การหยิบเอา ‘นวนิยาย’ หรือ ‘วรรณกรรม’ มาดัดแปลงเป็นละคร ซีรีส์ หรือภาพยนตร์ ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในอุตสาหกรรมวงการบันเทิง ไม่ว่าจะที่ต่างประเทศหรือในไทยเองก็ตาม
แน่นอนว่ามีหลายเรื่องที่ดังเป็นพลุแตก แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่โดนวิพากษ์วิจารณ์ จนเกิดกระแสแง่ลบตามมาทันทีหลังเริ่มฉาย หรือกระทั่งถูกตั้งข้อกังขาตั้งแต่ยังไม่เริ่มผลิตผลงานออกสู่สายตาของผู้ชมด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะความคาดหวังของแฟนวรรณกรรม ตัวเนื้อเรื่องที่เป็นปัญหา รวมไปถึงบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาก็เป็นได้
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสต่อต้านการหยิบเอานวนิยายมาทำเป็นซีรีส์อีกครั้ง หลังจากผู้จัดซีรีส์เจ้าหนึ่งได้ประกาศเตรียมสร้างซีรีส์เรื่องใหม่โดยหยิบเอานิยายเรื่อง ‘อย่าบอกป๊านะม๊า Midnight Fortune’ ที่มีบริบทเป็น ‘โอเมกาเวิร์ส (Omegaverse)’ มาทำเป็น ‘ซีรีส์วาย (BL Series)’ ทำเอาหลายคนที่ไม่รู้จักจักรวาลโอเมกาเวิร์สถึงกับงงไปตามๆ กัน ส่วนฟากคนที่รู้จักนั้นก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำสิ่งนี้เป็นสื่อกระแสหลัก
Urban Creature จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโอเมกาเวิร์ส ว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่ และทำไมการหยิบเอาแนวคิดนี้มาทำเป็นซีรีส์ที่คนแสดงถึงอาจกลายเป็นปัญหาในสังคมของเรา
จุดเริ่มต้นของโอเมกาเวิร์ส
ก่อนจะไปรู้จักกับจักรวาลโอเมกาเวิร์สในนิยายวาย เรามาปูพื้นฐานเกี่ยวกับนิยายวายกันก่อนดีกว่า
แม้ว่านิยายวายส่วนใหญ่จะใช้เรียกรวมแนวการเขียนที่มีตัวเอกของเรื่องเป็น ‘คู่ชายรักชาย’ แต่ความจริงแล้วคำว่า ‘วาย’ เป็นคำเรียกที่ย่อมาจากคำในภาษาญี่ปุ่น 2 คำ คือ ‘Yaoi’ ที่หมายถึงชายรักชาย และ ‘Yuri’ ที่ใช้เรียกหญิงรักหญิง
โดยปัจจุบันคำเรียกนี้ถูกเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘Boy’s Love’ และ ‘Girl’s Love’ แทน เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมการจำกัดความมากขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยที่รับเอาวัฒนธรรมนี้มาจากแดนปลาดิบ ก็ยังติดเรียกนิยายแนวนี้ว่านิยายวายอยู่
แต่เมื่อพล็อตนิยายวายถูกผลิตซ้ำและนำเสนอในลักษณะเดิมมากเรื่อยๆ นักเขียนและนักอ่านที่เริ่มเบื่อเนื้อหาที่ซ้ำซาก จึงเริ่มแสวงหางานเขียนรูปแบบใหม่ที่มีความน่าสนใจกว่าเดิม จึงเกิดการสร้างโลก ‘ดิสโทเปีย (Dystopia)’ ให้มีความ ‘ไซไฟ (Sci-Fi)’ และ ‘แฟนตาซี (Fantasy)’ มากขึ้น จนในที่สุดก็เกิดเป็นจักรวาลโอเมกาเวิร์ส