My Diary of Culture Shock in BKK ของเด็กต่างจังหวัด - Urban Creature

ฉันเป็นนิสิตฝึกงานชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ฉันเป็นคนอีสานโดยกำเนิด เกิดมาไม่เคยเข้ากรุงเทพฯ เลยสักครั้ง

เมื่อก่อนฉันคิดว่าการเข้าเมืองกรุงเป็นเรื่องยากมากๆ มันเลยทำให้ฉันไม่กล้าออกไปเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ ทว่าด้วยเวลาที่ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงฝึกงานของนิสิตชั้นปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา ฉันก็เลยมีความคิดอยากท้าทายตัวเองด้วยการลองก้าวข้าม Comfort Zone หาสิ่งใหม่ๆ ให้ตัวเองเรียนรู้ จนได้มีโอกาสเดินทางมาฝึกงานในกรุงเทพมหานครกับ Urban Creature เพจที่เล่าเรื่องเมืองและอยากทำให้คนรักเมืองมากขึ้น

นับจากวันแรกถึงตอนนี้ ฉันเก็บข้าวของแบกกระเป๋าขึ้นเครื่องบิน เหินฟ้ามาสัมผัสรสชาติความเจริญในเมืองกรุงเพื่อฝึกงานได้รวมๆ เกือบจะหนึ่งเดือนแล้ว

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฉันเห็นความแตกต่างโดยสิ้นเชิงของกรุงเทพฯ กับจังหวัดมหาสารคามที่ฉันอยู่ ซึ่งมีทั้งเรื่องชวนให้ตื่นเต้น แปลกใจ และเข้าใจ ผสมปนๆ กันไป พร้อมกับการพยายามปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ขนส่งสาธารณะ การจราจร อากาศ และสภาพแวดล้อมต่างๆ ของเมืองแห่งนี้

อากาศแบบใด

cultureshock

ก่อนอื่นเลยตอนที่ฉันมาถึงกรุงเทพฯ วันแรก ก้าวขาออกจากสนามบินปุ๊บ ไอร้อนก็ตีแสกหน้าทันที ถึงแม้ว่าจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วก็เถอะ แต่กรุงเทพฯ ไม่มีท่าทีว่าจะหนาวให้ฉันได้กอดผ้าอุ่นๆ ดูตึกสูงระฟ้ายามค่ำคืนดื่มด่ำความมโน ทั้งๆ ที่ตอนนี้จังหวัดของฉันหรืออีกหลายจังหวัดคงเริ่มหนาวจนผิวแตกเป็นข้าวจี่แล้ว

ยิ่งช่วงฤดูหนาวแบบนี้ ถ้าเกิดอยากสูดอากาศบริสุทธิ์ในยามเช้าเหมือนอยู่บ้านที่ต่างจังหวัดก็ทำไม่ได้นะ เพราะแค่ออกไปข้างนอกก็เจอฝุ่น PM 2.5 ที่พร้อมจะทำให้เป็นภูมิแพ้ ทั้งอากาศร้อนอบอ้าว ทั้งฝุ่นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวฉันเองก็ได้แต่ทำใจ

เมื่อลองสู้ชีวิต แต่รถเมล์สู้กลับ

cultureshock

ท่ามกลางฝุ่นควัน ผู้คนมากหน้าหลายตากำลังยืนรอรถเมล์อย่างเหน็ดเหนื่อย ป้ายรถเมล์สีน้ำเงินตั้งอยู่ริมฟุตพาทที่ไม่ได้บอกเลขสายรถเมล์ที่ผ่าน มีเพียงป้ายรถเมล์เดี่ยวๆ ตั้งอยู่อย่างนั้น แล้วคนต่างจังหวัดที่หัดเป็นสาวกรุงเทพฯ แบบฉันต้องทำยังไง แต่นับว่ายังโชคดีหน่อยที่รถเมล์สายที่ฉันกำลังรอใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ทำเอาตื่นเต้นไปหมด

