‘ซัน-ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์’ ยุคสมัยหนึ่งเขาเคยรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อจบการศึกษาก็เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ของมูลนิธิโลกสีเขียว องค์กร NGO ที่ผลักดันด้านสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการขับเคลื่อนสังคม เขายังใช้ชีวิตแบบ ‘กรีน’ ทั้งการปั่นจักรยานไปไหนมาไหน แยกขยะ ไม่ใช้วัสดุใช้ครั้งเดียวทิ้ง ฯลฯ
หลังจากเขามีลูกเล็ก ก็ตกลงกับภรรยาว่าตนเองจะลาออกจากงานประจำเพื่อดูแลลูกเต็มเวลา แต่ ‘ศิระ’ ก็ไม่ได้ละทิ้งสิ่งที่ชอบ ผูกพัน และสังคมที่อยากเห็น
ในวันเสาร์-อาทิตย์ หลังพักภารกิจประจำ ตอนนี้เขาทำธุรกิจเรือไฟฟ้าเช่าเหมาลำ ‘สุขสำราญ’ บริการนำท่องเที่ยวแบบไม่เหลือมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม บริเวณคลองบางหลวง สายน้ำเล็กๆ ที่มีวัดปากน้ำภาษีเจริญ องค์พระใหญ่ที่เป็นจุดแลนด์มาร์ก และมีตลาด ชุมชนที่อยู่อาศัย อู่ต่อเรือ หรือโรงสีข้าว ที่ล้วนพัฒนามาจากรากฐานประวัติศาสตร์ของพื้นที่
เรานัดคุยกับเขาในปลายเดือนมีนาคม ตรงกับวันที่ศิระตกลงอาสาเป็นคนขับเรือ รับส่งผู้คนข้ามฟากในงานประเพณีประจำปีของ ‘ศาลเจ้าซำซัวก๊กอ้วง’ และ ‘ศาลเจ้ากวนอู’ บริเวณตลาดพลูซึ่งมีสายน้ำของคลองบางหลวงคั่นกลาง
ในวันที่เทรนด์รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือเรือไฟฟ้ามาแรง ถูกคาดหวังว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนผ่านจากพลังงานถ่านหินเป็นพลังงานสะอาด เพื่อลดระดับความรุนแรงของวิกฤตสภาพแวดล้อมตอนนี้ อาจจะเรียกได้ว่า ‘ศิระ’ เป็นผู้มาก่อนกาลอยู่เหมือนกันที่ลงมือเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลของเรือให้เป็นระบบไฟฟ้าเมื่อ 2 – 3 ปีก่อน
ทั้งแนวทางธุรกิจ วิถีการดำรงชีวิตส่วนตัว สองด้านนี้สอดคล้องกันกับแนวคิดที่มีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของเขา หลายคนอาจจะบอกว่ายาก หรือสร้างภาระในชีวิตแต่ละวัน แต่ทำไมเขาถึงตั้งมั่นในการใช้ชีวิตเช่นนี้ และยืนยันสิ่งที่เชื่อผ่านวิถีชีวิต ผลักดันสู่คนรอบข้างและสังคม รวมถึงสะท้อนในธุรกิจสีเขียวที่ทำอยู่
บทสนทนาของเรากับเขาต้องหยุดเป็นระยะ ตั้งแต่ชานบ้านริมน้ำที่มีเรือหางยาววิ่งอยู่ตลอด จนถึงในตัวเรือที่คอยรับส่งผู้คนทั้งสองฟากฝั่ง ซึ่งบางทีเราก็ต้องเปลี่ยนบทบาทจากคนทำนิตยสารมาเป็นลูกเรือใช้เชือกยึดที่เสาตรงท่าน้ำ อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารขึ้นฝั่ง
…และต่อไปนี้คือ One Day With ‘ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์’ และ ‘เรือไฟฟ้าสุขสำราญ’
