รีวิวหนังสือ ‘โอลด์รอยัลลิสต์ดาย’ ของ วาด รวี - Urban Creature

1

“ประวัติศาสตร์การปกครองของไทยนี้ อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดนับแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของไทยมีพระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งเพื่อรักษาความอยู่รอดของบ้านเมืองและประชาชน”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลประกอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่ตัดสินถ้อยคำปราศรัย และข้อเสนอในการชุมนุม ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ว่า “มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ส่วนหนึ่งของคำตัดสินดังกล่าวแสดงภาพขัดแย้งอย่างมากกับคำปราศรัย ข้อความที่ระบุในป้ายการชุมนุม หรือแม้แต่กรอบโปรไฟล์เฟซบุ๊กสีขาว เป็นลายมือที่ว่า ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน’ 

การรับรู้และนำเสนอ ‘ความเป็นจริง’ ที่ต่างกันสุดขั้วนี้ทำให้เกิดความงุนงง (แต่ถ้าได้เห็นการบิดเบือนข้อมูลของรัฐนี้มาตลอดๆ จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่างงสักเท่าไหร่) ว่าสุดท้ายแล้วอะไรคือความเป็นจริง อำนาจสูงสุดของการปกครองประเทศ หรืออำนาจอธิปไตยที่บอกว่าใครคือผู้มีส่วนร่วมด้านการกำหนดชะตาชีวิตของผู้คนในสังคมบ้าง ท้ายที่สุดแล้วอำนาจแท้จริงอยู่ที่ตรงไหน?

Old-Royalists-Die-Cover

หนังสือ ‘โอลด์รอยัลลิสต์ดาย’ โดย วาด รวี นามปากกาของ รวี สิริอิสสระนันท์ กวี นักเขียน นักแปล นักเคลื่อนไหว และผู้มีประสบการณ์ในวงการสิ่งพิมพ์ที่เคยเปิด ‘สำนักหนังสือใต้ดิน’ ในช่วงต้นทศวรรษ 2540 และมาก่อตั้งสำนักพิมพ์ Shine (ที่พิมพ์หนังสือเล่มนี้) ได้ชวนผู้คนมาร่วมหาคำตอบอย่างละเอียดลออต่อคำถามว่า ใครคือผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศนี้กันแน่?

หนังสือเริ่มพาเราย้อนกลับไปตั้งแต่กรณีการผลักดันพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ว่ารัฐบาลนี้มีดง มีดีล อะไรกับเขาไหมนั่นล่ะ) และขยับไปที่การมองกลุ่มก้อนอำนาจลายพราง 3 ป. (ป. ป้อม-ประวิตร วงษ์สุวรรณ, ป. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ป๊อก-อนุพงษ์ เผ่าจินดา) ที่กุมอำนาจสำคัญในรัฐบาลปัจจุบัน และย้อนกลับมามองที่ผู้กุมขั้วอำนาจเก่าอย่าง ‘เปรม ติณสูลานนท์’ ไปจนถึงการถกเถียงวิเคราะห์ในรายละเอียดของขบวนการเสื้อแดง-เหลือง พระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่เปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงกฎหมายและทางปฏิบัติ และจบลงด้วยความพยายามเสนอรายละเอียดแวดล้อมความเป็นจริงของ ‘ระบอบที่ไม่มีชื่อ’ (แม้จะไม่มีชื่อ แต่วาด รวี มีข้อเสนอที่เด่นชัดและได้แง้มกับเราในชื่อเต็มของหนังสือว่า “Old Soldiers Never Die. Old Royalists Die.” ในรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น อยากชวนให้อ่านและหาคำตอบกันด้วยตัวเอง)

ในบริบทของประเทศไทย ดังคำนำเสนอของ ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ ได้ชี้ให้เห็นว่า หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของสายธารวรรณกรรมที่พยายามหาคำอธิบายให้ ‘ความเป็นจริง’ ของการเมืองไทย หากจะกล่าวชื่อนักวิชาการจำนวนหนึ่งก็จะมีทั้งชื่อของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ธงชัย วินิจจะกูล, เกษียร เตชะพีระ, เออเจนี เมริโอ, พอล แชมเบอร์ส และณัฐพล ใจจริง ฯลฯ 