แต่ก็ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่ตามป้ายรถเมล์จะไม่บอกเส้นทางเลย เพราะบางแห่งที่ติดถนนใหญ่จะมีป้ายรถเมล์พร้อมที่นั่ง ค่อนข้างสะดวกสบาย ในความคิดของฉัน นี่อาจจะเป็นจุดเล็กๆ ที่เลือกพัฒนาความเจริญของกรุงเทพฯ ก็ได้

ในจังหวัดของฉันมีรถเมล์ไม่เยอะ และไม่ได้เข้าถึงทุกเส้นทางแบบกรุงเทพฯ แถมรถเมล์ส่วนใหญ่เป็นรถโดยสารที่เดินทางข้ามจังหวัดผ่านบางอำเภอเท่านั้น จะขึ้นได้ตามสถานี บขส. ประจำจังหวัดหรือป้ายรถเมล์ตามอำเภอ เรียกง่ายๆ ว่าวิ่งตามถนนเส้นหลักอย่างเดียวนั่นแหละ

เจอแล้ว วินมอเตอร์ไซค์ที่ (เสี่ยง) จริงใจ

cultureshock

สภาพการจราจรติดขัดแน่นเอี้ยดเต็มท้องถนน ท่ามกลางความเร่งรีบในยามเช้าของทุกคน ทั้งนักเรียน นักศึกษา พนักงานเงินเดือน รวมถึงฉันที่เป็นเด็กฝึกงานตัวน้อยๆ ก็ต้องรีบแข่งกับเวลาไปทำงานให้ทันชาวบ้านเขาเช่นกัน

ที่พึ่งยามฉุกเฉินเมื่อต้องการเดินทางรวดเร็วก็ต้องเป็นพี่วินมอเตอร์ไซค์หน้าซอยอยู่แล้ว แต่พอวาดขานั่งบนเบาะปุ๊บ บอกที่หมายปั๊บ พี่วินฯ ก็กลายร่างเป็นฟาสต์เร็วแรงทะลุนรกทันที ฉันเกือบแม่นว่าหงายหลัง ด้วยเทคนิคสุดเฟี้ยวที่คนซ้อนต้องภาวนา เข้าซอกออกซอย ซิกแซ็กได้หมดไม่สนลูกใคร ฉันได้แต่นั่งหุบเท้าจนเกือบเข้าซี่ล้อรถ เพราะพี่แกมุดทุกช่องว่างที่ไปได้ ทำเอาฉันกลัวว่าเท้าจะหายไปกับรถยนต์คันข้างๆ

เหมือนว่าชีวิตในกรุงเทพฯ จะแอดวานซ์เกินกว่าที่ฉันคาดคิดไปสักหน่อย มันต่างกันสุดๆ กับจังหวัดของฉันที่วินมอเตอร์ไซค์จำนวนน้อยนิดจะอยู่ตามตลาดสด แต่ก็ขับขี่ปลอดภัยกว่าพี่วินฯ ในกรุงเทพฯ อยู่มาก เนื่องจากการจราจรไม่ติดขัด วินมอเตอร์ไซค์ที่ต่างจังหวัดเลยไม่ได้กลายเป็นฟาสต์เร็วแรงทะลุนรก

นี่น่ะหรือ รถไฟฟ้ามหานคร

cultureshock

หลังจากเสี่ยงชีวิตอย่างทุลักทุเลจากการนั่งวินมอเตอร์ไซค์ ฉันก็มาถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย แต่คิดในใจว่าคราวหน้าเลี่ยงได้จะเลี่ยงดีกว่า ตอนใช้งานสถานีรถไฟฟ้าครั้งแรกฉันได้แต่มองดูแล้วอุทานในใจว่า โอ้ กรุงเทพฯ นี่ช่างสะดวกสบายอะไรอย่างนี้ แต่ฉันจะทำตัวเด๋อด๋าไม่ได้ เพราะเขาจะหาว่าบ้านนอกเข้ากรุง ก็เลยพยายามทำตัวกลมกลืนตามคนข้างหน้าจนมาถึงชานชาลา

