จากที่เคยอยู่บนพื้นดิน ปัจจุบันรูปแบบของ ‘ที่อยู่อาศัย’ ได้กลายสภาพเป็นห้องบนตึกสูงอย่างคอนโดมิเนียม ซึ่งแม้จะมีขนาดที่เล็กลง แต่ราคาและรายละเอียดปลีกย่อยกลับเยอะขึ้น หลายคนจึงต้องการความมั่นใจก่อนจะเสียเงินหลักแสนถึงหลักล้านบาท เพื่อให้ได้ห้องที่ดีที่สุดและมีปัญหาน้อยที่สุด
ขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอย่างเต็มตัวคือ ‘การตรวจบ้าน’ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคงไม่มีใครอยากได้คอนโดฯ ที่อยู่ไปซ่อมไปไม่รู้จักจบสิ้น ด้วยเหตุนี้ ‘คนตรวจบ้าน’ (Home Inspector) จึงเป็นอาชีพที่เกิดขึ้นตามเทรนด์คอนโดมิเนียมที่มีมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจและช่วยลดปัญหาในการเข้าอยู่อาศัยให้กับผู้ซื้อ
“ย้อนไปสิบห้าปีที่แล้ว ผมเป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้าง ได้เห็นว่าขั้นตอนการตรวจรับมอบบ้านหรือคอนโดฯ ก่อนที่จะส่งมอบให้ลูกค้านั้นมีความสำคัญมาก” ‘วิน-บดินทร์ ไชยวานิชย์ผล’ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ ‘Mylovecondo’ บริษัทที่ทำหน้าที่เป็นเพื่อนผู้ช่วยคอยตรวจข้อบกพร่องหรือตำหนิของระบบและโครงสร้าง ก่อนที่บ้านหรือคอนโดฯ หลังนั้นๆ จะส่งต่อถึงมือผู้เป็นเจ้าของ
“เราเป็นตัวช่วยให้ลูกค้าหรือผู้ซื้อที่ยังไม่มีความรู้หรือต้องการงานที่มีความละเอียดสูง และลดปัญหาในการเข้าอยู่อาศัย เพื่อที่หลังจากย้ายของเข้าห้องแล้วไม่ต้องมาแจ้งซ่อมอีก” ‘แอน-สิริพร ทองปากน้ำ’ ที่ปรึกษาของบริษัทช่วยเสริมถึงความสำคัญของอาชีพ
ใครที่เคยสงสัยว่าอาชีพคนตรวจบ้านทำงานยังไง ตรวจอะไรบ้าง คอลัมน์ The Professional ชวนตามไปเคาะพื้น ตรวจประตู ส่องวงกบหน้าต่าง พลางฟังทีม ‘Mylovecondo’ เล่าถึงวิธีการทำงาน ข้อคิดเห็น และมุมมองต่างๆ ของวิชาชีพ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ที่อยู่อาศัยในไทย
จะทำอาชีพคนตรวจบ้านได้ ต้องเรียนจบอะไรมา
วิน : จบวิศวกรรมโยธาหรือวิศวกรรมไฟฟ้า อาจจะมีเครื่องยนต์บ้าง แต่หลักๆ จะเป็นวิศวกรรมโยธาทั้งหมด
แอน : หรือคนที่เกี่ยวข้องกับสายงานวิศวกร อาชีพงานก่อสร้างต่างๆ ก็สามารถทำงานตรวจได้ เขาอาจจะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำให้รูปแบบการตรวจอาจแตกต่างกัน แต่พื้นฐานก็มาจากสิ่งเดียวกันคือเป็นสายงานวิศวกรรม
สโคปการทำงานมีอะไรบ้าง พออธิบายคร่าวๆ ได้ไหม
วิน : งานตรวจบ้านมีขั้นตอนหลักๆ อยู่ 3 อย่าง คือ งาน Structure ที่เป็นเสา คาน พื้น ผนัง งาน Finishing คืองานความเรียบร้อยอย่างเรื่องสีผิวกับฝ้า และสุดท้ายคืองานระบบน้ำไฟ ท่อน้ำทิ้ง ก๊อกน้ำต่างๆ โดยขั้นตอนเหล่านี้รวมอยู่ในการตรวจทั้งหมดเลย ซึ่งจะครอบคลุมการรับมอบบ้านหรือคอนโดฯ ก่อนส่งมอบ
แอน : งานส่วนใหญ่ที่ลูกค้าเรียกใช้บริการจะเป็นงานที่ซื้อตรงจากทางโครงการ ซึ่งสโคปในการซ่อมแซมแก้ไขทั้งหมดเป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาของทางโครงการ ลูกค้าจะไม่มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมห้องตัวเอง ถือเป็นผลดีต่อการเรียกใช้บริการของเรา เพราะหลังจากตรวจบ้านแล้วทางโครงการจะซ่อมและทำให้จุดบกพร่องลดน้อยลงไป ทำให้การเข้าอยู่อาศัยมีปัญหาน้อยที่สุดและตอบโจทย์ฟังก์ชันการใช้งาน
