‘ออสโล’ เมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ - Urban Creature

โลกของเรามีประชากรสูงอายุเยอะขึ้นทุกปี และตัวเลขนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้คนมีอายุขัยยาวนานกว่าเดิม องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 โลกจะมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 2 พันล้านคน หรือราว 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกทั้งหมด

เพราะเหตุนี้หลายประเทศทั่วโลกจึงเริ่มทยอยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ รวมถึงพัฒนาแผนการรับมือที่จะทำให้เมืองของตัวเองรองรับประชากรวัยชราได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งเมืองที่ตื่นตัวรับมือกับความท้าทายนี้ได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลกคือ ‘ออสโล’ ประเทศนอร์เวย์

เมืองหลวงแห่งนี้กลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ และส่งเสริมให้ทุกคนเติบโตอย่างมีความสุขได้อย่างไร คอลัมน์ City in Focus ขอชวนไปหาคำตอบกัน

การเปลี่ยนเมืองให้เป็นมิตรกับประชากรสูงวัย

'ออสโล' กับแผนการสร้างเมืองให้ผู้คนสูงวัยได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข

“เมืองที่เป็นมิตรต่อผู้สูงวัยคือ เมืองที่มีสภาพแวดล้อมครอบคลุมและเข้าถึงได้ ซึ่งส่งเสริมให้ประชากรมีอายุมากขึ้นได้อย่างแข็งแรงและมีสุขภาพดี”

นี่คือคำนิยามของ ‘เมืองที่เป็นมิตรต่อผู้สูงวัย’ หรือ ‘Age-friendly City’ ที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติงาน ‘Action Plan for an Age-friendly City’ และ ‘Plan for Safe and Diversified Care of Older People’

แผนปฏิบัติงานทั้งสองนี้เผยแพร่เมื่อปี 2017 เพื่อเป็นรากฐานสำหรับออสโลในการเปลี่ยนตัวเองจากเดิมที่เป็นเมืองที่ดูแลประชากรวัยชราอย่างเป็นระบบ ไปสู่การเป็นเมืองที่ผู้คนสูงวัยได้อย่างกระตือรือร้น (Active Ageing) ซึ่งหมายถึงผู้สูงอายุในสังคมสามารถดูแลและรับผิดชอบตัวเองได้นั่นเอง

'ออสโล' กับแผนการสร้างเมืองให้ผู้คนสูงวัยได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข

ออสโลเตรียมตัวแปลงโฉมตัวเองให้เป็นมิตรกับประชากรวัยชรา หลังจากมีการคาดการณ์ว่าในเมืองหลวงของนอร์เวย์จะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอีก 50,000 คนภายในปี 2040

ที่เป็นแบบนั้นเพราะออสโลมองว่าความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ใช่ ‘ปัญหา’ แต่คือ ‘โอกาส’ ที่จะส่งเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุในเมือง และทำให้พวกเขากลายเป็นทรัพยากรและตัวแทนของสังคมที่มีคุณค่า ขณะเดียวกัน วิธีนี้ยังจะช่วยเยียวยาจิตใจให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว

การพัฒนาเมือง 6 มิติของออสโล

'ออสโล' กับแผนการสร้างเมืองให้ผู้คนสูงวัยได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข

ออสโลต้องการสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน รวมถึงเป็นเมืองที่ดีต่อการเติบโตและแก่ชรา ผ่านการพัฒนา 6 ด้าน ได้แก่

1) การมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Participation) : ผู้อยู่อาศัยทุกคนต้องมีโอกาสมีส่วนร่วมในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายสาธารณะ การทำงานอาสาสมัคร หรือการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมือง

ยกตัวอย่าง ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา เทศบาลออสโลได้จัดสัปดาห์ ‘Senior i Sentrum-uken’ ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นในวันอัลไซเมอร์โลก (21 กันยายน) และสิ้นสุดลงในวันผู้สูงอายุสากลของสหประชาชาติ (1 ตุลาคม) ภายในงานจะมีการแข่งขันเดินด้วยไม้เท้าและวอล์กเกอร์ รวมถึงการมอบรางวัลให้ผู้อาวุโสของเมืองออสโลด้วย

'ออสโล' กับแผนการสร้างเมืองให้ผู้คนสูงวัยได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข

มากไปกว่านั้น ในแต่ละปียังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น คอนเสิร์ต เวิร์กช็อป ฉายหนัง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักที่อยากให้เข้าร่วมงานคือผู้สูงอายุ ครอบครัวและญาติ และเจ้าหน้าที่ของเทศบาลออสโล ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ประชากรชราในเมืองได้ออกกำลังกาย คลายเหงา และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากขึ้น

