ค้นหาความพิเศษของวันธรรมดาใน Perfect Days - Urban Creature

ไม่เกินจริงแต่อย่างใดที่จะกล่าวว่า Perfect Days คือหนังที่มอบการมองหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของแต่ละวันในการใช้ชีวิต และเป็นความสุขให้การใช้ชีวิตทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวันที่ดีดั่งฝัน วันที่ผิดหวังเกินทน วันหลังจากนี้ หรือวันนี้ในชั่วขณะที่กำลังเกิดขึ้นก็ตาม

ทุกๆ วันคือวันวันหนึ่งที่ผ่านเข้ามา ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แน่นอนว่าฟังดูคลิเชและไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย แต่หนังญี่ปุ่นที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมเรื่องนี้กลับมอบประสบการณ์ที่ต่างออกไปให้ผู้ชมอย่างเราได้

หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องราวผ่านตัวละครชายผู้ประกอบอาชีพเป็นคนทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะ ซึ่งเป็นงานหนักหนาที่หลายคนในสังคมแสนรังเกียจ ดูไม่น่ามีความสุขได้เลย แต่เรากลับมองเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการออกไปทำงานในแต่ละวันอย่างเปี่ยมล้นจนน่าประหลาดใจ

รู้ตัวอีกที การได้เฝ้ามองเขาทำสิ่งต่างๆ ก็กลายเป็นความเพลิดเพลินใจอย่างที่หาไม่ได้ในหนังเรื่องไหนมาก่อน ไม่ว่าแต่ละวันจะเป็นวันที่ดี วันที่ผิดหวัง วันที่ผ่านไปแล้ว หรือวันที่ยังมาไม่ถึง ตัวละครนั้นยังคงมีจิตใจที่อยู่กับปัจจุบันชั่วขณะนั้น

แม้ฟังดูเรียบง่ายและไร้ซึ่งแก่นสาร แต่การใช้ชีวิตในแต่ละวันอันธรรมดาที่ไม่ได้มีอะไรพิเศษแต่อย่างใดนั้นกลับสอนใจเราให้ลองหยุดชื่นชมกับสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้นและละทิ้งทุกสิ่งไว้ก่อน 

อะไรที่ทำให้ผู้กำกับชาวเยอรมันถ่ายทอดหนังที่สะท้อนชีวิตของชายชาวญี่ปุ่นออกมาแบบนั้น คอลัมน์เนื้อหนังอยากพาไปสำรวจแนวคิดและวิถีการทำงานของคนญี่ปุ่นใน Perfect Days กัน

วันธรรมดาที่เปลี่ยนไปเพราะวิธีคิดในการใช้ชีวิต

หนังญี่ปุ่น perfect days Wim Wenders ห้องน้ำสาธารณะ

เมื่อมองดูชั้นหนังสือตามร้านหนังสือบ้านเรา บรรดาหนังสือพัฒนาตนเองในชั้นเหล่านั้นมักเป็นหนังสือที่หยิบยกคำญี่ปุ่นมาใช้เป็นชื่อหนังสือปรัชญาชีวิต ไม่ว่าจะ ‘อิคิไก’, ‘อิจิโกะ-อิจิเอะ’ หรือ ‘มตไตไน’ เป็นต้น

แต่สำหรับคนญี่ปุ่นคงจะมองเป็นคำทั่วๆ ไป เป็นวิถีชีวิตที่พวกเขาใช้เป็นธรรมดาอยู่แล้ว เพราะมันฝังรากลึกในทุกสิ่งที่คนญี่ปุ่นเป็น ซึ่งคงยากที่จะสอนสิ่งเหล่านี้หรืออธิบายให้เข้าใจได้อย่างที่พวกเขาเข้าใจ แม้แต่จะอธิบายความหมายของคำเหล่านี้ออกมาให้คนญี่ปุ่นฟังเองยังเป็นเรื่องยาก เพราะมันคือเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันของพวกเขา

น่าสนใจที่คนญี่ปุ่นให้ความหมายกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ดูเป็นการใส่ใจในทุกชั่วโมงยามชั่วขณะที่พวกเขากำลังสัมผัสช่วงเวลานั้นจนเกิดเป็นคำคำหนึ่งก็ว่าได้ (แม้แต่แสงเงาที่เกิดจากแดดที่กระทบต้นไม้ยังมีคำเรียกเฉพาะ)