อีกหนึ่งโลกสมมติที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นของแนวการเขียนโอเมกาเวิร์ส หรือที่บางคนเรียกว่าจักรวาล A/B/O เนื่องจากมีการแบ่งเพศด้วยชื่อเรียก อัลฟา (Alpha), เบตา (Beta) และโอเมกา (Omega) นั้น ถูกต่อยอดมาจากงานเขียน ‘แฟนฟิก (Fan Fiction)’ ของกลุ่มแฟนคลับทีวีซีรีส์สุดฮิตแนว Action-Fantasy-Horror จากฝั่งตะวันตกเรื่อง ‘Supernatural’ ในปี 2010 โดยนำเอาคาแรกเตอร์ บุคลิก นิสัยของตัวละคร มาเขียนและนำเสนอในพล็อตเรื่องที่แตกต่างไปจากเดิม หลังจากที่เห็นว่าตัวละครชายในเรื่องมีเคมีบางอย่างที่เข้ากัน จึงหยิบเอาคอนเซปต์เกี่ยวกับ ‘ฝูงหมาป่า’ ในซีรีส์มาจินตนาการต่อเป็นนิยายในแบบฉบับของแฟนคลับนั่นเอง
ในช่วงแรก โอเมกาเวิร์สเป็นเพียงไอเดียที่นักเขียนและนักวาดแต่ละคนสร้างข้อกำหนดและโลกสมมติของตัวเองขึ้นบนพื้นฐานของความเป็นฝูงหมาป่า แต่ในปัจจุบันเริ่มมีรูปแบบการนำเสนอ รวมไปถึงรายละเอียดภายในโลกสมมติที่ชัดเจนมากขึ้น ด้วยการสร้างภูมิหลังความเป็นดิสโทเปียเข้าไป
แบ่งชนชั้นกันด้วยเพศรอง
โอเมกาเวิร์สถูกสร้างให้เป็นดิสโทเปีย (สังคมที่เต็มไปด้วยความเลวร้าย) จากมโนคติที่ว่าโลกของเราได้เผชิญวิกฤตต่างๆ จนทำให้อัตราการเกิดของประชากรโลกลดลง ส่งผลให้จำนวนเพศหญิงที่มีน้อยกว่าเพศชายอยู่แล้ว ยิ่งน้อยลงกว่าเดิมเรื่อยๆ
เมื่อมนุษย์ต้องดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปให้ได้ กระบวนการทางร่างกายของมนุษย์ในโลกใบนี้จึงวิวัฒนาการตนเองให้มี ‘เพศสภาพรอง (Secondary Gender)’ ซึ่งแบ่งเป็น 3 เพศ ได้แก่ อัลฟา เบตา และโอเมกา เพื่อเป็นการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นบนโลกสมมติให้เพศชายสามารถท้องได้ไม่ต่างกับเพศหญิง อีกทั้งเพศสภาพรองยังเป็นตัวกำหนดบทบาททางสังคมของตัวละคร โดยแบ่งลำดับชนชั้นได้ดังนี้
- อัลฟา (Alpha) : กลุ่มคนชนชั้นนำ มีสัดส่วนเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด เปรียบเสมือนจ่าฝูงของหมาป่า ที่มีความโดดเด่นในทุกๆ ด้าน เป็นตัวละครหลักฝ่ายรุกในนิยายโอเมกาเวิร์ส ไม่ว่าชายหรือหญิงที่เป็นอัลฟาก็สามารถทำให้ผู้อื่นตั้งครรภ์ได้
- เบตา (Beta) : กลุ่มชนชั้นกลางหรือคนธรรมดาทั่วไป มีสัดส่วนมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ในนิยายคนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยมีบทบาทในการดำเนินเรื่องเท่าไหร่นัก
- โอเมกา (Omega) : กลุ่มชนชั้นล่างสุด มีสัดส่วนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด มีลักษณะที่อ่อนแอ บอบบาง ไม่ว่าเพศชายหรือหญิงก็สามารถตั้งครรภ์ได้หากมีเพศสัมพันธ์กับอัลฟา โอเมกาจึงถูกวางให้เป็นตัวละครหลักฝ่ายรับในแต่ละเรื่องเสมอ
