บึงกาฬ จังหวัดที่มากไปด้วยธรรมชาติ ซึ่งท่ามกลางแมกไม้นานาพรรณเขียวชอุ่ม ภายใต้ร่มเงาของมันคือพื้นที่ซุกตัวของ หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ อำเภอโซ่พิสัย ที่เปรียบเสมือนเกาะถูกห้อมล้อมด้วยสายน้ำ ซึ่งรุ่มรวยไปด้วยอัตลักษณ์คนชาติพันธ์ุไทโส้ วิถีชีวิตเรียบ ง่าย งาม และความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติสมกับประโยคที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”
ไม่เพียงเท่านั้น หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ จังหวัดบึงกาฬในวันนี้ยังกลายเป็น ‘พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ’ ที่ลูกหลานอย่าง ขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์แนวหน้าของเมืองไทย หวนกลับมาพัฒนาบ้านเกิดและรากเหง้าบึงกาฬให้มีลมหายใจอีกครั้ง จนพาชุมชนที่เคยไกลปืนเที่ยงแห่งนี้ไปคว้ารางวัลกูร์มองด์ อะวอร์ด (Gourmand Awards) หรือรางวัลออสการ์อาหารโลกซึ่งจัดขึ้นโดยประเทศฝรั่งเศส
ธรรมะ-ธรรมชาติ-วัฒนธรรม สามแก่นแท้รากเหง้าบึงกาฬ
ขาบเล่าว่า เรื่องธรรมะ จังหวัดบึงกาฬมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังมากมายให้ศรัทธา หากเป็นธรรมชาติคงไม่ต้องอธิบายให้มากความ เพราะบึงกาฬจัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีห้วย หนอง คลอง บึง เยอะที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ส่วนด้านวัฒนธรรมก็แสนหลากหลายด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘ชาติพันธุ์ไทยโส้’ แห่ง ‘หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่’ ที่ภายหลังเพี้ยนมาเป็นไทยโซ่ และถูกตั้งเป็นชื่ออำเภอโซ่พิสัย แปลว่าเมืองของคนโส้
ทั้งสามธรรมนี้จึงกลายเป็นรากเหง้าอันสมบูรณ์พร้อมของบึงกาฬ ซึ่งส่งเสริมให้จังหวัดที่เกิดขึ้นหลังสุดในแผนที่ประเทศไทยรุ่มรวยไปด้วยทุนวัฒนธรรม
ขี้เหล็กใหญ่ในกาลก่อน
ภาพหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ในวันที่ขาบยังเป็นเด็ก คือหมู่บ้านที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นดอน อุดมไปด้วยต้นไม้ใหญ่เขียวชอุ่มซึ่งคอยแผ่กิ่งก้านสร้างร่มเงาให้เป็นพื้นที่ซุกตัวสำหรับบ้าน 45 ครัวเรือน เขาเล่าถึงบรรยากาศของหมู่บ้านผ่านฤดูทั้งสาม ที่วิถีชีวิตจะเวียนวนกันไปพร้อมรอยยิ้มและการเติบโตของชุมชน
แสงแดดจ้าบอกสัญญาณ – แน่นอนว่าเมษายนนั้นร้อนกว่าเดือนไหน ซึ่งจะตรงกับช่วงปิดเทอม เด็กๆ เลยพากันยกก๊วนไปกระโดดลงคลอง ลงหนอง ดังตูมจนผืนน้ำแตกเป็นฟอง อีกความสนุกของหน้าร้อนคือวันสงกรานต์ ที่รุ่งเช้า 13 เมษา หมู่เฮาชาวขี้เหล็กใหญ่จะเตรียมสรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน พอช่วงเที่ยงก็จะพากันใส่ซิ่น ใส่โสร่ง ไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัด ข้างกันจะมีรางน้ำพญานาคคอยพาน้ำไหลไปรวมกันที่จุดหนึ่ง เด็กๆ ก็จะไปยืนรอรับน้ำจนตัวหอมฉุย เป็นความสุขวัยเด็กที่ขาบย้ำกับเราพร้อมรอยยิ้มว่า งดงามมากจนจำได้ไม่เคยลืม