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเครื่องชี้นำสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้คนญี่ปุ่นมีเป้าหมายในการทำหน้าที่ของตนเองในแต่ละวัน ด้วยความทุ่มเทและหลงใหลออกมาให้เห็นเด่นชัดกว่าชาติอื่นๆ พวกเขาสามารถดื่มด่ำกับสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันได้อย่างอิ่มเอม ไม่ว่าหน้าที่นั้นจะเป็นหน้าที่ที่เล็กน้อยหรือไม่เป็นที่น่าชื่นชมในสายตาคนส่วนใหญ่ในสังคมก็ตาม พวกเขาจะค้นหาแง่มุมความสุขเล็กๆ ความปลื้มปีติที่ผู้คนได้รับจากสิ่งที่เขาทำให้ในที่สุด ซึ่งแค่นั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน

ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าคนภายนอกนั้นจะไม่สามารถเข้าใจหลักการแนวคิดของบรรดาคำนิยามญี่ปุ่น เพราะแม้ว่า Perfect Days จะเป็นหนังที่สอดแทรกปรัชญาความเป็นญี่ปุ่นอยู่ก็ตาม แต่ Wim Wenders ผู้กำกับชาวเยอรมันที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘King of the Road Trip Movies’ หรือ ‘ราชาแห่งหนังโร้ดทริป’ ช่างมีความสามารถในการดึงเอาหัวจิตหัวใจของเมืองต่างๆ ในหนังที่เขาทำมาใช้งานได้ราวกับเป็นคนประเทศนั้นจริงๆ ดั่งที่เขาเคยดึงเอาภาพถนนหนทาง Texas มาใช้ใน Paris, Texas (1984) หรือสารคดี Buena Vista Social Club (1996) ที่พาไปชมความเป็นประเทศคิวบาผ่านวงดนตรีประจำเมือง

หนังญี่ปุ่น perfect days Wim Wenders ห้องน้ำสาธารณะ

มากไปกว่านั้น เขายังเคยนำเสนอเมืองโตเกียวผ่านความหลงใหลที่มีต่อผู้กำกับระดับตำนานของญี่ปุ่นอย่าง Yasujirō Ozu จากสารคดี Tokyo-Ga (1985) และใน Perfect Days ก็เช่นกัน Wim Wenders ไม่เพียงแต่เข้าใจความเป็นเมืองและวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น แต่ยังถ่ายทอดหลักการใช้ชีวิตที่อยู่ในระดับจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นแต่เดิมผ่านเรื่องราวของห้องน้ำสาธารณะได้อย่างมหัศจรรย์เหลือ โดยไม่เคอะเขินว่าตัวตนของเขาเองนั้นมิใช่ชาวญี่ปุ่นแต่อย่างใด

ทำเอาเราที่เป็นคนไทยและคิดเอาเองว่าน่าจะเข้าใจความเป็นญี่ปุ่นมากกว่าเขาที่เป็นคนเยอรมัน รู้สึกทึ่งในความช่างเป็นชายผู้เข้าใจผู้คน เข้าใจความเป็นเมืองได้อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาได้ชัดเจนเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะการหยิบจับเอาแก่นคิดและจิตวิญญาณมาถ่ายทอดให้ผู้ชมภาพยนตร์สามารถเข้าใจได้โดยไม่ต้องมีคำอธิบายหรือใช้คำพูดสื่อสารแต่อย่างใด

ส่วนผู้ชมที่ต้องการคำอธิบายความหมายออกมาเป็นคำพูดเป็นชิ้นเป็นอันให้จับต้อง อาจจะรู้สึกหงุดหงิดอยู่พอสมควรกับการไม่เอื้อนเอ่ยของตัวละคร แต่หากได้ลองปล่อยความรู้สึกไปกับหนัง โดยไม่ได้คาดหวังการเล่าเรื่องแบบหนังทั่วไปที่ต้องมีแกนเรื่องนำไปสู่จุดหมายอะไรบางอย่าง อาจจะได้สัมผัสกับแสงระยิบระยับที่ทอประกายให้เราหันมองความสวยงามของชีวิต และค้นพบคำตอบจากความรู้สึกของตนเองที่ได้รับจากการชมวิถีชีวิตการทำงานของคนญี่ปุ่นก็เป็นได้

