ฟ้ามืด ฝนตกหยิมๆ ส่งสัญญาณเป็นรอยต่อสู่ฤดูหนาว วันเวลาเดินทางอย่างรวดเร็วและบางขณะก็ช้าเหลือทน แต่ก็ผ่านมาถึงโค้งสุดท้ายของปี 2565 ในจำนวนประชากรผู้อยู่อาศัยในประเทศไทยเกือบ 70 ล้านคน เมื่อปีที่แล้ว สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเผยสถิติว่า ประชากรแฝงที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในภูมิลำเนามีถึงราว 800,000 กว่าคน
ในแปดแสนกว่าคนนั้น มีคนที่เข้ามาทำงานตอนกลางวันแบบหาเช้ากินค่ำในกรุงเทพฯ คิดเป็น 49.0 เปอร์เซ็นต์ คนที่เข้ามาทำงานกลางคืน 32.7 เปอร์เซ็นต์ และคนที่เข้ามาเรียนหนังสืออีก 49.5 เปอร์เซ็นต์ เมืองหลวงแห่งนี้จึงเป็นเมืองที่มีประชากรแฝงเยอะที่สุดในประเทศ และครองอันดับแทบตลอดกาล
พวกเขาต่างเข้ามาที่นี่เพราะหวังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่กรุงเทพฯ ทำให้ความฝันของแต่ละคนเป็นจริงหรือไม่ หรือกลับให้แต่ฝันลมๆ แล้งๆ ต่อไป ‘Urban Creature’ ชวนไปฟังเศษส่วนเรื่องราวจากปากคำพวกเขากัน
ป้าเขียว อายุ 54 ปี
อาชีพ : ขายหมูปิ้ง
ภูมิลำเนา : ร้อยเอ็ด
“เมื่อก่อนทำงานโรงงาน แล้วมาทำงานก่อสร้าง ช่วงที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ออก ไม่มีงานเลย ทีนี้ก็ฝึกวิชาหมูปิ้งขึ้นมาเอง ทีแรกไม่อยากมาอยู่กรุงเทพฯ หรอก แต่พอขายได้เรื่อยๆ มันก็ไม่อยากไปไหนแล้ว กรุงเทพฯ มีคนมีงานเยอะกว่าตามบ้านนอก อยู่แถวบ้านนอกเราไม่ได้อะไร เพราะถ้าต่างจังหวัดเจริญคนคงไม่เข้ามาที่นี่กัน
“เราขายหมูปิ้งส่งลูกจนเรียนจบ ขายทุกวัน บางวันเหนื่อยก็หยุดตามใจเรา ไม่รู้จะไปทำอะไรแล้ว อายุปูนนี้ไม่มีใครจ้าง เราหากินก็ได้กิน ไม่หากินก็ไม่มีกิน เหลือน้อยก็ช่างหัวมัน ดีกว่าไม่มีอะไรทำ อีกสักสองสามปี จะกลับบ้านไปอยู่กับลูกเต้าแล้ว”
น้าเชียร อายุ 46 ปี
อาชีพ : คนขายมีด
ภูมิลำเนา : ศรีสะเกษ
“ทำงานมาหลายอย่าง ตั้งแต่ลงเรือไปเหนือล่องใต้ สุดท้ายได้มาขายมีด รับมีดจากอยุธยามาขายที่กรุงเทพฯ ทุกวันนี้อยู่ได้ด้วยอาชีพนี้ วันที่เคยขายได้สูงสุดคือสิบสี่ถึงสิบห้าเล่ม บางวันได้ร้อยกว่าบาท ส่วนวันที่ขายไม่ได้ต้องเดินตัวเปล่ากลับบ้านการค้าขายมันคาดเดาไม่ถูก ส่วนมากกลุ่มลูกค้าเป็นคนตามหมู่บ้านและสลัม ประเภทมีดที่ขายได้เยอะคือมีดทำครัว แต่ก็มีกลุ่มวัยรุ่นมาหามีดเหน็บเอว มีดสปาร์ตาบ้าง ตั้งแต่ขายมายังไม่มีตีกัน แต่ถ้ามีต้องรีบหนี เพราะเงินก็ไม่ได้ แถมมันจะเอามีดไปหมดด้วย (หัวเราะ)