ฝนเอยทำไมจึงตก – ย่างเข้าฤดูฝนพรำ น้ำเอ่อล้นรอบหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่จนคล้ายกับเกาะเกาะหนึ่ง ที่หากมองลงมาจากมุมสูงจะเห็นภาพต้นไม้เขียวขจีปกคลุมชุ่มฉ่ำ มีนกบินว่อนส่งเสียงแข่งกัน และรายล้อมด้วยผืนน้ำ โดยช่วงเวลาหลังฝนตกใหม่ ทุ่งนา ผืนดินจะส่งกลิ่นหอมมาพร้อมสายลมพัดอ่อนที่ชวนสบายอารมณ์จนอยากเอนหลังพักสักผ่อน
ลมหนาวที่ไม่เหงา – เมื่อลมหนาวพัดมา บรรยากาศของหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่นั้นไม่ได้เปลี่ยวเหงา กลับเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของลูกเด็กเล็กแดงในหมู่บ้าน โดยเฉพาะตอนเดินทางไปโรงเรียนยามเช้านั้นจะเต็มไปด้วยความตื่นเต้น เพราะคืนก่อนเดินทางไกลไปโรงเรียนซึ่งอยู่หมู่บ้านข้างเคียง เจ้าเด็กวัยกระเตาะจะมานั่งล้อมวงผิงไฟ พร้อมจี่ข้าวจี่ทาไข่ เพื่อนำไปอวดกันระหว่างเดินเท้าไปโรงเรียน เป็นภาพที่นึกตามแล้วอดไม่ได้ที่จะยิ้มออกมา
ลูกหลานหวนคืนถิ่น
“ทุกคนเวลาขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้ว ถ้าไม่ลืมหลัง ก็จะกลับไป ซึ่งผมเลือกที่จะกลับไปหาบ้านเกิดเพื่อสร้างบางอย่างในวันที่เรายังมีโอกาส”
การหวนคืนถิ่นกำเนิดของลูกอีสานครั้งนี้ เป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์กว่า 150 ปีแห่งการก่อตั้งหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ขาบลุกขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมที่ไม่เคยก้าวขยับ ให้ปรับทั้งสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตบางมุม แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เขายังคงยึดมั่นว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องเป็นไปอย่างไม่ทิ้งอารยธรรมชุมชน
“ต้องยอมรับว่าเมื่อกลับไป เขาไม่ได้มองเราเป็นคนพื้นที่ ฉะนั้น วิธีคือการใช้กุศโลบายบางอย่างที่สร้างประโยชน์สูงสุดให้ชุมชน”
กุศโลบายครั้งแรกถูกใช้กับครอบครัว ซึ่งขาบเล่าว่า ตอนคิดรีโนเวตบ้านไม้หลังเก่าอายุร่วม 70 ปีที่คุณพ่อวัย 90 ปีอาศัยอยู่สู่พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ก็มีสะดุดตรงคุณพ่อไม่เอาด้วย แต่เขาไม่ยอมแพ้ ขอลองทำสักห้องหนึ่งให้สวย ก่อนไปเตี๊ยมกับพี่สาวและเพื่อนๆ ว่า ถ้าทำเสร็จแล้วให้พาคุณพ่อขึ้นมาบนเรือน แล้วพี่สาวกับเพื่อนต้องคอยชื่นชม
“พอคุณพ่อมาเห็นปุ๊บ ก็เชียร์อย่างเดียวเลยครับ สวย ดี งาม (หัวเราะ) ผมก็ถ่ายรูปแล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊กพร้อมเช็กอิน พอมีคนมากดไลก์ กดแชร์ และชื่นชม ก็เอาไปให้คุณพ่อดูและอ่านคำชมเหล่านั้นให้เขาฟัง คุณพ่อเลยเคลิ้ม ตกหลุมพรางเลยครับ (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็เปลี่ยนบ้านสู่พิพิธภัณฑ์มีชีวิตได้สำเร็จ”
