ตามหาร่องรอยชาวมลายูในย่าน ‘แขกตานี’ - Urban Creature

เหลียวซ้ายหันขวาพบว่ากลุ่มคนและวัฒนธรรมอิสลามอยู่ใกล้ตัวเรามากๆ หรือถ้าหากเจาะจงให้แคบลงเฉพาะในเมืองหลวง ลองเปิดแผนที่กรุงเทพฯ ดู ก็ปรากฏชื่อของมัสยิดตั้งอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในโซนเมืองเก่าที่เราเจอว่ามีกลุ่มคนมุสลิมตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยกันหลายพื้นที่

นอกจากศาสนสถานและอาคารสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นสะดุดตา คำศัพท์ต่างๆ ที่ภาษาไทยหยิบยืมมาใช้ อาหารรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ยังมีมรดกอีกหลายอย่างที่ตกทอดและแทรกตัวอยู่ท่ามกลางวิถีชีวิตของคนไทยจนอาจไม่ทันนึกถึง นับว่าเป็นการผสานความหลากหลายของผู้คนที่อยู่ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

คอลัมน์ Neighboroot คราวนี้ขอติดสอยห้อยตามเพจ Halal Life Magazine นิตยสารออนไลน์ของกลุ่มพี่น้องมุสลิม ไปทอดน่องท่องย่านในกิจกรรม ‘ย่ำตรอก ออกซอย ตามรอยบ้านแขกตานี’ ที่ชวนออกเดินทางสำรวจ ‘ย่านแขกตานี’ ชุมชนดั้งเดิมของคนมลายูที่อพยพมาจากภาคใต้ตั้งแต่ต้นกรุงฯ ตามหาร่องรอยต่างๆ ของแขกมลายูบริเวณนี้ เช่น อาคารบ้านเรือน ชื่อบ้านนามถิ่น อาหารการกิน และมัสยิดศูนย์รวมจิตใจของผู้คนแถบนี้ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในเกาะรัตนโกสินทร์ที่สำคัญ เรายังได้กูรูด้านประวัติศาสตร์มุสลิมในประเทศไทยอย่าง ‘อาจารย์ศุกรีย์ สะเร็ม’ และผู้รู้อีกหลายๆ ท่าน มาเป็นผู้พาเดินเที่ยวและช่วยเติมเต็มเรื่องราวต่างๆ ของคนมุสลิมในกรุงเทพฯ ให้ชัดเจนขึ้นอีกด้วย

ย่านแขกตานี

ถิ่นฐานย่านแขก ชุมชนคนมลายูในบางกอก

ไม่ไกลจากถนนข้าวสาร แสงสีคู่กรุงเทพฯ ยามค่ำคืน และใกล้ๆ กันกับบางลำพู ช้อปปิงเซ็นเตอร์รุ่นเก่าของเกาะรัตนโกสินทร์ แต่เดิมแถบนี้เคยเป็นหมู่บ้านของพี่น้องชาวมุสลิมที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยกันอย่างหนาแน่น ประกอบกิจการร้านค้ากันเรียงรายทั่วย่าน

แต่ปัจจุบันหากเดินสำรวจดูโดยไม่มีผู้รู้คอยนำทาง อาจไม่ทราบเลยว่าที่นี่เคยเป็นถิ่นฐานบ้านชาวมลายู เพราะเหลือเพียงชื่อกับร่องรอยไม่กี่อย่างที่บ่งบอกถึงเท่านั้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอาคารพาณิชย์ทั้งสองฟากถนน บ้างเป็นสถานบันเทิงและโรงแรมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่อยๆ กลืนชุมชนเก่าแก่ให้ถอยร่นเข้าไปอยู่ด้านหลังของอาคาร

“ที่นี่เคยเป็นชุมชนมุสลิมมาก่อน หากดูในแผนที่โบราณสมัยธนบุรีจะพบว่า

ตรงนี้มีคลองชื่อว่าคลองโรงไหม ถือเป็นส่วนหนึ่งของเมืองในสมัยธนบุรี ในแผนที่เก่ายังบอกว่าเป็นชุมชนลาวและมลายู อาจเป็นพวกที่หนีศึกมาตั้งแต่สมัยกรุงแตก

