‘การมีเซ็กซ์เป็นเรื่องธรรมชาติของร่างกายมนุษย์’ คือประโยคที่ได้รับรู้ผ่านการพร่ำสอน แต่ใครเล่าจะคิดว่าความปกติที่หล่อหลอม กลายเป็นส่วนสร้างบาดแผลชิ้นใหญ่ให้ผู้ที่มีรสนิยมทางเพศรูปแบบ Asexuality หรือ ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น ที่ไม่ปรารถนาจะมีความสัมพันธ์ทางกายกับใคร
ชวนทำความเข้าใจ Asexuality หนึ่งในสีสันแห่งความหลากหลายทางเพศกับ ปาร์คเกอร์-ภารวี อากาศน่วม ผู้นิยามตัวเองว่า Aromantic Asexual Trans Masculine ซึ่งสิ่งที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อจากนี้ คือเสียงที่เขาอยากสะท้อนก้องสู่สังคมถึงการยอมรับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่ขึ้นชื่อว่า ‘มนุษย์’
P. Parkers เขาคือผู้กล้า
“เรานิยามตัวเองว่าเป็น Asexual ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับใคร และอยู่ในสเปกตรัมของ Aromantic ที่มีแรงดึงดูดทางใจกับคนอื่นน้อยมาก และไม่ได้รู้สึกว่าการมีคนรักเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต และเราเป็น Trans Masculine ที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิง แต่ไม่ได้ต้องการจะข้ามเพศไปเป็นผู้ชาย เพียงแค่อิงกับความเป็นชาย”
เมื่ออยากนำเสนอคำว่า Asexuality ให้ถึงแก่น ปาร์คเกอร์ คือชื่อแรกที่ฉันนึกถึง นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาและวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ Aro/Ace-clusionist: Aromantic & Asexual Exist ซึ่งมีความมุ่งมั่นเพื่อสร้างความเข้าใจตัวอักษร ‘A’ ใน LGBTQIA+ ให้แพร่หลายมากขึ้น ผ่านประสบการณ์ตรงและสิ่งที่ได้ศึกษามาหลายปี
เสียงของปาร์คเกอร์จากปลายสายเริ่มเล่าถึงครั้งแรกที่ได้รู้จักกับคำว่า Asexualityให้ฟังว่า ตอนแรกไม่ได้อยากนิยามตัวเองว่ามีอัตลักษณ์ทางเพศอะไร หรือมีรสนิยมทางเพศแบบไหน จนถึงวัยเรียนชั้นมัธยมปลายเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับ LGBTQIA+ จากต่างประเทศ เวลานั้นเองที่ปาร์คเกอร์ได้พบเจอคำนี้ แล้วลงลึกมากขึ้นผ่าน https://asexuality.org/ เว็บไซต์แรกที่ให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน และเป็นคอมมูนิตี้ใหญ่ที่สุดของกลุ่มคนไม่ฝักใฝ่เซ็กซ์ และแม้เขาในวัยสิบกว่าขวบอาจยังไม่เข้าใจอย่างชัดเจน แต่ก็เลือกที่จะเคารพความรู้สึกตัวเอง
A. Asexuality รักนี้ไม่ใฝ่เซ็กซ์
Asexuality คือคนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น
ปาร์คเกอร์ตอบเมื่อฉันถามถึงความหมาย ก่อนอธิบายอย่างชวนให้นึกภาพตามว่า Asexuality คือ รสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) รูปแบบหนึ่งที่เปรียบเหมือนสเปกตรัมที่มีความเข้มข้นแตกต่างกัน ซึ่งแยกย่อยออกเป็น 3 ระดับ
Asexual – บุคคลที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าในสถานการณ์ไหนก็ตาม
Grey-Asexual – บุคคลที่ปกติไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น แต่อาจมีบางครั้งบางคราวที่เกิดแรงดึงดูดทางเพศกับใครสักคน อาจปีละสองครั้ง หรือมาแล้วหายไป
Demisexual – บุคคลที่แรงดึงดูดทางเพศจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเริ่มมีความสัมพันธ์ทางใจ หรือความรู้สึกลึกซึ้งกับใครคนนั้น ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบของความรักโรแมนติก แต่ถ่ายทอดออกมาในมุมของความเชื่อใจ หรือมิตรภาพ