ตอนนี้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ ที่ขาบรังสรรค์ขึ้น ปรับใต้ถุนบ้านเป็นที่พักเพื่อเปิดให้คนนอกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ได้ใช้ชีวิตในพิพิธภัณฑ์ และซึมซับประวัติศาสตร์จากคำเล่าของลูกหลานผู้ผูกพันกับหมู่บ้านมาเนิ่นนาน
กุศโลบายที่สองขาบเลือกใช้กับชาวบ้านในชุมชน ที่เขานำศิลปะร่วมสมัยอย่างกราฟฟิตี้ มาหลอมรวมกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นได้อย่างมีเสน่ห์
“ผมเริ่มจากการวางแผนว่าจะปรับภูมิทัศน์อย่างไร ซึ่งตัวผมสนใจด้านศิลปะร่วมสมัย โดยเฉพาะงานกราฟฟิตี้อยู่แล้ว เลยทำการบ้านด้วยการบินไปดูกราฟฟิตี้หลายๆ ที่ในโลก และพบงานที่ชอบมากๆ อยู่ที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย ซึ่งอดีตเคยเป็นเกาะร้างครับ ก่อนมีศิลปินเข้ามาอาศัย เขาสร้างสรรค์สารพัดอย่างจนเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างคุณภาพชีวิตมากมาย”
หลังจากรวบรวมภาพมะละกาในอดีตกับปัจจุบันซึ่งประกอบด้วยศิลปะ ร้านค้า ที่พัก และอาหารได้จำนวนหนึ่ง ขาบก็นัดคุยกับชุมชนที่พิพิธภัณฑ์มีชีวิตผ่านการประสานงานโดยผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าอยากผลักดันให้หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ดีกว่าเดิม ผ่านแรงศรัทธาของชุมชนอย่าง ‘พญานาค’
เมื่อกุศโลบายที่ใช้กับคุณพ่อและชาวบ้านประสบผล ลวดลายพญานาคที่แตกต่างแต่ลงตัวจึงเกิดขึ้น โดยขาบเป็นผู้มองหาศิลปินพ่นกราฟฟิตี้พญานาคเพื่อสร้างชีวิตให้หมู่บ้าน ซึ่งต้องดึงเอกลักษณ์ของบ้านแต่ละหลังมาผสมผสานกับลายพ่นให้เป็นภาพกราฟฟิตี้พญานาคที่เล่าเรื่องราวของบ้านหลังนั้นๆ อย่างเด่นชัด
“กราฟฟิตี้พญานาคต้องไม่เหมือนที่ศิลปินทั่วไปทำ เพราะทุกชิ้นจะต้องอธิบายวิถีชีวิตของบ้านแต่ละหลังด้วย และทำให้งานชิ้นนั้นเป็นชิ้นเดียวในโลก”
ดังนั้น กราฟฟิตี้พญานาคในหมู่บ้านจึงมีหลากหลายตามแต่ละอาชีพ เช่น บ้านนี้สานกระติ๊บขาย ก็จะเป็นรูปพญานาคสานกระติ๊บ บ้านนี้ขายลอดช่อง ก็จะเป็นภาพพญานาคทำลอดช่อง เพื่อเปลี่ยนอาชีพที่แต่ละบ้านทำสู่งานศิลปะบนผืนผนังชิ้นมาสเตอร์พีซหนึ่งเดียวในโลกที่สร้างตัวตนให้ชาวบ้าน ไม่เพียงเท่านั้น ในหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ยังมีประติมากรรมพญานาค อย่างพญาทะนะมูลนาคราช พญานาคสีชมพูที่เปิดให้กราบไหว้ และพญานาคสองฝั่งโขงลาว-ไทย ที่เปิดให้ลอดท้องขอพร
ชุบชูชีวิตชุมชน