2) การขนส่ง (Transport) : ผู้อยู่อาศัยทุกคนต้องเข้าถึงพื้นที่ทั้งหมดของเมืองได้ด้วยการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และพวกเขายังต้องรู้สึกปลอดภัยกับทุกการเดินทางด้วย ตัวอย่างเส้นทางคมนาคมสำหรับผู้สูงวัยในออสโล เช่น บริการรถโดยสารรูปแบบใหม่ ‘Pink Bus’ สำหรับผู้ที่มีอายุ 67 ปีขึ้นไป เป็นบริการที่จะไปรับผู้โดยสารถึงที่บ้านเพื่อพาไปทำธุระต่างๆ หรือพาไปเที่ยวระหว่างวัน

นอกจากนี้ ออสโลยังออกแบบการเดินทางรูปแบบต่างๆ ให้เป็น ‘การออกแบบเพื่อทุกคน’ (Universal Design) รวมถึงเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเดินและการปั่นจักรยาน เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเคลื่อนไหวมากขึ้น

'ออสโล' กับแผนการสร้างเมืองให้ผู้คนสูงวัยได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข

3) ที่อยู่อาศัย (Housing) : ออสโลต้องการจัดการที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ ปลอดภัย และเข้าถึงได้ เพื่อให้ผู้สูงอายุอยู่อาศัยตามทางเลือกของตัวเองได้นานที่สุด

เนื่องจากสภาพที่อยู่อาศัยคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ทางออสโลจึงได้พัฒนาตัวเลือกที่อยู่อาศัยที่หลากหลายสำหรับผู้สูงอายุกลุ่มต่างๆ ที่มีความชอบ ความต้องการ รวมถึงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน

มีตั้งแต่การอัปเกรดสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็น Universal Design การพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง การสร้างบ้านพักคนชราสำหรับบริการพยาบาลและดูแล 24 ชั่วโมง รวมถึงการทดลองใช้แนวคิด ‘Co-housing’ หรือการแบ่งปันพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุและนักเรียนนักศึกษา เพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ช่วยให้ผู้สูงอายุคลายเหงาและมีเพื่อนใหม่มากขึ้น

4) พื้นที่กลางแจ้งและการออกกำลังกาย (Outdoor Areas and Physical Activity) : เมืองต้องมีพื้นที่ในเมืองและพื้นที่สีเขียวที่หลากหลาย ปลอดภัย และเข้าถึงได้ง่ายสำหรับคนทุกกลุ่ม แนวคิดนี้จะช่วยให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ได้ขยับร่างกาย และมีชีวิตที่แอ็กทีฟกว่าเดิม

เมืองออสโลได้ริเริ่มหลายโครงการเพื่อเพิ่มพื้นที่เหล่านี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการพัฒนาเหล่านี้ต้องอ้างอิงมาจากความต้องการของผู้สูงอายุในเมือง และตัวพื้นที่ยังต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้พื้นที่ร่วมกัน (Co-use) หรือตั้งอยู่ในพื้นที่ร่วมกัน (Co-location) เพื่อให้คนจากหลากหลายเจเนอเรชันได้ใช้พื้นที่ร่วมกัน เช่น การสร้างโรงเรียนอนุบาลอยู่ชั้นล่างของบ้านพักคนชรา การใช้สวนของบ้านพักคนชราให้เป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กๆ เป็นต้น

'ออสโล' กับแผนการสร้างเมืองให้ผู้คนสูงวัยได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข
'ออสโล' กับแผนการสร้างเมืองให้ผู้คนสูงวัยได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข

5) การสื่อสารและการมีส่วนร่วม (Communication and Participation) : หนึ่งในความท้าทายสำคัญสำหรับผู้สูงอายุคือ ‘ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล’ (Digital Gap) ที่ทำให้เหล่าประชากรสูงวัยไม่สามารถสื่อสารหรือเข้าถึงข้อมูลต่างๆ บนโลกออนไลน์ได้

เพื่อปิดช่องว่างที่ว่านี้ ทางการออสโลต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เรื่องดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงมีความเชี่ยวชาญและเข้าถึงอุปกรณ์ทางคอมพิวเตอร์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการที่หลากหลายบนโลกออนไลน์ เช่น ธุรกรรมทางการเงิน บริการด้านภาษี และบริการสาธารณะอื่นๆ

6) บริการด้านสุขภาพและการดูแล (Health and Care Services) : ออสโลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพใจของผู้สูงอายุทุกคน โดยแบ่งระดับการดูแลประชากรสูงวัยอย่างปลอดภัยและหลากหลาย ดังนี้

