จำไม่ได้แล้วว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ที่การหาห้องพักใจกลางกรุงเทพฯ ขนาดพอเหมาะประมาณ 30 – 40 ตารางเมตร และไม่แพงจนเกินไป ถึงกลายเป็นเรื่องยากขนาดนี้
เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มีแต่ห้องพักแบบสตูดิโอขนาด 21 – 25 ตารางเมตรที่ไม่ได้แยกสัดส่วนชัดเจน หรือที่เรียกกันว่า ‘Micro Condo’ ถ้าอยากมีห้องพักที่กว้างขวางและมีสัดส่วนชัดเจน ก็ต้องยอมจ่ายราคาที่แพงกว่าห้องสตูดิโอหลายเท่าตัว เมื่อห้องพักราคาจับต้องได้มีอยู่ค่อนข้างจำกัด นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงมองว่าที่อยู่อาศัยแบบ Micro Condo จะเป็นเทรนด์ใหม่มาแรงของโลกในอนาคต
วันนี้คอลัมน์ Curiocity จึงอยากพาไปหาคำตอบว่า จริงๆ แล้ว Micro Condo คืออะไร การออกแบบห้องพักขนาดเล็กกว่าปกติเช่นนี้สอดคล้องกับกฎหมายที่ประเทศไทยกำหนดหรือไม่ และทำไมห้องพักไซซ์มินิถึงกำลังกลายเป็นเทรนด์ที่อยู่อาศัยของคนเมืองในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Micro Condo คืออะไร ทำไมถึงกลายเป็นเทรนด์
แม้คำว่า ‘Micro Condo’ หรือ ‘คอนโดมิเนียมขนาดเล็ก’ จะไม่มีการนิยามอย่างเป็นทางการ แต่วงการอสังหาริมทรัพย์กลับให้ความสนใจคำคำนี้มานานแล้ว โดยในปี 2014 ทาง ‘Urban Land Institute’ ได้นิยามไว้ว่า Micro Condo คือรูปแบบห้องพักแบบสตูดิโอขนาดเล็กทั่วไปที่มีพื้นที่น้อยกว่า 32 ตารางเมตร โดยที่ภายในมีห้องครัวและห้องน้ำสำหรับใช้งาน
ซึ่งขนาดพื้นที่ Micro Condo ในแต่ละเมืองหรือประเทศล้วนมีขนาดพื้นที่แตกต่างกัน เช่น นครนิวยอร์กกำหนดไว้ที่ 28 ตารางเมตร, ซานฟรานซิสโก 20 ตารางเมตร, โปแลนด์ 13 ตารางเมตร และฮ่องกงที่มีพื้นที่เล็กที่สุดเพียง 0.3 ตารางเมตรเท่านั้น
สำหรับประไทย คำว่า Micro Condo มีการเปลี่ยนแปลงและมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จากในอดีตที่พื้นที่ห้องประมาณ 30 – 32 ตารางเมตรก็ถือว่าเล็กแล้วสำหรับใครหลายๆ คน ตัดภาพมาปัจจุบันห้องประเภทนี้กลับเล็กสุดได้ถึง 21 ตารางเมตร
ขนาดเล็กได้เพราะกฎหมายกำหนด
เหตุผลที่ประเทศไทยสามารถสร้างห้องพักอาศัยขนาดเล็กเพียง 21 ตารางเมตรได้ เป็นเพราะมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อที่ 19 และ 22 ระบุไว้ว่า ‘ขนาดห้องของอาคารพักอาศัยรวมแต่ละห้องต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 20 ตร.ม. และมีระยะดิ่งจากพื้นถึงพื้นรวมไม่น้อยกว่า 2.60 เมตร’
แต่ที่อาคารแต่ละแห่งยังคงทำขนาดห้องพักเล็กสุดอยู่ที่ 21 ตารางเมตร ไม่ใช่ 20 ตารางเมตรเท่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะหนึ่ง ตารางเมตรที่เกินมาถือเป็นตัวรับประกันว่า แม้จะเกิดการก่อสร้างที่กินระยะเข้ามาก็จะยังไม่ถือว่าผิดกฎหมายนั่นเอง
ซึ่งนอกจากกฎหมายจะมีการกำหนดขนาดห้องพักที่ต่ำสุดแล้ว ยังได้มีการกำหนดสัดส่วนของห้องอื่นๆ ภายในห้องไว้อีกด้วย โดยห้องนอนจะต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร โดยที่ความกว้างด้านแคบที่สุดไม่น้อยกว่า 2.50 เมตร ส่วนขนาดห้องน้ำและห้องส้วมรวมกันต่ำสุดอยู่ที่ 1.5 ตารางเมตร ทำให้เหลือพื้นที่ส่วนอื่นเพียง 11.5 ตารางเมตร สำหรับแบ่งส่วนเป็นห้องนั่งเล่น ห้องครัว และพื้นที่ระเบียง
