ตรอกดิลกจันทร์ หรือ ชุมชนสมเด็จย่า - Urban Creature

เสียงคลื่นจากเรือกระทบฝั่ง ณ ‘ตรอกดิลกจันทร์’ หรือ ‘ชุมชนสมเด็จย่า’ ที่หลายคนคุ้นหู พื้นที่ชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาที่ในอดีตย่านธุรกิจการค้าและการส่งออกที่เคยรุ่งเรืองมาเป็นเวลานาน ครั้งที่ประเทศไทยยังมีเส้นเลือดใหญ่เป็นการสัญจรและขนส่งทางน้ำเป็นหลัก ซึ่งส่งผลให้ความเจริญของธุรกิจการค้าขายกระจายตัวอยู่ในย่านนี้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงน้ำปลา โรงเกลือ โรงสีข้าว โรงทำชันยาเรือ หรือโรงงานทอผ้า ที่ในปัจจุบันแทบไม่หลงเหลือให้เห็นธุรกิจเหล่านั้นแล้ว 


Urban Creature จึงออกเดินทางไปตามรอยชุมชนเล็กๆ ที่หากมีโอกาสนั่งเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาจะสังเกตเห็นศาลเจ้าและบ้านเก่าริมน้ำโดดเด่นมาแต่ไกล นั่นแหละคือที่ตั้งของชุมชนตรอกดิลกจันทร์ ที่แม้เรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองของการขนส่งสินค้าทางน้ำจะเป็นภาพที่เลือนรางในปัจจุบัน แต่ความทรงจำของผู้คนในชุมชนยังคงชัดเจนอยู่เสมอ

ทุกย่านล้วนมีเรื่องราวที่แอบซ่อนอยู่ การออกเดินทางครั้งนี้ของคอลัมน์ Neighborhood จะพาไปลัดเลาะริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านธุรกิจที่เคยคับคั่งทั้งการส่งออกสินค้าทั้งในและต่างประเทศในสมัยที่การเดินทางและการขนส่งสินค้าด้วยเรือยังเป็นเส้นเลือดหลักของประเทศไทย ‘ชุมชนตรอกดิลกจันทร์’ หรืออาจคุ้นหูกันในชื่อ ‘ชุมชนสวนสมเด็จย่า’ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเขตคลองสาน กรุงเทพฯ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสะพานพระปกเกล้าเท่าไหร่นัก


หากใครเคยมีโอกาสมางาน Art in Soi เทศกาลประจำปีย่านประวัติศาสตร์ริมน้ำ กะดีจีน-คลองสานแล้วล่ะก็คงคุ้นเคยกับย่านนี้พอสมควร ขณะเดียวกันหลายคนอาจยังไม่เคยได้สัมผัสย่านนี้เท่าไหร่ อาจคุ้นๆ ว่าเคยผ่านไปผ่านมาแต่ไม่เคยได้เข้าไปสักที ครั้งนี้ ‘ชุมชนตรอกดิลกจันทร์’ จะไม่ใช่ทางผ่านที่ถูกลืมอีกต่อไป

ชุมชนตรอกดิลกจันทร์ ชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ

ประเทศไทยผูกพันกับสายน้ำมาโดยตลอดจนกลายเป็น ‘สังคมลุ่มแม่น้ำ’ ที่ทำเกษตรกรรม ทำสวน ทำนา เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญทั้งกับภายนอกและภายใน เพื่อทำการค้าขายและส่งออก 


ขึ้นชื่อว่าสายน้ำย่อมมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้คนมากมายหลายหลากวัฒนธรรมต่างหลั่งไหลเข้ามาทางทะเล รวมกับคนในพื้นที่ จนเกิดบูรณาการทางวัฒนธรรม ขยายเป็นสังคม ชุมชน และเมืองในที่สุด
 

แต่เมื่อการพัฒนาประเทศเปลี่ยนไป กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่เริ่มมาแต่ครั้งรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชีวิตของผู้คนริมน้ำก็เริ่มหายไป เช่นเดียวกับ ‘ชุมชนตรอกดิลกจันทร์’ ย่านธุรกิจที่เคยเฟื่องฟูมีสายน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต มาในวันนี้ก็ซบเซาลงไปตามกาลเวลา ไม่ต่างจากอีกหลายๆ ชุมชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ศูนย์รวมประวัติศาสตร์ ปอดของคนในชุมชน