วันธรรมดาที่เปลี่ยนไปเพราะการออกแบบเมืองที่ใส่ใจประชาชน

หนังญี่ปุ่น perfect days Wim Wenders ห้องน้ำสาธารณะ

บรรดาห้องน้ำสาธารณะที่ปรากฏในเรื่อง นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญของ Perfect Days เลยก็ว่าได้ สำหรับบางคนที่ดูหนังอาจจะเข้าใจว่าห้องน้ำในเรื่องนั้นช่างดูล้ำสมัย เข้ากับการใช้งานกับคนทุกรูปแบบ (Universal Design) แต่จริงๆ แล้วห้องน้ำหลายๆ แห่งในญี่ปุ่นเองก็ไม่ต่างจากภาพห้องน้ำสาธารณะในความคิดของหลายคนสักเท่าไหร่ นั่นคือ สกปรก มืดมัว ไม่น่าใช้ เป็นสถานที่รกร้าง ถูกทิ้งขว้าง ไม่มีใครเหลียวแล ซึ่งเป็นหนึ่งปัญหาใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน

แต่ด้วยโปรเจกต์ Tokyo Toilet ที่รวบรวมนักออกแบบมากกว่า 16 ชีวิต ทั้งสถาปนิก นักออกแบบกราฟิก และนักออกแบบเสื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็นคนดังอย่าง Tadao Ando, Kengo Kuma, Toyo Ito, Sou Fujimoto, Nigo และอีกมากมาย มาออกแบบห้องน้ำสาธารณะใหม่ในแบบฉบับของตัวเอง ผลลัพธ์ที่ได้ก็ดั่งที่ปรากฏในหนัง เปลี่ยนแปลงห้องน้ำธรรมดาให้กลายเป็นสิ่งใหม่ที่น่ามหัศจรรย์ได้

ยกตัวอย่าง ผลงานของ Shigeru Ban ที่ออกแบบห้องน้ำกระจกโปร่งใสหลากสีสัน ที่เมื่อล็อกประตูกระจกเหล่านั้นจะเปลี่ยนเป็นกระจกสีทึบเพื่อบดบังการมองเห็นจากภายในและภายนอก ห้องน้ำของ Kengo Kuma ที่นำไม้เก่ามารีไซเคิลตกแต่งบรรดาห้องน้ำที่แยกเป็นส่วนๆ กันสำหรับรูปแบบผู้ใช้งานที่แตกต่างกันในแต่ละห้อง และเมื่อเดินเข้าไปจะรู้สึกเหมือนเดินวนในป่าไม้ ห้องน้ำของ Sou Fujimoto ที่นำก๊อกน้ำทั้งหมดมาเรียงไว้ในทางโค้งหน้าห้องน้ำ เพื่อให้ผู้คนมาใช้งานร่วมกัน แต่แบ่งแยกการใช้งานไปตามความสูงของผู้ใช้ และยังมีอีกหลายๆ ห้องน้ำที่สร้างขึ้นโดยคำนึงถึงพื้นที่โดยรอบ และความรู้สึกที่อยากให้ห้องน้ำมีความพิเศษ ไม่ต่างจากพื้นที่สาธารณะหรือสนามเด็กเล่น

ทั้งนี้ เมื่อหยิบเอาหลักการในการออกแบบโปรเจกต์นี้ของทาง Nippon Foundation มากางดูจะพบว่าประกอบไปด้วย

1) เริ่มต้นจากตัวเองในการทำสิ่งต่างๆ สูดหายใจแล้วเริ่มต้นในแต่ละวันให้ดีที่สุด
2) ความใจกว้างต้องมีให้แก่ทุกผู้ทุกคน จงเปิดใจให้กว้างเข้าไว้
3) ทำงานให้หนักแม้ว่าจะไม่ใช่งานที่ชอบก็ตาม และต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง
4) เปล่งเสียงตะโกนในสิ่งที่เชื่อ หากเชื่อในสิ่งนั้นจริง
5) ตัดสินใจในสิ่งที่ต้องทำด้วยตนเอง ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว
6) หาหนทางที่ใช่ให้เจอ เพราะคนที่ใช่หรือวิธีการที่ถูกต้องจะทำให้งานนั้นลำบากน้อยลง
7) ค้นหาความเป็นอัจฉริยะเฉพาะทางของตนเอง หากหาไม่เจอก็จงไปอยู่ในที่ที่รายล้อมโดยเหล่าอัจฉริยะ
8) อย่าละเลยสิ่งเล็กๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
9) ปัญหาคือหนทางแห่งการค้นพบสิ่งใหม่ๆ มิใช่สิ่งที่เอาไว้หลีกหนี
10) หมั่นดูแลรักษาความคิดสร้างสรรค์ไว้เสมอ

