สำหรับหลายๆ คน การเริ่มต้นปีใหม่อาจเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง อย่างการเลิกนิสัยแย่ๆ หรือตั้งเป้าหมายที่จะเป็นคนที่ดีขึ้น แต่การใช้ชีวิตของเรานั้นส่งทั้งผลดีและผลร้ายให้กับโลก ในแบบที่เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ซึ่งผลลัพธ์จากสิ่งที่เรากระทำลงไปย่อมสะท้อนกลับมาเสมอ ดังนั้นเราจึงชวนทุกคนมาตั้ง New Year’s Resolution ด้วยการคำนึงถึงโลกและรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากขึ้น เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตาม 6 แนวทางนี้ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและสังคมที่ดีขึ้น
1. ‘ร้านรีฟิล’ ช่วยโลกลดขยะพลาสติก
ขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่ต้องรีบเร่งแก้ไข วิธีการหนึ่งที่กลายเป็นไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่นั่นคือ ‘Zero Waste’ หรือการใช้ชีวิตที่ไม่สร้างขยะ แม้อาจฟังดูเป็นเรื่องยากแต่ตอนนี้บ้านเรามีธุรกิจใหม่มาช่วยแก้ปัญหา อย่าง ‘ร้านค้าแบบเติม’ (Bulk Store) ที่เราสามารถนำภาชนะมาเติมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ได้ อย่างร้านสไตล์ ‘Refill Station’ ที่มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกมากมาย ทั้งผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ไปจนถึงอาหารแห้งและขนมขบเคี้ยว ซึ่งในกรุงเทพฯ ก็มีร้านรีฟิลเกิดขึ้นมากมาย เช่น Grasstonomy, Zero Moment Refillery, Less Plastic Able แต่ถ้าไม่สะดวกหรืออยู่ไกลยังมีร้าน ‘Greenherit’ เป็นรถรีฟิลเคลื่อนที่ขับไปตามหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม หรือออฟฟิศ รวมถึงตลาดนัดสายกรีนต่างๆ
2. สนับสนุน ‘เกษตรกรในท้องถิ่น’
ทุกวันนี้เราซื้อผักผลไม้หรือผลผลิตทางการเกษตรจากไหน ? หลายคนคงเดินเข้าห้างฯ เลือกผักที่สวยและสด พร้อมการันตีว่าปลอดสารพิษ แต่เราไม่เคยรู้ที่มาที่น่าเชื่อถือจากผู้ผลิตเลย คงจะดีหากเราได้รู้แหล่งที่มาหรือวิธีการปลูกจากเกษตรกรตัวจริง ที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ อย่าง ‘FARMTO’ สตาร์ทอัพที่สร้างตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์บนแอปพลิเคชัน ทั้งยังมีแพลตฟอร์มให้ผู้บริโภคมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเพาะปลูกและได้ผลผลิตกลับไป ซึ่งช่วยให้คนเห็นคุณค่าถึงความใส่ใจของเกษตรกร นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริโภคและเกษตรกร รวมถึงส่งเสริมให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้นเพื่อสิ่งแวดล้อมและอาหารที่ยังยืน
3. ‘เที่ยวยั่งยืน’ สร้างชุมชนเข็มแข็ง
การท่องเที่ยวที่มอบประสบการณ์กลายเป็นเทรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่ หากเราท่องเที่ยวแล้วได้รักษาธรรมชาติหรือพัฒนาท้องถิ่นไปในตัว น่าจะยิ่งสร้างความประทับใจและเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ปัจจุบันนี้ก็มีแพลตฟอร์มที่ช่วยให้เราเข้าถึงชุมชนที่น่าสนใจและทริปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ง่ายขึ้น อย่าง ‘Local Alike’ ธุรกิจที่พัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และเป็นตัวกลางเชื่อมนักท่องเที่ยวให้เข้าถึงการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งช่วยกระจายรายได้ในท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านรู้จักที่จะพึ่งพาตนเอง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น หรือ ‘HiveSters’ ที่นำเสนอ real Thai experience ให้เราได้มีประสบการณ์ร่วมกับคนในท้องถิ่น ซึ่งนอกจากสร้างรายได้ให้ชุมชนแล้ว ยังเป็นการรักษาวัฒนธรรมไม่ให้เลือนหายและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