Old-Royalists-Die-WebCover2

ถ้าไม่เกินความเป็นจริงจนเกินไป เราอยากใช้หนังสือเล่มนี้เพื่อเปรียบเทียบกับหนึ่งในกระแสวรรณกรรมของต่างประเทศ (หรืออย่างน้อยๆ คือวรรณกรรมในกลุ่มประเทศตะวันตก) เพื่อพยายามหาคำตอบต่อคำถามคล้ายคลึงกันนี้ว่า ‘ความเป็นจริง’ ของโลกใบนี้ คืออะไรกันแน่ 

หนึ่งในกระแสวรรณกรรมเช่นนี้ คืองานของมาร์ค ฟิชเชอร์ (Mark Fisher) นักปรัชญาฝ่ายซ้ายผู้ล่วงลับ และพูดโดยภาพรวม งานหลายชิ้นของฟิชเชอร์ได้ตีแผ่ ‘ความเป็นจริง’ และนำเสนอมันอย่างกลับหัวกลับหางให้เห็นเนื้อแท้อีกด้านที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในระบบสังคม ยกตัวอย่างเช่น ข้อเสนอของฟิชเชอร์ที่ว่าวัฒนธรรมดนตรีและภาพยนตร์ร่วมสมัยในศตวรรษที่ 21 นั้นไม่มีองค์ประกอบอะไรใหม่ หรือแปลกตาไปจากเดิมเลย ก็เหมือน ‘เราอยู่ในศตวรรษที่ 20 แล้วที่มีเพิ่มเติมมาก็แค่เทคโนโลยีจอ 4K หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเท่านั้นเอง’

ฟิชเชอร์ได้นำเสนอคำว่า ‘สัจนิยมของทุน’ เพื่ออธิบายหน้าตา ‘ความเป็นจริง’ ของระบบการเมืองเศรษฐกิจโลกไว้ในหนังสือชื่อเดียวกันว่า ‘Capitalist Realism’ ที่ตีพิมพ์ในปี 2009

ใจความสำคัญของหนังสือ ‘สัจนิยมของทุน’ คือ การบอกว่าไม่มีระบบเศรษฐกิจสังคมใดที่เป็นไปได้เลย นอกเหนือจากทุนนิยม หมายความว่าทุนนิยมนี่แหละที่เป็นรูปแบบเดียวที่ ‘เป็นจริง’ การจินตนาการถึงรูปแบบอื่นๆ นั้นอุดมคติและเพ้อฝัน ไม่ Realist หรือยึดโยงอยู่กับความเป็นจริง

เหมือนกับประโยควรรคทองของมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1979 – 1990 ว่า ‘There is no alternative. (TINA)’ – มันไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้ว (นอกเหนือจากทุนนิยมในรูปแบบกลไกตลาด ผ่านการเผยแพร่ระบอบโลกาภิวัตน์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา)

และลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของ ‘สัจนิยมของทุน’ ตามที่ฟิชเชอร์เสนอนี้คือ ‘การอนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์ได้’ นั่นคือ มันอนุญาตให้กล่าวหา หรือวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมในแง่มุมไหนก็ได้ ตั้งแต่บอกว่าทุนนิยมต้องคิดถึงผลเสียด้านสิ่งแวดล้อมด้วยนะ โลกจะแตกตายกันอยู่แล้ว! หรือทุนนิยมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมได้มากมาย หรือจะบอกว่าทุนนิยมไร้คุณธรรมบ้างล่ะ ดีเบตเหล่านี้อยู่ในกรอบที่จะทำยังไงก็ได้ให้ทุนนิยมทำงานได้ดีในมุมมองของแต่ละคน แต่สิ่งที่แน่นอนคือทุนนิยมเป็นสัจธรรมที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ (เพราะตัวอย่างในศตวรรษที่ 20 อย่างสหภาพโซเวียตหรือที่อื่นๆ มันล้มเหลวสิ้นดี!)

