We have to MELT because the world is MELTING.
หากจะถามว่า Meltdistrict คือใครและทำอะไร ประโยคนี้บนหน้าเว็บไซต์พวกเขาเล่าความตั้งใจของพวกเขาได้ดี
Meltdistrict เป็นแบรนด์ที่หลอมพลาสติกรีไซเคิลให้เป็นสินค้าใหม่ โดยสร้างสรรค์จากพลาสติก 100 เปอร์เซ็นต์ และสามารถรีไซเคิลต่อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อตั้งโดย ‘โบ-สลิลา ชาติตระกูลชัย’ และ ‘ฟ้า-ขวัญชีวา พงศ์สิมภากรณ์’ สองสาวที่พบกันด้วยความสนใจเรื่องความยั่งยืนที่ตรงกัน พวกเธอจึงขอใช้ขยะพลาสติกส่วนหนึ่งจากโรงงานรับขยะของครอบครัวขวัญชีวา ลองผิดลองถูกกับการรีไซเคิลอยู่พักใหญ่ ก่อนจะผลิตเป็นบอร์ดพลาสติกที่แปรรูปเป็นสินค้าได้อเนกประสงค์ ดีไซน์สนุก ใช้งานได้จริง
กิ๊บติดผม เฟอร์นิเจอร์ กระเบื้องตกแต่งคาเฟ่ นี่คือตัวอย่างของสินค้าที่บางคนอาจจะไม่เคยคิดว่าพลาสติกรีไซเคิลก็ทำได้
คอลัมน์ Sgreen ตอนนี้ ขอพาคุณบุกเชียงใหม่ ไปสืบความลับของการหลอมพลาสติกให้กลายเป็นสินค้าหน้าตาน่าใช้ ฟังสองสาวเจ้าของแบรนด์เล่าความตั้งใจในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างสินค้าไลฟ์สไตล์ที่เก๋และยั่งยืนไปพร้อมกัน
โรงงานขยะ
ครอบครัวของขวัญชีวาทำธุรกิจแปรรูปพลาสติกมาเนิ่นนาน ภาพที่เธอคุ้นชินตั้งแต่ยังเด็กจึงเป็นภาพโรงงานรับซื้อขยะของพ่อแม่ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ กับกระบวนการป่นพลาสติกชิ้นใหญ่ให้เป็นเม็ดเล็กๆ แล้วส่งให้โรงหลอมเพื่อรีไซเคิลต่อ
เมื่อโตขึ้น ขวัญชีวารับช่วงต่อแล้วขยายธุรกิจรับซื้อสิ่งของเหลือใช้มาที่อำเภอสันป่าตอง Meltdistrict ก็เกิดขึ้นที่นั่นเช่นกัน
“เราซึมซับการรีไซเคิลมาตั้งแต่เด็ก และทำเรื่องรณรงค์ไฟป่าหรือเรื่องลดหลอดมาตั้งแต่สมัยเรียน เราเคยเห็นข่าวสัตว์ตายเพราะไฟป่า เลยอยากทำอะไรเกี่ยวกับโลกร้อนเพื่อช่วยพวกเขาที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หลังจากเรียนจบ เราเลยไปช่วยงานที่โรงงานของพ่อแม่ พอเห็นกองขยะพูนๆ แล้วหดหู่มาก ถึงจุดหนึ่งเราก็อยากทำอะไรที่มีประโยชน์มากขึ้น” ขวัญชีวาเล่าย้อนความ
ในขณะที่สลิลาผู้เป็นพาร์ตเนอร์ของ Meltdistrict เธอเพิ่งย้ายมาเชียงใหม่ได้ไม่กี่ปี ก่อนหน้านั้น หญิงสาวทำงานอยู่ในแวดวงอีเวนต์ออร์แกไนเซอร์ และได้เห็น Pain Point สำคัญคือ การสร้างฉากให้อีเวนต์และต้องทิ้งไปภายในคืนเดียว
สลิลาเห็นภาพนั้นแล้วเศร้าใจ เธอพยายามเสนอวัสดุทางเลือกให้ลูกค้าแต่ก็ไม่เป็นผล ผลักดันให้เธออยากสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวัสดุที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น ด้วยการลงพื้นที่ไปสอนเด็กๆ เรื่องการแยกขยะในโรงเรียนทั่วไทย
“แต่ปัญหาขยะมันหนักหนามากเลย แค่สอนอย่างนั้นคงไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหา เราเริ่มย้ายไปเชียงใหม่เพราะอยากทำอะไรบางอย่าง เชียงใหม่เป็นเมืองที่เรารัก และที่นี่มีหลายแบรนด์ที่ทำเรื่องแพ็กเกจจิ้ง ตอนนั้นยังไม่มีไอเดียนะว่าจะทำอะไรที่จะส่งเสริมความยั่งยืนให้มากขึ้น จนได้มาเจอฟ้าที่บ้านเขาทำโรงงานรับขยะ” สลิลาเล่า