“ตอนนี้มีลูกสาวเรียนอยู่ ม.3 ส่งเขาเรียนถึงปริญญาตรีให้ได้แค่นั้น ถึงเวลาเราจะเลิกขายกลับไปอยู่บ้าน”
สุพรรษา อายุ 35 ปี
อาชีพ : กระเป๋าเรือ
ภูมิลำเนา : ยโสธร
“กรุงเทพฯ ก็เหมือนเดิม คนเยอะ รถติด เราเข้ามาทำงานที่นี่ตั้งแต่จบ ม.3 อายุสิบห้า ไปทำงานโรงงานคลังสินค้าและขายโดนัทอยู่ตลาดนัดแถวเพชรเกษม ต่อมาญาติที่เป็นคนขับเรือก็ชวนมาทำงานนี้ ปัจจุบันลำบากกว่าสมัยก่อนที่เพิ่งเข้ามาอยู่ เมื่อก่อนเคยทำงานใช้เงินได้ถึงสิ้นเดือน แต่เดี๋ยวนี้อาทิตย์หนึ่งก็แทบไม่พอใช้ กระเป๋าเรือเบิกเงินกินข้าวได้วันละหนึ่งร้อยบาท ตอนนี้กินไม่พอนะ อย่างน้อยวันหนึ่งต้องร้อยสี่สิบ กินสามมื้อ เช้า กลางวัน เย็น ไม่รวมน้ำ กาแฟ วันไหนร้อนต้องมีน้ำหวานไม่ก็เครื่องดื่มชูกำลังช่วยเพิ่มพลัง เราว่าข้าวของแพงขึ้นมาก ต้นทุนต้องสูงถึงจะอยู่กรุงเทพฯ ได้
“ตอนนี้มีลูกสองคน คนหนึ่งสิบขวบ คนหนึ่งสิบเจ็ดขวบ คิดว่าคงต้องเป็นกระเป๋าเรืออีกนาน เพราะต้องส่งลูกเรียนให้จบ”
มะเดี่ยว อายุ 30 ปี
อาชีพ : ช่างทำกุญแจ
ภูมิลำเนา : นครศรีธรรมราช
“เราเรียนจบสถาปัตย์ เทคโนฯ ราชมงคลฯ ที่สงขลา บ้านให้เรียนสายนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วอยากอยู่กับดนตรี อยากอยู่กับงานศิลปะ ใช้ชีวิตอิสระเหมือนในวรรณกรรม เราเคยทำงานเขียนแบบที่ภูเก็ต และหยุดออกไปเป็นช่างสัก ทำได้เกือบๆ สองปี เจอเศรษฐกิจแย่กับโควิด เลยเข้ามาทำงานเขียนแบบในกรุงเทพฯ แต่อยู่ได้แป๊บเดียวก็กลับบ้าน เพราะอึดอัด เบื่อความวุ่นวาย กลับไปบ้านตอนแรกคิดว่าน่าจะทำสวนได้ แต่สวนมังคุดที่บ้านออกผลแค่ปีละครั้ง ไม่เหมือนยางพาราหรือปาล์มที่ออกผลทั้งปี
“พอไม่มีผลผลิตก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อ เลยไปทำร้านข้าวผัดขายหน้าโรงเรียน ไปขายเบอร์เกอร์ที่หัวหินในช่วงโควิดระบาด แต่ทำไปแล้วไม่เห็นกำไร ต้องหาทางอื่นอีก จนวันหนึ่งพี่ที่เป็นช่างกุญแจที่รู้จักกันมาตั้งแต่เด็กๆ แกเห็นเราหน้าดำคร่ำเครียดก็ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ และชวนไปเป็นช่างประจำร้าน โดยช่วยสอนวิชาทำกุญแจให้
