ชูมณี : รถซักผ้าที่อยากให้ทุกคนเข้าถึงความสะอาด - Urban Creature

8 มิถุนายนที่ผ่านมาคือ ‘วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ’ เป็นครั้งแรกที่สถาปนาวันนี้ขึ้นมาเพื่อให้เห็นความสำคัญของการซักผ้าและอาบน้ำ

เราเชื่อว่าหลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้ เป็นคนที่มีโอกาสได้อาบน้ำและซักผ้าทุกวันโดยไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ มารบกวนใจอย่างแน่นอน แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีคนอีกมากมายที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงกิจกรรมพื้นฐานในชีวิตประจำวันเหล่านี้ และมีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่าคุณจะจินตนาการถึงได้ เพียงเพราะไม่ได้ซักผ้าและอาบน้ำอย่างที่ควรจะเป็น

‘วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ’ คืองานที่ Otteri wash & dry (อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย) ร้านสะดวกซักที่มีมากกว่า 700 สาขาทั่วไทย ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา นำรถซักผ้าเคลื่อนที่ ‘ชูมณี (Chumanee)’ มาบริการคนไร้บ้านให้อาบน้ำและซักผ้ากันฟรีๆ เป็นครั้งแรก ที่บริเวณหลังศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม ในเขตพระนคร ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ อาศัยอยู่เยอะ

เราถือโอกาสมาร่วมงานและนัดพบกับ กวิน นิทัศนจารุกุล ผู้บริหารของ Otteri Wash & Dry ที่งานนี้ เพื่อฟังเรื่องราวเบื้องหลังการเปิดตัวรถซักผ้าเคลื่อนที่คันแรกของไทย และพูดคุยถึงการยกเรื่องซักผ้าและอาบน้ำมาเป็นประเด็นสำคัญเพื่อสื่อสารกับคนทั้งประเทศ

กวิน นิทัศนจารุกุล CEO Otteri wash & dry

งานวันนี้มูลนิธิกระจกเงาได้ออกเดินแจกบัตรเชิญให้กับคนไร้บ้านมาเข้าร่วมงาน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและมีคนไร้บ้านเข้าร่วมมากกว่า 200 คน ภายในงานจะแบ่งออกเป็นหลายสเตชันเพื่อตอบสนองความต้องการของคนไร้บ้านเป็นหลัก โดยเริ่มจากบูทแรกที่ทุกคนต้องมาแวะคือ ‘แฟชั่นสัญจร’ ที่เปิดให้คนไร้บ้านได้ช้อปชุดใหม่ได้ฟรีๆ คนละ 1 ชุด หากใครต้องการมากกว่านั้นสามารถซื้อได้ในราคาชุดละ 1 บาท ซึ่งชุดทั้งหมดนี้ได้รับการบริจาคผ่านมูลนิธิกระจกเงา และซักอบให้หอมพร้อมสวมใส่ด้วยรถซักผ้าชูมณี 

วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ
Chumanee ชูมณี

หลังจากได้ชุดใหม่แล้วก็มีห้องอาบน้ำไว้บริการ เปลี่ยนชุดหอมๆ เสร็จแล้วให้นำชุดเก่าและเสื้อผ้าที่เตรียมมาไปซักกับชูมณี จะมีพี่ๆ จากโครงการจ้างวานข้าและชูมณีคอยให้คำแนะนำ ระหว่างรอผ้าก็ไม่เสียเวลาเปล่าๆ เพราะมีรถ Food Truck จาก We Chef ไว้บริการ ทุกคนจะได้รับคูปองอาหารและเลือกกินได้ทูกบูท และยังมีบูทรับสมัครงานจากโครงการจ้างวานข้าที่เปิดโอกาสให้คนไร้บ้านได้เข้าไปทำงานร่วมกับมูลนิธิด้วย 

