‘ปากคลองตลาด’ เป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งค้าขายดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ลองนึกภาพพื้นที่ที่เต็มไปด้วยผู้คนขวักไขว่ ทางเดินเฉอะแฉะจากการพรมน้ำดอกไม้ให้สดใส กลีบดอกไม้ที่เคยสวยงามร่วงโรยลงบนถนน จะว่ามีชีวิตชีวาก็ใช่ แต่จะบอกว่าดูวุ่นวายด้วยก็ได้เช่นกัน ถึงอย่างนั้นหลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าวันหนึ่งปากคลองตลาดจะกลายเป็นย่านสร้างสรรค์ได้เหมือนกัน
ส่วนหนึ่งของการที่ปากคลองตลาดได้ชื่อว่าเป็นย่านสร้างสรรค์นั้นมาจากการทำงานของ ‘หน่อง-ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์’ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และนักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาพื้นที่และชุมชนหลายแห่ง อาจารย์หน่องไม่ได้มองแค่การพัฒนาพื้นที่อย่างเดียว แต่ยังนำความสร้างสรรค์ เปิดรับไอเดียใหม่ๆ และดึงจุดเด่นของบริบทพื้นที่มาทำให้พื้นที่ตรงนั้นเกิดความน่าสนใจมากขึ้นด้วย
และในปีนี้อาจารย์หน่องก็ไม่ได้สร้างสีสันให้ย่านปากคลองตลาดแห่งเดียว แต่เธอยังกลับไปยังย่านเก่าที่เคยทำงานด้วยอย่าง ‘บางลำพู’ พร้อมกับการนำสิ่งที่น่าสนใจของย่านมาผนวกรวมเข้ากับความสร้างสรรค์ เพื่อส่งต่อความน่าสนใจของทั้งสองย่านสู่ผู้คนผ่านงาน Bangkok Design Week 2025
ในโมงยามที่เทศกาลงานสร้างสรรค์ประจำปีของกรุงเทพฯ กำลังดำเนินอยู่นี้เอง คอลัมน์ Art Attack ชวนอาจารย์หน่องมาคุยกันถึงโปรเจกต์ ‘Bangkok Flower Market Festival @Pak Khlong Talat’ และ ‘Bang Lamphu Festival @New World Shopping Mall’ ที่ได้รับทุน ‘Connections Through Culture’ ประจำปี 2024 จากบริติช เคานซิล และกำลังจัดขึ้นในวันที่ 8 – 23 กุมภาพันธ์นี้กัน
‘ปากคลองตลาด’ พื้นที่ที่เคยซบเซาแต่กลับมาสดใสด้วยความสร้างสรรค์
อาจารย์หน่องเริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า ตนเองทำงานเรื่องฟื้นฟูย่าน ‘ปากคลองตลาด’ ด้วยงานสร้างสรรค์มาตั้งแต่ปี 2559 ทำให้มองเห็นเพนพอยต์ของย่านที่การค้าขายซบเซาลงไปจากเมื่อก่อนมาก โดยส่วนหนึ่งนั้นมาจากการจัดระเบียบพื้นที่แบบฉับพลัน ทำให้ผู้คนในย่านปรับตัวไม่ทัน และภาพจำพื้นที่เก่าๆ ของคนนอกก็หายไป ไม่รู้สึกถึงความเป็นปากคลองตลาดเหมือนเดิม
“แม้ภาพเดิมของตลาดจะเป็นเสน่ห์ของย่าน แต่ในอนาคตก็คงไม่ดีกับภาพลักษณ์เท่าไรนัก ท้ายที่สุดแล้วไม่ช้าหรือเร็วก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่อยู่ดี แต่พอเปลี่ยนกะทันหันก็ทำให้เศรษฐกิจย่านนี้ชะลอลง ซ้ำร้ายยังมีโควิดเข้ามาอีก ในช่วงนั้นปากคลองตลาดเลยค้าขายไม่ค่อยดี” อาจารย์หน่องเล่า