หนังญี่ปุ่น perfect days Wim Wenders ห้องน้ำสาธารณะ

เมื่อพิจารณา 10 ข้อแนวคิดที่ได้จากโปรเจกต์ Tokyo Toilet แล้วก็รู้สึกว่ามันช่างไม่ต่างอะไรจากปรัชญาดั้งเดิมที่ชาวญี่ปุ่นยึดถือ และเมื่อแนวคิดเหล่านี้ถูกนำมาถ่ายทอดด้วยการออกแบบแล้ว ห้องน้ำสาธารณะทั้งหมดจึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนเป็นห้องน้ำใหม่น่าใช้งาน แต่ยังกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่สะท้อนความเป็นญี่ปุ่นออกมาด้วย เนื่องจากเป็นสถานที่ที่เรียกความสนใจจากผู้คนในชุมชนให้กล้ามาใช้งานมากขึ้น รวมถึงสายตาของชาวต่างชาติที่มองมาจากภายนอกอีก

นับว่าเป็นผลงานโชว์ของนักออกแบบดังๆ ที่กลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้คน แถมยังสร้างผลดีต่อตัวพื้นที่ในแง่การกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งหลักคิดและการทำงานที่เกิดผลลัพธ์น่าตื่นตาเช่นนี้ ไม่น้อยก็มากเป็นการสะท้อนถึงความเป็นตัวตนแต่เดิมของคนญี่ปุ่น และกลายเป็น Soft Power ที่คนภายนอกสนใจในที่สุด ซึ่งในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่เองก็เหมือนจะหลงลืมสิ่งเหล่านี้ไปเช่นกัน หลงเหลือแต่บรรดาผู้สูงอายุที่ยังคงยึดแนวคิดในการใช้ชีวิตนี้ไว้ 

เราจึงมองว่าบรรดาผู้สูงอายุในสังคมญี่ปุ่นเองก็ไม่ต่างจากห้องน้ำสาธารณะที่ถูกปล่อยให้รกร้าง แต่อาจดีหน่อยที่รัฐไม่เมินเฉยไปซะทีเดียว เพราะยังมีความพยายามนำแนวคิดปรัชญาเหล่านี้กลับมาปลูกฝังคนรุ่นใหม่ในหลายๆ ทาง ดังที่เห็นจากโปรเจกต์สร้างห้องน้ำสาธารณะ

วันธรรมดาที่เปลี่ยนไปเพราะความสุขเล็กๆ จากตัวเราเอง

หนังญี่ปุ่น perfect days Wim Wenders ห้องน้ำสาธารณะ

ย้อนกลับมาที่ตัวละครหลักของเรื่อง ‘ฮิรายามะ’ (แสดงโดย Koji Yakusho) พนักงานทำความสะอาดห้องน้ำชายวัยกลางคนย่างเข้าสู่สถานะหนึ่งในสังคมผู้สูงอายุ ผู้ใช้ชีวิตอยู่โดยมีกิจวัตรประจำวันที่เป็นระบบระเบียบซ้ำเดิมในทุกๆ วัน เช้าตื่นขึ้นมารดน้ำต้นไม้ ขับรถเปิดเพลงเก่าๆ ฟังจากเทปคาสเซ็ตม้วนเก่าๆ ทำงานทำความสะอาดห้องน้ำ นั่งพักชมต้นไม้แสงแดดในสวน แวะไปทานอาหารที่ร้านประจำ อาบน้ำที่โรงอาบน้ำเก่าๆ กลับบ้านอ่านหนังสือที่ซื้อจากร้านหนังสือมือสองแล้วค่อยเข้านอน

แม้จะเป็นชีวิตที่ดูไม่ได้มีเรื่องตื่นเต้นเร้าใจสนุกสนาน และด้วยหน้าที่อาชีพการงานที่คนส่วนใหญ่แทบจะดูหมิ่นดูแคลน แต่ตัวละครในเรื่องนี้กลับทำให้ผู้ชมรู้สึกเพลิดเพลินใจทุกครั้งที่เห็นความสุข ความภาคภูมิใจ และความหลงใหลในหน้าที่การงานที่เขาได้ทำ เป็นภาพสะท้อนมายด์เซตในการทำงานของคนญี่ปุ่นให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกวันที่จะได้ทำงานที่เราอยากทำ และไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานที่ไม่มีใครในสังคมให้คุณค่าความสำคัญ เราก็ยังต้องทำมันด้วยจิตวิญญาณ ความมุ่งมั่น และภาคภูมิใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วความสุขเล็กๆ จะค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาเอง

ไม่ต่างจากเหล่านักออกแบบ ศิลปิน สถาปนิก ที่ต้องมาออกแบบห้องน้ำสาธารณะเหล่านี้ แทนที่จะรู้สึกว่าทำไมต้องมาออกแบบห้องน้ำเล็กๆ ที่ไม่ได้หวือหวาน่าสนใจ พวกเขากลับมองเป็นความท้าทายว่าทำอย่างไรถึงจะออกแบบห้องน้ำที่น่าใช้งานแก่ผู้คนได้มากที่สุดแทน ซึ่งเป็นมายด์เซตแบบญี่ปุ่นที่ปรากฏในการทำงานทำความสะอาดของตัวละครหลักของเรื่องด้วยเช่นกัน

ถึงอย่างนั้นฮิรายามะที่ดูเป็นคนที่มีความสุขกับการทำสิ่งต่างๆ ในแต่ละวัน อีกทั้งยังมองหาแง่มุมความสุขได้จากทุกความผิดหวัง หรือมองว่าตัวเขาเองก็เปรียบเสมือนห้องน้ำสาธารณะเก่าที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ในขณะเดียวกัน ห้องน้ำสาธารณะใหม่ที่กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจและอยากเข้าหา ตัวละครหลักรวมถึงบรรดาผู้สูงอายุที่รายล้อมอยู่ในเรื่องต่างกลับกลายเป็นสิ่งที่สังคมญี่ปุ่นยังคงละเลยอยู่เช่นเดิม

หนังญี่ปุ่น perfect days Wim Wenders ห้องน้ำสาธารณะ

จะเห็นได้ว่าหลายๆ ฉาก ตัวละครหลักนั้นใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่ที่เหมือนยังคงอยู่ในโลกเก่าของประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะห้องพักที่ดูโทรมๆ ร้านอาหารในทางใต้ดิน โรงอาบน้ำเก่าแก่ ร้านกล้องฟิล์มที่ไม่ค่อยมีใครมาใช้บริการ และบาร์ที่มีคนเสิร์ฟเป็นหญิงสูงวัย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้สูงอายุซะเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เห็นว่า แม้ตัวละครเอกจะมีความสุขมากแค่ไหน แต่เขาก็เหมือนอยู่คนละโลกกับคนทั่วๆ ไป

ด้วยความเป็นคนรุ่นเก่ายุคแอนะล็อกที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ตามโลกที่เปลี่ยนไปเพราะเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียในยุคปัจจุบัน ทำให้ชายคนนี้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสังคมโซเชียลในหน้าจอ ไม่เข้าใจการใช้แอปฯ ที่ช่วยให้ชีวิตหลายๆ คนสะดวกสบายขึ้น หรือแม้กระทั่งไม่ได้ทำตัวโปรดักทีฟเปลี่ยนแปลงตัวเองดั่งที่คนยุคนี้ต้องทำกัน ซึ่งฮิรายามะก็ยอมรับด้วยตัวเองว่าเขาคือคนที่อยู่คนละโลกกับคนอื่นๆ เสมือนเป็นการยอมรับอย่างกลายๆ ของกลุ่มคนผู้สูงอายุในสังคมญี่ปุ่นว่าพวกเขาถูกละทิ้งไปแล้วอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ แต่แทนที่จะใช้ชีวิตอย่างหมดอาลัยไปวันๆ พวกเขากลับเลือกใช้ชีวิตในชั่วขณะปัจจุบันให้คุ้มค่ามากที่สุด โดยไม่ได้คำนึงถึงวันที่ผ่านพ้นไปหรือวันข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง 

“วันหลังก็คือวันหลัง วันนี้คือวันนี้” คือหนึ่งในประโยคเด็ดของเรื่องที่กระตุกเตือนใจเรา แต่ถึงอย่างนั้น โลกยุคแอนะล็อกของคนรุ่นเก่าก็ยังไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว เพราะยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังสนใจในการฟังเพลงจากเทปคาสเซ็ต ถ่ายกล้องฟิล์ม และอ่านหนังสืออยู่บ้าง ซึ่งพอจะช่วยชุบชูใจให้คนรุ่นเก่าเล็กน้อย เพราะแม้ว่าแต่ละคนจะอยู่ในโลกคนละใบ แต่โลกของทุกๆ คนก็เชื่อมต่อกันได้ในท้ายที่สุดอยู่ดี