นอกจากความคึกคักที่เกิดขึ้นในวันนั้น เราได้เห็นแววตาที่เปี่ยมสุขของคนไร้บ้านหลังจากได้อาบน้ำและซักผ้า แค่พวกเขาได้ทำกิจกรรมที่แสนสามัญธรรมดาอย่างปลอดภัยและไร้กังวลใน ก็อาจเปลี่ยนวันยากๆ ในชีวิตให้มีความหมายและทำให้หลายคนหลับสบายสักคืนหนึ่ง

ร้านซักผ้าที่อยากให้ความสะอาดเป็นวาระแห่งชาติ

ธุรกิจร้านสะดวกซักไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย เพราะไม่ว่าหอพักหรือคอนโดฯ ไหนก็สามารถเข้าถึงเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญได้ไม่ยากนัก 

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ร้านสะดวกซักที่มีโลโก้เป็นตัวนาก (Otteri) สีน้ำตาลแสนน่ารักบนพื้นหลังสีฟ้า ค่อยๆ ขยายไปทั่วประเทศไทยจนตอนนี้มีกว่า 700 สาขา มีตู้โลโก้ตัวนากตัวนี้ตั้งอยู่ทุกจังหวัด ตั้งแต่แม่สายยันปัตตานี

ธุรกิจของ Otteri ไม่ใช่แค่ร้านสะดวกซักที่บริการเครื่องซักผ้าเท่านั้น แต่ยังมีบริการตู้อบผ้าที่ใช้เวลาสั้นมากๆ ตู้ซักและตู้อบใช้เวลาตู้ละ 30 นาที รวมๆ แล้วเราจะได้ใส่เสื้อผ้าใหม่ภายในเวลา 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ Otteri ยังใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ทั้งลูกค้าและเจ้าของแฟรนไชส์ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น ลูกค้าที่มาใช้บริการเครื่องซักผ้าไม่ต้องรอสะสมเหรียญ 5 – 10 ให้ครบอีกต่อไป เพราะสามารถสแกน QR Code จ่ายเงินได้เลยที่หน้าเครื่อง แถมยังสะสมแต้มบนแอปฯ ได้อีกด้วย ยิ่งใช้บ่อยก็ยิ่งคุ้ม ส่วนเจ้าของร้านยังสามารถเช็กรายรับบนแอปฯ ได้ด้วยเช่นกัน ไม่ต้องไปยืนเฝ้าที่หน้าร้าน เพราะทุกอย่างเป็นระบบอัตโนมัติและบริการตัวเอง 

นอกจากบริการที่สะดวกสบายมากกว่าเจ้าอื่นๆ แล้ว กวินบอกว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังบริการซักผ้า คือปณิธานที่อยากให้คนไทยเข้าถึงความสะอาดได้ในราคาที่ประหยัด 

กวิน นิทัศนจารุกุล CEO Otteri wash & dry

“พันธกิจของ Otteri คือจะสร้างสรรค์สังคมให้มีสุขภาพดี โดยเริ่มต้นจากการมีเสื้อผ้าที่สะอาด เราจะทำร้านสะดวกซักที่มีมาตรฐานระดับสากลให้สามารถเข้าถึงได้ในราคาประหยัด และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนให้ได้”

การซักผ้าเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่คนเราใช้เวลาไปมากพอสมควร โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ต้องสละวันหยุดเสาร์อาทิตย์มาจัดการภาระเหล่านี้ ในฐานะที่ทำธุรกิจซักผ้ามานาน เขาพบว่าการซักผ้าคือปัญหาใหญ่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป 

“คนที่มีฐานะหน่อยเขาจะไม่มีปัญหาเรื่องการซักผ้า เพราะเขาใช้เงินแก้ปัญหาได้ แต่สำหรับคนที่มีรายได้น้อยหน่อย เขาต้องเอาเวลาของเขามาแลกกับความสะอาด ซึ่งในสภาพสังคมปัจจุบันนี้คนจะอยู่เป็นครอบครัวเล็กมากขึ้น มีพ่อ แม่ และลูก และทุกคนต้องทำงาน คนทำงานแค่เตรียมกับข้าวให้ลูก สอนการบ้าน ก็หมดเวลาแล้ว ฉะนั้นวันอาทิตย์จึงเป็นวันที่เขาต้องสะสางงานบ้าน และต้องเป็นวันซักผ้าเพราะเขาดองไว้ทั้งอาทิตย์เพื่อมาซักวันนี้วันเดียว 