หากคนที่ไม่มั่นใจว่าตัวเองไม่ฝักใฝ่เซ็กซ์จะทำอย่างไร ฉันถามเขา ซึ่งคำตอบว่า “ไม่จำเป็นต้องไปฝืนตัวเองเลย” ที่ได้ฟังจากปาร์คเกอร์ก็สร้างความรู้สึกประทับใจให้มากทีเดียว
“ไม่เห็นต้องแน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่ามีรสนิยมแบบไหน เพราะรสนิยมเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาถ้าอยากเปลี่ยน และไม่จำเป็นต้องนิยามตัวเองแบบเดียวไปทั้งชีวิต ดังนั้นถ้ายังไม่มั่นใจก็ไม่ต้องไปเร่งหาคำตอบ แล้วปล่อยให้ตัวเองได้ใช้เวลาตกตะกอนความรู้สึกจนเข้าใจดีกว่า”
A. is also Aromantic and Agender
นอกจากนี้ปาร์คเกอร์ยังเล่าว่า ตัวอักษรแรกในพยัญชนะภาษาอังกฤษอย่าง A. ยังมีความหมายว่า Aromantic และ Agender ที่เป็นหนึ่งในความหลากหลายทางเพศเช่นกัน
โดย A. Aromantic หมายถึงคนที่ไม่มีแรงดึงดูดเชิงรักโรแมนติกกับคนอื่น ไม่ได้รู้สึกว่าความรักที่เกิดจะต้องพัฒนาไปสู่การเป็นคนรักเท่านั้น แต่อาจกลายเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบเพื่อน พี่น้อง หรือญาติ
และ A. Agender หมายถึงคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีเพศ หรืออยากจะหลุดพ้นจากความเป็นเพศทั้งปวง และมองว่าเพศนั้นเป็นสิ่งที่ลื่นไหลได้เสมอ
M. Misunderstanding (ไม่) เข้าใจ
Asexuality = ตายด้านเรื่องเซ็กซ์ | รักษาพรหมจรรย์ | เป็นแล้วหายได้
เหล่านี้คือหนึ่งในความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งประเด็นใหญ่คือความคิดที่ว่า คนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ คือคนที่ตายด้านเรื่องเซ็กซ์ ฉันจึงถามปาร์คเกอร์ว่า ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ แยกจากคำว่า อารมณ์ทางเพศ ให้เข้าใจได้อย่างไร เพราะสองคำนี้มีความเหมือนซ่อนอยู่ในความต่าง เขาเงียบไปสักครู่ก่อนรวบรวมความคิดแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นคำอธิบายให้ฟังว่า
“หลายคนเข้าใจว่า Asexual คือคนที่ไม่มีอารมณ์ทางเพศเลย ซึ่งมันไม่เสมอไปนะ เพราะคนที่เป็น Asexual แค่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับคนอื่น แต่ร่างกายบางคนยังมีอารมณ์ทางเพศอยู่ ซึ่งอาจจะปลดปล่อยด้วยการมีเซ็กซ์หรือไม่มีก็ได้
“สำหรับการทำความเข้าใจในความต่างของคำว่า ‘แรงดึงดูดทางเพศ’ กับ ‘อารมณ์ทางเพศ’ เรามองว่าต้องใช้เวลาทำความเข้าใจด้วยตัวเอง เพราะการฟังอธิบายจากคนอื่นอาจทำให้เข้าใจได้ไม่ชัดเจน ซึ่งสำหรับเรา เรารู้สึกได้เองว่าไม่เคยคบใครแล้วรู้สึกว่าจำเป็นต้องมีเซ็กซ์ แต่ร่างกายมันมีอารมณ์ทางเพศได้เองตามกระบวนการ”
เซ็กซ์เหมือนอาหารที่คนไม่ฝักใฝ่เซ็กซ์ รู้สึกว่าไม่ได้อยากกิน แต่ถ้าให้กินก็กินได้
ซึ่งความไม่เข้าใจจุดที่แตกต่างของแรงดึงดูดทางเพศ และอารมณ์ทางเพศที่เกิดยังโยงไปสู่ความคิดผิดๆ ที่ว่า คนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ คือคนรักษาพรหมจรรย์
สองความเข้าใจผิดที่ปาร์คเกอร์อธิบายไปแล้ว ไม่น่าตกใจเท่าความเข้าใจผิดที่ว่า คนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศเป็นแล้วหายได้ เพราะเขาบอกว่า “มีคนชาเลนจ์รักษาด้วยการข่มขืน”
“มีความคิดที่ว่าเป็นแล้วรักษาได้ ซึ่งถ้าได้ลองมีเซ็กซ์ก็คงจะหาย เลยมีกรณีข่มขืนเกิดขึ้น ซึ่งมีคนออกมาเล่าประสบการณ์เยอะมาก หรือบางครั้งก็เป็นการโดนคุกคามทางออนไลน์ และการส่งข้อความต่างๆ นานา”
