“ครั้งล่าสุดที่ไปเมืองทองคือเมื่อไรกันนะ”
คนรักบ้านและสวนอาจตอบว่าเมื่อปลายปีที่แล้วที่งานแฟร์ คนรักรถน่าจะไปเดินเล่นงานมอเตอร์เอ็กซ์โปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน หรือหลายคนอาจไปคอนเสิร์ตของศิลปินที่ชื่นชอบเมื่อไม่นานมานี้
‘เมืองทองธานี’ ไม่ได้ขึ้นชื่อแค่เรื่องอีเวนต์ที่จัดอยู่ตลอดทั้งปี แต่ยังมีที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม ออฟฟิศ ร้านรวงยันห้างสรรพสินค้า ศูนย์ราชการ และสนามกีฬาประเภทต่างๆ โดยเฉพาะฟุตบอล กับการมีสโมสรประจำย่านที่มีแฟนคลับเข้าเส้นไม่ต่างจากสโมสรในต่างประเทศ
ปกติแล้วคอลัมน์ Neighboroot มักจะชวนผู้อ่านลงพื้นที่ ย่ำตรอก ออกซอย สำรวจย่านต่างๆ ในเมืองหลวงเป็นหลัก แต่สำหรับครั้งนี้เราขอชวนออกไปปริมณฑลเพื่อนบ้านเมืองหลวง อัปเดตวิถีชีวิตชาวเมืองทอง กินอย่างคนเมืองทอง และเชียร์ฟุตบอลอย่างทีมเมืองทองฯ กันดูบ้าง
‘เมืองทองธานี’ เรียกว่าเป็นเมืองขนาดย่อมๆ ก็ไม่ผิดนัก หากเล่าอย่างคร่าวๆ เพื่อให้รู้จักที่มาที่ไปเร็วที่สุด โครงการอภิมหาโปรเจกต์มิกซ์ยูสนี้เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2533 จากความตั้งใจของบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ที่อยากสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ขยับออกมาในเขตชานเมือง ตามอย่างในฮ่องกง
พื้นที่รวมๆ ในเมืองทองธานีสามารถแบ่งได้เป็น 2 โซนหลักคือ โซนที่อยู่อาศัย มีทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยว แบ่งซอยย่อยๆ แยกจากถนนใหญ่ไม่ต่างจากในเมือง วางแลนด์สเคปและผังเมืองในโครงการมาอย่างดี
หากโซนแรกมีวิถีชีวิตที่เงียบๆ และไม่ค่อยพลุกพล่าน อีกฟากหนึ่งคงให้ความรู้สึกต่างออกไป เพราะโซนพื้นที่เชิงพาณิชย์-ศูนย์แสดงสินค้า จะคึกคักตลอดทั้งปี สถานที่ที่หลายคนคุ้นชินน่าจะเป็นชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพค อารีน่า และธันเดอร์โดม ซึ่งสร้างขึ้นในคราวที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ เมื่อ พ.ศ. 2541 และพัฒนาเป็นพื้นที่จัดอีเวนต์ระดับชาติต่างๆ
นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีอาคารสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า เอาต์เลต และสถานศึกษาต่างๆ ที่ยิ่งทำให้โซนนี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทั้งในพื้นที่และรอบข้างอีกมาก
Husband and Wife Art Farm : สเปซสำหรับคนรักงานศิลปะ ฟิล์ม และกาแฟ