แต่เพราะทำงานกับพื้นที่และคนในชุมชนมาอย่างยาวนาน อาจารย์หน่องจึงมองเห็นศักยภาพในการพัฒนาปากคลองตลาดให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง โดยในปี 2566 เธอได้นำเสนอย่านปากคลองตลาดให้เป็นหนึ่งในย่านสร้างสรรค์กับทาง CEA พร้อมกับได้รับทุนมาจำนวนหนึ่ง รวมถึงขอทุนสนับสนุนในเชิงศิลปวัฒนธรรมทั้งจาก British Council และกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อตอบโจทย์การทำงาน
ด้วยเหตุนี้ ปากคลองตลาดจึงได้เข้าร่วม Bangkok Design Week 2023 เป็นครั้งแรก เรื่อยมาจนถึงปีที่สอง และปีนี้ที่เป็นปีที่สามกับคอนเซปต์ ‘Bangkok Flower Market Festival
ขณะเดียวกัน การทำงานครั้งนี้ก็นับเป็นโปรเจกต์ที่ได้รับทุนความร่วมมือทางวัฒนธรรมหรือ Connections Through Culture จากบริติช เคานซิล ด้วยเหมือนกัน
โดยอาจารย์หน่องบอกกับเราว่า งานที่ออกมานั้นจะแตกต่างจากสองปีที่ผ่านมาที่พยายามเล่าเรื่องในย่านแทรกเข้าไปด้วย เช่น ภาพถ่ายของคนในตลาด การถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของคนในย่าน หรือการบอกเล่าว่าคนในตลาดอยากซื้อดอกไม้ให้ใครในวันวาเลนไทน์ แต่ปีนี้เธอกับทีมตั้งใจว่าจะทำให้ย่านมีความป็อปมากขึ้น ทำให้คนทั่วไปอยากเข้ามาในพื้นที่นี้โดยไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ที่ต้องอนุรักษ์หรือเรียนรู้ความเป็นย่านอย่างเดียวเท่านั้น
งานสร้างสรรค์กระตุ้นการสรรค์สร้างของคน
และเมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงของย่านเมื่อมีความสร้างสรรค์เข้ามาเป็นตัวกระตุ้น อาจารย์หน่องบอกกับเราว่า เมื่อก่อนปากคลองตลาดเป็นพื้นที่ที่คนไม่กล้ามาเพราะดอกไม้ก็ต้องซื้อแบบขายส่ง ราคาก็ไม่ติด คนก็ไม่กล้าซื้อ ทีนี้เลยไม่รู้ว่าจะมาทำอะไร เธอจึงพยายามทำย่านนี้ให้กลายเป็นพื้นที่เปิด ซึ่งต้องไม่ใช่แค่เปิดรับคนเข้ามาเท่านั้น แต่ยังต้อนรับคนที่อยากทดลองทำอะไรเพื่อพัฒนาย่านด้วย
อย่างในปีนี้ก็มีคนสมัครเข้ามาเป็นดีไซเนอร์ มาจัดงานศิลปะจำนวนมากด้วยเหมือนกัน ยกตัวอย่าง โปรแกรม ‘Bloom for New Gen’ ผลงานของนักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สาขานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ทำเป็น E-Book พร้อม AR ให้เดินตามหาดอกไม้ ไปถ่ายรูป รวมถึงเป็นไกด์บุ๊กที่เล่าว่าปากคลองตลาดมีอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง ส่งผลให้การทำงานของย่านนี้มีทั้งความสร้างสรรค์ของคนนอกและคนในย่าน โดยที่อาจารย์หน่องเปรียบเทียบตัวเองว่าเป็นตัวกลางที่มีหน้าที่เขย่าไอเดียของคนทั้งสองกลุ่มนี้ให้เข้ามาผสมปนเปกันจนกลายเป็นความพอดีที่ลงตัว