“การมีอยู่ของร้านเราทำให้เขาได้มีเวลาในชีวิตเพิ่มขึ้น จากที่เขาจะต้องมานั่งซักผ้าทีละรอบเพราะเขามีเครื่องเดียวและต้องแยกซักให้คนทั้งบ้าน กว่าจะแห้งรวมแล้วใช้เวลากว่ายี่สิบชั่วโมง แต่ถ้าเขามาที่ร้านเรามีเครื่องซักผ้าประมาณเจ็ดถึงแปดเครื่อง เขาสามารถแยกซักของคนทั้งบ้านได้เลย แล้วเสร็จพร้อมกันภายในหนึ่งชั่วโมง ผมมองว่าบริการแบบนี้มันคือสิ่งที่ทุกสังคมควรจะต้องมี ควรจะต้องเข้าถึงบริการเสื้อผ้าสะอาดได้ในราคาประหยัด และควรจะต้องเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นี่คือสิ่งที่แบรนด์เราให้คำมั่นสัญญาไว้ และต่อไปเราก็จะผลิตร้านของเราออกมาอีก” 

กวินบอกว่าราคาค่าซักผ้าของ Otteri เริ่มต้นที่ 20 บาท มีโปรโมชันลดราคาทุกวันพุธ และเวลา 24.00 – 06.00 น. ของวันธรรมดา เพราะเป็นวันที่ลูกค้าไม่เยอะเท่าวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งเป็นราคาที่คนรายได้น้อยเอื้อมถึงความสะดวกสบายตรงนี้ได้ 

จากประสบการณ์การใช้งาน เราพบว่าราคาเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ 30 – 40 บาท จนอดสงสัยไม่ได้ว่าราคานี้คุ้มค่าแล้วหรือยังสำหรับธุรกิจ

“จริงๆ ตอนนี้ค่าใช้จ่ายของเราก็เพิ่มขึ้นนะ ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊สหุงต้ม แต่เราไม่ขึ้นราคาสักบาท เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราขึ้นราคาจะมีคนเดือดร้อนเยอะมาก การเพิ่มราคาเราคิดว่าเราควรจะไปเพิ่มตอนที่เขามีเงิน ไม่ควรจะเพิ่มตอนนี้”

‘ชูมณี’ โครงการที่เชื่อว่าทุกคนมีอัญมณีอยู่ในตัว

ถึงแม้ว่าปัจจุบัน Otteri จะมีสาขาอยู่ทั่วไทยและเป็นที่จดจำของลูกค้าแล้ว แต่รถซักผ้าเคลื่อนที่คันนี้ไม่ได้ใช้ชื่อ Otteri และใช้คาแรกเตอร์ตัวนากอีกต่อไป แต่ใช้ชื่อ ‘ชูมณี’ และใช้คาแรกเตอร์เป็นคุณป้า 2 คน คือป้าชูและป้ามณี หน้าตาใจดีและพร้อมให้บริการ และอยากให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจเหมือนมีแม่มีป้าคอยซักผ้าให้ 

Chumanee ชูมณี

ส่วนชื่อชูมณี กวินบอกว่าชื่อนี้คือนามสกุลเก่าของภรรยา เขามองผู้สูงอายุเปรียบดั่งอัญมณีที่ถูกเจียระไน เมื่อผ่านเวลาไปแล้ว ณ วันที่เขาพร้อมที่จะเปล่งประกายกลับไม่มีใครหยิบเขามาเชิดชู เขาจึงตั้งชื่อบริษัทว่า ‘ชูมณี’ เพราะเชื่อว่าทุกคนมีอัญมณีอยู่ในตัว