หนังญี่ปุ่น perfect days Wim Wenders ห้องน้ำสาธารณะ

หนึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดคือดนตรีประกอบที่เต็มไปด้วยเพลงเก่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อผู้คน ทั้งบรรดาตัวละครในเรื่องและผู้ชมให้สัมผัสสิ่งเดียวกันได้ผ่านเสียงเพลง เช่น เพลง House Of The Rising Sun ของวง The Animals, Pale Blue Eyes ของ The Velvet Underground, Redondo Beach ของ Patti Smith, Brown Eyed Girl ของ Van Morrison เป็นต้น โดยเพลงที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้น Perfect Day ของ Lou Reed ซึ่งว่ากันว่าแท้จริงแล้ว Lou Reed แต่งเพลงนี้ขึ้นมา โดยมีความหมายแฝงถึงความสุขของวันที่เขาได้ใช้ทำสิ่งต่างๆ เพราะยาเสพติด

น่าสนใจที่ Wim Wenders หยิบเอาเพลงนี้มาใช้ในความหมายที่คล้ายๆ กัน แต่ถ่ายทอดออกมาผ่านภาพคนที่มีความสุขเพราะได้ทำสิ่งที่คิดว่ามีคุณค่าในแต่ละวันแทน

Perfect Day ในที่นี้จึงไม่ใช่แค่วันวันเดียวเช่นในเพลง แต่เป็น Perfect Days ที่กลายเป็นวันพิเศษในทุกๆ วัน

วันธรรมดาที่เปลี่ยนไปเพราะภาพยนตร์ดีๆ สักเรื่อง

หนังญี่ปุ่น perfect days Wim Wenders ห้องน้ำสาธารณะ

โดยสรุป Perfect Days เป็นหนังที่ใช้ภาพโลกของคนที่กำลังย่างกรายเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น โดยที่ตัวละครยังใช้ชีวิตด้วยแนวคิดแบบญี่ปุ่นอย่างเป็นปกติ และภาพของการเปลี่ยนแปลงสถานที่ที่ไม่มีใครสนใจด้วยการออกแบบ ที่สามารถย้ำเตือนผู้คนในยุคปัจจุบันที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ รวมถึงรายล้อมไปด้วยทุกสิ่งที่ฉาบฉวยเรียกร้องความสนใจในชั่วครั้งคราว ให้ลองหยุดอยู่กับชั่วขณะปัจจุบัน แล้วเพ่งพิจารณาถึงสิ่งที่ตนเองกำลังทำในขณะนั้นๆ เพื่อที่อาจจะค้นพบความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในบางสิ่งบางอย่างมากกว่าการพยายามไขว่คว้าความสุขสำเร็จในชีวิตที่ก็ไม่รู้ว่าจะได้มาเมื่อไหร่

อีกอย่างพอหนังถูกสร้างออกมาผ่านสายตาของคนทำหนังที่ก็มีอายุอานามพอสมควร หรือจะเรียกว่าเป็นมนุษย์ลุงที่ใกล้จะถูกหลงลืมไปแล้วก็ได้ ในอีกนัยหนึ่งเขาก็เหมือนว่ากำลังเล่าเรื่องหรือถ่ายทอดมุมมองของตัวเองออกมา คล้ายเป็นบันทึกความนึกคิดผ่านหนังเรื่องนี้

และการที่ Perfect Days ได้เดินทางไปไกลถึงขั้นเข้าไปชิงรางวัล Oscars สาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม และนักแสดงนำ โคจิ ยาคุโช ได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ก็น่าจะสร้างอิมแพกต์ที่มากพอให้ผู้คนกลับมาตระหนักถึงผลงานภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยคุณูปการแก่โลกใบนี้ ที่ลุงผู้กำกับแก่ๆ คนนี้ได้ทำไว้บ้าง

นอกจากจะไม่หลงลืมใช้ชีวิตในชั่วขณะนั้นแล้ว เราคิดว่าหนังญี่ปุ่นเรื่องยังพยายามบอกว่า อย่าลืมที่จะใช้เวลาดีๆ กับคนที่ยังอยู่ในช่วงเวลานั้นด้วย เพราะสุดท้ายแล้ววันหนึ่งๆ ที่แสนธรรมดาของคนคนหนึ่งอาจจะเปลี่ยนไปเป็นวันที่แสนพิเศษจากการกระทำเล็กๆ หรือถ้อยคำน่ารักๆ ของคุณก็เป็นได้

หนังญี่ปุ่น perfect days Wim Wenders ห้องน้ำสาธารณะ

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.