“มุสลิมแต่ก่อนอยู่ในแพ เรียกว่าแขกแพ อาศัยอยู่ตามคลองโบราณ การเสียบเรือนแพแบบนี้เป็นการแอบสงคราม เมื่อบ้านเมืองสงบศึกก็มีการตั้งชุมชนขึ้นมา เป็นไปได้ว่าชุมชนมลายูตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏตัวขึ้นเมื่อบ้านเมืองสงบแล้ว” อาจารย์ศุกรีย์เริ่มเล่าถึงที่มาที่ไปของชุมชนมุสลิม ที่สืบสาวราวเรื่องไปได้ตั้งแต่ก่อนมีกรุงเทพฯ

แขกแพ มลายู ย่านตานี

หลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ไม่กี่ปี เกิดสงคราม 9 ทัพขึ้น สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) วังหน้าซึ่งเป็นพระอนุชาในรัชกาลที่ 1 รับหน้าที่ลงไปทำศึก และได้เลยไปทำสงครามกับหัวเมืองปักษ์ใต้ที่แข็งเมือง ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อสยาม หนึ่งในนั้นคือเมืองปัตตานี

ภายหลังจากชนะศึกได้มีการนำเชลยศึกและขุนนางของเมืองปัตตานี รวมถึงนำปืนใหญ่พญาตานี ซึ่งเป็นปืนใหญ่กระบอกสำคัญของเมืองขึ้นมายังกรุงเทพฯ พร้อมกัน โดยกลุ่มอีลีตและช่างฝีมือได้รับการจัดสรรพื้นที่ให้ตั้งชุมชนอยู่ข้างชุมชนมอญ ซึ่งมีวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร หรือวัดตองปุ ศูนย์กลางของชุมชนชาวพุทธมาแต่เก่าก่อน และใกล้กับชุมชนมลายูสมัยธนบุรีที่อยู่มาแล้วก่อนหน้า รวมถึงไม่ไกลจากศูนย์กลางของเมืองบริเวณพระบรมมหาราชวัง

“ตามที่ผมศึกษามา แต่เดิมตรงนี้เรียกว่าชุมชนย่านแขกตานี ย่านนี้จึงเป็นรอยต่อของชุมชนมลายูเก่าสมัยธนบุรีและมลายูใหม่ที่คนในวังอพยพมาพร้อมกับสงคราม”

วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร วัดตองปุ

โรงเรียนพิมานวิทย์ | โรงเรียนสอนภาษาไทยให้ชาวมลายูริมถนนข้าวสาร

เส้นทางวันนี้เริ่มต้นขึ้นที่ถนนข้าวสาร ด้านหน้าโรงเรียนพิมานวิทย์ สถานศึกษาเก่าแก่ที่แทรกตัวอยู่ระหว่างตึกของผับบาร์และเกสต์เฮาส์ในถนนข้าวสาร น้อยคนจะรู้ว่าตรงนี้มีโรงเรียนตั้งอยู่เงียบๆ มากว่าร้อยปีแล้ว ก่อนที่ถนนข้าวสารจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของผู้คนทั้งในไทยและชาวต่างชาติอย่างเช่นทุกวันนี้

แรกเริ่มเดิมที ‘ฮัจยียอ พิมานแมน’ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเมื่อ พ.ศ. 2462 ตั้งใจให้ที่นี่เป็นโรงเรียนสอนภาษาไทยสำหรับชาวมุสลิมที่ขึ้นมาจากภาคใต้ ทั้งที่มาอยู่อาศัยและมาทำการค้าขายในย่านแขกตานี ก่อนที่ต่อมาจะค่อยๆ เติบโตเป็นโรงเรียนราษฎร์ที่สอนนักเรียนจากทุกศาสนา ไม่จำกัดเฉพาะนักเรียนมุสลิม

“คุณปู่บอกว่าจำเป็นต้องเรียนรู้ ต้องพูดภาษาไทยให้ได้ เขียนภาษาไทยให้ได้ เราเป็นคนไทย อยู่ประเทศไทย ไม่ใช่คนต่างชาติ เพียงแต่ย้ายมาจากทางใต้ คนใต้พูดภาษาไทยไม่ได้ พูดแต่ภาษายาวี ปู่ก็เลยสอนภาษาไทยให้ และสอนภาษาอาหรับด้วย” ‘คุณครูลลิตา เหล่าพานิช’ ผู้จัดการโรงเรียนและทายาทของผู้ก่อตั้งโรงเรียน เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเองถึงความเป็นมาของโรงเรียนแห่งนี้