เราออกเดินทางกันในช่วงเช้าท่ามกลางแสงแดดอันร้อนแรงจนต้องหยีตา สู่สถานที่แรกในลิสต์คือ สวนสมเด็จย่า หรืออุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวชุมชนตรอกดิลกจันทร์ 


ก้าวแรกที่ไปถึง จากอากาศร้อนภายนอกที่พาเอาเหงื่อไหลกันตั้งแต่เริ่มทริป เมื่อได้มาเจอสายลมเย็นปะทะหน้ารับกับเสียงใบไม้น้อยใหญ่กระทบกันตามจังหวะของลมที่พัดผ่าน เราแทบอยากจะปูเสื่อนอนตรงนี้ซะเลย เพราะนอกจากอากาศดีแล้วปริมาณต้นไม้ยังเยอะและอุดมสมบูรณ์จนน่าตกใจ ไม่คิดว่าในกรุงเทพฯ จะมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ขนาดนี้ เรียกว่าเป็นปอดของชุมชนก็ว่าได้

นอกจากพื้นที่สีเขียวที่อุดมสมบูรณ์แล้ว ด้านในอุทยานยังเป็นเหมือนจุดนัดพบของคนในชุมชนให้ได้มาพบปะพูดคุยกัน เราเห็นคุณลุงคุณป้าก็ได้มีกิจกรรมร่วมกันอย่างการวิ่ง หรือรำไทเก็ก อีกมุมหนึ่งมีเด็กๆ มาวิ่งเล่น ยิ่งทำให้รู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นศูนย์รวมใจของคนในชุมชน 


เดินลึกเข้าไปอีกหน่อยจะพบอาคารพิพิธภัณฑ์ที่จำลองบ้านเดิมของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครั้งพระองค์ประทับในละแวกชุมชนนี้ และบริเวณโดยรอบยังเต็มไปด้วยกำแพงและอาคารอิฐโบราณ ที่เรียกว่า อาคารทิมบริวาร ซึ่งยังคงหลงเหลือกลิ่นอายสถาปัตยกรรมแบบจีนซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ปกคลุมไปด้วยรากของต้นไม้ใหญ่แสดงถึงความเก่าแก่ของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี กลายเป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เรื่องราวในอดีต และสถานที่พักผ่อนของผู้คนที่แวะเวียนเข้ามา

ศาลเจ้ากวนอู พลังศรัทธาที่ผ่านกาลเวลามาเกือบ 300 ปี

เดินออกมาจากสวนสมเด็จย่าไม่ไกลนักก็พบ ‘ศาลเจ้ากวนอู’ ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม้มองไกลๆ จากฝั่งสะพานพระปกเกล้าก็ยังเห็นเด่นชัด ศาลเจ้าแห่งนี้ถือเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีอายุเกือบ 300 ปี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2279 สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี 

ว่ากันว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินเคยเสด็จมาสักการะเทพเจ้ากวนอูที่ศาลแห่งนี้ ก่อนที่จะกรีธาทัพไปทำสงคราม จึงเป็นที่มาของรูปปั้นสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ตั้งอยู่ริมน้ำด้านหน้าศาลเจ้า หากอยากขอพรจากเทพเจ้ากวนอูให้สมหวัง ผู้ที่จะขอพรต้องเข้าไปจับที่เท้าของเทพเจ้ากวนอูแล้วอธิษฐานตามที่ตั้งใจไว้ 


หากลองสังเกตทางด้านซ้ายของศาลเจ้ากวนอู จะพบบ้านคหบดีจีนโบราณที่มีอายุประมาณสองร้อยกว่าปี อันเป็นที่ตั้งของโรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ ธุรกิจที่ถูกส่งต่อจากบรรพบุรุษชาวจีนสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 2 โดยได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของจีนทางตอนใต้ กลายเป็นบ้านในรูปทรงนี้เรียกว่าบ้านล้อมลาน เพราะจุดเด่นของบ้านที่มีลานโล่งอยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยอาคารที่อยู่อาศัย ซึ่งในปัจจุบันสถาปัตยกรรมในรูปแบบนี้แทบหาดูไม่ได้แล้ว

บ้านอากงอาม่า มนตร์เสน่ห์ของบ้านเก่าที่ส่งต่อเรื่องราวจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