หลังจากฝ่าฟันกับรถเมล์และวินมอเตอร์ไซค์มาหมาดๆ อุตส่าห์คาดหวังว่าจะได้นั่งบีทีเอสตากแอร์เย็นๆ สักหน่อย แต่สำหรับกรุงเทพฯ แล้ว สิ่งที่คาดหวังคงเป็นเรื่องยากพอๆ กับที่ฉันต้องรีบยัดตัวเองเข้าไปในรถไฟฟ้าให้ได้ แถมพอเข้าไปได้แล้วอย่าหวังว่าจะได้นั่ง แค่ราวให้จับพยุงตัวยังอยู่ไกลเกินเอื้อมมือ แถมต้องมายืนเบียดกับผู้คนข้างในจนแทบหายใจไม่ออกอีกต่างหาก

สะพานลอยดี ทางม้าลายเริ่มไม่ใช่ ทางเท้ายิ่งไม่ได้เลย

cultureshock

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะลำบากไปหน่อย แต่ยังดีที่มีสะพานลอยเปิดโล่งรับลมพร้อมกับหลังคากันความร้อนจากแดดประเทศไทย และถ้าต้องเดินข้ามสะพานลอยตอนกลางคืนในกรุงเทพฯ ก็ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะมีไฟสว่างตลอดทาง ต่างกับจังหวัดของฉันที่สะพานลอยพบได้เฉพาะในตัวจังหวัดเท่านั้น และไม่ได้สวยงามเหมือนในกรุงเทพฯ จนบางแห่งกลายเป็นแหล่งมั่วสุมหรือที่นอนของคนไร้บ้าน นั่นจึงเป็นเหตุให้ผู้คนเลือกข้ามถนนโดยไม่ใช้สะพานลอยมาโดยตลอด

แต่ถึงอย่างนั้นฉันก็ได้เรียนรู้จากพี่ๆ ที่ Urban Creature ว่าความจริงแล้วสะพานลอยไม่ใช่โครงสร้างที่ดีของการสร้างเมือง เพราะแม้ว่าสะพานลอยจะให้ความสะดวกในการข้ามถนนหลายเลนก็จริง แต่สะพานลอยไม่ได้เอื้อความสะดวกให้ผู้สูงอายุและผู้พิการ และยังเป็นการบดบังวิสัยทัศน์เมืองอีกต่างหาก

พ้นไปจากสะพานลอย ขยับมาที่การข้ามถนนในกรุงเทพฯ ซึ่งต่างกับจังหวัดฉันสุดๆ เพราะบนถนนที่นี่เต็มไปด้วยรถสัญจรสวนกันไปมาจนตาลาย ผู้คนยืนบนสองฝั่งของถนน รอให้สัญญาณไฟจราจรสำหรับคนข้ามถนนเป็นสีเขียว มีทางม้าลายเส้นสีแดงขีดสีขาวเป็นทางพาดผ่านไปยังอีกฝั่งของถนน พร้อมกับรถมอเตอร์ไซค์นับสิบคันที่จอดทับเส้นสำหรับทางเดินอยู่ ทำให้ฉันสงสัยว่า ตกลงทางม้าลายมีให้คนข้ามหรือให้รถจอดกันแน่

และในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้มีสัญญาณไฟจราจรสำหรับทางม้าลายโดยเฉพาะ มีเพียงป้ายไฟกะพริบบอกให้ทราบว่ามีทางม้าลายอยู่ตรงนี้เท่านั้น ถ้าจะข้ามทางม้าลายก็ต้องหาจังหวะเองล้วนๆ