ฉันฟังจบแล้วโพล่งออกไปทันทีว่า “ใจร้ายจัง” ทำไมรสนิยมทางเพศของใครสักคนถึงต้องโดนบดขยี้ด้วยกรอบความเชื่อที่ไร้การเคารพซึ่งกันและกันขนาดนี้
U. Understanding ใจเขา ใจเรา
สังคมไทยตลกมาก ตั้งแต่เกิดมาถูกสอนว่าอย่าพูดเรื่องเซ็กซ์ แต่พอคนที่เป็น Asexual ไม่สนใจเซ็กซ์ กลับมองว่าผิดปกติ
เมื่ออยากสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือการย้อนกลับไปตั้งคำถามกับวาทกรรมทางสังคมที่พร่ำสอนว่าไม่ควรพูดเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างเปิดเผย แต่เมื่อคนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศไม่สนใจและไม่พูดถึง กลับมองว่าแปลกแยก และเป็นเรื่องผิดปกติในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
ปาร์คเกอร์จึงมองว่าควรแก้ที่กรอบคิดของสังคมจุดนี้ และควรสอนให้เข้าใจว่า Asexuality คือหนึ่งในความหลากหลายทางเพศ และบอกให้รู้ว่ายังมีคนที่มีรสนิยมไม่ฝักใฝ่เซ็กซ์อยู่ เพื่อให้ใครก็ตามที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีแรงดึงดูดทางเพศไม่รู้สึกว่าเขาผิดปกติ
อีกหนึ่งสิ่งที่จะนำไปสู่ความเข้าใจ คือการที่คอมมูนิตี้ LGBTQIA+ เริ่มเปิดรับและเข้าใจตัวอักษร A. มากขึ้น เพราะเดิมทีปาร์คเกอร์บอกว่า สิ่งนี้คือปัญหาใหญ่จากความคิดที่ว่า คนที่เป็น Asexual และ Aromatic ไม่โดนกดขี่
“แค่บอกว่าเป็น Asexual แล้วไม่โดนกดขี่ รวมถึงมีคนไม่รู้จักว่าคืออะไร ก็คือการกดขี่แล้วนะ มันไม่ต่างจากการบอกให้คนที่เป็นเกย์ไปหาหมอแล้วจะหาย”
อย่างไรก็ตาม เขาก็มองว่าความเข้าใจในสังคมไทยตอนนี้มีการเคลื่อนไหวที่ดี หลายคนเริ่มออกมาพูดว่าตัวเองเป็น Asexual มากขึ้น คอยออกมาเล่าประสบการณ์ตามโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงสื่อ จากไม่เคยพูดถึงเลยก็มีพื้นที่มากกว่าเดิม อย่างช่วงหลังที่เริ่มมีนิยายเขียนตัวละครเป็นคนไม่ใฝ่เซ็กซ์ หรือในซีรีส์ก็พูดถึงเรื่องนี้ย่างแพร่หลายมากขึ้น
S. Sex Education เพศนอกตำรา
เพราะความตระหนักรู้ด้านความหลากหลายทางเพศส่วนใหญ่จบแค่ตัว T. Transgender ที่ปาร์คเกอร์ย้ำว่าเป็น T ที่หมายถึงเพียง Trans Woman หรือ ผู้หญิงข้ามเพศเท่านั้น ทั้งที่ T ยังหมายถึง Trans Man ด้วย และยังมีตัวอักษรอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น Q. Queer ที่เป็นร่มใหญ่แห่งความหลากหลายทางเพศ I. Intersex ที่หมายถึงคนที่เกิดมามีลักษณะกายภาพที่แตกต่าง หรือมีสองเพศในคนเดียวกัน A. Asexuality คนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ และอื่นๆ
ซึ่งเมื่อไหร่ที่มีคนมาถามถึงความหมาย เขาก็เต็มใจอธิบายให้ฟังอย่างใจเย็น แต่สุดท้ายก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าในโรงเรียนมีหลักสูตรความหลากหลายทางเพศสอน คนรุ่นต่อไปในสังคมจะเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างใจจริง
“การศึกษาช่วยได้มากที่สุด อย่างน้อยทุกโรงเรียนจะมีการเรียนการสอนวิชาเพศศึกษา ซึ่งต้องมีบทที่พูดถึงเพศศึกษาอยู่แล้ว ถ้าเพิ่มเรื่อง LGBTQIA+ เข้าไป เด็กก็จะได้เรียนรู้สิ่งนี้ตั้งแต่เล็ก