หลังจากเดินชมและสักการะศาลเจ้ากวนอูเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ท้องก็เริ่มหิวพอดี เราเลยตกลงกันว่าจะฝากท้องกันที่ร้านบ้านอากงอาม่า (My Grandparent’s House) ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาเรารู้สึกเหมือนมาบ้านคุณตาคุณยาย ด้วยโครงสร้างที่เป็นไม้ทั้งหลัง ข้าวของเครื่องใช้อย่างตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ยังคงใช้ของเก่าเป็นหลัก ให้ความรู้สึกที่ต่างออกไปจากร้านอื่น 


ลองมองไปรอบๆ ร้านก็จะพบภาพบรรพบุรุษหลายต่อหลายรุ่นติดอยู่บนผนัง บ่งบอกถึงความเก่าแก่ของสถานที่ และประวัติศาสตร์ที่ยังไม่จางหาย เราไม่รอช้าที่จะชวน อาเจ็กพูนศักดิ์ ทังสมบัติ เล่าถึงความเป็นมาของบ้านหลังนี้ที่อยู่เคียงคู่แม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างยาวนาน


“หลังจากต้นตระกูลอพยพจากเมืองจีนมาตั้งรกรากที่ไทย ก็เริ่มค้าขายอยู่แถวย่านตลาดพลูก่อนจะย้ายมาเช่าเก๋งจีนอยู่ ซึ่งมารู้ทีหลังว่าบ้านหลังนี้สร้างประมาณปี 2472 ก่อนสร้างสะพานพุทธฯ อีกแหนะ พออยู่นานไปประจวบเหมาะกับพื้นที่ด้านข้างเก๋งจีนที่ครอบครัวเราอยู่ เจ้าของเขาสร้างบ้าน เราก็เลยขอเช่าเขาตั้งแต่นั้นมา ประมาณสี่สิบห้าปีเห็นจะได้ 


“ภายหลังพอเจ้าของที่ยอมขายให้ ที่นี่เลยถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัย ข้างล่างก็ทำเป็นออฟฟิศทำบัญชี แล้วก็ขายน้ำปลาเป็นธุรกิจนับตั้งแต่ตอนนั้น แต่พอการเดินทางและขนส่งทางเรือซบเซาลง จากเมื่อก่อนทุกบ้านริมน้ำจะมีท่าน้ำเป็นของตัวเอง ไม่ใช่โป๊ะนะ เป็นท่าน้ำที่ยื่นออกไป เพื่อให้เรือจอดส่งของรับของได้สบายมาก อย่างเมื่อก่อนเรือจะขึ้นตรงท่าหน้าบ้านนี้เลย เรียกว่าเป็นย่านธุรกิจที่คึกคักเลยล่ะ”


อาเจ็กเล่าเรื่องสมัยอดีตด้วยแววตาเป็นประกาย ทำเอาเราอยากย้อนเวลากลับไปช่วงนั้น ย่านนี้คงคึกคักไปด้วยผู้คน และการสัญจรทางเรือที่เดินทางเข้าออกแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมากแน่ๆ แม้ในปัจจุบันนี้เราไม่มีโอกาสเห็นอีกแล้วก็ตาม

แม้ภาพย่านชุมชนสมเด็จย่าเมื่อก่อนอาจดูเลือนรางสำหรับเราไปสักหน่อย แต่หลังจากอาเจ็กเล่าประวัติศาสตร์และเรื่องราวสมัยก่อนให้ฟังแล้ว ยิ่งทำให้เราอยากเติมเต็มภาพจำในอดีตให้ชัดเจนมากขึ้น ระหว่างนั่งพูดคุยกันอย่างออกรส อาเจ็กหยิบแฟ้มเล่มใหญ่แล้วชี้ชวนเปิดภาพย่านตรอกดิลกจันทร์ในสมัยก่อนให้เราดูแบบไม่หวง พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า 


“ย่านนี้ก็เป็นย่านความเจริญเก่า ยกตัวอย่างง่ายๆ ผมเองเป็นโรงน้ำปลา ด้านข้างเป็นโรงชันทำชันกับน้ำมันยาง ซึ่งสมัยก่อนจำเป็นมากเพราะเอาไว้ใช้ยาเรือ แต่ก็ถูกรื้อถอนไปแล้ว ติดกันเป็นโรงงานทอผ้าที่มีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ถัดไปก็มีโรงทำผักดอง ผลไม้ดอง โกดังข้าว ขนมเปี๊ยะ ถุงพลาสติก ตู้เซฟ มันครบถ้วนมากๆ”


