จากรายงานข้อมูลสถิติสุขภาพจิตของ ‘องค์การอนามัยโลก (WHO)’ พบว่า ทุกๆ 8 คนของประชากรบนโลกนี้จะมี 1 คนที่ต้องเผชิญปัญหาสุขภาพจิต ขณะเดียวกันกลับมีผู้ป่วยสุขภาพจิตกว่า 71 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้เข้ารับบริการด้านสุขภาพจิต
เมื่อหันกลับมามองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรายังพบว่า ประเทศไทยมีความชุกของผู้ป่วยสุขภาพจิตในประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ โรคทางระบบประสาท การใช้สารเสพติด และการทำร้ายร่างกายติด 1 ใน 3 อันดับแรกเสมอ
จนทำให้เราต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามว่า ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยมีผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้มากน้อยแค่ไหน วันนี้คอลัมน์ City by Numbers ขอหยิบข้อมูลสัดส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการ ในปีงบประมาณ 2566 จากระบบคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC) มาให้ดูกัน
กรุงเทพฯ รั้งท้าย ผู้ป่วยซึมเศร้าเข้าถึงบริการน้อย
จากการรวบรวมข้อมูลของ ‘ระบบคลังข้อมูลสุขภาพ’ Health Data Center (HDC) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลกลางด้านสุขภาพที่รวบรวมข้อมูลสาธารณสุขของสถานบริการภายใต้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง
พบว่าร้อยละของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการ ในปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2566 โดยคิดจากประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปในปีที่ใช้คำนวณทั้งสิ้น 55,256,612 คน มีจำนวนผู้ป่วยคาดประมาณจากความชุกที่ได้จากการสำรวจมากถึง 1,491,275 คน
ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการเข้าถึงบริการการรักษามากที่สุดคือ จังหวัดสิงห์บุรี ร้อยละ 241.25 รองลงมาเป็นจังหวัดลำพูน ร้อยละ 164.4 และแม่ฮ่องสอน ร้อยละ 152.72 ตามลำดับ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเป้าหมายที่ทางกระทรวงสาธารณสุขตั้งไว้อยู่ที่ร้อยละ 80 ค่อนข้างมาก โดยการจัดอันดับที่เห็นนี้ได้มาจากการนำเอาอัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาในจังหวัดมาเทียบกับคาดประมาณผู้ป่วยในพื้นที่นั่นเอง
ตัวเลขเหล่านี้ดูเหมือนเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับวงการสาธารณสุขบ้านเรา แต่เมื่อไล่อันดับต่ำลงมาเรื่อยๆ พบว่า จากทั้งหมด 77 จังหวัดในประเทศไทย มีมากถึง 17 จังหวัดที่อัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาในจังหวัดเทียบกับคาดประมาณผู้ป่วยในพื้นที่ไม่ถึงเป้าหมายที่ทางกระทรวงสาธารณสุขตั้งไว้
ซึ่งในจำนวนนี้ล้วนแล้วแต่เป็นจังหวัดหัวเมืองที่โดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว หรือเป็นจังหวัดที่มีค่าครองชีพสูงด้วยกันทั้งสิ้น อาทิ นครปฐม ชลบุรี จันทบุรี ภูเก็ต และอุดรธานี โดยมี 3 จังหวัดรั้งท้ายได้แก่ จังหวัดระยอง สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ซึ่งมีอัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาในจังหวัดอยู่ที่ร้อยละ 61.17, 55.48 และ 21.13 ตามลำดับ
ยิ่งเมืองใหญ่ ยิ่งเข้าถึงการรักษาได้ยาก
สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้าในเมืองใหญ่มีอัตราการเข้ารับบริการน้อยกว่าเป้าหมายร้อยละ 80 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งไว้จำนวนมาก ทั้งๆ ที่ในชีวิตจริงเรามักพบเจอผู้คนรอบตัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่บ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอนั่นเอง
ข้อมูลจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชทั้ง 13 เขตสุขภาพของประเทศไทย จากกรมสุขภาพจิตระบุว่า ประเทศไทยมีจิตแพทย์ในระบบทั้งหมดเพียง 845 คน แบ่งออกเป็นจิตแพทย์ทั่วไปจำนวน 550 คน และจิตแพทย์เด็ก 295 คน ที่เมื่อเทียบสัดส่วนของประชากรไทยในทุกช่วงวัย ทุกๆ หนึ่งแสนคน ประเทศไทยจะมีจิตแพทย์เพียง 1.28 คน และมีนักจิตวิทยาเพียง 1,037 คน ซึ่งคิดเป็นนักจิตวิทยา 1.57 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนเท่านั้น
ในขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ค่าเฉลี่ยของค่ามัธยฐานของอัตราส่วนบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพจิตต่อประชากรจาก 158 ประเทศนั้นอยู่ที่ 13 คนต่อหนึ่งแสนคน หมายความว่าประเทศไทยมีจำนวนจิตแพทย์น้อยกว่าค่ามาตรฐานทั่วโลกมาก
ที่น่ากังวลคือ จำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตในประเทศไทยยังมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ ในอนาคต เนื่องจากมีแพทย์ลาออกจำนวนมาก จนอาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุข ในขณะที่ผู้ป่วยสุขภาพจิตในสังคมไทยกลับเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม ปัญหาด้านความสัมพันธ์ หรือการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
แม้ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะมีทัศนคติต่อโรคทางจิตเภทที่ดีขึ้น และให้ความสำคัญกับการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตใจมากกว่าเดิม แต่หากทรัพยากรสาธารณสุขยังคงมีไม่เพียงพอ อัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาในจังหวัดเทียบกับคาดประมาณผู้ป่วยในพื้นที่ในหลายจังหวัดที่น่าเป็นห่วง อาจกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของภาครัฐที่ต้องหาทางแก้ไขปัญหาในอนาคต
Sources :
Mental health conditions in the WHO South-East Asia Region | t.ly/KkASv
Open Government Data of Thailand | t.ly/InAAz
Rocket Media Lab | t.ly/a3hWJ
Sanook | t.ly/Lg1rU
World Mental Health Report | t.ly/j3ku-
กรุงเทพธุรกิจ | t.ly/HL2xB
คลังข้อมูลสุขภาพ | t.ly/6s2Qd
วารสารวิชาการเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข | t.ly/gsvmh