4. ‘แยกขยะง่ายๆ’ เริ่มต้นได้ที่บ้าน
ปัญหาขยะล้นส่วนหนึ่งมาจากการที่เราไม่แยกขยะ เพราะ ‘ขยะดี’ ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ถูกอัดรวมกับขยะที่เน่าเสียไปยังกองขยะหรือหลุดรอดปะปนในธรรมชาติ ดังนั้นหากทุกคนช่วยกันแยกขยะตั้งแต่ที่บ้าน ขยะก็สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง การเริ่มต้นมักยากเสมอแต่ยังมีธุรกิจที่น่าสนใจอย่าง ‘เอี่ยมดีรีไซเคิล’ รถบริการจัดการขยะถึงบ้าน ร้านค้า โรงแรม หรือสำนักงาน ในจังหวัดเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง ที่ช่วยให้การแยกขยะเป็นเรื่องง่าย ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่เป็นการรับขยะจากต้นทางไม่ต้องไปคุ้ยกองขยะ เรียกว่าเป็นซาเล้งยุคใหม่ที่สะอาด มีมาตรฐานราคา ตรงเวลา และบริการอย่างมืออาชีพ นอกจากจะช่วยให้คนหันมาแยกขยะมากขึ้น เอี่ยมดีรีไซเคิลยังช่วยเหลือสังคมด้วยการแบ่งรายได้ 30 % ไปสร้างประโยชน์ให้แก่คนพิการ เด็กยากไร้ และคนด้อยโอกาสต่างๆ อีกด้วย
5. ‘เปลี่ยนอาหารเหลือทิ้ง’ เป็นมื้อที่ช่วยสังคม
ไม่ใช่แค่ขยะพลาสติกเท่านั้นที่กำลังเป็นประเด็น ขยะอาหารที่เพิ่มพูนขึ้นทุกวันก็ทำให้เกิดแก๊สมีเทนเป็นต้นตอหนึ่งของปัญหาโลกร้อน อีกทั้งเป็นการสูญเสียทรัพยากรไปอย่างน่าเสียดาย สวนทางกับวิกฤตอาหารโลกที่หลายประเทศกำลังขาดแคลนอาหาร แม้แต่ในบ้านเราที่มีขยะอาหารเกิดขึ้นมากมายขณะที่บางคนไม่มีกิน จึงเป็นที่มาของมูลนิธิ ‘Thai SOS’ ที่จัดตั้งโปรเจกต์ ‘Food Rescue’ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับบริจาคอาหารส่วนเกินที่ยังคุณภาพดี ทั้งจากห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก ไปจนถึงครัวตามบ้าน ส่งต่อให้สถานสงเคราะห์ บ้านอุปถัมภ์ ที่พักผู้ลี้ภัย โรงเรียน หรือชุมชนที่ต้องการ โดยใส่ใจเน้นย้ำในเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร ส่วนเศษอาหารที่เหลือทิ้งหรือหมดอายุก็นำไปทำปุ๋ยให้กับเกษตรกรต่อไป
6. อุดหนุนสินค้า ‘ดีไซน์รักษ์โลก’
อุตสาหกรรมแฟชันเป็นหนึ่งในวงการที่สร้างมลพิษและใช้ทรัพยากรมากที่สุด การใช้วัสดุทดแทนหรือวัสดุรีไซเคิลจึงกลายเป็นสิ่งที่บรรดาดีไซเนอร์ต้องเริ่มคิด อย่างบ้านเราก็มีนวัตกรรมเส้นใยผ้าจากสับปะรดของ ‘หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา’ ที่นำเศษใบเหลือทิ้งมารีดเป็นเส้นใย นอกจากสร้างมูลค่าให้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ยังสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่และคนในเรือนจำ จังหวัดสงขลา และอีกแบรนด์รุ่นใหม่แนวคิดดี อย่าง ‘คิดดี’ ที่ออกแบบกระเป๋าสุดเท่จากถุงล้างไตที่กลายเป็นขยะจำนวนมาก คิดดีไม่เพียงช่วยโลกลดขยะเท่านั้น แต่ยังนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยระยะสุดท้ายในจังหวัดน่าน เรียกได้ว่าสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้วก็สร้างสังคมแห่งการแบ่งปันด้วย
Content Writer : Angkhana N.
Graphic Designer : Jirayu P.