ตัดภาพมาในจังหวัดของฉัน คนไม่ข้ามทางม้าลายกันเพราะทางม้าลายมักจะอยู่ตรงแยกไฟแดงและมีระยะห่างจากอีกที่พอสมควร หรือไม่ก็มีจำนวนน้อยจนทำให้ผู้คนเลือกที่จะข้ามทางตรงส่วนใดของถนนก็ได้ บวกกับไม่มีป้ายสัญลักษณ์ที่บ่งบอกชัดเจนเหมือนในกรุงเทพฯ

อีกส่วนที่ขาดไม่ได้เลยคงเป็นทางเท้าหรือฟุตพาทเมืองไทย ฉันว่าคงเป็นทุกจังหวัดเลยก็ว่าได้ที่มีปัญหากับทางเท้า ตั้งแต่สภาพที่ไม่ดี มีสิ่งกีดขวาง แผ่นปูไม่สม่ำเสมอ กระทั่งต้นไม้ที่ตั้งอยู่กลางทางเท้า ไม่พอเท่านั้น ตามต้นไม้และเสาไฟยังเต็มไปด้วยป้ายโฆษณากินพื้นที่บริเวณทางเท้าจนแทบไม่มีที่ให้เดินอีก

คงไม่ต้องย้อนกลับไปในอดีตให้เสียเวลา เพราะไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน การพัฒนาทางเท้าของไทยก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม ไม่เคยเปลี่ยนไปจากอดีตสักนิด ไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดก็ตาม

ชีวิตอิสระในเมืองกรุงที่ฉันใฝ่ฝัน

cultureshock

สุดท้ายแล้ว หลายคนอาจมองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่โรแมนติกเอาซะเลย แต่กลับกัน สำหรับฉันแล้วกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอิจฉาในเรื่องของอิสรภาพ

เพราะฉันรู้สึกว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่เงียบเหงา มีกิจกรรมหรือสิ่งน่าสนใจเต็มไปหมด ความสะดวกสบายเป็นเลิศ มีขนส่งสาธารณะให้เลือกมากมาย อาหารการกินหลากหลายตลอด 24 ชั่วโมง หรือแม้กระทั่งผู้คนในเมืองก็ต่างใช้ชีวิตของตัวเองโดยที่ไม่ต้องสนใจหรือแคร์คำพูดใคร

เพราะถ้าไปดูสังคมในต่างจังหวัด คนส่วนมากมักอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ญาติพี่น้องอยู่บ้านเดียวกันจนแทบไม่มีอิสระ และที่สำคัญต้องอยู่ในกรอบที่สังคมตีขึ้น เช่น เป็นผู้หญิงห้ามแต่งตัวโป๊ หรือต้องเคารพคนที่อาวุโสกว่าเท่านั้น เรียกง่ายๆ ว่าสังคมที่ฉันอยู่เป็นแบบระบบชนชั้นเลยล่ะ นั่นจึงทำให้ฉันชอบการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มากกว่า 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าฉันแอนตี้บ้านเกิดตัวเองนะ เพราะคนเราก็มีทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบแตกต่างกันไป กรุงเทพฯ ก็ดีอีกแบบ ต่างจังหวัดก็มีข้อดีอีกแบบเท่านั้นเอง

อีกอย่างที่ฉันได้เรียนรู้คือ การออกจาก Comfort Zone ของตัวเองมาเจอสิ่งใหม่ๆ ก็ทำให้ฉันเห็นความเจริญของกรุงเทพฯ ในแง่ความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่รวดเร็ว ห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง หรือสะพานลอยที่ปลอดภัย ทำให้ฉันมองกลับไปที่ต่างจังหวัดแล้วเกิดความคิดว่า ความเจริญกระจุกอยู่กรุงเทพฯ ที่เดียวหรือเปล่า คงจะดีไม่น้อยถ้าสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้กระจายออกไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยบ้าง เพราะฉันก็อยากนั่งรถไฟฟ้าเที่ยวเล่นในเมืองสารคามไม่ต่างจากวัยรุ่นในเมืองกรุงที่นั่งบีทีเอสไปสยามเหมือนกัน

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.