จุดเริ่มต้นเปลี่ยน ‘สุขสำราญ’ เป็นเรือไฟฟ้า
“ข้ามฟากมั้ยครับ เรือข้ามฟากครับ” เสียงจากท้ายเรือถามผู้คนที่ยืนรออยู่สองฟากฝั่งของศาลเจ้าดังขึ้นมาหลังจากเริ่มต้นการเดินทางบนลำเรือแท็กซี่
เรือเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ เรียบๆ ระหว่างสองฟากฝั่ง ระหว่างทางต้องหยุดรอให้เรือที่สัญจรผ่านพ้นไปก่อน แล้วจึงเคลื่อนตัวต่อเป็นระยะๆ
คงไม่เกินเลยถ้าเราบอกว่าเสียงตะโกน หรือเสียงพูดคุยกันในเรือนั้นแทบจะดังกว่าเสียงเครื่องยนต์ของตัวเรือเสียอีก ศิระเล่าว่า บางครั้งเวลาขับเรือไปหาคนนู้นคนนี้ เขาจะไม่รู้เลยว่ามาถึงแล้ว ต้องตะโกนเรียก ต่างจากเรือหางยาวหรือเรือใช้น้ำมันแบบอื่นที่จะรู้ทันทีจากเสียงเครื่องยนต์
อย่างที่เล่าไป เรือลำนี้นี่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลอย่างที่คุ้นเคย แต่เป็นพลังงานไฟฟ้าที่ชาร์จจากแผงโซลาร์เซลล์ ผลงานสำคัญจากการลงแรงกายและการศึกษาของ ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์
เขาเล่าที่มาที่ไปกว่าจะมาเป็นเรือสุขสำราญเวอร์ชันใช้ไฟฟ้าลำนี้ให้ฟังว่า ในช่วงแรกต้องการหารายได้เสริมหลังลาออกมาเลี้ยงลูก และด้วยความที่ผูกพันกับเรือและการจราจรทางน้ำมาตั้งแต่วัยเด็ก จึงตัดสินใจซื้อเรือยนต์แท็กซี่เพื่อมาใช้รับนักท่องเที่ยวพาทัวร์
แต่จุดเปลี่ยนแรกหลังจากใช้ตัวเครื่องดีเซลก็เกิดขึ้น ศิระเล่าว่า “ตอนนั้นใช้เรือได้เกือบปี วันหนึ่งคนเรือต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ทุกครั้งเราไม่อยู่ แต่ตอนนั้นอยู่ด้วย เราก็เห็นจังหวะที่เขาทำ จะมีแทงก์น้ำมันเครื่องข้างล่าง มีนอตตัวล่างสุด ถอดออกมาเพื่อให้น้ำมันเครื่องไหลลงท้องเรือเลย เราก็ตกใจ
“ถามว่า เฮ้ย ทำแบบนี้จะจัดการยังไงต่อ คนเรือก็บอกว่าไม่ต้องตกใจ พูดเสร็จก็โรยผงซักฟอก เอาขันตักน้ำในคลองสาดใต้ท้องเรือ น้ำมันเครื่องเหนียวๆ ดำๆ กลายเป็นสีน้ำตาลเข้มและไม่เหนียว มีฟองผสมมาหน่อยๆ หลังจากนั้นจะกดน้ำดูดออกไป แปลว่าน้ำมันเครื่องทั้งหมดจะลงคลอง ผมห้ามแล้วบอกให้ช่วยวิดน้ำใส่ถัง ไปส่งเขตบางกอกใหญ่ ที่นั่นรับกำจัดของเสียอันตราย”
เหตุการณ์นี้เป็นจุดเปลี่ยนแรกที่ทำให้ศิระย้อนคิดว่า แม้รายได้จากการวิ่งเรือนำเที่ยวแบบนี้ ในช่วงก่อนโควิด-19 ที่การท่องเที่ยวยังคึกคัก สร้างรายได้ให้เขาแทบจะมากกว่างานประจำ แต่จากสิ่งที่คนเรือบอกกับศิระว่า เรือยนต์แถวนี้ส่วนใหญ่ถ่ายน้ำมันเครื่องใช้แล้วด้วยวิธีการปล่อยลงน้ำแบบที่เขาทำเป็นส่วนใหญ่ นั่นหมายถึงสารพิษและโลหะหนักภายในนั้นก็ถูกปล่อยลงไปเช่นกัน จุดนี้ทำให้เขาย้อนคิดว่าจะเอาอย่างไรต่อดีกับธุรกิจที่ทำอยู่