อาเจ็กเล่าถึงธุรกิจรอบข้างที่เคยอยู่เคียงคู่โรงน้ำปลา ทำให้เราเกิดคำถามถึงความรู้สึกในมุมของคนที่เห็นการเปลี่ยนผ่านมาหลายสิบปี 


“เมื่อก่อนสบายกว่าเยอะ แต่มันก็เปลี่ยนผ่านไปตามยุคสมัย อย่างผมเองอายุมากแล้ว ไม่คิดว่ายุคสมัยนี้คนเขาจะกลับมาให้ความสำคัญกับของเก่า เราเองก็ยังมีบางมุมที่ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เท่าไหร่ 


“หลายคนชอบถามว่าทำไมถึงทำร้านบ้านอากงอาม่า ผมเองก็จะตอบว่า จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจทำตั้งแต่แรก แต่ผมอยากให้โอกาสทุกคนเข้ามาเห็นว่าของเก่าเป็นแบบนี้นะ 


“อย่างน้อยมันคือการทำให้คนที่มาร้านอากงอาม่าฉุกคิดอะไรบางอย่างได้ บางคนน้ำตาซึมคิดถึงวันเก่า บางคนคิดถึงบ้านเก่า บางคนเดินทางมาไกลเพื่ออยากพาคนที่รักมาที่นี่ ผมก็รู้สึกว่าการให้พื้นที่ตรงนี้มันมีคุณค่าทั้งสำหรับผมเองและคนอื่นๆ ด้วย”

หลังจากคุยกับอาเจ็ก เราได้รับรู้เรื่องราวมากมายในมุมที่เราไม่เคยรู้มาก่อน นอกจากเรื่องราวความหลังของย่านและร้านบ้านอากงแล้ว เราก็ไม่พลาดจะลองลิ้มชิมรสอาหารของที่นี่ แถมในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ยังมีเมนูพิเศษอย่างเฉาก๊วยโบราณสูตรอาม่า ที่มาพร้อมเฉาก๊วยเหนียวนุ่ม โรยด้วยน้ำตาลอ้อย และวุ้นมะพร้าวน้ำหอมสูตรอาม่า ที่คอยต้อนรับดับร้อนของผู้คนที่แวะไปแวะมา 


และไฮไลต์ที่ชอบมากจนต้องขอเบิ้ลเลยก็คือ น้ำเก๊กฮวยสูตรอาม่า ให้กลิ่นหอมของเก๊กฮวยแท้ๆ นอกจากของหวานแล้ว ที่นี่ยังมีของคาวแบบไทยๆ ให้ลิ้มลองกันด้วย 


บทสนทนาระหว่างเรากับอาเจ็กพูนศักดิ์จบลง เพียงชั่วเวลาไม่นานนัก เราได้รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์มากมาย ที่คิดว่าไปหาอ่านตามหนังสือคงไม่มีแน่ๆ ยิ่งคุยยิ่งสนุกจนไม่อยากกลับ เราเลยสัญญาว่าจะหาโอกาสกลับมาหาอาเจ็กอีกแน่นอน

โรงเกลือแหลมทอง มนตร์เสน่ห์ของบ้านไม้เก่าที่ส่งต่อมา 3 ชั่วอายุคน

เราออกเดินทางกันอีกครั้ง เจอทั้งคุณลุง คุณป้า เด็กๆ ที่วิ่งเล่นกันอยู่ ภาพการถอยรถเข้า-ออกระดับเซียนเพราะขนาดซอยที่ค่อนข้างแคบ จนกลายเป็นที่ลับฝีมือของคนขับแบบสุดๆ ร้านขายของชำน้อยใหญ่ที่เรียงรายไปด้วยขนมและข้าวของหลายอย่างที่ไม่ว่าใครอยากได้อะไรก็ต้องพุ่งมาที่นี่ สำหรับเราอากาศร้อนๆ แบบนี้ก็ต้องแวะซื้อเป๊ปซี่ใส่น้ำแข็งสักถุงแล้วล่ะ