“นอกจากนี้ เรามองว่าควรเปิดโอกาสให้ LGBTQIA+ เป็นคนร่วมเขียนตำราเพศศึกษา แต่ปัญหาอีกอย่างคือ ครูที่ได้ตำราไปเขาจะสอนตามหนังสือหรือเปล่า ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เรายังหาวิธีควบคุมอยู่ เพราะไม่มั่นใจว่าเขาจะสอนตรงกับหนังสือ หรือจะสอนให้เด็กเกลียดหนังสือบทนี้ เราเลยคิดว่าต้องพัฒนาบุคลากรที่ไปสอนด้วย
“ซึ่งถ้าหลักสูตรนี้เกิดขึ้นจริง มีข้อมูลแพร่หลายมากขึ้น คนรุ่นต่อไปก็จะได้เรียนรู้อย่างถูกต้อง โดยที่ไม่ต้องหาความหมายเอง หรือเห็นจากสื่อที่บางทีก็ให้ข้อมูลแบบผิดๆ”
รสนิยมทางเพศเป็นเหมือนสี คนหนึ่งชอบสีหนึ่ง อีกคนอาจชอบสีนี้ มันคือความหลากหลายของความชอบที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรสอนอย่างแพร่หลายในโรงเรียนได้แล้ว
G. Gender Diversity หลากหลายแต่เท่ากัน
หากเทียบสมัยนี้กับยุคก่อน ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการพูดถึง LGBTQIA+ มากกว่าเดิม ทั้งยังมีคนออกมาเปิดเผยตัวตน (Come out) มากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นเรื่องดีที่ช่วยให้เห็นว่า LGBTQIA+ คือเรื่องปกติที่ใครก็เป็นได้ เพิ่มความเข้าใจให้ครอบครัว และช่วยเสริมให้การเป็น LGBTQIA+ ปลอดภัยมากขึ้น ทว่าในมุมมองของปาร์คเกอร์ การออกมาเปิดเผยตัวตนก็เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะ LGBTQIA+ บางคนอาจยังไม่สะดวกใจ
“หลังๆ เรารู้สึกว่า มันมีความกดดันบางอย่างที่คาดหวังให้คน Come out กันมากขึ้น จะมีคนบอกว่า Come out เลย สิ่งนี้ทำได้และควรภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองเป็น แต่บางครั้งนี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่ทุกคนจะทำได้ บางคนชีวิตเขาอาจไม่ปลอดภัยพอที่จะพูดเรื่องนี้ รวมถึงบางคนก็ไม่ได้อยากบอกว่านิยามตัวเองว่าอะไร
“เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดีก็พอ” คือประโยคที่ฟังแล้วคิดเสมอว่า ทำไมต้องเป็นคนดีก่อน ถึงจะเป็น LGBTQIA+ ได้
“สังคมไทยจะยอมรับ LGBTQIA+ คนนั้นได้ ถ้าเขาทำตามมาตรฐานที่สังคมกำหนด” ปาร์คเกอร์บอกว่า คือสิ่งที่ยังคงเป็นอยู่ในสังคมที่ (อ้างว่า) ยอมรับความหลากหลายได้แล้ว เพราะภายใต้การยอมรับ จะมีคำว่า ดี เก่ง ตลก หน้าตาดี ตีกรอบไว้
“เราคิดว่าการเป็น LGBTQIA+ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตคนคนหนึ่ง มันไม่ใช่ทั้งหมดของเขา เราอยากให้คนยอมรับว่าเราไม่ได้ผิดปก เราไม่ได้ขอให้เข้าใจด้วยซ้ำว่าเราเป็นอะไรกันแน่ ไม่ได้คาดหวังว่าต้องมาเข้าใจเต็มร้อย เราแค่อยากให้เขาเคารพเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งก็พอ”
มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายอยู่แล้วแต่แรก ดังนั้นการยอมรับความหลากหลายให้ได้ คือการยอมรับการเป็นมนุษย์อย่างหนึ่งซึ่งเป็นพื้นฐานที่ง่ายที่สุดแล้วของการเกิดมาเป็นคน
ทุกคำพูด ความคิด และความรู้สึกของปาร์คเกอร์ส่งมาถึงฉันอย่างเต็มพลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Asexuality หรือคนที่ไม่ฝักใฝ่เซ็กซ์ ที่สร้างความเข้าใจให้ฉันอย่างลึกซึ้ง และมุมมองความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ซึ่งรวมตัวกันเป็นมวลที่กระตุ้นให้ฉันอยากเขียนบทความเรื่องนี้ออกมาอย่างถูกต้องที่สุด เพื่อเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงสะท้อนให้สังคมตระหนักรู้ ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และมองทุกคนเท่ากัน
#แด่ความหลากหลายทางเพศ
#LoveWins