บทบาทของเพศสภาพรองทำให้เห็นว่า โลกโอเมกาเวิร์สเป็นการฉายภาพสังคมที่เต็มไปด้วยลำดับชั้น การกดขี่ และอารมณ์ทางเพศที่รุนแรง และมีหลายครั้งที่การมีเพศสัมพันธ์ในเรื่องเกิดขึ้นจากสัญชาตญาณดิบ ไม่ได้รับการยินยอมจากฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่าอย่างโอเมกา
ที่เป็นเช่นนี้เพราะโลกของโอเมกาเวิร์สสร้างให้ตัวละครสามารถเข้าสู่ห้วงอารมณ์ทางเพศที่รุนแรงได้ง่ายๆ ผ่านฟีโรโมนที่อัลฟาและโอเมกาปล่อยออกมา
โดยอัลฟามักจะปล่อยฟีโรโมนเพื่อข่มอัลฟาคนอื่น และดึงดูดโอเมกาเมื่อต้องการจับคู่ เรียกว่าอาการ ‘รัท (Rut)’ คล้ายการติดสัดของหมาป่าที่สมองจะถูกควบคุมด้วยสัญชาตญาณดิบ ขาดสติ ไม่สามารถควบคุมตัวเอง และมีความต้องการที่จะผสมพันธุ์
ในขณะที่การปล่อยฟีโรโมนของโอเมกาจะเกิดขึ้นอย่างไม่สามารถควบคุมสัญชาตญาณตนเองได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศของอัลฟา เรียกว่าอาการ ‘ฮีต (Heat)’
อาจพูดได้ว่าอาการรัทและฮีต คือสิ่งที่ทำให้นิยายประเภทโอเมกาเวิร์สดำเนินเรื่องไปได้ ผ่านบทบาทของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ
ตอกย้ำ ผลิตซ้ำ สร้างความเข้าใจผิด
แม้ว่าโลกสมมติโอเมกาเวิร์สจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยในการเล่าเรื่องแนวแฟนตาซีให้สนุกและมีอรรถรสขึ้น แต่เมื่อถูกผลิตซ้ำจนได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้แนวคิดนี้ที่มีความ Problematic หลายอย่าง เช่น การใช้ความรุนแรงในการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอม การผูกมัดแสดงความเป็นเจ้าของ ฯลฯ ถูกส่งต่อสู่ผู้อ่านโดยไม่รู้ตัวด้วยเช่นเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ต้องใช้ความรุนแรง (Abusive Relationship) ที่เกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติในสังคมที่มีระบบแบ่งชนชั้น รวมถึงการกดทับที่โอเมกาตัวเอกต้องเผชิญบ่อยครั้ง และไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหา
การรัทและฮีตยังถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างของการมีเพศสัมพันธ์แบบ Non-consensual Sex หรือ Dubious-consensual Sex จากการ Manipulate ของตัวละครฝั่งอัลฟา ซึ่งการกระทำนี้ไม่ต่างอะไรกับละครตบจูบในโทรทัศน์ ที่ทำให้ผู้อ่านมีมุมมองต่อความรักที่ผิดแผกไปจากเดิม เชื่อว่าการทำร้ายร่างกาย การข่มขืน หรือการล่วงละเมิดทางเพศ เกิดขึ้นเพราะความรัก ส่งผลให้เมื่อเกิดการทำร้ายร่างกายภายในครอบครัว หลายกรณีจึงจบด้วยการยอมความ หรืออ้างว่าทำเช่นนั้นเพราะความรักอยู่เสมอ