“ถ้าเลิกก็ยอมขาดทุนแล้วก็จบ แต่ใจเล็กๆ อยากอนุรักษ์เรือ ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป เรือพวกนี้ไม่มีอนาคตแน่ มีแต่ตายกับตาย แต่เรายังอยากรักษามัน ก็เลยลองดู ยังพอมีเงินเก็บ” เขาเล่าพร้อมกับมองเรือสุขสำราญที่จอดอยู่ด้านหลังชานริมน้ำ
บริบทในสมัยนั้นราว 3 ปีที่แล้ว กรุงเทพฯ ยังไม่มีเรือไฟฟ้าอย่างในคลองแสนแสบ หรือคลองผดุงกรุงเกษมที่วิ่งเป็นประจำเหมือนทุกวันนี้ แม้แต่ภาคเอกชนก็ยังไม่ให้ความสนใจอุตสาหกรรมนี้เสียเท่าไร การหาโมเดลที่ประสบความสำเร็จในการทำเรือไฟฟ้าจึงไม่ง่ายนัก
“บริษัทในเมืองไทย เราดูแล้วยังไม่รู้ว่าจะทำได้หรือทำออกมาดีหรือเปล่า ส่วนบริษัทของเยอรมนี เรามั่นใจว่าทำได้แน่ๆ แต่เขาตีราคาไว้หนึ่งล้านสองแสน เราจ่ายไม่ไหว ช่วงนั้นเหมือนเป็นสถานการณ์บีบว่าจะเอาอย่างไรต่อ ก็เลยตัดสินใจศึกษาเองเรื่อยๆ
“จนวันหนึ่งเจอพี่สุวรรณ พิทักษ์สินธร เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จังหวัดตราด แกทำเรือพลังงานแสงอาทิตย์สำเร็จชื่อว่า ‘เรือพิทักษ์สมุทร’ ซึ่งวิ่งระยะทางไกลได้เท่าที่แดดยังไม่หมด เราดีใจมาก เลยหาวิธีติดต่อให้ได้ ไม่รู้จักแกหรอกนะ จนสุดท้ายก็ชวนมาที่บ้าน ลองลงเรือ
“พี่สุวรรณบอกต่อว่าจะลองหาคนมาช่วย สุดท้ายที่หามาก็ยังไม่สำเร็จ แต่เราก็ได้เห็นตัวอย่างของคนที่ทำสำเร็จมาแล้ว ดูรูปเรือ ฟังข้อมูล เราเลยพอเห็นแนวทาง เลยคิดว่าน่าลองทำดู หลังจากนั้นเราติดต่อโรงงานทางจีน ได้เพื่อนคนจีนช่วยประสานงานให้ แล้วก็ให้โรงงานก็ช่วย Customize มอเตอร์ที่เหมาะกับเรือ ถือว่าโชคดีที่ให้โอกาสเรา เพราะถ้าปฏิเสธก็จบเลยเหมือนกัน”
หลังจากนั้น ศิระก็เริ่มลงแรงเปลี่ยนจากเครื่องยนต์น้ำมันให้เป็นไฟฟ้า เขารับผิดชอบส่วนที่เป็นการติดตั้งสายไฟ ติดโซลาร์เซลล์ ส่วนงานอื่นที่ต้องใช้ความแม่นยำและความชำนาญก็ยกให้ช่างมาช่วยอีกแรง
ผลลัพธ์สุดท้ายคือต้นทุนทั้งหมดลดลงเหลือ ‘สองแสนห้าหมื่นบาท’ “แต่ไม่ได้รวมค่าแรงตัวเอง” เขาเสริม ลดลงมาเกือบ 5 เท่าจากราคาเฉียดล้านที่บริษัทเยอรมันเคยตีราคาเอาไว้
หลังจากนั้น วันเสาร์-อาทิตย์ของศิระจึงเปลี่ยนบทบาทเป็นคนเรือและไกด์นำเที่ยว นั่งอยู่ช่วงท้ายลำคู่กับพวงมาลัยควบคุมทิศทางเรือ พาผู้โดยสารที่เลือกเส้นทางและระยะเวลาเดินเรือได้ ไปทำความรู้จักกับสายน้ำ ชุมชน และผู้คนตลอดเส้นทาง
และที่สำคัญคือ อย่าลืมนำแก้วน้ำ กระบอกน้ำ หรือกล่องข้าวมาด้วยนะ มีน้ำชา กาแฟ ขนม ของกินให้เลือกซื้อตลอดเส้นทางเลย
“อยากให้การมีชีวิตของเราเป็นเรื่องบวก” เบื้องหลังชีวิตและธุรกิจ