“จริงๆ แล้วความสร้างสรรค์ของย่านนี้คือพ่อค้าแม่ค้านะ การเข้ามาของความสร้างสรรค์เป็นตัวซัพพอร์ตที่ทำให้ปลดล็อกความครีเอทีฟว่าจะขายของยังไงดี เราแค่ลองทำสิ่งต่างๆ ว่าอะไรที่เหมาะกับย่านนี้บ้าง ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามา และทำให้เกิดการแข่งขันกันในด้านการตลาดของแต่ละร้าน เป็นการแข่งขันที่ช่วยกระตุ้นให้คิดเรื่องการค้าขาย เพราะเมื่อพื้นที่เปิดมากขึ้น คนก็เข้ามาเดินเยอะขึ้น โอกาสในการค้าขายก็มากขึ้นเหมือนกัน” อาจารย์หน่องเสริม
อย่างไรก็ตาม อาจารย์หน่องมองว่างานสร้างสรรค์เหล่านี้อาจไม่ได้ช่วยพัฒนาย่านให้เปลี่ยนแปลงได้ทันที แต่อย่างน้อยจะมีส่วนช่วยให้ย่านค่อยๆ ดีขึ้นได้ตามลำดับ จากบุคคลสู่ชุมชน ย่าน โครงสร้าง ไปจนถึงนโยบายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดของย่านนั้นให้เกิดขึ้นจริง
ในปีนี้จะมีพื้นที่หลักๆ ในการจัดแสดงอยู่ 4 แห่ง โดยแต่ละแห่งคือพื้นที่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีต่อไปในอนาคต ดังนี้
1) MRT สถานีสนามไชย ทางออกที่ 4 : สวน 15 นาทีที่เดิมเคยเป็นลานทิ้งขยะ แต่ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ยังไม่ค่อยมีคนไปใช้พื้นที่มากนักนอกจากเป็นลานเต้นแอโรบิกของคนในชุมชน การจัดแสดงผลงาน Blossom Station, การจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป หรือการตั้ง Installation Art ในบริเวณนี้จึงเป็นการสร้างพื้นที่ให้น่าใช้และชวนให้ผู้คนรับรู้ถึงการมีพื้นที่นี้อยู่มากขึ้น
2) MRT สถานีสนามไชย ทางออกที่ 5 : หลายคนแวะเวียนไปที่ปากคลองตลาดอยู่เป็นประจำ แต่อาจไม่รู้ว่าพื้นที่แห่งนี้อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ความตั้งใจในการนำผลงานไปติดตั้งในบริเวณนี้ก็เพื่อดึงดูดให้ผู้คนเดินไปยังท่าเรือราชินี และรับรู้ถึงการเป็นพื้นที่ริมน้ำของย่านปากคลองตลาด
3) ถนนจักรเพชร : เส้นทางที่เรียกได้ว่าเป็นภาพจำของปากคลองตลาด ที่มีทั้งผลงานของนักศึกษาและผู้ประกอบการในการสร้างสีสันให้กับถนนเส้นนี้ดูสดชื่นและสดใสมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งหน้าร้านดอกไม้ หรือการแก้เพนพอยต์บรรยากาศการเป็นพื้นที่ปิด ด้วยการติดไฟ LED บนรถเข็นดอกไม้และให้คนเข็นรถสวมเสื้อติดไฟ เพื่อลดความเคร่งเครียดของย่านลง และเพิ่มความสนุกให้มากขึ้น
4) สวนไปรสนียาคาร : พื้นที่ริมน้ำของรัฐที่เหลืออยู่ไม่กี่แห่ง และมีศักยภาพในการเป็น Public Space แต่กลับเป็นพื้นที่เปลี่ยวและน่ากลัว ทำให้ผู้คนไม่กล้าไป ซ้ำร้ายบางคนอาจไม่รู้ถึงการมีอยู่ของพื้นที่ ในปีนี้ทางงานจึงจัดนิทรรศการเพื่อให้พื้นที่นี้เป็นที่สนใจและได้รับการปรับปรุงให้น่าใช้ต่อไปในอนาคต