การรีไซเคิลที่ยากที่สุด
หลังจากรีเสิร์ชธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกจากหลากหลายแหล่งทั้งไทยและต่างประเทศ Meltdistrict ก็ได้คอนเซปต์หลักของธุรกิจ นั่นคือ การทำงานดีไซน์จากขยะรีไซเคิลที่ใช้งานจริงๆ
“เราอยากทำของที่ใช้ได้จริง ยั่งยืน และสวยงาม ก่อนหน้านี้ประเทศเรามีคนเอาพลาสติกมาหลอมอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะหลอมเป็นแผ่น หลอมแล้วใส่โมลด์เป็นรูปร่างของเลย เช่น หวี พวงกุญแจ หรือหลอมออกมาเป็นเส้น สุดท้ายเราก็มาคิดว่าเราอยากทำพลาสติกเป็นแผ่น เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครทำเนื่องจากมันทำยากที่สุด แต่พอมันทำได้ยากที่สุด เราคิดว่ามันก็น่าจะสนุกดีที่จะพัฒนาขึ้นมา” สลิลาบอก
สองสาวได้ไอเดียการทำแผ่นพลาสติกมาจาก Precious Plastic คอมมูนิตี้ระดับสากล ซึ่งเป็นต้นแบบของการรีไซเคิลพลาสติกให้กับผู้ผลิตทั่วโลก ปรากฏว่าเมื่อลองทำตาม แผ่นพลาสติกที่ออกมาไม่ได้มีหน้าตาเหมือนต้นแบบเลย สองสาวจึงต้องลองผิดลองถูกกันเป็นปีๆ กว่าจะได้สินค้าที่น่าพอใจ
จากพลาสติกสู่สินค้า
สลิลาและขวัญชีวาเล่าให้เราฟังว่า กว่าจะเป็นสินค้าของ Meltdistrict สักชิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
ต้นน้ำเริ่มจากขยะพลาสติกที่ถูกขนมาส่งที่โรงงาน พวกเธอจะแยกชนิดและสี โดยเลือกสีที่ต้องการแล้วนำเข้าเครื่องทำความสะอาด หลังจากนั้นก็ทำลายพลาสติกก่อนจะเข้ากระบวนการหลอม ปล่อยให้เย็น กว่าจะได้พลาสติกสักแผ่นก็อย่างน้อย 2 – 3 วัน
“ความยากคือ พลาสติกหนึ่งแผ่นใช้ขยะพลาสติกประมาณแปดถึงสิบสี่กิโลกรัม แล้วแต่ความหนา เท่ากับฝาขวดพลาสติกเป็นพันอัน ซึ่งการจะหาฝาขวดสีคล้ายกันเป็นพันๆ อันก็จะยากไปอีกหนึ่งสเต็ปเหมือนกัน” สลิลาบอก
แผ่นบอร์ดจากพลาสติกรีไซเคิลของ Meltdistrict ออกมาแล้วหนึ่งคอลเลกชัน มีทั้งหมด 9 สี ให้ผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์นำไปผลิตหรือพัฒนาเป็นสินค้าอื่นๆ ได้ตามสะดวก ถึงหน้าตาจะดูเรียบง่าย แต่แผ่นพลาสติกเหล่านี้สามารถแปรรูปเป็นสินค้าที่เราคาดไม่ถึงมากมาย อย่างถาดอเนกประสงค์ ที่รองแก้ว กิ๊บติดผม ถ้วยรางวัล ไปจนถึงกระเบื้องที่ใช้ตกแต่งในคาเฟ่
นอกจากนี้ สองสาวยังมีบริการผลิตสินค้าสำเร็จรูปจากแผ่นพลาสติกรีไซเคิลเหล่านี้ ที่ทั้งคู่จับมือกับพาร์ตเนอร์แล้วผลิตตามความต้องการของลูกค้าได้เช่นกัน
“กลุ่มลูกค้าหลักๆ ของเราคือคนที่สนใจเรื่องดีไซน์ เราโชคดีนิดหนึ่งคือลูกค้าคนแรกเป็นคุณศรัณย์ เย็นปัญญา ผู้ก่อตั้ง 56thStudio ซึ่งเขาเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำมากๆ พอเขาเขียนขอบคุณเราในเพจเขา ทำให้มีดีไซเนอร์หลายคนตามมาจากเขาเยอะเหมือนกัน” หญิงสาวอดีตออร์แกไนเซอร์ยิ้ม