ส่วนเคสแบบที่สองคือ การซื้อเปลี่ยนมือหรือซื้อจากผู้อื่นที่ไม่ใช่โครงการ ผู้ซื้ออาจไม่รู้เลยว่าตึกนี้ดีไหม ต้องซ่อมแซมอะไรบ้าง ก็อาจเรียกทางเราเข้าไปช่วยซัปพอร์ต พูดง่ายๆ ว่าเราเป็นเหมือนวิศวกรในการช่วยตัดสินใจและเสริมสิ่งที่ลูกค้าต้องการอยากรู้
การว่าจ้างแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน
วิน : การตรวจคอนโดฯ จะเริ่มที่ 1,500 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของสถานที่และขนาด เช่น 1,500, 2,000, 2,500 บาท ก็ไล่ไปตามขนาด 30, 40, 50 ตารางเมตร ถ้าเป็นบ้านจะเริ่มที่ 3,500 – 4,000 บาท แบ่งไปตามขนาดเช่นกัน
ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มไหน
วิน : มีหลากหลาย เช่น หมอ พยาบาล นักศึกษา ดาราก็มาจ้างให้ไปตรวจเยอะ รวมถึงนักธุรกิจด้วย แต่ทุกคนจะมีความต้องการที่เหมือนกันคือ ต้องการงานที่ละเอียด ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกฟังก์ชัน เพื่อที่เวลาเข้าอยู่จริงอาจจะมีปัญหาน้อยลงหรือไม่พบเจอเลย
ขั้นตอนตรวจบ้านสำคัญยังไง ทำไมตอนนี้คนถึงหันมาใช้บริการมากขึ้นจนถึงขนาดทำเป็นธุรกิจได้
วิน : ผมคิดว่าน่าจะเป็นตัวช่วยพัฒนาบ้านและคอนโดฯ ให้มีคุณภาพมากขึ้น และทำให้ผู้อยู่อาศัยพบปัญหาน้อยลงก่อนเข้าอยู่ สำหรับบางคนที่ไม่ได้ตรวจ เข้าอยู่แล้วเจอปัญหาก็เยอะ บางทีเป็นปัญหาหนักมาก เช่น น้ำรั่ว เฟรมประตูบวม กระเบื้องล่อน พื้นยุบ เป็นต้น
แอน : บางทีลูกค้าอาจไม่มีความรู้ในการตรวจเลย และอาจยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องตรวจบ้านหรือคอนโดฯ ด้วย จริงๆ แล้วมันเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะตอนที่โครงการส่งมอบให้ลูกค้า ตัวโครงการเองก็ไม่ได้ตั้งใจส่งบ้านหรือคอนโดฯ ที่มีข้อบกพร่องให้หรอก แต่ด้วยความที่โครงการหนึ่งๆ มีห้องอยู่จำนวนมาก จึงอาจทำให้เกิดจุดที่บกพร่องได้ ซึ่งถ้าลูกค้าไม่ได้จ้างตรวจก็อาจไม่ทราบถึงจุดบกพร่องนั้นๆ
แล้วทำไมโครงการถึงไม่ทำห้องมาให้ดีหรือตรวจให้เสร็จสรรพตั้งแต่แรก
แอน : ด้วยความที่มันเป็นแมสที่มีขนาดใหญ่ สมมติทำโครงการขึ้นมาตึกหนึ่งประมาณ 400 ยูนิต มีผู้รับเหมาเจ้าหลักและซัปพลายเออร์ของผู้รับเหมา แต่ละซัปฯ ทำงานไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการทำบ้านหรือคอนโดฯ เสมือนงานแฮนด์เมด เวลาจบงานทุกห้องต้องส่งงานให้มีลักษณะใกล้เคียงกันมากที่สุด ต้องมีมาตรฐานในการทำงาน หากช่างรับเหมาส่งงานมาไม่เรียบร้อย ทางคนตรวจต้องแก้กลับไป และค่าใช้จ่ายฝั่งผู้รับเหมาอาจเพิ่มมากขึ้น
แต่ขณะเดียวกัน การคุมคุณภาพที่จะทำให้ทุกอย่างออกมาเพอร์เฟกต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีตำหนิเป็นไปได้ยาก แต่ยังไงก็ต้องทำให้เป็นไปได้ เพียงแค่ต้องใช้เวลาและใช้คนในการเข้าไปตรวจสอบ
เราเคยเป็นที่ปรึกษาของหลายผู้รับเหมา ใจของคนทำงานตรงนี้ เขาอยากส่งมอบที่อยู่อาศัยที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า แต่ด้วยเวลาที่กำหนดการดำเนินการสร้าง หรือปัจจัยทั้งหลายอาจทำให้เกิดปัญหาบางอย่างได้ หรือกระทั่งการตรวจสอบที่อาจหลงลืมอะไรบางอย่างก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งใจจริงไม่มีใครอยากให้เป็นแบบนั้นหรอก