จากจุดที่เห็นคนเรือเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง มาถึงการลงแรงและความคิด รวมความช่วยเหลือจากคนรอบข้างเปลี่ยนเรือยนต์น้ำมันให้เป็นเรือไฟฟ้า อะไรผลักดันให้เขายึดมั่นในวิถีทางการทำธุรกิจและการดำรงชีวิตที่ไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมแบบนี้ เราโยนคำถามไปตอนที่นั่งคุยกันสบายๆ ที่ท่าริมน้ำ
“ชีวิตช่วงศูนย์ถึงสิบเอ็ดปี ก็ไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งจริงจัง ใช้ชีวิตไปเรื่อยเปื่อย แต่เราสัมผัสคลอง สัมผัสธรรมชาติมาตั้งแต่เล็กๆ เพราะคุณแม่สอนให้พายเรือ” เขาเล่าย้อนไปตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต
“จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ตอนผมอายุสิบเอ็ดปี พ่อแม่ไปต่างจังหวัดแล้วเกิดอุบัติเหตุรถชน เสียชีวิตทั้งคู่ ชีวิตผมหลังจากนั้นคือความเคว้งคว้าง ว่างเปล่า คิดถึงขนาดว่าเรามีชีวิตทำไม จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร จนวันหนึ่งพบว่าเราไม่อยากฆ่าตัวตาย อยากทำประโยชน์ และในเมื่อต้องอยู่ไป ก็อยากให้การมีชีวิตอยู่ของเราเป็นเรื่องบวก ไม่ใช่อยู่ไปแล้วสร้างปัญหา”
เขาเล่าต่อว่า นอกจากความช่วยเหลือจากญาติพี่น้องรอบกายหลังสูญเสียคุณพ่อคุณแม่นั้น ศิระได้รับคำชวนจากอาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบให้ช่วยงานบำเพ็ญประโยชน์ เช่น การช่วยเหลือมูลนิธิร่วมกตัญญูเวลาเกิดอุบัติเหตุ หรือการโบกรถให้คนข้ามถนนในชุมนุมลูกเสือ นั่นทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตมีความหวัง มีความหมาย และรอคอยกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เช่นนี้อยู่เป็นประจำ
มากไปกว่าการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ศิระก็มองเห็นว่า มี ‘สรรพชีวิตรอบข้าง’ ที่อาศัยร่วมโลกใบนี้ร่วมกันอีก แต่เขาก็ยอมรับว่ายังไม่ได้ตกตะกอนแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมมากนักในช่วงมัธยมศึกษา
จนเมื่อเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงชั้นปีที่ 3 มีภาพยนตร์สารคดี ‘An Inconvenient Truth’ ที่ฉายให้เห็นความรุนแรงของวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ‘โลกร้อน’ สารคดีเรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนอีกจุดที่ช่วยตกตะกอนความคิด เปลี่ยนแปลงเป็นกิจกรรมที่อยากเห็นสังคม หรือ อย่างน้อยๆ ในมหาวิทยาลัยที่เขาอยู่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“ภาพความทรงจำที่แย่ที่สุดคือตอนกลางคืนของตลาดนัดธรรมศาสตร์รังสิต เราเห็นสภาพตลาดเวลาที่มันวายแล้วเป็นประจำเพราะชอบปั่นจักรยานตอนเย็น-กลางคืน ช่วงที่แม่ค้าเก็บของ จะมีขยะเต็มลานเลย ลมก็พัดขยะปลิวว่อน