โรงเรียนพิมานวิทย์ ภนนข้าวสาร ย่านตานี

แม้ขนาดของโรงเรียนดูเล็กกะทัดรัด ทว่าขนาดพื้นที่ไม่ใช่ข้อจำกัดในการเรียนรู้เลย เพราะโรงเรียนแห่งนี้มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถม 6 เด็กนักเรียนมีถึงหลักร้อยคน และสอนครบถ้วนในวิชาพื้นฐาน แถมยังมีภาษาต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น จีน และอิตาลีด้วย เนื่องจากมีการร่วมมือกับสถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทยให้ส่งครูมาสอนทุกสัปดาห์

“แต่เดิมตรงนี้เป็นเรือนไม้ทั้งหมด นี่เป็นบ้านของคุณย่ากับคุณปู่ รื้อมาทำเป็นห้องเรียน” ครูลลิตาชี้ให้ดูหนึ่งในห้องเรียนเล็กๆ มุมหนึ่งของโรงเรียน ที่เคยเป็นเรือนพักอาศัยของบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งโรงเรียน

เราเดินขึ้นไปบนอาคารไม้ 3 ชั้น เรือนเก่าแก่ของโรงเรียนที่ปัจจุบันยังคงใช้ทำการเรียนการสอนอยู่ ภายในแบ่งเป็นห้องเรียนเล็กๆ ด้านหลังมองออกไปเห็นถนนราชดำเนินกลางและอาคารหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งทุกสัปดาห์ โรงเรียนจะพาเด็กนักเรียนไปหาความรู้นอกห้องเรียนในหอสมุดแห่งนั้น

ครูลลิตายังเล่าเพิ่มเติมว่า โรงเรียนมีกิจกรรมต่างๆ หมุนเวียนอีกมาก ทั้งออกไปว่ายน้ำทุกวันพุธที่สวนดุสิต ให้ครูเข้ามาสอนเทควันโดทุกวันจันทร์ และสิ้นปีก็พานักเรียนไปเข้าค่ายพักแรมที่สัตหีบ

คุณครูลลิตา เหล่าพานิช  โรงเรียนพิมานวิทย์

“เมื่อก่อนย่านแขกตานีขายอาหารนะ แต่เดี๋ยวนี้ให้คนเขาเช่าหมด ร้านอาหารมุสลิมเป็นรุ่นใหม่ๆ แล้ว เช่น ข้าวหมกไก่ ก๋วยเตี๋ยวน้ำดำ สูตรมุสลิม โรตีมะตะบะ เขามีทางไปไหนได้ก็ไป เพราะได้เงินมากกว่า” ผู้จัดการโรงเรียนพิมานวิทย์รื้อฟื้นความทรงจำและฉายภาพในอดีตของย่านแขกตานี ซึ่งเคยเต็มไปด้วยร้านอาหารตำรับมุสลิมดั้งเดิม แต่วันนี้เปลี่ยนแปลงไป เหลือแค่ไม่กี่ร้านเท่านั้น บางร้านย้ายไปขายอยู่ในซอย หรือไม่ก็ย้ายบ้านออกไปจากแถบนี้

“แต่คนที่ย้ายออกไป ถ้าเป็นศิษย์เก่าเขาก็ส่งลูกกลับมาเรียนจนจบนะ เด็กที่นี่เขารักโรงเรียน” คุณครูเล่ายิ้มๆ

“นักธุรกิจอยากได้ที่นี่นะ บอกว่าอยากทำโรงเรียน เดี๋ยวทำให้ใหม่หมดเลย แล้วจะดีกว่านี้เยอะ แต่ขอให้ออกจากที่นี่ไป เราเลยบอกว่าคุณไม่ต้องมาขอ เราไม่ออก เพราะรับโรงเรียนนี้มาแต่เริ่มแรก และคุณพ่อบอกว่าต้องเป็นโรงเรียนที่ช่วยคน ให้มีการศึกษา พ่อแม่สั่งไว้ว่าอย่าไปเปลี่ยนแปลงนะ”

โรงเรียนพิมานวิทย์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การโยกย้ายถิ่นของชาวมลายูที่เข้ามาอาศัยอยู่ในย่านแขกตานี และยังคงรักษาสภาพของพื้นที่ดั้งเดิมของคนอิสลามขนาดแค่ครึ่งไร่ ในแถบถนนข้าวสาร ที่ปัจจุบันเป็นผับสตรีทมีราคาค่าที่สูงลิ่ว และแทบไม่หลงเหลือสิ่งที่แสดงความเป็นชุมชนมุสลิมอีกแล้ว

