให้มีแขกมาเยอะ ดังนั้นเรื่องดอกไม้เลยถูกลดทอนลงไปด้วย เลยโชคดีกับเราด้วยที่ไม่ต้องฝืน

| Abandon One โปรเจ็กต์สะท้อนตัวตนผกา สตูดิโอ

PHKA STUDIO : เราชอบงาน “Abandon One” จาก Bangkok Design Week ปีที่แล้วที่สุด งานนี้เป็นงาน public แรกที่เราทำ ซึ่งเราไฟแรงมากๆ เพราะมันเป็นการสะสมประสบการณ์ตั้งแต่เริ่มทำผกามา 3-4 ปี เราคิดว่าเราพร้อมแล้ว (หัวเราะ) ตอนนั้นก็เลยคุยกันในทีมว่า เราจะหาสถาปัตยกรรมที่เป็นสาธารณะ เลยแบ่งทีมสำรวจสถานที่ ว่ามันมีเรื่องอะไรน่าทำบ้าง เคยคิดว่าลองทำหัวลำโพงไหม เกี่ยวกับโฮมเลสที่ชอบไปนอนหัวลำโพง แต่สุดท้ายก็เจอสถานที่นี้ คือ ‘เดอะคลีโอพัตรา’ เป็นอาบ อบ นวดแถวถนนไมตรีจิต ซึ่งเราไปเจอเองแล้วรู้สึกว่ามันสวยมาก มันแปลกมาก เหมือนเป็นโรงแรมอะไรสักอย่าง ดูโบราณๆ แต่มันกลับถูกทิ้ง

พอค้นดูสตอรี่ของมันก็เจอว่า มันเป็นตึกเก่าตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างมาพร้อมกับย่านนี้เลย และเป็นอาบ อบ นวดอยู่แล้ว ซึ่งสมัยก่อนเป็นธุรกิจถูกกฎหมาย ทุกคนก็เลยแข่งกัน พอเวลาผ่านไป สังคมเปลี่ยน ค่านิยมเปลี่ยน จากที่เคยเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ไม่ได้เป็นเรื่องผิดแผกอะไร ก็กลายเป็นอาชีพสีเทา ไม่มีใครอยากยุ่ง ธุรกิจพวกนี้ หรือสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องเลยถูกทิ้ง มันเป็นเรื่องของความ abandon เราเลยรู้สึกว่า ดอกไม้ มันจะมาเล่าเรื่องนี้ได้ สื่อให้เห็นว่า การถูกทิ้งมันเป็นยังไง ทำให้คนกลับมามองเห็นทั้งตัวสถาปัตยกรรมที่ถูกทิ้ง และคนที่ถูกมองข้าม ซึ่งงานนี้เราก็ไม่ได้ใช้ฟลอรัล โฟมเหมือนกัน แต่ใช้กระเปาะน้ำ (water tube) แทน

| ถ้าให้เทียบดอกไม้กับกรุงเทพฯ Sprey Rose คือดอกไม้แรกที่นึกถึง

PHKA STUDIO : เราคิดว่ากรุงเทพฯ มีความหลากหลายมาก ไม่สามารถให้ดอกใดดอกหนึ่งระบุได้ชัดเจนหรอก แต่ก็มีภาพที่แวบขึ้นมาอยู่ภาพหนึ่ง คือเมื่อก่อนที่ปากคลองตลาด จะมีร้านนั่งขายริมถนน ขายกุหลาบที่เรียกว่า ‘Spray Rose’หรือ ‘กุหลาบดอกช่อ’ หลายๆ สี ซึ่งบางทีเราไปเลือก มันก็มีสีที่หลุดมาบ้าง อยากได้สีนี้ แต่ก็มีสีอื่นติดมาด้วย เราคิดถึงอะไรแบบนั้น มันดูเป็นกรุงเท้พ กรุงเทพฯ (หัวเราะ) ด้วยทั้งจุดที่มันอยู่ การขายตามริมถนน และตัวดอกไม้เองที่คละสีสันมั่วไปหมด แต่สุดท้ายแล้ว มันก็คือกุหลาบเหมือนกัน สามารถเป็นดอกไม้ดอกหนึ่งที่อยู่ในการจัดดอกไม้ได้ มันมีความสวยในตัวเอง เราคิดว่าดอกกุหลาบนี้ ก็เหมือนคนในกรุงเทพฯ ที่มีความหลากหลาย ถึงจะแตกต่างอย่างไร แต่ทุกคนมีความดีในแบบฉบับตัวเอง

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.