หลังจากเดินลัดเลาะชุมชนมาเรื่อยๆ เราเห็นร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงของย่าน เศษซากอาคารมากมายที่ปัจจุบันซุกซ่อนอยู่ภายใต้ต้นไม้ใหญ่ที่กระจายให้เห็นทั่วชุมชน 


ไม่นานเราก็เดินมาถึงหน้าโรงเกลือแหลมทองที่ยืนหยัดอยู่คู่ย่านตรอกดิลกจันทร์มานานกว่า 3 ชั่วอายุคน เฮียเจี่ย-กิตติ มคะปุญโญ ยิ้มยืนรอทักทายอยู่แล้ว พร้อมชักชวนเราเข้าไปด้านในของโรงเกลือ ภาพอาคารไม้ขนาดใหญ่ที่อยู่ตรงหน้าชวนให้เราอยากรู้ถึงเรื่องราวในอดีต


“เมื่อก่อนที่นี่จะขนเกลือมาทางเรือแล้วก็ขึ้นท่าหลังบ้านนี้เลย เกลือของแหลมทองจะเป็นเกลือทะเล เวลาขนเกลือมาส่งภาพเรือเดินทะเลจอดรอเทียบท่าอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาเยอะมาก แต่พอการขนส่งเริ่มเปลี่ยนเรือเข้ามาส่งของไม่ได้แล้ว อย่างเกลือที่มาจากเมืองนอกเขามาเป็นตู้คอนเทนเนอร์แล้ว มันเลยเข้ามาไม่ได้ ก็เลยต้องเลิกทำไป”

เราแทบนึกภาพไม่ออกว่าถ้าในยุคที่รุ่งเรืองของโรงเกลือแหลมทอง ปริมาณเกลือมันจะมากแค่ไหนกัน เฮียเจี่ยก็เล่าเสริมขึ้นมาว่า 


“วันหนึ่งจะโม่ได้ประมาณหนึ่งยุ้ง หรือสักสี่สิบถึงห้าสิบตัน ซึ่งเรือวันหนึ่งก็จะเข้ามาเทียบท่าประมาณนี้แหละ อย่างเวลาเรือเข้ามาส่งของเขามากันเป็นพวง พวงหนึ่งก็ประมาณสี่ถึงห้าลำ มีเรือลากนำแล้วก็มีเรือต่อท้าย 


“เรือลำหนึ่งหนักประมาณห้าสิบตัน พวงหนึ่งก็สองร้อยกว่าตันได้ แล้วพอเอาเกลือลงเรียบร้อยแล้วมากองรวมๆ กันสูงเป็นภูเขาเลย พอเสร็จกระบวนการต่างๆ ทิ้งเกลือไว้ประมาณสามถึงสี่วันให้แห้ง แล้วแพ็กส่งออกต่างประเทศบ้าง ขายในไทยบ้าง จะเรียกว่ารุ่งเรืองไหม ถ้าในช่วงที่เรือยังเข้ามาส่งของในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ก็ถือว่ารุ่งเรืองนะ”


หลังจากได้รู้ปริมาณเกลือที่เข้ามาในแต่ละวันแล้ว พาเอาเราตกอกตกใจเหมือนกัน ในยุคนั้นการค้ากับต่างประเทศน่าจะทำเงินอยู่ไม่น้อย และระหว่างพูดคุยกับเฮียเจี่ยพร้อมเดินดูภายในโรงเกลือ เรายังได้รู้กระบวนการกว่าจะเป็นเกลือด้วย ลำดับขั้นตอนไม่น้อยทีเดียว!

จากโรงเกลือที่อยู่คู่ย่านชุมชนตรอกดิลกจันทร์มานาน สู่การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่ทำให้วันนี้การทำธุรกิจอาจต้องจบลง ในมุมของเฮียเจี่ยที่เห็นโลกมาพอสมควรจะรู้สึกอย่างไร


“ถามว่าเปลี่ยนแปลงไหม ก็ไม่เท่าไหร่ แต่อีกหน่อยอาจจะเยอะกว่านี้ สิ่งสำคัญเลยถ้ารถเข้ามาถึงได้ง่ายที่นี่ก็น่าจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง 