ที่ไม่ใช้ชื่อ Otteri เพราะทางทีมงานตั้งใจให้ชูมณีเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) มีเป้าหมายว่ารถคันนี้ต้องอยู่ได้โดยไม่พึ่งเงินบริจาค สามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเองได้และช่วยเหลือสังคมได้ไปพร้อมๆ กัน

“ที่ผ่านมา Otteri คิดจะทำ CSR มาตลอด แต่จะทำโครงการเพื่อสังคมได้บริษัทต้องมีกำไรก่อน การทำชูมณีขึ้นมาจึงเป็นการออกแบบโมเดลใหม่ที่ทำให้รถซักผ้าเลี้ยงตัวเองได้และสามารถคืนประโยชน์สู่สังคมได้ด้วย เราจึงแยกชูมณีออกมาเป็นอีกบริษัทและหาโอกาสทางธุรกิจใหม่” 

กวินเล่าว่า ขณะนี้โครงการของชูมณีมีการหารายได้อยู่ 2 ทางด้วยกัน คือ 1. โครงการจ้างงานผู้สูงอายุพับผ้า และ 2. รถซักผ้าเคลื่อนที่ให้เช่า 

“ตอนแรกเรามองว่าเราแค่อยากทำธุรกิจที่ได้แก้ปัญหาไปด้วย เราก็เลยกลับมามองว่า Pain Point ของลูกค้าเราว่ามีอะไรบ้าง เราพบว่าบางทีการรอผ้ามันก็เป็นปัญหานะ ลูกค้าเขาก็อยากเอาเวลาตรงนี้ไปทำอย่างอื่น และบางคนเขาก็พร้อมที่จะจ่ายเงินมากกว่าเดิมเพื่อที่จะได้ซื้อเวลา เราก็เลยคิดว่าเราจ้างคนมาทำตรงนี้ดีกว่า และคุยกันในทีมว่า เราจะจ้างใครดี ก็เลยออกมาว่าเราจะจ้างผู้สูงอายุ เพราะเราอยากช่วยแก้ปัญหาผู้สูงอายุและสังคมสูงวัยด้วย”

ผู้สูงอายุในโครงการชูมณีจะมีหน้าที่ในการช่วยอำนวยความสะดวกลูกค้า ช่วยนำผ้าไปซัก อบ และพับผ้าให้ โดยมีค่าบริการเพียงตะกร้าละ 40 บาทเท่านั้น เพียงมาฝากตะกร้าทิ้งไว้ แล้วลูกค้าก็สามารถไปเดินเล่นหรือทำธุระต่อได้โดยไม่ต้องเสียเวลารอเอาผ้าออกจากตะกร้า ซึ่งในขณะนี้ชูมณีได้จ้างงานผู้สูงอายุไปแล้วทั้งหมด 11 คน 11 สาขา และมีแผนจะจ้างงานเพิ่มในอนาคต

“เราทำโครงการกับผู้สูงอายุเพราะมันเป็นข้อมูลที่ทุกคนเห็นตรงหน้าว่าไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เราเห็นชัดเลยว่าผู้สูงอายุในไทยส่วนใหญ่การศึกษาไม่ได้สูงมาก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเขาไม่มีการวางแผนการเงิน บางคนคิดว่าเขามีลูกหลานเยอะ เดี๋ยวลูกหลานก็ช่วย กลายเป็นว่าต้องพึ่งพาลูกหลาน เท่ากับว่าคนหนึ่งเจเนอเรชันต้องเลี้ยงคนสามเจเนอเรชันด้วยกัน เลี้ยงทั้งพ่อแม่ลูก และตัวเอง ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายที่เยอะมากๆ 