และแน่นอนว่าผลงานที่จัดแสดงนั้นย่อมต้องมีดอกไม้เป็นส่วนสำคัญที่จะเชื่อมโยงความสร้างสรรค์จากกลุ่มคนต่างๆ เข้ากับความเป็นพื้นที่ของปากคลองตลาดแห่งนี้
จริงอยู่ที่ดอกไม้คือภาพจำของย่าน แต่ความสำคัญของดอกไม้ต่อปากคลองตลาดสำหรับอาจารย์หน่องนั้นยังทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์เชิงกายภาพด้วย
เพราะหากมาเดินในย่านนี้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เห็นดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์ ตั้งแต่ราคาหลักหน่วยไปจนถึงหลักร้อยหลักพัน อีกทั้งยังเป็นอาชีพที่สร้างความภูมิใจและสร้างรายได้มหาศาลให้กับใครหลายๆ คน เป็นสินค้าที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายๆ โอกาส และแน่นอนว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยต่อยอดความสร้างสรรค์ในพื้นที่ และดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาเติมชีวิตชีวาให้กับย่านได้คึกคักอีกครั้ง
เพียงแค่บอกว่าปีนี้จะจัดงาน Bangkok Design Week ที่ปากคลองตลาด ภาพที่ผู้คนนึกถึงก็เป็นความสดใสของดอกไม้นานาชนิดผุดขึ้นมาแล้วแม้จะยังไม่ได้ติดตั้งผลงานศิลปะ แต่คนก็พร้อมรื่นเริงไปกับย่าน เห็นบรรยากาศความสนุกที่เบ่งบานแข่งกับดอกไม้อย่างไม่รู้จบ
‘บางลำพู’ ย่านเก่าแก่ที่มีเรื่องราวมากมายแต่ยังไม่ชวนให้ตื่นเต้น
นอกจากปากคลองตลาดแล้ว ‘บางลำพู’ เป็นอีกหนึ่งย่านที่อาจารย์หน่องได้เข้าไปร่วมทำงานกับชุมชน และเป็นย่านสร้างสรรค์ที่อยากชวนให้ผู้คนไปค้นหาเสน่ห์ของย่านที่ซ่อนตัวอยู่ในงาน ‘Bang Lamphu Festival’ ภายใต้เทศกาล Bangkok Design Week 2025 ในเฟส 2 โดยทุน Connections Through Culture จากบริติช เคานซิล ก็ได้รับการนำมาใช้สร้างสรรค์ย่านบางลำพูด้วยเช่นกัน
ถึงอย่างนั้นเมื่อพูดถึงบางลำพู นอกจากความเป็นย่านเก่าแล้ว ตัวพื้นที่กลับไม่ค่อยมีอะไรน่าดึงดูดมากนัก ทำให้เราไม่ค่อยมีภาพจำของย่านที่ชัดเจนเท่ากับปากคลองตลาด ตรงนี้เองที่ทำให้หลายๆ คนมองข้ามย่านนี้ไป
“บางลำพูมีดีหลายอย่าง แต่ก็มีความท้าทายเพราะอาจยังไม่ค่อยดึงดูดคนเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่มีเรื่องเล่าเยอะ คนข้างในเองก็รู้ว่ามีอะไรหลายอย่างที่น่าบอกต่อ แต่ด้วยภาพรวมที่ไม่เหมือนย่านอื่นๆ ที่มีตึกสวยๆ ให้ชมตลอดทาง ที่นี่มีแค่บริเวณถนนพระอาทิตย์ที่สวยงาม หลังจากนั้นก็แทบไม่ค่อยเห็นแม้จะเป็นย่านเก่าเหมือนกัน มันเลยเป็นความขัดแย้งที่ดูน่าสนใจ คนที่รู้ว่าเขามีอะไรดีก็อยากจะพรีเซนต์ออกมา แต่ยังหาจุดที่จะชวนคนมาไม่ได้สักเท่าไหร่”
อาจารย์หน่องบอกกับเราว่า สำหรับคนนอกพื้นที่อาจจะมองว่าห้างสรรพสินค้าเก่าแก่อย่าง ‘New World’ ที่ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกบางลำพู เป็นเพียงสิ่งก่อสร้างผิดกฎหมายในสมัยก่อน เป็นพื้นที่ที่น่ากลัว ไม่รู้ว่าจะทรุดโทรมในวันไหน