Husband and Wife Art Farm เป็นพื้นที่เล็กๆ สำหรับคนรักศิลปะ ฟิล์ม และกาแฟ ในหมู่บ้านเมืองทองของ ‘พี่ซัน-อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล’ และ ‘พี่นุ่น-มาริสา เลิศรักษ์มงคล’ ผู้คร่ำหวอดในวงการฟิล์มมาหลายปี ทั้งคู่เปิดร้านขายฟิล์มอยู่ที่บ้านในย่านพระราม 5 ในวันที่กล้องฟิล์มกลับมาบูมสุดๆ ก่อนจะมีความคิดอยากมาเปลี่ยนที่ดินเปล่าในย่านเมืองทองของครอบครัวให้ได้ใช้ประโยชน์ ขยับขยายไซซ์ร้านฟิล์มให้ลูกค้ามาซื้อได้สะดวกขึ้น และสร้างเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ของสายอาร์ตให้ได้มาพบปะกัน
“เรารู้สึกว่าศิลปะมันเป็นได้ทุกอย่าง เป็นสิ่งที่เล่าเรื่องของเราผ่านอะไรก็ได้ที่เราชอบ ไม่ว่าจะกาแฟ กล้องถ่ายรูป หรืออาหาร ภายใต้ความรู้สึกที่มันโฮมมี่ เราอยากให้ที่นี่เป็นสถานที่ที่คุณนั่งและเสพงานศิลปะอย่างสบายใจ” พี่ซันขยายคอนเซปต์ของร้านเมื่อ 5 ปีก่อนให้ฟัง
“เราวางแผนตอนสร้างไว้เลยว่าต้องมีร้านกาแฟ ร้านของเรา และพื้นที่เวิร์กช็อป” ช่างภาพผู้เป็นเจ้าของร้านเผย
ภายในอาคารทรงกล่องสีขาวประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ หนึ่งคือ Husband and Wife Shop ที่สาวกกล้องฟิล์มทั้งสายลึกสายลองน่าจะรู้จักกันดี จำหน่ายสินค้าแอนะล็อกต่างๆ อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นกล้องฟิล์ม อุปกรณ์ล้างฟิล์ม น้ำยาล้างฟิล์ม และฟิล์มถ่ายรูป รวมถึงเป็นแล็บล้าง-สแกนฟิล์มด้วย
สองคือ Rynn Kaffe ร้านกาแฟสเปเชียลตี้ของเพื่อนพี่ซัน ที่โดดเด่นด้วยการใช้เมล็ดไทย และเข้ามาเติมเต็มภาพฝันแต่เริ่มแรกของสเปซแห่งนี้ให้สมบูรณ์ขึ้น
และสามคือแกลเลอรีสำหรับจัดเวิร์กช็อปถ่ายภาพและงานนิทรรศการต่างๆ
นอกจากนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา ทางร้านยังเพิ่มทางเลือกสำหรับลูกค้า เป็นเมนูบรันช์และอาหารเหนือที่สามารถกินที่ร้านได้เลย
หากถามว่าเมื่อพูดถึงเมืองทองธานีแล้วคุณคิดถึงอะไร หลายคนคงมีคำตอบต่างๆ นานาตามประสบการณ์ส่วนตัว แต่สำหรับเจ้าของร้านฟิล์มแห่งนี้ เขาตอบเคล้าเสียงหัวเราะทันที
“คิดถึงอิมแพ็ค อารีน่าอย่างเดียวและก็รู้สึกว่าไกล ต่อให้มาอยู่ในฐานะของคนเมืองทอง เราก็ยังยอมรับว่ามันไกลอยู่ดี”
แต่ถึงจะอยู่ไกลตามความรู้สึกของเจ้าของ (และความรู้สึกของเรา) แต่ในเชิงการค้า ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านกลับมาจากที่อื่นเยอะกว่าคนใกล้อย่างชาวเมืองทองและนนทบุรี แถมบางครั้งเป็นลูกค้าที่มาไกลคนละฝั่งของกรุงเทพฯ เสียอีก
“ตอนเปิดร้านที่บ้าน ลูกค้าก็ไปที่บ้าน เราเลยคิดว่าถ้าอยู่ในที่ที่ง่ายกว่านั้นคนน่าจะมาเยอะขึ้น และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คนบ้านใกล้ก็เป็นลูกค้าส่วนหนึ่ง แต่ที่เห็นชัดๆ คือลูกค้าจากที่อื่น มาจากที่ไกลๆ เลย อย่างบางนาก็ยังมี เพราะเขาต้องการมาเสพบรรยากาศด้วย ไม่ใช่แค่มาซื้อฟิล์มเท่านั้น อย่างที่อื่นก็เป็นแค่แล็บล้างฟิล์มเล็กๆ แต่ที่นี่เป็นสเปซที่คุณนั่งชิลได้ทั้งวัน”