– เมืองเป็นมิตรต่อผู้สูงวัยด้านสาธารณสุข (Public Health Age-friendly City)
– การจัดสรรอาสาสมัครและบริการที่เข้าถึงได้ในย่านต่างๆ (Volunteerism and Low-threshold Services in Neighbourhoods)
– บริการด้านสุขภาพและการดูแลที่บ้าน (Home-based Health and Care Services)
– บ้านพักคนชราพร้อมเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง (Skilled Nursing Homes)
– ที่อยู่อาศัยแบบดัดแปลงสำหรับผู้สูงอายุ (Adapted Housing)
– ที่อยู่อาศัยที่มีบริการครอบคลุมและหลากหลาย (Long-term Care Homes)

ตัวอย่างการส่งเสริมสุขภาพคือ ทุกๆ เขตของเมืองออสโลจะมีเจ้าหน้าที่อาวุโสคอยให้ความรู้และแนะนำวิธีต่างๆ ให้กับผู้สูงอายุ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถใช้ชีวิตที่บ้านตัวเองได้อย่างปลอดภัย รวมถึงใช้ชีวิตได้อย่างมีความหมายในทุกๆ วัน ซึ่งหัวข้อการสนทนากับเจ้าหน้าที่จะปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงอายุด้วย

ต้นแบบประเทศน่าอยู่สำหรับผู้สูงอายุ

'ออสโล' กับแผนการสร้างเมืองให้ผู้คนสูงวัยได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข

จะเห็นว่าการเปลี่ยนออสโลให้เป็น Age-friendly City ไม่ได้มีเป้าหมายสร้างเมืองที่รองรับผู้สูงวัยเท่านั้น แต่ต้องเป็นการพัฒนาเมืองที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่ม เพราะท้ายที่สุดแล้ว เมื่อประชาชนทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย มีอิสระ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสังคม พวกเขาจะมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี รวมถึงเติบโตและสูงวัยกันอย่างมีความสุข

แม้ว่าครั้งนี้เราจะยกตัวอย่างเฉพาะเมืองออสโล แต่ความจริงแล้ว เมืองอื่นๆ ทั่วประเทศก็น่าอยู่และเหมาะสำหรับผู้สูงอายุไม่น้อยไปกว่ากัน ทำให้ในปี 2022 รายงานจาก Natixis Global Retirement Index ได้ยกให้ ‘นอร์เวย์’ เป็นประเทศอันดับ 1 ของโลกที่ ‘ดีสำหรับคนวัยเกษียณ’ หรือคะแนนรวม 81 เปอร์เซ็นต์ โดยพิจารณาจาก 4 เกณฑ์หลักๆ ดังนี้

'ออสโล' กับแผนการสร้างเมืองให้ผู้คนสูงวัยได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข

1) สุขภาพ (Health) : การใช้จ่ายต่อสุขภาพต่อหัว อายุขัยของประชาชน และการใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ไม่มีประกันสุขภาพ โดยนอร์เวย์ได้คะแนน 91 เปอร์เซ็นต์

2) คุณภาพชีวิต (Quality of Life) : ระดับความสุขของคนในประเทศ คุณภาพน้ำและสุขาภิบาล คุณภาพอากาศ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ และความหลากหลายทางชีวภาพและที่อยู่อาศัย โดยนอร์เวย์ได้คะแนน 87 เปอร์เซ็นต์

3) ความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจ (Material Well-being) : รายได้ต่อหัว ความเท่าเทียมทางรายได้ และอัตราการจ้างงาน โดยนอร์เวย์ได้คะแนน 79 เปอร์เซ็นต์

4) การเงินในการเกษียณอายุ (Finances in Retirement) : หนี้รัฐบาล การพึ่งพาผู้สูงอายุ อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ การปกครอง ภาระภาษี และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร โดยนอร์เวย์ได้คะแนน 69 เปอร์เซ็นต์

'ออสโล' กับแผนการสร้างเมืองให้ผู้คนสูงวัยได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข

จะเห็นว่านอร์เวย์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศในทุกๆ มิติ เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี จึงไม่แปลกใจที่นอร์เวย์ไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เหมาะกับคนวัยเกษียณอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทั่วโลกยังยกให้ดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืนแห่งนี้เป็นเมืองที่น่าอยู่และผู้คนมีความสุขมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกด้วย

Sources :
A better environment to age in | bit.ly/3QZw3kT
Action plans for : Age-friendly city Safe and Diversified Care of Older People | bit.ly/3EhLopr
Oslo kommune | bit.ly/3P3fnGi
Quartz | bit.ly/3sFgAwk
TIME | bit.ly/47XHNu7
Visual Capitalist | bit.ly/3L21lDO

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.