แต่ขณะเดียวกัน คนในพื้นที่ที่เติบโตมาในย่านบางลำพูกลับมองว่า New World เป็นสถานที่ที่เคยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน ทำให้พื้นที่สว่างไสวคึกคัก แต่เมื่อปิดตัวลงก็ทำให้บริเวณนั้นทั้งมืดและดูน่ากลัว อาจารย์จึงยังหวังว่าตึกแห่งนี้จะกลับมาใช้งานและทำให้ย่านมีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง เพราะก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตึกนี้คือสิ่งที่ผู้คนจำบางลำพูได้
ไม่ว่าจะเป็นในแง่ไหนก็ตาม หากในอนาคตมีการปรับปรุงจนกลายเป็นสถานที่ฮอตฮิตขึ้นมา ที่นี่ก็อาจเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนย่านได้อย่างมหาศาล เพราะเป็นพื้นที่ชิ้นใหญ่ที่เหลืออยู่แห่งเดียวในย่านนี้
New World จึงเป็นสถานที่ที่อาจารย์หน่องนำไอเดียสร้างสรรค์ต่างๆ มาเติมเต็มพื้นที่โดยในครั้งแรกที่จัดงานนั้นเป็นการทำกิจกรรมที่เปิดให้เข้าเฉพาะคนในย่าน เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนพูดคุยถึง New World ในความทรงจำ ส่วนครั้งที่สองเป็นการทำงานภายใต้เทศกาล Bangkok Design Week ที่คนในย่านเริ่มอยากให้พื้นที่มีความป็อป คนนอกอยากเข้ามามากขึ้น นำมาสู่การร่วมมือกับ ‘พล หุยประเสริฐ’ จากทีม HUI Design กับการจัดนิทรรศการใน New World แห่งนี้
เมื่อตัวอาคารเริ่มเป็นที่รู้จักในอีกแง่มุมแล้ว ในปีนี้ซึ่งเป็นการจัดแสดงในงาน Bangkok Design Week ครั้งที่สองของย่าน อาจารย์หน่องก็ขยับขยายการนำเสนอตัวสถานที่สู่มรดกวัฒนธรรมอย่างอาหารท้องถิ่นและชีวิตของผู้คนในย่านบางลำพู
สตรีทฟู้ดสไตล์ชาววังและวิถีชีวิตของชุมชนที่สะท้อนตัวตนของย่านบางลำพู
โชคดีที่บางลำพูมีชุมชนที่เข้มแข็ง ทั้งกลุ่มเกสรลำพูและกลุ่มประชาคมบางลำพู ที่มีสมาชิกตั้งแต่รุ่นเด็ก วัยกลางคน ไปจนถึงกลุ่มสูงอายุ ผู้มีความตั้งใจในการพัฒนาและมองเห็นศักยภาพภายในพื้นที่ที่สามารถผลักดันให้เป็นตัวชูโรงของย่าน
หนึ่งในนั้นคือ สตรีทฟู้ดสไตล์ชาววังที่มีเรื่องราวให้เล่ามากมาย ไหนจะมีความพิเศษในแง่ของราคาที่เป็นมิตร ไม่ว่าจะเป็นข้าวต้มน้ำวุ้น ไส้กรอกปลาแนม ขนมเบื้องโบราณ และข้าวแช่ แต่ด้วยความที่เป็นอาหารที่มีวิธีการกินยากไปหน่อย ทำให้คนนอกพื้นที่ที่เข้ามาในย่านมองข้ามความอร่อยของอาหารรสเด็ดนี้ไป