ทุกวันนี้มีโครงการคอนโดฯ ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเยอะ คนตรวจบ้านทำงานยากขึ้นกว่าแต่ก่อนหรือเปล่า
วิน : ยากขึ้นในส่วนการเดินทางมากกว่า เพราะสังคมเมืองกระจายไปยังพื้นที่รอบนอกมากขึ้น ส่วนเรื่องแนวทางในการตรวจยังคงเป็นเรื่องพื้นฐานเดิมๆ แต่ก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมบ้าง
แล้วถ้าจะจ้างคนตรวจบ้าน ต้องพิจารณาจากเงื่อนไขใด
วิน : ประสบการณ์ ความชำนาญ และอายุการทำงานของบริษัทนั้นๆ เป็น 3 ส่วนหลักที่จะช่วยให้การตรวจบ้านหรือคอนโดฯ ครบถ้วนสมบูรณ์
ในมุมมองของคุณ คนตรวจบ้านที่ดีควรเป็นแบบไหน
แอน : ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการวิศวกรมืออาชีพที่เชี่ยวชาญทางด้านสายงานนี้โดยตรงอยู่แล้ว แต่นอกจากนั้นเราต้องตรวจบ้านตรวจคอนโดฯ ให้ลูกค้าเสมือนเป็นที่อยู่อาศัยของเราเอง เอาใจลูกค้ามาใส่ใจเรา เพราะเราทำงานบริการ พยายามตรวจให้ครอบคลุม ลดจุดบกพร่องให้มากที่สุด และซื่อสัตย์ต่อลูกค้า จุดไหนไม่ผ่านเราจะให้ผ่านไปไม่ได้ ให้คิดว่าเป็นเสมือนทรัพย์สินของเราเอง และเป็นไปตามจรรยาบรรณของวิศวกร
อาชีพคนตรวจบ้านต้องคิดถึงลูกค้าเป็นหลักก็จริง แต่ถ้าลูกค้าไม่เชื่อเราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเราเป็นตัวช่วย เป็นตัวเสริม แต่ไม่สามารถบังคับหรือบอกว่าต้องทำให้ได้
วิน : เราคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า เซลล์ ผู้รับเหมา ต้องมีความซื่อสัตย์กับลูกค้า นั่นคือจรรยาบรรณ เวลาซื้อคอนโดฯ เราซื้อหลักล้าน แต่พอตรวจเราเสียแค่หลักพัน ซึ่งคุ้มค่าแน่นอน เพราะการตรวจจะทำให้บ้านหรือคอนโดฯ มีความสมบูรณ์มากที่สุด เกิดปัญหาน้อยที่สุดก่อนเข้าอยู่อาศัย
สุดท้ายนี้ ในยุคที่เปลี่ยนแปลงไป ในฐานะคนทำอาชีพตรวจบ้าน คุณมองเทรนด์ที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง
วิน : ทุกวันนี้ที่อยู่อาศัยแบบคอนโดฯ ค่อนข้างฮิต ไม่ว่าจะข้าราชการหรือนักธุรกิจก็หันมาซื้อคอนโดฯ เยอะ มีการลงทุนปล่อยเช่า ซื้อขายกันมากขึ้น และยังเป็นที่อยู่อาศัยหลักสำหรับนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ๆ
โดยเฉพาะห้องที่เลี้ยงสัตว์ได้ หรือแบบ Loft Style ที่มีบันไดชั้นสองหรือชั้นลอย ทำให้รู้สึกเหมือนได้อยู่บ้านมากขึ้น รวมถึงพวกฟังก์ชัน Smart Home อื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นมา ส่วนบ้านจะมีสไตล์พูลวิลล่ามากขึ้น เพราะราคาที่ลดลงจากเมื่อก่อน ทำให้คนพอเข้าถึงได้ ซื้อไหว
แอน : ปกติคอนโดฯ มักอยู่ใจกลางเมือง แต่เดี๋ยวนี้เริ่มกระจายไปอยู่นอกเมืองมากขึ้นเป็นไปตามความเจริญของเมือง อาชีพของเราจึงกลายเป็นตัวเลือกของลูกค้ามากกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็เกิดอาชีพนักตรวจบ้านตรวจคอนโดฯ หน้าใหม่มากขึ้นด้วย
วิน : ถ้าไปดูตามหัวเมืองใหญ่อย่างพัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต จะมีคอนโดฯ ขึ้นหลายจุด รวมถึงเมืองที่กำลังเจริญอย่างนครปฐมและระยอง ทำให้คนทำงานอาชีพคนตรวจบ้านที่ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ รับจ็อบต่างจังหวัดได้เพิ่มขึ้น ถือเป็นยุคเฟื่องฟูสำหรับอาชีพคนตรวจบ้านก็ว่าได้