“เราอยากช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะเรามองว่าผู้สูงอายุไม่ได้ไร้ค่า เขาแค่อาจจะทำงานที่เคยทำมาได้ไม่ได้อย่างเต็มที่แล้ว เช่น บางคนเขาอาจจะเคยทำงานโรงงาน ทำงานในสายการผลิต คนเหล่านี้อาจจะเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ต้องออกเมื่อทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าเดิม ฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังมองหาคือ หางานที่เหมาะกับพวกเขา ให้เขาได้ทำในสิ่งที่ยังทำได้ ให้เขารู้สึกว่าเขายังมีคุณค่าในตัวเองอยู่”

มากกว่าการได้ทำงาน กวินบอกว่า พนักงานสูงวัยในโครงการชูมณียังรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าอีกครั้ง เพราะเขาได้พบงานที่เขาทำได้ดี และมีคนให้โอกาสผู้สูงอายุได้ทำงานอีกครั้ง ถึงแม้ตอนนี้จะจ้างงานผู้สูงอายุได้ 11 สาขา แต่กวินยังนำแนวคิดนี้ไปแนะนำต่อให้กับลูกค้าแฟรนไชส์ หากใครต้องการจ้างงานคนดูแลร้านก็อยากให้จ้างพนักงานสูงอายุมากกว่าวัยรุ่น เพราะเขาพิสูจน์แล้วว่าผู้สูงอายุเหล่านี้ยังทำงานของร้าน Otteri ได้อย่างดีจริงๆ

รถซักผ้าที่พาความสะอาดเดินทางไปหาผู้คน

รถซักผ้าเคลื่อนที่ที่จอดให้บริการในงานวันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ คืออีกโครงการหนึ่งของชูมณีที่ตั้งใจนำความสะอาดเข้าไปหาผู้คนถึงที่ รถคันนี้ประกอบด้วยเครื่องซักผ้าและเครื่องอบทั้งหมด 4 ชุด ใช้พลังงานก๊าซหุงต้ม LPG และมีห้องอาบน้ำ 1 เครื่องอยู่ด้านหลังไว้บริการ เคลื่อนที่ได้โดยการใช้รถลากไปหาผู้คนตามจุดจอดต่างๆ

Chumanee ชูมณี

กวินเล่าให้ฟังว่าไอเดียนี้มาในจังหวะที่เป็นใจพอดี เพราะเขากำลังอยากทำรถซักผ้าเคลื่อนที่ ส่วนมูลนิธิกระจกเงาก็อยากทำอะไรแบบนี้มานานแล้ว ติดตรงที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอ เมื่อเขามีไอเดียและติดต่อมูลนิธิไปจึงเป็นการจับคู่ที่เข้ากันได้พอดี

“ไอเดียของโครงการนี้มันเริ่มมาจากช่วงปี 2021 ที่โควิด-19 กลับมาระบาดหนัก เราได้รับการติดต่อจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เขาบอกว่าอยากจะได้เครื่องซักผ้าไปให้คนไร้บ้านที่ดินแดงใช้ เพราะเขามีบ้านที่รองรับคนไร้บ้านอยู่ พอเราเข้าไปดูแล้วเราก็บริจาคเครื่องซักและเครื่องอบให้ 1 ชุด ตอนนั้นเราคิดว่าเราทำได้แค่นี้เองเหรอ มันน่าจะมีอะไรบางอย่างที่เราทำได้มากกว่านี้สิ เราเลยคิดว่าเรามาคุยกับผู้เชี่ยวชาญดีกว่า จึงติดต่อคุยกับทางมูลนิธิกระจกเงา ทำให้เราได้ข้อมูลเกี่ยวกับคนไร้บ้านเพิ่มเติม 

“เราเป็นบริษัทซักผ้า สิ่งที่เราให้ความสนใจคือการมีสุขภาพที่ดี โดยเริ่มต้นจากการที่เขามีเสื้อผ้าสะอาดใส่ เราก็เลยเอาไอเดียนี้ไปคุยกับกระจกเงา ซึ่งทางมูลนิธิก็บอกว่า เขาดูโมเดลนี้จากเมืองนอกมานานแล้วเหมือนกันแต่เมืองไทยยังไม่มี และเขาก็ไม่มีเงินมากพอ เราก็เลยบอกว่าเราอยากทำรถซักผ้าให้ เราก็เลยได้มาทำด้วยกัน” 