อาจารย์หน่องและชุมชนได้ดึงเอาสตรีทฟู้ดชาววังมาเป็นจุดเด่นในงานครั้งนี้ ผ่านกิจกรรม ‘Small Bites, Big Stories’ ที่จะจัดสำรับอาหาร 9 อย่าง ทั้งของทานเล่น อาหารคาว อาหารหวานมาในบ็อกซ์เซต โดยจะจัดไว้เป็นคำเล็กๆ ที่กินได้ง่ายๆ แตกต่างจากวิธีการกินแบบปกติ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลองชิมอาหารเหล่านี้ และเข้าถึงความเป็นบางลำพูผ่านรสชาติอาหารและบรรยากาศภายใน New World พร้อมทั้งฟังเรื่องราวความรู้ของอาหารจาก ‘หนิง-ดร.นิพัทธ์ชนก นาจพินิจ’ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอาหารด้วย
ตัวกิจกรรมนี้มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มเกสรลำพู เนื่องจากตอนนี้พวกเขากำลังพัฒนาศูนย์ชุมชนให้เป็นที่กินข้าวร่วมกัน จึงขอใช้โอกาสนี้จัดกิจกรรมให้คนนอกได้มาลองชิมอาหารเก่าแก่ของย่าน ที่มาพร้อมเรื่องเล่าของเมนูต่างๆ และทำหน้าที่ช่วยประชาสัมพันธ์ศูนย์ชุมชนแห่งนี้ ซึ่งเมื่อที่นี่เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว ไม่ว่าใครก็ไปกินอาหารต่างๆ ในปริมาณปกติได้โดยไม่ต้องรอให้จัดกิจกรรมประจำปีขึ้นมาด้วย
“นอกจากจะมีอาหารให้ทดลองกินกันแล้ว ยังมี Projection Mapping เพื่อสร้างบรรยากาศแบบ Immersive และสร้างประสบการณ์พิเศษ โดยพวกเราตั้งใจใช้กิจกรรมนี้เป็นตัวประชาสัมพันธ์เวิร์กช็อปกินอาหารจริงจังในศูนย์ชุมชนที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ด้วย กิจกรรมของพวกเราถือเป็นส่วนเรียกน้ำย่อย” อาจารย์หน่องเสริม
ส่วนงานอีกชิ้นที่จัดแสดงในย่านบางลำพูคือ ‘Streetwise : Grit & Glow in Peckham and Bangkok’ นิทรรศการภาพถ่ายที่จะชวนผู้ร่วมงานไปสำรวจผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความเจริญของพื้นที่ (Gentrification) ในบริบทของเมือง
อาจารย์หน่องเล่าว่า ตอนที่ไปประชุมเรื่อง Liveable City ที่ลอนดอน ได้เจอกับ Ragini Khurana นักศึกษาระดับปริญญาเอกที่ University of Warwick ซึ่งทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ Gentrification ที่นำเสนอภาพของ Peckham ที่มีความหลากหลายและเป็นย่านชนชั้นแรงงานในประวัติศาสตร์ทางตอนใต้ของลอนดอน
งานของ Ragini ไม่ได้นำเสนอข้อเสียของการ Gentrification อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสื่อสารให้เข้าใจว่า ในขณะเดียวกันนั้นคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้รู้ว่าความเก่าแก่ที่แท้จริงของย่านคืออะไร หรือแม้แต่คนในพื้นที่เองก็ต้องพยายามหาแง่มุมในความเก่าแก่ออกมาพรีเซนต์ย่าน เพื่อไม่ให้ถูกเหมารวมว่าเป็นการกลืนกิน (Gentrified) พื้นที่
ด้วยเหตุนี้ อาจารย์หน่องที่มองย้อนกลับมายังย่านบางลำพูก็พบว่า สิ่งที่ Ragini นำเสนอนั้นมีความใกล้เคียงกับบางลำพูมาก ในแง่ของความหวงแหนพื้นที่ เรื่องเล่า และสิ่งต่างๆ ของย่านที่อยากให้มีความน่าสนใจแต่ก็ไม่อยากให้หายไป