เพราะขาบมองว่าบ้านหนึ่งหลังคือประวัติศาสตร์ของหนึ่งครอบครัว พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬเลยมีแนวคิดว่า บ้านทุกบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ ทุกครัวเรือนจึงเริ่มปรับตัวเพื่อนำเสนอของดีของเด่นประจำบ้าน โดยมี โลคอลสู่เลอค่า เป็นแก่นสร้างให้คุณภาพงานชุมชนทัดเทียมมาตรฐานสากลอย่างไม่ทิ้งรากเหง้า
ไม่เพียงเท่านั้น ขาบยังชุบชูใจคนในชุมชนด้วยการสร้างให้หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่เป็นศูนย์สร้างแรงบันดาลใจ ที่ส่งเสริมให้ชาวขี้เหล็กใหญ่รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง ผ่านการขายของดี และเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ เป็นไกด์ท้องถิ่น
“ทำไมผมถึงใช้คำว่าแรงบันดาลใจ เพราะพื้นที่อับสัญญาณแบบหมู่บ้านผมไม่อยู่ติดโขง ไม่อยู่ติดจังหวัดบึงกาฬ อยู่ห่างกรุงเทพฯ เป็นหมู่บ้านบ้านนอกที่ไม่มีอะไรเลย แต่ตอนนี้เราเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ถูกพูดถึงเยอะที่สุด ล่าสุดปีที่แล้วหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่เพิ่งได้รับรางวัลกูร์มองด์ อะวอร์ด (Gourmand Awards) หรือรางวัลออสการ์อาหารโลก ที่ประเทศฝรั่งเศส ใครจะคิดครับว่าที่นี่จะได้รางวัล”
อัตลักษณ์ถิ่นขี้เหล็กใหญ่
โลคอลสู่เลอค่าที่หยิบยกมาให้รู้จักกันอย่างแรกคือ คล้าจักรสาน ขาบนำพืชเศรษฐกิจของหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่อย่าง ‘ต้นคล้า’ ที่โดนฝนไม่ขึ้นเชื้อรา โดนแดดก็ไม่ไหม้กรอบมาเปลี่ยนสู่หัตถกรรมดีไซน์ดีภายใต้ชื่อ รักษ์คล้า แบรนด์กระเป๋าและเครื่องประดับคล้าสาน ที่ครบเครื่องทั้งความสวยงามและการใช้งานทนทาน
“ผมโตมากับกระติ๊บข้าวเหนียวที่สานจากคล้า เพราะเวลาออกไปทำนาไม่ต้องห่วงเรื่องตากแดด ตากฝน พอกลับมาพัฒนาชุมชนเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ผมเลยชวนดีไซเนอร์มาช่วยออกแบบการสาน ทำให้จากกระติ๊บข้าวเหนียวก็ประยุกต์เป็นกระเป๋า ที่ใส่ทิชชู พวงกุญแจ และอื่นๆ ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 5 – 6 เท่าให้กับงานสานคล้าของชุมชนครับ”
วัตถุดิบท้องถิ่นตามฤดูกาลคือสิ่งที่ยิ่งเสริมของโลคอลให้เลอค่า ตั้งแต่เนื้อปลาแม่น้ำโขงตามธรรมชาติ ที่จับสดใหม่แล้วนำมาจัดสำรับ มีทั้งปลาสะงัว ปลาเข้ ปลาเนื้ออ่อน ปลากด ปลาค้าว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปลาตระกูลหนัง ถัดมาคือผักสดพื้นบ้านที่ชุมชนปลูกริมรั้ว เช่น ผักกาดหิ่น แตง บวบ มะเขือ ถั่วฝักยาว ผักชี พริก สะระแหน่ อัญชัน
เมื่อมีวัตถุดิบที่แสนโดดเด่นและน่าลิ้มลองอยู่ใกล้ตัว ก็ถึงเวลานำมาเคล้าเป็นอาหารพื้นถิ่นกว่าสิบเมนูให้ครบรสต้ม หมก ทอด ลาบ แจ่ว ทานคู่กับปลาร้าบองรสเด็ด ก่อนจัดใส่รางไม้ไผ่โดยฝีมือขาบที่งัดสกิลฟู้ดสไตลิสต์ทั้งหมดที่มีออกมาใช้อย่างไม่มีกั๊ก และหลังจากอิ่มหนำกับของคาว ยังมีของหวานตบท้ายอย่าง ‘ลอดช่องพญานาค’ พร้อมด้วยน้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะพร้าวอ่อน และน้ำอัญชันชวนชื่นใจ