“สมัยก่อนธุรกิจค้าขายเยอะมาก ถ้าย้อนกลับไปมันก็คล้ายสำเพ็งสมัยนี้แหละ อืม ถ้าให้บอกว่าจุดที่รุ่งเรืองมันตอนไหนก็น่าจะช่วงขายข้าวเยอะๆ แถวนี้จะบูมมากเพราะหลายธุรกิจขายส่งออกต่างประเทศกันหมด พอยิ่งขายมากขึ้นๆ ก็รับกันไม่ไหว ทั้งการขนส่งเอยอะไรเอย ก็พากันย้ายออกไป มันเลยเป็นสาเหตุทำให้ย่านนี้เงียบลงไป พื้นที่ร้างก็มากขึ้นตามไปด้วยอย่างที่เห็นๆ กัน”


เรากล่าวขอบคุณและขอตัวลากลับ เฮียเจี่ยพยักหน้ารับด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มจนเรารู้สึกอบอุ่นเหมือนเป็นลูกเป็นหลานคนหนึ่ง และเชื่อว่าเฮียเจี่ยยังคงยินดีทุกครั้งที่ได้ส่งต่อเรื่องราวเหล่านี้ให้คนรุ่นต่อๆ ไป ไม่ต่างกันกับที่ให้โอกาสเราพูดคุยกันในวันนี้

ตัวแทนคนรุ่นใหม่ผู้ส่งต่อรสชาติกาแฟและเรื่องราวความผูกพันที่มีต่อย่าน

ถัดจากโรงเกลือแหลมทองไม่ไกลนัก เราออกเดินลัดเลาะเลียบทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาจนพบ Deep Root Cafe คาเฟ่ที่ด้านหน้าเป็นที่ตั้งของศาลเจ้า ซึ่งหากไม่สังเกตก็แทบไม่รู้เลยว่ามีร้านกาแฟอยู่ตรงนี้


Deep Root Cafe รายล้อมด้วยผนังโรงสีเก่า ต้นไม้น้อยใหญ่จำนวนมาก ทำให้การมาคาเฟ่ครั้งนี้แตกต่างออกไปจากที่เราคุ้นเคย เราได้เจอ พี่รูท-ฐานพงศ์ จิตปัญโญยศ เจ้าของร้านที่ตัดสินใจปรับเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นร้านกาแฟ เรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจทีเดียว


“เราผูกพันกับย่านนี้พอสมควร เพราะเป็นทางผ่านที่เดินกลับบ้านตอนเด็กๆ พอโตมาต้องย้ายเข้าเมืองไปเรื่อยๆ เราก็เลยคิดถึงบรรยากาศเก่าๆ ธรรมชาติ ความเงียบ เลยเริ่มมองหาพื้นที่ริมน้ำ จนมาเจอตรงนี้


“เรารู้สึกเสียดายถ้าคนไม่มีโอกาสได้เข้ามาเห็น แต่ยังไม่ได้คิดว่าจะทำอะไร พอดีช่วงโควิดเราเริ่มหันมาดริปกาแฟ เลยคิดจะเปิดร้านกาแฟ ซึ่งไอเดียของร้านนึกถึงคำว่า สภากาแฟ เพราะอยากให้ตรงนี้เป็นพื้นที่พูดคุย มากกว่าที่ลิ้มรสชาติกาแฟอย่างเดียว บางคนได้คอนเนกชัน อาจได้พูดคุยกันแล้วทำอะไรร่วมกันเพราะที่นี่


“เริ่มแรกเราลองทำเป็นไกด์จักรยาน เพราะอยากรู้ว่าทำไมฝรั่งเขาดูมีความสุขจังเวลาปั่นเจอคนในชุมชน พอเรามาลองปั่นแล้วเจอคุณลุงคุณป้า เขาก็ทักกินข้าวยังลูก เราก็แบบ เฮ้ย คุยกับเราเหรอ ใช่เหรอ เราไม่รู้จักเขาเลยนะ แปลกใจเหมือนกัน แต่หลังๆ รู้สึกดีนะ ก็เริ่มเข้าใจว่าทำไมฝรั่งเขาชอบกัน”

เราสัมผัสได้ว่านอกจากความชื่นชอบกาแฟ ความผูกพันกับย่านของพี่รูทก็เป็นอีกหนึ่งพลังที่ขับเคลื่อน Deep Root Cafe ให้เกิดขึ้น เราเลยลองถามพี่รูทถึงเสน่ห์ของชุมชนตรอกดิลกจันทร์