อาจารย์หน่องจึงนำเอาประเด็นนี้มาเป็นชิ้นงานของย่านบางลำพู เพื่อชวนให้คนขบคิดถึงการพัฒนาพื้นที่ไปพร้อมกับรักษาความดั้งเดิมเอาไว้ จะทำอย่างไรให้ทั้งสองอย่างนี้สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างสมดุล ผ่านการขอให้ Ragini นำรูปถ่ายที่อยากเล่าแง่มุมนี้ของเมืองเพคแฮมมาจัดแสดง ควบคู่ไปกับภาพถ่ายของบางลำพูที่ได้ ‘หมิว-พรชิตา บัวประดิษฐ’ ไกด์เด็กกลุ่มเกสรลำพู เป็นผู้เก็บภาพผ่านสายตาภายใต้หัวข้อเดียวกัน ซึ่งภาพที่ได้ก็จะออกมาล้อๆ กัน ยกตัวอย่างภาพมุมสูงมองลงมาที่เพคแฮม และภาพมุมสูงที่มองลงมาเป็นบางลำพู เป็นต้น
“การทำงานของพวกเราอาจยังไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงทางออกของการพัฒนาย่านที่ชัดเจนนัก เพราะอาจารย์เองเพิ่งกลับมาให้เวลากับบางลำพูอีกครั้ง แต่เราก็หวังว่าการเริ่มทดลองสิ่งเล็กๆ ที่ต่อยอดมาจากการประเมินผลของการทดลองก่อนหน้า น่าจะทำให้เราเห็นแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสมในการฟื้นฟูย่านในอนาคตต่อไป”
การเปลี่ยนแปลงในฝันของทั้งสองย่านในฉบับนักออกแบบ
สิ่งสำคัญที่อาจารย์หน่องมองว่าจะช่วยสร้างสรรค์ให้ย่านปากคลองตลาดและบางลำพูพัฒนาอย่างยั่งยืนได้คือโครงสร้าง นโยบายรัฐที่เอื้อหรือสอดคล้องต่อพื้นที่ รวมถึงเอกชนที่มีอำนาจในการตัดสินใจแง่การใช้พื้นที่ แต่ในฐานะของนักออกแบบก็สามารถใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบเล็กๆ น้อยๆ ทำออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เพื่อให้ผู้มีอำนาจในการปรับเปลี่ยนพื้นที่เหล่านี้ได้เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลง
ยกตัวอย่าง งานออกแบบที่ปากคลองตลาด ที่ช่วยดึงดูดให้คนเข้าไปในพื้นที่ สร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ก็ล้วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงธุรกิจได้จริง หรือที่บางลำพูเองก็มีสิ่งที่ทำให้เป็นที่พูดถึงอย่าง ‘New World x Old Town Part 2 : The Reflection From the Light Source’ งานนิทรรศการของ HUI Design ที่ทั้งคนในชุมชนและคนนอกพื้นที่ให้ความสนใจ เป็นเหมือนการสร้างแรงบันดาลใจว่า บางลำพูเองก็มีความสามารถในการสร้างจุดเด่นจุดขายแบบนี้ขึ้นมาได้เหมือนกัน
ท้ายที่สุดแล้ว อาจารย์หน่องบอกกับเราว่า อยากให้ทั้งสองย่านเป็นย่านที่มีชีวิตชีวา เป็นย่านที่เติบโตไปกับอนาคต ไม่ได้อยากให้ความน่าสนใจของพื้นที่ออกมาในรูปแบบของการอนุรักษ์หรือหวงแหนความเก่าแก่จนกลายเป็นการแช่แข็ง แต่จะต้องเป็นการรักษามรดกวัฒนธรรมเหล่านี้ให้เดินหน้าไปพร้อมๆ กับการพัฒนาในปัจจุบัน ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นเพียงชุมชนที่เหลือแต่ชื่อ แต่สิ่งที่สามารถเข้าไปสัมผัสได้นั้นกลับหายไปตามกาลเวลา