“การรักษาอัตลักษณ์ของหมู่บ้าน ให้คงอยู่นั้นจำเป็นที่สุด เราต้องมีรากเหง้า เพราะถ้ามนุษย์ไม่มีรากเหง้าก็จะไม่มีคุณค่าครับ หมู่บ้านก็เหมือนกัน มีหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่คนพยายามทิ้งทุนเดิม แล้วเห่อของนอก แต่รู้ไหมครับ ของที่อยู่รอบตัวคือทุนมหาศาลที่คุณกำลังมองข้าม”
ขี้เหล็กใหญ่หลังกาลนี้
ภาพหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ในวันนี้เข้มแข็งกว่าเดิมจนสร้างรายได้ให้ชุมชนหลักล้านต่อปี แต่ขาบยังคงไม่หยุดพัก เขามองไปถึงภาพหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ในวันข้างหน้า ด้วยความคิดที่อยากส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้ลูกหลานรุ่นถัดไปก่อนเขาจะสิ้นลมหายใจ
“อย่าลืมนะครับว่าวันหนึ่งผมต้องตาย เมื่อผมตาย สิ่งที่ผมสร้างก็ต้องตาย ดังนั้น เด็กรุ่นใหม่ต้องเป็นผู้สร้างแทนผม ผมเลยกำลังสร้างเยาวชนตีคู่กับผมไปด้วย ซึ่งตอนนี้ที่หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่มีเด็กๆ มาทำจิตอาสาและฝึกงานเยอะที่สุดในจังหวัดบึงกาฬ เพื่อเอาผลงานไปสร้าง Portfolio สำหรับสมัครเรียนต่อ ผมว่าสิ่งนี้คือการส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสเข้าไปเรียนในที่ต่างๆ เช่น สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สำนักพระราชวัง ซึ่งทำสำเร็จมาแล้ว 3 รุ่น เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ ได้เข้าใจ และกลับมาพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนในวันข้างหน้า”
ขาบยังบอกต่อว่า สิ่งที่เขาทำอยู่ตอนนี้ มีมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนา เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เข้ามาจัดคอนเสิร์ตเกษตรเลอค่านาคี แม้ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังอยากให้ภาคส่วนอื่นๆ เล็งเห็นความสำคัญ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่เป็นหมู่บ้านต้นแบบของประเทศที่สร้างความสุขให้คนในชุมชนและคนภายนอกได้อย่างยั่งยืน
“มนุษย์ทุกคนเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกสร้างประวัติศาสตร์โลกก่อนที่เขาจะตายได้ ผมอยากให้ประวัติศาสตร์จารึกชื่อหมู่บ้านผม ไม่ต้องจารึกชื่อผมก็ได้ แต่ผมอยากให้จารึกถึงหมู่บ้านผมว่า ครั้งหนึ่งเป็นเพียงพื้นที่ที่ไม่มีอะไรเลย แต่ ณ วันนี้ หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ไปไกลถึงระดับโลกครับ” ขาบกล่าวทิ้งท้ายด้วยความภูมิใจในเลือดขี้เหล็กใหญ่ที่เข้มข้นในตัวตน
หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ
Facebook : พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ
Map : https://goo.gl/maps/DUHq8VR8rqrr1CLG8