“ตอนนี้ในย่านเหลือมุสลิมไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์แล้ว เพราะมุสลิมต้องปลูกบ้านเดี่ยว เลี้ยงไก่หน้าบ้าน เอากรงนกมาแขวน ปลูกมะม่วงพันธุ์นั้นพันธุ์นี้ แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงทำให้บ้านมาตั้งกันแน่นไปหมด และที่สำคัญที่สุดคือมีร้านเหล้า มีผับ ซึ่งเป็นสิ่งผิดหลักศาสนามาตั้งด้วย ปู่ย่าตายายก็ไม่สบายใจ ทำให้หลายครอบครัวย้ายออกไป” อาจารย์ศุกรีย์เล่าถึงชุมชนมุสลิมย่านนี้ ที่นับวันคนเก่าคนแก่ของย่านค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไปทุกที

แขกตานี ถนนตานี

เดินทางสู่จุดหมายถัดไป ใต้ชายคาของอาคารสไตล์โคโลเนียลอนุรักษ์ที่มีอายุอานามไม่ต่ำกว่าร้อยปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญแบบตะวันตกที่เข้ามาสู่ย่านนี้ อาจารย์ศุกรีย์บอกว่า เมื่อหลายสิบปีก่อน แถบนี้เคยมีร้านอาหารมุสลิมรสเด็ดและร้านหนังสือประเภทต่างๆ หลายร้าน ถือเป็นช้อปปิงเซ็นเตอร์ที่คึกคักของคนรุ่นทวดก็ว่าได้

แต่หากย้อนกลับไปให้ไกลกว่านั้น จะพบว่าความเป็นย่านการค้าบริเวณนี้ก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว

“สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นช่วงต้นรัตนโกสินทร์คือตรงนี้มีตลาดแขก เรียกว่าตลาดตานี คนในพระนครที่ต้องการซื้อเนื้อวัว เขียงวัว ต้องมาซื้อตรงนี้ มุสลิมรับหน้าที่เชือดวัว รวมถึงอีกสินค้าหนึ่งคือน้ำมันตานี เป็นเครื่องหอมที่ใช้แต่งผมของคนในวัง ใครอยากได้ก็ต้องมาที่นี่เช่นกัน ในระยะหลังต่อมาเขาถึงเปลี่ยนไปเรียกว่าตลาดยอด” ผู้รู้ด้านประวัติศาสตร์อิสลามในไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวิทยาการตะวันตกเริ่มเข้ามาพัฒนาบ้านเมือง มีการตัดถนนหนทางให้ทันสมัย โซนนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง มีการว่าจ้างช่างชาวชวาจากเมืองสุราการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มาช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมของเมือง

“ถนนนี้ชื่อว่าถนนตานี แต่ในแผนที่สมัยรัชกาลที่ 5 เขียนตรงนี้ว่าถนนบ้านแขก ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่าชื่อเต็มๆ ของถนนตรงนี้คือชุมชนบ้านแขกตานี แต่ต่อมาคำว่าแขกหายไปกลายเป็นแค่ถนนตานี” 

ถนนตานี ตลาดตานี แขกตานี

อาอีซะฮ์ รสดี | ตำนานอาหารมุสลิมย่านแขกตานี

อาจเพราะเป็นชุมชนคนมุสลิมอยู่เดิมด้วยส่วนหนึ่ง ทำให้คนมลายูชวาที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ ได้รับการจัดสรรพื้นที่ให้อยู่ในย่านแขกตานี 

นอกจากความรู้ด้านงานก่อสร้างแล้ว พวกเขายังมาพร้อมกับสูตรลับปลายจวัก ถืออาชีพค้าขายอาหารอิสลาม หาบสะเต๊ะ หาบก๋วยเตี๋ยวแกงขาย ปรากฏชื่อเรียกขานตรอกสะเต๊ะเป็นหลักฐาน

ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ร้านอาหารมุสลิมแถบนี้ยังมีหลากหลายให้เลือกชิม แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ทยอยหายจากแผนที่ของย่าน เหลือเพียงความทรงจำของคนที่เคยได้มาลองกิน