ทั้งนี้ การที่กฎหมายไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่อีก 11.5 ตารางเมตร นอกเหนือจากตัวห้องนอนและห้องน้ำจะต้องแบ่งเป็นห้องอะไร ขนาดเท่าไหร่ ทำให้คอนโดฯ หลายแห่งในปัจจุบันใช้วิธีการสร้างห้องแบบสตูดิโอที่ไม่มีประตูหรือที่กั้นระหว่างห้องนอน ห้องนั่งเล่น และห้องครัว ทำให้พื้นที่ 11.5 ตารางเมตร รวมเข้ากับขนาดห้องนอน 8 ตารางเมตร ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกว่าห้องพักโดยรวม 21 ตารางเมตรไม่ได้ดูเล็กจนเกินไป
ห้องเล็กสะดวกสบายหรือจำใจต้องอยู่
แม้นักอสังหาริมทรัพย์จะมองว่า Micro Condo กำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจจากผู้อยู่อาศัยทั่วโลก และในอนาคตห้องพักประเภทนี้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และมีขนาดพื้นที่เล็กลงเรื่อยๆ ทว่าเราจะสามารถเรียกการอยู่อาศัยในห้องพักที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ว่าเป็นเทรนด์ได้อย่างเต็มปากจริงๆ หรือ
ในเมื่อสาเหตุที่ทำให้หลายคนที่กำลังมองหาที่พักหรือห้องเช่าสี่เหลี่ยมเล็กขนาดเพียง 20 ตารางเมตร ไม่ใช่เพราะความชื่นชอบการอยู่อาศัยในรูปแบบ Micro Condo แต่เป็นเพราะพวกเขาไม่มีตัวเลือกอื่นมากนัก
ตัวเลือกที่จำกัดเป็นผลมาจากการที่คอนโดฯ ใหญ่ในปัจจุบันเลือกที่จะแบ่งห้องพักให้เป็นขนาด Micro Condo มากขึ้น เพื่อเพิ่มห้องสำหรับขายให้มีจำนวนมากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะเห็นห้องพักขนาด 30 ตารางเมตรขึ้นไปในตลาดได้น้อยลง
เท่านั้นยังไม่พอ หากผู้อยู่อาศัยต้องการทำเลที่เหมาะสม อยู่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวก ปลอดภัย และมีราคาที่จับต้องได้ เงื่อนไขเหล่านี้ยิ่งเป็นการบีบให้ Micro Condo แทบจะเป็นตัวเลือกเดียวที่เหลืออยู่สำหรับคนที่อยากใช้ชีวิตในเมืองใหญ่
ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะความเป็นจริงแล้วประเทศไทยไม่ได้เผชิญปัญหาเรื่องความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่อยู่อาศัยรุนแรงเท่าฮ่องกงหรือญี่ปุ่น ที่ทำให้ผู้คนต้องอาศัยอยู่ในห้องขนาดเล็กอย่างไม่มีทางเลือก
ยิ่งไปกว่านั้น หากมองจากแผนที่ผังเมืองจะพบว่าบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังมีที่ดินว่างหรือรกร้างจำนวนมากที่ไม่ถูกใช้งานให้เกิดประโยชน์ ดังนั้น หากภาครัฐเข้ามาดูแลและจัดสรรพื้นที่เหล่านี้ให้ใช้งานได้จริง กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่ว่างสำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยมากขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนโดยไม่ต้องลดขนาดห้องพักให้เล็กลงอีกในอนาคต
Sources :
DDproperty | t.ly/L-4i
Prachachat | t.ly/ZqJ7
Propholic | t.ly/vHggi
Treehugger | t.ly/g_LT
Urban Land Institute | bit.ly/2nUqK7J
Zmyhome | t.ly/dCi0
กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) | t.ly/3eFV
กรมโยธาธิการและผังเมือง | t.ly/bUS_