วันที่ไม่มีพลาสติก
ปกติแล้วโรงงานของขวัญชีวาจะรับพลาสติกวันละ 6 – 10 ตัน และ Meltdistrict รับขยะพลาสติกอย่างน้อย 10 – 20 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนนั้นเพื่อมารีไซเคิลต่อ
มากกว่าการผลิตสินค้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ในอนาคต สองสาวยังวางแผนว่าจะจัดเวิร์กช็อปเพื่อกระจายความรู้เรื่องการรีไซเคิลพลาสติกไปให้คนในชุมชนและผู้สนใจ
“อยากให้คนรู้ว่า กว่าจะมาเป็นสินค้าชิ้นหนึ่งมันต้องผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง และอีกกี่ร้อยปีพลาสติกเหล่านี้ถึงจะย่อยสลาย เราอยากให้เขาได้รู้ข้อเท็จจริงตรงนี้เพื่อผลักดันให้เขาลงมือทำอะไรบางอย่างกับขยะพลาสติก” สลิลาเล่าความหวัง
“อีกจุดประสงค์หนึ่งคือ เราอยากให้คนรู้ว่า เวลาพลาสติกเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา มันไม่ได้มีแต่ข้อเสียเสมอไปหรอก มันมีข้อดีอยู่ เพราะในแง่การใช้งาน วัสดุบางอย่างก็ทดแทนพลาสติกไม่ได้ เราไม่จำเป็นต้องเลิกใช้ แต่เราใช้มันหลายๆ ครั้งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ครั้งเดียว”
ในฐานะคนทำงานสื่อสารสิ่งแวดล้อม ทั้งสองคนบอกว่าอาจมีบางครั้งที่เหนื่อยใจ หรือบางเวลาก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่ามาถูกทางหรือเปล่า
“ระหว่างทางมันจะมีคำพูดตลอดว่า เรารักโลกแต่ทำไมโลกไม่รักเราเลย” ขวัญชีวาหัวเราะ ก่อนที่สลิลาจะเสริมว่า
“เราว่าคนที่ทำธุรกิจเหล่านี้จะรู้แหละว่ามันทั้งยาก ทั้งเหนื่อย แต่ทุกครั้งที่เราตั้งคำถามว่าจะทำต่อดีไหม เราก็กลับไปทบทวนว่าเราเริ่มทำสิ่งนี้เพราะอะไรตั้งแต่แรก เพราะเรารู้สึกว่ามันต้องเริ่ม ต้องลงมือสิ ถ้าเราไม่ทำวันนี้มันก็ไม่ไปไหนสักที
“การได้ทำ Meltdistrict ตอบโจทย์เรานะ เราเคยตั้งคำถามว่า ถ้าเราไม่ได้ทำออร์แกไนเซอร์ เราจะทำอะไร ทุกวันนี้เวลาหลานเราเจอเรา เขาก็จะบอกว่า เดี๋ยวเก็บฝาขวดพลาสติกมาให้ เราก็รู้สึกว่าดีนะที่มันเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของหลานเราแล้ว มันเล็กๆ น้อยๆ แต่เรารู้สึกภูมิใจ”
ขวัญชีวาสมทบต่อ
“ระหว่างทางการทำธุรกิจนี้ มีบางวันที่เราไม่อยากตื่นมาทำเหมือนกัน แต่พอเราทำสำเร็จ มีคนเห็นค่า มันเป็นความตื้นตันใจบางอย่างจากการทำให้คนทั่วไปได้รับรู้และเห็นค่าของขยะ สิ่งเหล่านี้เติมเต็มเราได้พอสมควรเลย”
ส่วนปลายทางที่สองสาวอยากเห็น พวกเธอบอกว่า ถ้าวันหนึ่งต้องปิดกิจการเพราะไม่มีปัญหาขยะอีกต่อไป ก็เป็นเรื่องที่รับได้อย่างเต็มใจ และหวังอยากให้เป็นอย่างนั้น
“เราเคยคุยกันตั้งแต่แรกว่า ถ้าสักสิบปีไม่มีขยะให้กำจัดแล้ว ทุกคน Sustain หมดแล้ว โอเคปิดกิจการแล้วนะ บ๊ายบาย ไปทำอย่างอื่นดีกว่า พูดกันเล่นๆ แต่คิดจริงๆ นะ เราว่าถ้าเป็นแบบนั้นน่าจะดี” สลิลาปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