ช่วงท้ายของการสนทนา พี่ซันอัปเดตให้เราฟังว่า เมืองทองธานีทุกวันนี้เป็นเสมือนเซ็นเตอร์และจุดหมายของคนชานเมืองไปแล้ว รวมถึงเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและพร้อมเติบโตอยู่เสมอ
“กลายเป็นว่าทั้งบริเวณใกล้ๆ ร้านเราหรือในตัวเมืองทอง มีร้านกาแฟและร้านอาหารเปิดใหม่เหมือนในเมืองเยอะขึ้น เริ่มมีการเติบโตมากขึ้น พื้นที่เริ่มมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง แลนด์สเคปที่นี่ก็ดีด้วย แถมอนาคตรถไฟฟ้าจะมาจอดตรงนี้ เพื่อวิ่งเข้าไปอิมแพ็คฯ
“คนเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าในเมืองทองมีอะไร สมมติว่าเราไปทองหล่อแล้วมีอะไร ที่นี่ก็เป็นอย่างนั้น หรือถ้าเป็นคนที่อาศัยอยู่ในนนทบุรี เขาก็มักขับรถมุ่งตรงมาเมืองทองเพื่อกินข้าวหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ”
คอนโดฯ ร้างในเมืองทองธานี แต่ไม่เคยร้างผู้คน
ทิวทัศน์ที่คนเห็นกันบ่อยๆ ภายในเมืองทองธานี น่าจะเป็นภาพตึกเรียงเป็นทิวแถวท่ามกลางฟ้าใสๆ เป็นพื้นหลัง และด้านล่างติดทะเลสาบ กลายเป็นเหมือนหนึ่งในเอกลักษณ์ของที่นี่ ซึ่งบางมุมก็ให้บรรยากาศดูคล้ายกับต่างประเทศไม่น้อย
หรือในมุมกลับกัน อาจเป็นภาพคอนโดมิเนียมร้างที่หลายคนคุ้นตา และเรื่องราวของตึกเก่าที่ถูกปล่อยทิ้งว่างในช่วงพิษเศรษฐกิจ ที่มักพบเห็นผ่านโซเชียลมีเดียอยู่ตลอด
แม้ภายนอกจะดูรกร้าง แต่จริงๆ แล้วอาคารร้างเหล่านี้มีเจ้าของทุกห้อง และทยอยปรับปรุงเพื่อใช้งานอยู่เรื่อยๆ
‘ไอส์’ เพื่อนเราที่เป็นชาวเมืองทองตั้งแต่เกิด ได้ย้อนความทรงจำไปสมัยยังเด็ก และเล่าให้ฟังว่า เมืองทองมีหลากหลายโครงการคอนโดฯ ในพื้นที่ และแต่ละตึกก็มีพื้นที่ออกกำลังกายกับลานกีฬาต่างๆ อย่างเมื่อก่อนเธอก็เคยไปเล่นบาสเกตบอลที่สนามบาสริมคอนโดฯ อยู่บ้าง หรือหากชาวเมืองทองอยากออกกำลังกายก็มักไปที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ กระทั่งวันที่เราไปก็เห็นคน City Run แถวริมถนนที่อยู่ถัดออกมาจากริมทะเลสาบหน่อย
เราบังเอิญเจอร้านก๋วยเตี๋ยวรถพ่วงริมถนน ที่ภายนอกไม่ต่างอะไรจากร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วไป แต่ความน่าสนใจคือการเลือกโลเคชันของร้าน ที่ตั้งโต๊ะอยู่ด้านในตึกร้างห้องหนึ่งตรงกลางระหว่างตึกที่ยังเปิดกิจการ บนถนนเส้นหลักที่มีรถขวักไขว่ของโซนที่อยู่อาศัยในเมืองทองธานี
‘พี่ติ๊ก’ แม่ค้าก๋วยเตี๋ยว เล่าให้ฟังขณะกำลังลวกก๋วยเตี๋ยวอย่างขะมักเขม้น ว่า เธอทำอาชีพนี้เข้าปีที่ 4 แล้ว หลังย้ายมาจากต่างจังหวัดและทำงานเป็นแคชเชียร์อยู่ในอิมแพ็คฯ กว่า 7 ปี