นอกจากนี้ โลกของโอเมกาเวิร์สยังมีการกระทำที่เรียกว่า ‘การผูกพันธะ (Bond)’ ด้วยการกัดหลังคอ เป็นการแสดงความเป็นเจ้าของและอำนาจเหนือโอเมกาของอัลฟา เพื่อให้อีกฝ่ายไม่สามารถมีความสัมพันธ์ทางกายกับคนอื่นที่ไม่ใช่ตนได้ เป็นการผูกมัดอีกฝ่ายไว้ด้วยแนวคิด ‘การรักเดียวใจเดียว (Monogamy)’ ในขณะที่อัลฟาผู้ทำพันธะยังคงสามารถมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ไม่จำกัด
อีกทั้งการที่โลกของโอเมกาเวิร์สถูกสร้างขึ้นโดยกำหนดให้โอเมกาเพศชายสามารถท้องได้ (Male Pregnancy) ทำให้เนื้อเรื่องส่วนใหญ่มักรวมถึงการตั้งครรภ์และการมีลูก ก่อให้เกิดค่านิยมและการสร้างภาพจำว่าครอบครัวที่สมบูรณ์จำเป็นต้องมีพ่อ แม่ และลูกในสายเลือด ทั้งที่ในความเป็นจริงการมีบุตรสามารถทำได้ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การอุปการะบุตรบุญธรรม การอุ้มบุญ หรือแม้กระทั่งการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็นับเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ โลกโอเมกาเวิร์สยังพยายามอ้างอิงทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ทำให้มีผู้อ่านเข้าใจผิดว่าเพศชายสามารถท้องได้จริง จนเกิดเป็นวิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience) ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้ที่เป็นเพศชายโดยกำเนิดไม่สามารถตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรได้ ถือเป็นการส่งต่อชุดความเชื่อผิดๆ ไปยังสังคมในวงกว้างอีกด้วย
เมื่อตัวตนถูกลบและกดทับ ผ่านรสนิยมความชอบ
ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน โลกโอเมกาเวิร์สล้วนถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อ่านที่มีรสนิยมชื่นชอบความสัมพันธ์ความรักแบบเพศเดียวกัน ซึ่งมักเกิดขึ้นจากการจินตนาการของผู้เขียนถึงความรักแบบชายรักชายในมุมมองที่ตนเองมองเห็นและเข้าใจไปเอง ทำให้ไม่มีความรู้ความเข้าใจในกลุ่มคนรักต่างเพศอย่าง LGBTQIA+ เท่าที่ควร ดังนั้น จึงไม่แปลกที่หากเปลี่ยนตัวละครฝ่ายรับจากชายเป็นหญิง เรื่องราวก็ยังดำเนินต่อไปได้โดยไม่รู้สึกผิดที่ผิดทางแต่อย่างใด
อีกทั้งโลกสมมตินี้ยังแสดงภาพของสังคมที่ถูกกรอบของปิตาธิปไตยครอบไว้อย่างชัดเจน ผ่านการสร้างให้อัลฟามีการแสดงออกที่เข้มแข็ง ฉลาด และเป็นผู้นำ เพื่อเป็นตัวแทนของเพศชาย และสร้างให้โอเมกามีความอ่อนแอ บอบบาง อารมณ์อ่อนไหว และมีรังไข่สำหรับการปฏิสนธิตัวอ่อน เพื่อเป็นตัวแทนของเพศหญิง
แนวคิดนี้ถือเป็นการลบตัวตนของคนข้ามเพศ (Transgender) ออกไปจากการรับรู้ของคนในสังคม เพราะในโลกของโอเมกาเวิร์สนั้นไม่เคยมีการเอ่ยหรือยอมรับตัวตนของคนข้ามเพศให้มีอยู่ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็น หญิงข้ามเพศ (Trans woman) หรือ ชายข้ามเพศ (Trans man) จึงอาจเป็นการสอดแทรกค่านิยม Transphobic หรือความกลัวและรังเกียจคนข้ามเพศให้กับผู้อ่านผ่านงานเขียนโดยไม่รู้ตัว