แต่ที่ยังเหลืออยู่และเป็นร้านเจ้าดังระดับตำนานที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนถึงวันนี้ ต้องยกให้ ‘อาอีซะฮ์ รสดี’ ร้านอาหารอิสลามที่สืบทอดตำรับมาอย่างยาวนานจากต้นตระกูลชาวชวาที่พกสูตรติดมือข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วย

อาอีซะฮ์ รสดี ร้านอาหารมุสลิม แขกตานี

ไม่ว่าจะข้าวหมกหอมเครื่องเทศเตะจมูก เนื้อวัวและไก่นุ่มแบบพอดี ซุปหางวัวรสชาติเปรี้ยวแกมเผ็ดเบาๆ หรือสะเต๊ะเนื้อหมักถึงเครื่อง และสลัดแขกของขึ้นชื่อของร้านที่หลายคนยกนิ้วให้ ยังไม่นับรวมก๋วยเตี๋ยวและเมนูอื่นๆ ให้เลือกลองชิมตามอัธยาศัย

“ตั้งแต่สมัยสามสิบปีที่แล้ว แต่ก่อนเวลาร้านเต็ม ต้องไปขอนั่งตามบ้าน ตามระเบียงหน้าบ้าน” อาจารย์ศุกรีย์เล่าบรรยากาศของร้านเวอร์ชันเดิม ที่ยามคนเยอะต้องถึงขั้นไปอาศัยบ้านข้างๆ เพื่อนั่งกินกัน แตกต่างจากภาพปัจจุบันที่ร้านย้ายมาอยู่ในอาคารพาณิชย์ใหญ่โต ต้อนรับนักชิมทั้งขาประจำและขาจรได้ถึง 2 ชั้น ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยคือ รสชาติอาหารและผู้คนที่แวะเวียนมาเข้า-ออกร้านกันแทบทั้งวันไม่ขาด โดยเฉพาะช่วงเที่ยงที่คนแน่นเป็นพิเศษ

 อาอีซะฮ์ รสดี ร้านอาหารมุสลิม แขกตานี

มัสยิดจักรพงษ์ | มัสยิดหลังแรกของเขตพระนคร

จุดหมายสุดท้ายของเราในวันนี้คือ ‘มัสยิดจักรพงษ์’ ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและความเชื่อของผู้คนมุสลิมในย่านแขกตานีมาถึงวันนี้

โดยทั่วไปแล้ว ผู้นับถือศาสนาอิสลามถือว่ามัสยิดหรือสุเหร่าเปรียบได้กับบ้านของพระเจ้า ซึ่งบ้านของพระเจ้าหลังที่เราได้มาเยือนวันนี้ ถือเป็นหนึ่งในหลังที่เก่าแก่มากที่สุดในเขตพระนครของกรุงเทพฯ

“มุสลิมกลุ่มแรกของย่านตานี ตรอกสะเต๊ะ เป็นช่างทองที่เดินทางจากปักษ์ใต้มาทำงานตรงนี้ เป็นหมู่บ้านของคนทำงานศิลปะ เมื่อก่อนมีคนแกะกรอบพระเยอะ พวกลายแข้งสิงห์อะไรแบบนี้ พอทองแพง ช่างก็หมดไป” บังซัน-โอภาส มิตรมานะ คอเต็บหรือรองโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดจักรพงษ์ เริ่มต้นเล่าถึงความสามารถด้านงานศิลป์ชั้นเยี่ยมของคนในชุมชนนี้ การันตีจากการที่สมาชิกชุมชนได้เข้าไปรับราชการเป็นช่างฝีมือในวังหลายต่อหลายรุ่น

 มัสยิดจักรพงษ์ แขกตานี ถนนตานี

ชื่อเก่าของมัสยิดจักรพงษ์คือ ‘สุเหร่าตองปุ’ ได้ชื่อมาจากวัดตองปุที่ตั้งอยู่เยื้องกัน ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อตามถนนจักรพงษ์ที่ตัดผ่านด้านหน้าสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มาพร้อมกับการสร้างอาคารร้านค้าริมถนน ส่วนมัสยิดก็ค่อยๆ หลบเข้าไปอยู่ด้านหลังอาคารพาณิชย์ริมถนนย่านบางลำพู มีทางเข้าเป็นซอยเล็กๆ ที่หากไม่ใช่คนพื้นที่ แทบไม่รู้เลยว่ามีสถาปัตยกรรมชิ้นเยี่ยมหลังนี้ซ่อนอยู่