แม้จะเริ่มขายก๋วยเตี๋ยวมาตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด ทั้งขี่ขายไปทั่วเมืองทอง และแวะปักหลักจอดเป็นจุดๆ ทว่าพี่ติ๊กเพิ่งมาตั้งร้านที่ตึกร้างห้องนี้ได้ 20 กว่าวัน โดยก่อนหน้านี้เธอปักหลักอยู่ตรงตึกร้างที่อยู่ถัดออกไป แต่เมื่อเจ้าของตึกมีแผนจะเข้ามาปรับปรุงและใช้พื้นที่เป็นออฟฟิศ เธอจึงจำเป็นต้องย้ายมาหาที่ขายใหม่
ระหว่างที่นั่งกินก๋วยเตี๋ยวฝีมือพี่ติ๊ก เราสังเกตเห็นว่าลูกค้าของร้านแวะเวียนมาอยู่เรื่อยๆ และดูรู้จักมักคุ้นกับแม่ค้าเป็นอย่างดี แสดงว่าร้านนี้น่าจะเป็นที่พึ่งยามหิวของคนแถบนี้
“ลูกค้าก็คนในเมืองทองนี่แหละ เป็นพนักงานออฟฟิศซะเยอะ พอเรามาตั้งตรงนี้ก็ได้ลูกค้าคอนโดฯ เพิ่ม เห็นเงียบๆ แบบนี้ แต่มีคนอยู่เยอะนะ” เธอเล่ายิ้มๆ ก่อนหันไปรับออเดอร์จากลูกค้าใหม่ที่ขี่มอเตอร์ไซค์มาสั่งหน้าร้าน
ปัจจุบันประชากรย่านเมืองทองอยู่กันหนาแน่นมากขึ้น มีการปรับปรุงพื้นที่อยู่เรื่อยๆ อีกทั้งโครงการคอนโดฯ และหมู่บ้านใหม่ๆ ก็กำลังแข่งขันกันสร้างเพิ่มขึ้นอีกเพียบ กลายเป็นจุดหมายใหม่ของคนเมืองที่เลือกทำเลมาอยู่แถวนี้ เพราะเข้าไปทำงานในเมืองได้สะดวก จากระบบขนส่งมวลชนที่มีหลากหลายและครอบคลุม
และอีกการพัฒนาล่าสุดของที่นี่ในสายตาของคนเมืองทองคือ การเป็นเมืองการศึกษา เพราะระยะหลังมานี้เริ่มมีสถานศึกษา โรงเรียน และมหาวิทยาลัย เข้ามาใช้พื้นที่ บ้างก็ตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ใหม่ๆ ส่งผลให้มีประชากรชาวเมืองทองหน้าใหม่เพิ่มเข้ามาอีก
แดดเริ่มร่ม ลมเริ่มดี เราข้ามจากโซนที่อยู่อาศัย ผ่านทะเลสาบเมืองทอง แลนด์มาร์กสำคัญของเมืองนี้ นอกจากเป็ดยักษ์สีเหลืองที่ลอยให้เห็นเด่นมาแต่ไกลแล้ว ยังพบเห็นคนมาเล่นกีฬาทางน้ำ ประลองความเร็วในสนามโกคาร์ต และนั่งดินเนอร์ชมบรรยากาศในร้านอาหารริมทะเลสาบอยู่เนืองๆ ซึ่งในบางครั้งพื้นที่กว้างริมทะเลสาบเมืองทองแห่งนี้ยังใช้จัดอีเวนต์และคอนเสิร์ตด้วย
‘Support your local team.’ เมืองทอง ยูไนเต็ด-ทีมฟุตบอลของคนเมืองทอง
ถัดออกไปไม่ถึงอึดใจคือส่วนของธันเดอร์โดม ที่มักใช้จัดคอนเสิร์ตอยู่บ่อยๆ ส่วนข้างกันคือธันเดอร์โดมสเตเดียม รังเหย้าของสโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด ทีมฟุตบอลประจำเมืองทองธานี และทีมชั้นนำของประเทศที่คว้าแชมป์มาแล้วนักต่อนัก
“เราถือว่าการ Support your local team. เป็นเรื่องของวัฒนธรรมการเชียร์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากต่างประเทศ” ‘บูม’ แฟนบอลชาวเมืองทองเอ่ยขึ้นที่ข้างสนาม บริเวณที่นัดหมายของกลุ่มกองเชียร์พันธุ์แท้เสื้อสีดำผู้เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่ม N ZONE’ ก่อนเกมบิ๊กแมตช์ไทยลีกระหว่างเมืองทอง ยูไนเต็ดกับบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า