สื่อรุ่นใหม่ต้องใส่ใจและรับผิดชอบสังคม
การพยายามขยายเรื่องราวโอเมกาเวิร์สจากเดิมที่เป็นเพียงนิยายวายขายดีในโลกออนไลน์อย่างเรื่อง ‘อย่าบอกป๊านะม๊า Midnight Fortune’ ให้กลายมาเป็นภาพเคลื่อนไหวสู่สายตาประชาชน โดยโปรโมตว่าเป็นซีรีส์วายเรื่องแรกของไทยและของโลก ที่จะพาผู้ชมก้าวเข้าสู่โอเมกาเวิร์ส ทำให้ผู้คนบนโลกออนไลน์สนใจและติดตามทิศทางของซีรีส์เรื่องนี้กันยกใหญ่
บ้างออกมาสนับสนุนเพราะอยากเห็นนิยายที่ตัวเองเคยอ่านถูกสร้างเป็นซีรีส์ที่มีคนแสดงจริง ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายกลุ่มที่ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่จะตามมา เพราะหากมีการฉายซีรีส์เรื่องนี้จริงในอนาคต แก่นเรื่องที่มีความ Problematic ในตัวอาจทำให้เกิดความสับสนระหว่างเรื่องแต่งและความเป็นจริง รวมไปถึงการสร้างค่านิยมและแนวคิดผิดๆ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น
เพราะถึงแม้ว่าโอเมกาเวิร์สจะเป็นโลกสมมติที่เกิดขึ้นจากความแฟนตาซี แต่การหยิบเอามาทำซีรีส์โดยใช้คนแสดงจริง อาจส่งผลให้การรับรู้ข้อเท็จจริงในเรื่องเพศศึกษาถูกบิดเบือน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยเรียน เนื่องจากภาพเคลื่อนไหวมีโอกาสทำให้เส้นแบ่งระหว่างแฟนตาซีและเรื่องจริงคลุมเครือมากกว่าตัวอักษร จึงเกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และการส่งต่อชุดข้อมูลที่ผิดๆ ออกไป
“การผลิตงานสื่อนั้นควรจะต้องรับผิดชอบต่อสังคม ถึงแม้ว่าผลงานนั้นๆ อาจมีค่าแค่เพื่อความบันเทิงไม่จำเป็นต้องฉุกคิดหรือตีความใดๆ ก็ตาม แต่อย่างไรสื่อความบันเทิงก็มีอิทธิพลไม่น้อยต่อสังคม การใช้ชีวิต และต่อแนวคิดของมนุษย์”
‘คอปเตอร์-ภานุวัฒน์ เกิดทองทวี’ นักร้องและนักแสดงชาวไทยผู้แจ้งเกิดจากซีรีส์วาย ได้แสดงความคิดเห็นในทวิตเตอร์ส่วนตัว ต่อกรณีการหยิบเอานิยายบริบทโอเมกาเวิร์สมาสร้างเป็นซีรีส์ หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีผู้คนสอบถามถึงกรณีดังกล่าวในไลฟ์สดบนแอ็กเคานต์ TikTok ของเขา (อ่านความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/CTR2DAB/status/1576811128562515968)
และกระแสถกเถียงอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์นี่เอง ที่ทำให้ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ทางนักเขียนและผู้จัดซีรีส์ได้ออกมาประกาศยกเลิกการทำซีรีส์เรื่องนี้อย่างเป็นทางการผ่านทางเพจเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ หลังจากการประชุมและพิจารณาถึงกระแสทางสังคมที่เกิดขึ้น
Sources :
Abo-th | t.ly/uyYD
Campus Magazine | t.ly/_q2a
Exotic Quixotic | t.ly/Ye-L
Sourwolf | t.ly/IhDn