“มุสลิมมีความเชื่อว่าถ้ามีชุมชนต้องมีสถานที่ภักดีต่ออัลเลาะห์ พอคนแยะขึ้น มีสตางค์ ก็สร้างอาคารหลังนี้ขึ้นมา คนรุ่นเก่าเขาสร้างเสาหกถึงเจ็ดต้นเพื่อรับน้ำหนักโดมนี้ เขามีความคิดที่เลอเลิศเลย” บังซันนั่งเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี 

แต่เดิมสันนิษฐานว่ามัสยิดแห่งนี้คงสร้างเป็นเรือนไม้ง่ายๆ สำหรับประกอบพิธี ส่วนหลังที่เราเห็นอยู่สร้างในช่วงรัชกาลที่ 6 – 7 จากการร่วมแรงร่วมใจของชาวชุมชนตรอกสุเหร่า สร้างเป็นอาคารคอนกรีตสองชั้นสีเหลืองแซมเขียว โดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางชุมชนตรอกสุเหร่า

มัสยิดจักรพงษ์ สุเหร่าตองปุ แขกตานี
มัสยิดจักรพงษ์ สุเหร่าตองปุ แขกตานี

ด้านบนของอาคารเป็นพื้นที่สำหรับใช้ประกอบศาสนกิจและทำละหมาดประจำวัน องค์ประกอบเด่นคือหน้าต่างประดับด้วยกระจกสีโดยรอบอาคาร ด้านบนหน้าต่างประดับสัญลักษณ์มุฮัมหมัดซ้อน ซึ่งอาจารย์ศุกรีย์บอกว่าสิ่งนี้แหละที่น่าจะเป็นที่มาของคำเรียกศาสนาอิสลามว่า ‘ศาสนาพระมะฮัมหมัด’ ในหมู่คนสยาม

ขณะที่ตรงกลางด้านในสุดของมัสยิดทำเป็นห้องเล็กๆ ชี้ไปยังชุมทิศหรือกิบลัต (ทิศศักดิ์สิทธิ์ที่หันไปยังนครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย) เพื่อเป็นจุดกำหนดทิศทางสำหรับทำละหมาด เป็นส่วนสำคัญของมัสยิดทุกแห่งในโลก

แต่สิ่งสำคัญประจำมัสยิดจักรพงษ์คือ มิมบัรหรือธรรมาสน์สวดและซุ้มมิห์รอบ ที่เป็นงานเก่าแก่ แกะสลักจากไม้ลวดลายอย่างวิจิตรสวยงาม และเป็นมรดกของชาวมุสลิมที่นี่ที่ยังคงดูแลรักษาและใช้งานอยู่กระทั่งปัจจุบัน

การได้มาเยือนมัสยิดแห่งนี้ในช่วงเช้าที่แสงลอดผ่านหน้าต่างแต่ละบาน ถือเป็นภาพประทับใจที่เราอยากให้ทุกคนลองมาเห็นด้วยตัวเอง

มัสยิดจักรพงษ์

การได้ออกแรงเดินสำรวจย่านแขกตานีคราวนี้ทำให้เราได้รู้จักกลุ่มคนมุสลิมในกรุงเทพฯ ที่เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายของความเชื่ออันแน่นแฟ้นในเมืองหลวงแห่งนี้ ขณะเดียวกันเราก็ได้รับรู้ถึงน้ำใจไมตรีของพี่น้องผู้นับถืออิสลาม ที่พร้อมเปิดบ้านต้อนรับทุกคนให้เข้ามาเรียนรู้วิถีมุสลิมอย่างอบอุ่นและเต็มใจ

ที่สำคัญ เรายังได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ทั้งผ่านหูจากการฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่บอกเล่าโดยผู้รู้และคนในย่าน ผ่านตาจากการชื่นชมอาคารต่างๆ และวิถีชีวิตของคนมุสลิมในย่าน ซึ่งเป็นเสมือนบันทึกเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของคนในชุมชนแถบนี้ในแต่ละยุคสมัย และสุดท้ายคือผ่านปาก ด้วยการรับรสชาติอาหารตำรับดั้งเดิมของชาวมุสลิม ที่นอกจากอิ่มหนำกับรสชาติแล้ว ยังมีเรื่องราวแง่มุมอื่นๆ ซ่อนอยู่ในอาหารแต่ละจานด้วย

‘อัสซะลามุอะลัยกุม – ขอให้ความสันติสุขจงมีแด่ท่าน’

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.