3

แต่ถ้ามาลองเปรียบเทียบประเด็นนี้กับความเป็นจริง หรือ ‘สัจนิยม’ ของสังคมการเมืองไทยบ้างล่ะ?

สัจนิยมการเมืองไทยไม่อนุญาตให้เกิดเรื่องเช่นนั้นอย่างแน่นอน หากมองบริบทการเมืองไทยในช่วงทศวรรษมานี้ การวิพากษ์วิจารณ์ถูกตอบโต้กลับด้วยความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการปกครองภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กฎหมายอาญามาตรา 116 ในข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ หรือมาตรา 112 ที่บังคับใช้ว่อนเป็นว่าเล่นในช่วง 2 ปีมานี้ ไปจนถึงการอุ้มหาย หรือการหายตัวไปอย่างไร้ข้อมูลอันกระจ่างของนักเคลื่อนไหวชาวไทย หรือผู้ลี้ภัยไปต่างแดน

Old-Royalists-Die-112

ทว่าจะบอกอีกแบบก็ได้ ดังที่ ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ นักเขียนรางวัลศรีบูรพาที่ตอนนี้ลี้ภัยจาก ‘สัจนิยม’ เมืองไทย หนีเอาชีวิตรอดที่ลาวและตอนนี้อาศัยที่ฝรั่งเศสได้อธิบายในหนังสือ The King and I ไว้ว่า “เพราะเราเป็นแค่คนรับใช้ในละครเวทีที่ทำตามปรารถนาของคนดู คือนินทาเจ้านายไปวันๆ”

คำถามคือใครเป็นคนรับใช้ ใครเป็นคนดู แล้วใครเป็นเจ้านาย?

คำถามเดียวกันกับข้างบนว่า สัจนิยมของการเมืองไทยคืออะไร และเป็นแบบไหน?

หากจะบอกว่าเราเคย ‘ตาสว่าง ปากกระซิบ’ เวลาพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยเมื่อช่วงทศวรรษก่อนหน้า จากสภาพสังคมตอนนี้ จะบอกว่า ‘ตาสว่าง ปากร้องตะโกน’ ก็คงไม่ผิดเพี้ยนไปนัก 

โอลด์รอยัลลิสต์ดายของ วาด รวีเล่มนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการแหกปากร้องตะโกน ไม่ว่าจะด้วยน้ำเสียงแบบไหนก็ตาม จะใช้โวหารแบบใดเพื่อเปรียบเทียบ หรือมีข้อมูลมากมายมาสนับสนุนการวิเคราะห์สภาพทางสังคมและการเมืองไทย แต่ในงานเขียนชิ้นมีข้อความสั้นๆ ที่บอกเราอยู่ตลอดว่า

“อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน”

Old-Royalists-Die-Inside

ชี้เป้าอ่านต่อ :

  • อ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเต็มๆ ได้ที่: https://ilaw.or.th/node/6010
  • อ่านข้อเขียนของมาร์ค ฟิชเชอร์ในบล็อกส่วนตัวที่เขาเขียนขณะยังมีชีวิตได้ที่: https://k-punk.org/
  • ดูการวิเคราะห์แนวคิดของมาร์ค ฟิชเชอร์ในโลกภาษาไทยเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือ ‘เมื่อโลกซึมเศร้า’ โดยสรวิศ ชัยนาม (สำนักพิมพ์ Illuminations Editions) 
  • อ่านงานเขียนล่าสุดของวัฒน์ วรรลยางกูร และคนอื่นๆ ได้ในหนังสือรวมข้อเขียน ‘The King and I’ (สำนักพิมพ์สมมติ)
  • อ่านบทสัมภาษณ์ ‘กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์’ ผู้ศึกษามวลชนในขบวนการเสื้อแดงในหัวข้อ ‘ตาสว่างปากกระซิบ’ ได้ที่: https://www.the101.world/khorapin-phuaphansawat-interview

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.