“เราเห็นประเด็นสิ่งแวดล้อมประดังถาโถมเข้ามา มองแล้วว่าธรรมศาสตร์มีเรื่องที่ควรทำกี่เรื่อง จดมา แล้วก็นั่งวางแผนกับเพื่อนๆ เราตั้งชื่อโครงการว่า ‘Green U’ ซึ่งชื่อล้อมาจาก ‘Green University’ และ ‘Green You’ หรือ ตัวเอง จัดงานอีเวนต์ ตั้งปฏิญญา 5 ข้อให้คนมาร่วมลงชื่อ จำตัวเลขไม่ได้แล้วว่าได้เท่าไร ไม่รู้ถึงพันหรือเปล่า แต่มีอาจารย์มาลงด้วย หลังจากนั้นเราก็เสนออธิการบดี ผ่านอาจารย์ปริญญา (ปริญญา เทวานฤมิตรกุล) ฝ่ายกิจการนักศึกษา แกรับลูกแล้วก็ชงต่อ เพราะในใจก็เห็นเหมือนกัน
“น่าเสียดายว่าพอเรื่องถึงสภามหาวิทยาลัยก็เรียนจบแล้ว เลยไม่ได้ลุยต่อ แต่มารู้ข่าวว่ารุ่นน้องไปต่อกับอาจารย์ มีการตั้งกลุ่มในระดับใหญ่ขึ้นไม่ใช่แค่ในคณะ มีการเปลี่ยนหลอดไฟ ตู้กดน้ำ แจกกระติกน้ำให้นักศึกษาปีหนึ่งที่เข้าใหม่ ฯลฯ ดีใจที่เราเป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้น”
หลังจบการศึกษาแล้ว ศิระได้เข้าทำงานในมูลนิธิโลกสีเขียว หากใครเคยเห็นคู่มือสำรวจคุณภาพอากาศในเมืองอย่าง ‘นักสืบสายลม’ หรือ ‘นักสืบสายน้ำ’ เขานี่แหละเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลัง และเขายังเป็นฝ่ายรณรงค์ของมูลนิธิ ทำงานกับหน่วยงานการศึกษา ภาครัฐ ผลักดันให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีในเมือง
จนถึงวันนี้ เมื่อลาออกจากงานประจำมาทำหน้าที่เลี้ยงลูก เขาก็ไม่ได้หยุดภารกิจ ‘Green You’ ตั้งแต่เริ่มต้นจากตัวเอง ผลักดันไปถึงคนรอบข้างและชุมชนอย่างการทำระบบ AI ตรวจสอบขยะที่ไหลผ่านคลอง และทำธุรกิจเรือนำเที่ยวให้เป็นพลังงานสะอาดอย่างที่เรานั่งอยู่ใต้ร่มหลังคาเรือ ที่เบื้องบนเป็นแผงโซลาร์เซลล์นั่นเอง
ล่องไปตามคลอง ‘พื้นที่สาธารณะ’ ทางน้ำ จุดเชื่อมชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ระหว่างรับ-ส่งผู้คนข้ามฟากและสนทนากันไปด้วยนั้น ถึงตอนนี้เราพักภารกิจสารถีไว้ชั่วคราว อาจเป็นเพราะช่วงเวลาอีกครึ่งค่อนวันกว่างานแสดงช่วงดึกจะเริ่ม ผู้คนที่มาใช้บริการยังน้อยอยู่ จึงพอให้ใช้เวลาครู่หนึ่งเอ้อระเหยกันได้
ศิระออกปากชวนเรานั่ง ‘สุขสำราญ’ ไปลัดเลาะสายน้ำคลองบางหลวง ผ่านบ้านเรือนที่ผู้คนใช้ชีวิต อู่ต่อเรือเก่าแก่ ร้านอาหาร ร้านกาแฟชุมชน ผ่านวัดปากน้ำภาษีเจริญ แชะรูปองค์พระใหญ่ มุมถ่ายรูปประจำของนักท่องเที่ยวชาวไทย-เทศ รวมถึงโรงเรียนวัดนวลนรดิศ หากเป็นคอการเมืองคงจะพยักหน้า อ๋อ โรงเรียนเก่าของ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนั่นเอง
จากผู้ถูกสัมภาษณ์ ศิระเปลี่ยนบทบาทเป็นไกด์นำเที่ยว เล่าประวัติศาสตร์ และชี้จุดสำคัญๆ ของย่านว่าเขามีประสบการณ์ส่วนตัวอย่างไร หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในย่านนี้เป็นแบบไหน
