หลังการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลมานานหลายร้อยปี คาร์บอนไดออกไซด์ได้สะสมในชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก ลำพังการลดการปล่อยมลพิษอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์หลายคนจึงมองว่าการดูดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีศักยภาพในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างรวดเร็ว และสามารถลดการสะสมในชั้นบรรยากาศได้ แต่ก็มีข้อเสียที่เห็นได้ชัดคือประสิทธิภาพยังไม่มากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน และกินพลังงานมากอย่างเหลือเชื่อในการดูดซับมลพิษเพียงเล็กน้อย
ในทางกลับกัน ต้นไม้ก็ต้องการเวลามหาศาลที่จะเติบโตและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้ด้วยพลังงานจากดวงอาทิตย์ ซึ่งความสามารถในการดูดซับก็อาจไม่เพียงพอ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา (ASU) จึงเสนอให้ใช้ ‘Mechanical Tree’ หรือต้นไม้กล ในการดูดซับคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศโดยตรง
Klaus Lackner ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมของ ASU และผู้อำนวยการของ Center for Negative Carbon Emissions จึงวางแผนที่จะสร้างเครื่องดักจับคาร์บอนที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยต้นไม้ที่ว่านี้จะดูเหมือนกองแผ่นเสียงขนาดยักษ์ ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่บรรจุตัวโน้ตและเสียงเพลง แต่เคลือบด้วยวัสดุดักจับคาร์บอน เมื่ออากาศหมุนเวียนผ่านแผ่นเสียงเหล่านั้นก็จะเก็บคาร์บอน ลงไปจนเต็ม ก่อนจะจุ่มลงในถังซึ่งใช้ไอน้ำในการปล่อยคาร์บอนที่บรรจุไว้ออกมาแล้วเก็บไว้ในถังอีกต่อหนึ่ง
“การใช้ความชื้นทำให้เราสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึงครึ่งหนึ่งของการดักจับอากาศโดยตรง และส่วนที่เหลือเราก็เลือกที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน” Klaus ยังมองว่าการดักจับอากาศโดยตรงเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา แต่เราไม่ควรพึ่งพาวิธีการนี้เพียงอย่างเดียว และมองว่าการที่บริษัทดักจับคาร์บอน จำหน่าย Carbon Offset หรือการชดเชยคาร์บอนในราคา 500 – 1,000 เหรียญฯ ต่อตัน เป็นราคาที่สูงเกินไป
หลังจากนี้ Klaus วางแผนที่จะสร้างฟาร์มคาร์บอน 3 แห่ง ที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1,000 ตันต่อวัน และบริษัท Carbon Collect ที่จำหน่ายเทคโนโลยีดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ก็มองว่าโครงการนี้จะเป็นก้าวสำคัญอย่างมาก ในการสร้างความสมดุลด้านงบประมาณในการดักจับคาร์บอนของเราในอนาคต