“กลับมาในเมืองรอบนี้เอาจริงเรายังวางแผนชีวิตและคิดอะไรไม่ได้มาก แต่ก็มีความรับผิดชอบตรงนี้อยู่ ในใจลึกๆ อยากกลับบ้านมาก ที่ออกมาก็หวังว่าถ้ามีวิชาติดตัว คงกลับไปสร้างอะไรเป็นของตัวเองที่บ้านได้ ความฝันของเราคืออยากมีบ้านที่เป็นที่ทำงานได้ด้วย ตื่นมาทำงานในบ้านไม่อยากไปไหน แน่นอนว่าในจินตนาการทุกอย่างเป็นเรื่องง่าย แต่พอทำจริงมันไม่เคยง่าย”
วัชรินทร์ อายุ 26 ปี
อาชีพ : พนักงานก่อสร้าง
ภูมิลำเนา : สมุทรสาคร
“ทำงานก่อสร้างในโรงงานอุตสาหกรรม ทำงานแปดชั่วโมง จันทร์ถึงเสาร์ หยุดวันอาทิตย์ ทำงานมาตั้งแต่อายุสิบแปดจนถึงอายุยี่สิบหก ค่าแรงขั้นต่ำตอนนี้วันละสามร้อยห้าสิบสี่บาท อาจเพราะว่ารายรับไม่พอรายจ่าย เลยไม่มีระบบการจัดการการเงิน พอเงินออกก็หมดไปกับการซื้อสิ่งของที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
“ไม่รู้ว่าจะทำอะไรที่จะได้เงินมากขึ้น เพราะถ้าขยับไปทำอย่างอื่น ก็จะเป๋ไปอีกพักหนึ่ง มันไม่มีความกล้าที่ทำให้รู้สึกอยากไปใช้ชีวิตแบบอื่น ยังไม่อยากไปเสี่ยง เงินเก็บก็ไม่มีพอไปตั้งตัวใหม่ เป็นฝันเล็กๆ ที่พยายามหาทางออกให้ชีวิต อยากไปเจอชีวิตแบบอื่นอยู่ตลอด แต่แค่ตอนนี้ยังคิดไปไม่ถึง ส่วนตัวยังหาไม่เจอว่าชอบหรือรักในการทำสิ่งใด ไม่รู้จะไปหาอะไรจากข้างนอก มันเคว้งๆ ไปหมด”
วรกร อายุ 23 ปี
อาชีพ : พนักงานบริการ
ภูมิลำเนา : ร้อยเอ็ด
“เราชอบการแสดงตั้งแต่เด็ก ชอบดูละคร ดูการ์ตูน วาดรูป คิดว่าเรามีความสามารถด้านนี้ จบ ม.6 ก็ตั้งใจอยากเรียนสายนิเทศฯ แต่เข้าไม่ได้เลยเปลี่ยนมาเรียนมนุษยศาสตร์ เอกจีน ที่รามคำแหง ระหว่างเรียนก็ทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่ร้านอาหารสเปน และเปลี่ยนไปสมัครทำงานเป็นบาริสต้ารายชั่วโมง เพื่อจะเอาเวลาที่เหลือมาเรียน ต้องจ่ายค่าห้อง ค่าเทอม เหนื่อยมาก เลิกงานเที่ยงคืน กว่าจะได้นอนก็ตีหนึ่ง ตื่นหกโมง เรียนแปดโมง พยายามทำงานเพื่อหล่อเลี้ยงตัวเอง
“แต่พอต้องทำงานเต็มเวลาก็ทำให้ไม่มีเวลาเรียนอีก คิดว่าจะไม่กลับไปเรียนแล้ว เพราะมีคอร์สสอนออนไลน์ให้เลือกเรียน ปัจจุบันชีวิตลงตัวกว่าเดิมเพราะเพิ่งได้มาทำงานที่ใหม่เป็นบาริสต้าในคาเฟ่ ได้เงินเดือนเยอะขึ้น ได้ทำอะไรมากขึ้นกว่าที่ทำงานเก่า ยังมีหวังกับการใช้ชีวิตต่อไป
“เราคิดว่าอยู่กรุงเทพฯ ตอบโจทย์ในเรื่องความสะดวกสบาย แม้เงินเดือนไม่บาลานซ์กับค่าครองชีพก็ตาม เป้าหมายอีกสองปีข้างหน้าคืออยากหลุดจากโคจรของงานบริการ อยากเดินทางสายอาร์ต อยากทำในสิ่งที่ชอบซะที”