ขอขิงหน่อย เรือไฟฟ้าที่เรานั่งอยู่ลำนี้ ถ้าเทียบกับเรือเครื่องยนต์น้ำมันแล้ว ไกด์นำเที่ยวไม่ต้องใช้ไมค์หรือตะโกนเสียงดังจากท้ายเรือ หรือว่าดับเครื่องยนต์เรือ เพื่อบรรยาย เล่าเรื่องราวสถานที่รายทางกระแสน้ำให้เราฟังเลย แถมบางครั้งศิระก็ใช้รีโมตบังคับพวงมาลัย และตัวเขาก็โยกย้ายมานั่งอยู่หน้าเรือกับเราอีกต่างหาก
ทั้งไกด์ เรื่องราวจากคำบอกเล่าของเขา และเรือที่เคลื่อนไปตามกระแสน้ำ ต่างฝ่ายไม่ต้องหยุดรอกันและกันเลย
ตลอดเส้นคลองบางหลวงเราเห็นพื้นที่สีเขียวรกร้างจำนวนหนึ่ง ศิระชี้ให้เห็นว่าจริงๆ ก็เป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของ มีโฉนดตามกฎหมายนั่นแหละ เพียงแต่ยังไม่ถูกนำไปใช้งานจริงๆ ได้แต่ทิ้งร้างและให้พืชและสัตว์มาใช้งาน
อยู่ในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครพอดี ศิระหยอดมาเลยว่า ถ้าผู้ว่าฯ คนไหนมีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นปอดให้คนกรุง พื้นที่ว่างเปล่าริมคลองเช่นนี้แหละ ถ้าไปตกลงกับเจ้าของที่ได้จะทำให้เปลี่ยนเป็นอีกหนึ่งสวนสาธารณะให้คนริมคลองได้เลย
นอกจากพื้นที่สาธารณะของมนุษย์แล้ว จุดหนึ่งที่ไกด์ผู้นี้ชี้ให้เราเห็นคือ พื้นที่สาธารณะของสัตว์น้อยใหญ่ นั่นคือตลิ่งริมน้ำ ศิระเล่าว่า จากเดิมนั้นบ้านสมัยก่อนเป็นตลิ่งดิน เป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำ แม้กระทั่งงูเงี้ยวเขี้ยวขอก็ใช้เป็นที่พักอาศัย แต่ปัจจุบันตลิ่งดินบริเวณนั้นแทบจะไม่หลงเหลืออยู่แล้ว ต้องสร้างตลิ่งปูนเพื่อป้องกันการกัดเซาะของพื้นที่แทน
เป็นเพราะอะไร? เราถามกลับ “คลื่นแรงไง” เขาตอบสั้นๆ และชวนเราเชื่อมโยงถึงแนวคิดเกี่ยวกับการสัญจรทางน้ำ
“ที่ผ่านมา คลองถูกมองว่าเป็นจุดเด่นที่ขยายศักยภาพกรุงเทพฯ ได้ เช่น มีปัญหาการจราจร รถติด คนอาจจะมองว่าคลองเป็นทางเลือกที่ดี เพราะไม่ติด คิดว่าคลองจะทำการสัญจรได้รวดเร็วเหมือนรถ เรื่องนี้คนเข้าใจผิดกันมาก
“ถ้าถามเล่นๆ คิดว่าความเร็วสูงสุดที่เรือวิ่งได้ในคลองอยู่ที่เท่าไร” เรานึกภาพตาม และเปรียบเทียบกับความเร็วบนท้องถนน “คำตอบที่ได้ยินประจำคือห้าสิบถึงหกสิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวเลขนี้ถ้าเป็นรถยนต์ถือว่าช้า แต่ประเทศเจริญแล้วอย่างเมืองอัมสเตอร์ดัมเขาให้ที่หกกิโลเมตรต่อชั่วโมง เชื่อว่าคงคิดว่าไม่ต่ำถึงหก”
ศิระยังบอกอีกว่า ระดับความเร็วที่วิ่งกันในเจ้าพระยา เมืองไทยนั้นอยู่ที่ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าออกไปโซนรอบนอกจะอยู่ที่ 30 แต่ตัวเลขเท่านี้ยังห่างไกลจากกฎหมายของอัมสเตอร์ดัม สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญจากความเร็วการวิ่งของเรือนี้คือ ‘การสร้างคลื่น’ ถ้าวิ่งเร็ว ก็สร้างคลื่นแรง ส่งผลต่อเรืออื่นและกัดเซาะพื้นที่ชุมชนริมคลอง