เมื่อพูดถึงต่างประเทศที่วัฒนธรรมฟุตบอลอยู่ในสายเลือด ตามย่านต่างๆ ของเมืองมักมีสโมสรฟุตบอลประจำพื้นที่ พร้อมกับกองเชียร์ท้องถิ่นที่เข้าไปให้กำลังใจทีมทุกครั้งที่มีการแข่งขัน
ขณะที่ในประเทศไทย ภาพจำส่วนใหญ่จะเป็นทีมระดับจังหวัดที่ความสัมพันธ์ระหว่างสโมสรกับที่ตั้งของทีมผูกพันกันจนกลายเป็นสัญลักษณ์ มีเป็นส่วนน้อยที่พื้นที่ในสเกลเล็กลงจะมีสโมสรและแฟนบอลที่สนับสนุนอย่างเหนียวแน่น หนึ่งในนั้นคือสโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ดนี่แหละ ที่เป็นความภูมิใจของชาวเมืองทองธานี รวมถึงชาวปากเกร็ดด้วย
“กองเชียร์เมืองทองฯ มาจากในคอนโดฯ ประมาณหกสิบเปอร์เซ็นต์ ปากเกร็ดสี่สิบเปอร์เซ็นต์ มันเป็น Pride of ปากเกร็ด สโมสรตั้งอยู่ในย่านเมืองทอง เราเป็นคนเมืองทอง จะคอนโดฯ นู่น หรือคอนโดฯ ไหน มาตรงนี้ปลดล็อกทุกอย่าง เรามาเชียร์ร่วมกัน” บูมเสริมข้อมูล
แต่ใช่ว่าจะมีแค่คนในเมืองทองและปากเกร็ดเท่านั้นที่ตามให้กำลังใจทีมกิเลนผยอง ‘พี่วัชร์’ ประธานกลุ่ม N ZONE ที่เราได้พูดคุยด้วย ก็ขับรถมาจากแถบดอนเมืองเพื่อมาเชียร์ทีมรักทุกแมตช์
“ส่วนมากเราอยู่ละแวกใกล้ๆ กัน อย่างพี่อยู่ดอนเมือง แต่ก่อนเชียร์ทีมทหารอากาศ พอมีไทยลีกเราก็มาเชียร์เมืองทองฯ เพราะตอนนั้นเมืองทองฯ มีนักเตะทีมชาติเยอะ พี่มาเชียร์ตั้งแต่สแตนด์ฝั่งนี้ยังไม่มีเลย มีสแตนด์ปูนฝั่งนั้นฝั่งเดียว น่าจะประมาณสิบสามปีแล้ว” แฟนบอลรุ่นเก๋าเล่าอย่างอารมณ์ดี “พวกพี่เป็นแฟนบอลพันธุ์แท้ ไม่ว่าจะฟอร์มอย่างไร เราเป็นผู้เล่นหมายเลขสิบสองที่ตามเชียร์ตลอดทุกนัด ไม่ได้เชียร์ตามกระแส”
แฟนบอลในเสื้อสีแดงสดจากทุกสารทิศยังคงมุ่งหน้าเข้าสู่สนาม แม้กรรมการใกล้จะเป่านกหวีดเริ่มต้นการแข่งขันเต็มที เราเดินสวนทางออกมาพร้อมกับแสงสุดท้ายของวันที่กำลังค่อยๆ ลับขอบฟ้า และกลับมาติดตามผลการแข่งขัน ทีมเมืองทองฯ ขึ้นนำไปก่อนแบบสุดช็อกในครึ่งแรก 3 – 0 พร้อมนำห่างมาตลอด ก่อนโดนผู้มาเยือนรัวท้ายเกม และเมื่อหมดเวลาการแข่งขัน 90 นาที เสียงนกหวีดสุดท้ายก็ดังขึ้นพร้อมกับผลเสมอ 4 – 4 ประตู ถือเป็นอีกแมตช์ที่เหนือคาดของเจ้าบ้านไม่น้อย
เราแอบคิดว่าโครงการเมืองทองธานีก็เหมือนกับฟอร์มการเล่นฟุตบอล พลิกไปมาตามสถานการณ์ ที่ผ่านมา เมืองทองธานีอาจมีมรสุมเศรษฐกิจพาดผ่านทำให้ซบเซาลงไปในบางช่วง หลายโครงการคอนโดฯ อาจหยุดก่อสร้าง หรือพิษโควิด-19 ที่ทำให้ความคึกคักจากอีเวนต์หายไปเป็นปี แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อท้องฟ้ากลับมาสดใส เมืองทองธานีก็กลับมาเดินหน้าต่อตามแผนการพัฒนา งานแฟร์ต่างๆ กลับมาต่อคิวจัดเหมือนเดิม เป็นตัวอย่างของเมืองเล็กในเมืองใหญ่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพรั่งพร้อม เอื้อให้ชาวเมืองทองและพื้นที่ข้างเคียงมีความสุขได้ทุกรูปแบบของวิถีชีวิต
สมกับเป็นเซ็นเตอร์ของคนชานเมืองจริงๆ