“ผมว่าพื้นที่ตรงนี้มันคือความสวยงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ มันเหมือนกับเวลาที่เราทำงานในตัวเมือง วุ่นวาย แล้วเรารู้สึกอยากตกตะกอนชีวิตสักพัก ไปเที่ยวต่างจังหวัด อยากหนีความวุ่นวายแต่ไม่รู้จะไปไหนก็มาที่นี่ ผมว่าตรงนี้มันได้ความรู้สึกแบบนั้น 


“ของบางอย่างมันมีคุณค่าอยู่แล้ว แค่เพียงหยิบสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาสร้างคุณค่าใหม่ มันก็อาจจะทำให้พื้นที่ตรงนั้นมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง อย่างประวัติศาสตร์ในย่านนี้ ถ้าไม่ใช่คนรุ่นเก่าก็คงไม่รู้ที่มาที่ไป ถ้าเราหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าใจและมองเห็นแล้วถ่ายทอดออกไป มันอาจจะไม่ได้กลับมารุ่งเรืองเหมือนเก่า แต่ทุกคนเห็นข้อดีและพยายามจะพัฒนาต่อไปด้วยกัน มันอาจจะดีขึ้นก็ได้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว”

และกาแฟที่เราสั่งไปก็มาเสิร์ฟอยู่ตรงหน้าแล้ว ท่ามกลางอากาศร้อน ได้กาแฟเย็นสักแก้วก็ช่วยคลายร้อนได้เยอะ หลังจากได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่รูทแล้ว เราสัมผัสได้ว่า เขาคือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ทำให้เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งของชุมชนตรอกดิลกจันทร์ ซึ่งไม่ใช่แค่คนรุ่นเก่าเท่านั้นที่หวงแหน แต่ยังมีคลื่นลูกใหม่ที่พยายามจะสานต่อความตั้งใจของคนรุ่นเก่าอยู่ตรงนี้

สะพานด้วนกับการพัฒนาครั้งใหญ่ที่คำว่า ‘ด้วน’ จะไม่มีอีกต่อไป

เราออกเดินเท้าจากร้าน Deep Root Cafe ไปยังเป้าหมายต่อไป ‘สะพานด้วน’ สะพานอันเลื่องชื่อที่รับรองว่าคนในชุมชนต้องคุ้นเคยกับชื่อนี้แน่นอน ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้มีการปรับปรุงพื้นที่ครั้งใหญ่ ชื่อสะพานด้วนจะไม่ด้วนอีกต่อไปแล้ว 


จากโครงสร้างเดิมของรางรถไฟลาวาลินในอดีต หนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่นำร่องที่ถูกเลือกจากชุมชนกะดีจีน-คลองสาน ที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 30 ปี ปัจจุบัน ด้วยความร่วมมือระหว่างศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาฯ (UddC-CEUS) กับกรุงเทพมหานคร และกรมทางหลวงฯ เนรมิตให้พื้นที่นี้ กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าความยาว 280 เมตร กว้าง 8.5 เมตร ที่มีทั้งทางเท้าและทางจักรยานเพื่อเชื่อมฝั่งธนบุรีและพระนครเข้าด้วยกัน โดยใช้ชื่อว่า ‘พระปกเกล้าสกายปาร์ค’ สวนสาธารณะลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก ซึ่งคลายปัญหาของพื้นที่ในเวลากลางคืนที่มักเกิดอันตรายบ่อยครั้ง ให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ และมีไฟส่องสว่างมากขึ้น นับเป็นโปรเจกต์ใหม่ที่ทำย่านและชุมชนรอบข้างมีชีวิตชีวาและถูกพูดถึงอีกครั้ง

เกือบทั้งวันที่เราใช้เวลาอยู่ในชุมชนตรอกดิลกจันทร์ ย่านธุรกิจที่เคยเจริญรุ่งเรือง แม้เป็นชุมชนเล็กๆ แต่กลับมีเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหาและควรอนุรักษ์ไว้ ถึงแม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป แต่เราก็ได้เห็นว่าทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มองเห็นสิ่งเดียวกัน นั่นคือคุณค่าของพื้นที่ และพยายามที่จะรักษาให้คงอยู่จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน 


ปลายทางการออกเดินทางของคอลัมน์ Neighborhood ครั้งนี้แม้ไม่ได้ใหญ่นัก แต่เราผู้ที่ได้ไปเยือน ขอยืนยันว่า ที่นี่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวที่รอให้ทุกคนไปค้นหา

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.