นั่นจึงเป็นที่มาที่เขาชี้ให้เราเห็นว่า ตลอดคลองบางหลวงแทบจะไม่มีบ้านไหนที่คนเหลือตลิ่งดินไว้อีกแล้ว คงไม่ต้องกล่าวถึงสิ่งมีชีวิตริมน้ำที่เคยหลากหลาย หรือแสงหิ่งห้อยที่เขาเคยสัมผัสมาในการพายเรือวัยเด็ก
ระหว่างทาง เราแวะพักที่ชุมชนวัดกำแพงบางจาก ศิระโทรศัพท์หาร้านน้ำปั่นเจ้าประจำ สั่งเสาวรสปั่นให้ผู้ร่วมการเดินทางทั้ง 6 แก้ว ส่วนตัวเขาก็ใช้แก้วเก็บความร้อนที่พกมาจากบ้านจะได้ไม่ต้องสร้างขยะพลาสติก
เราต่างยกโทรศัพท์หรือนาฬิกาข้อมือดูเวลา เมื่อพักผ่อนและแวะชมชุมชนได้สักครู่หนึ่ง จุดนั้นจึงรู้ว่าถึงเวลาที่ต้องตีเรือกลับแล้ว
‘สุขสำราญ’ ที่อยากเห็น…
เรากลับมารับผู้โดยสารข้ามฟาก ด้วยเวลานัดที่กระชั้นเข้ามาแล้ว จึงตัดสินใจสนทนาทิ้งท้ายกับเขาอีกรอบ นอกจากเบื้องหลังเรือไฟฟ้าและแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของศิระแล้ว เราอยากชวนศิระมองอนาคตยานยนต์ไฟฟ้า และนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมที่เขาอยากเห็น
เขาเริ่มต้นจากการสรุปบทเรียนเรือไฟฟ้าที่ทำได้สำเร็จว่า “ตอนที่ไม่รู้ มันยาก ตอนนี้ทำได้แล้ว ก็เลยรู้สึกว่าจริงๆ ไม่ได้ยากอะไร แต่ต้องกาดอกจันว่า ที่เราทำได้เพราะเทคโนโลยีคนอื่น เราไม่ได้เก่งขนาดสร้างมอเตอร์เอง เราแค่ไปบอกความต้องการและเขาเป็นคนสร้าง
“ถ้ามองในมุมของยานยนต์ไฟฟ้า เมืองไทยเรากำลังตกที่นั่งลำบาก เราไม่มีความรู้ (Know-how) ของตัวเอง ภาครัฐไม่ได้สนับสนุนให้เราสร้าง Know-how ขึ้นมาเอง เราพยายามชักจูงคนที่มีเทคโนโลยีเข้ามาในประเทศ แต่เราไม่ได้ปั้น จริงๆ แล้วเยาวชนเราเก่งมาก แต่ไม่มีศูนย์รวมพัฒนาเยาวชนให้ไปถึงระดับทำธุรกิจเป็นเรื่องราวได้
“คนชอบมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบาย แต่เรามองว่าจริงๆ แล้วนี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ มันเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก แน่นอนว่าปัญหาอื่นๆ ของมนุษย์ยังทิ้งไม่ได้ แต่ไม่ว่าใครจะมาพัฒนาเมืองต้องพยายามผลักดันให้การเป็นไปของเมืองส่งผลดีต่อโลกใบนี้ให้ได้”
คำตอบนี้ของเขาทำให้เห็นทั้งแนวทางการใช้ชีวิตที่ยึดถือปฏิบัติมาตลอด รวมถึงธุรกิจเรือไฟฟ้าลำนี้ ที่ศิระบอกว่าใครจะมาเหมาเรือลำนี้ไปท่องเที่ยวนั้น กำหนดเส้นทางได้หมด แล้วแต่สายน้ำหรือสภาพอากาศจะอำนวย นั่นรวมถึงระยะเวลาท่องเที่ยวด้วย
เพียงแต่เขาขออย่างเดียวว่า สิ่งที่อยากจะให้รับกลับไปคือการสัมผัสธรรมชาติ วิถีชีวิตและชุมชน โดยไม่ต้องทิ้งมลพิษไว้ เหลือแต่เพียงความ ‘สุขสำราญ’ เหมือนชื่อเรือ
— แค่นั้นก็พอแล้ว