Chumanee ชูมณี

ด้วยความตั้งใจที่อยากให้รถซักผ้าชูมณีคันนี้อยู่ด้วยตัวเองได้ กวินจึงคิดแผนธุรกิจที่ทำให้รถคันนี้ได้ทั้งงานและได้ช่วยคนไปพร้อมๆ กัน รถซักผ้าชูมณีจึงมีฟังก์ชันอยู่ 2 อย่างคือ 1. หาเงิน 2. ช่วยคน

“โมเดลในการหาเงินของชูมณีที่คิดไว้คือ เราอาจจะเอารถคันนี้ไปร่วมกับ We Chef เอารถไปจอดตามหมู่บ้านหรือคอนโดฯ ในช่วงวันหยุด เขาจะได้เอาเสื้อผ้ามาอบ และมากินอาหารที่ Food Truck ระหว่างรอผ้า นอกจากนี้ เรายังมีบริการให้เช่ารถซักผ้าสำหรับกองถ่าย งานคอนเสิร์ต หรืออีเวนต์ต่างๆ เรารู้สึกว่ามันมีความต้องการตรงนี้อยู่ที่เราสามารถสร้างรายได้กลับเข้ามาได้

“อีกฟังก์ชันคือเรื่องของการช่วยเหลือชุมชน อย่างเช่นการซักผ้าให้คนไร้บ้านในวันนี้ และอีกอย่างที่อยากทำในอนาคตคือการบรรเทาสาธารณภัย เช่น น้ำท่วม พอน้ำลดแล้วเราขับรถคันนี้ไปให้บริการได้” 

สุขภาวะคือปัญหาระดับชาติ

ทำไมการอาบน้ำและซักผ้าถึงต้องเป็นวาระแห่งชาติ เราสงสัยเมื่อได้เห็นชื่องานปรากฏอยู่บนเฟซบุ๊กของมูลนิธิกระจกเงา 

สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการจ้างวานข้า ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานหลายสิบชีวิตที่อยู่เบื้องหลังวันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ เล่าที่มาที่ไปของวันนี้ให้เราฟัง 

สิทธิพลบอกว่า ที่ผ่านมามูลนิธิกระจกเงาทำงานกับคนไร้บ้านมานานกว่า 8 – 9 ปีแล้ว ทำให้เห็นปัญหาหลายๆ มุมของคนไร้บ้านมาตลอด ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ยังไม่มีใครทำและแก้ปัญหานี้ได้คือเรื่องง่ายๆ อย่างการเข้าถึงกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การซักผ้าและอาบน้ำ เพราะมันเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่คนไร้บ้านต้องการไม่ต่างจากทุกคน 

“ที่ใช้คำว่าแห่งชาติเพราะเราอยากบอกว่าวันนี้มันเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องการซักผ้าอาบน้ำมันไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆ เลย มันเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวัน การที่คนไม่สามารถเข้าถึงการใช้ชีวิตประจำวันได้มันเป็นเรื่องประหลาดนะ เราจึงใช้ชื่อวันนี้เลยเพื่อบอกว่ามันสำคัญสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่คนไร้บ้านอย่างเดียว” 

แค่ไม่ได้อาบน้ำครึ่งวันเราก็รู้สึกไม่อยากพบเจอใครแล้ว แต่สิทธิพลบอกว่าคนไร้บ้านส่วนใหญ่ได้อาบน้ำเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน บางคนแอบอาบตามห้องน้ำสาธารณะ บางคนอาบตามแหล่งน้ำ ตามคลอง และเมื่อจำเป็นต้องซักผ้าพวกเขาก็ซักไปพร้อมกัน และต้องทนใส่ทั้งที่เปียกหมาดๆ แบบนั้นเพราะไม่มีเวลารอผ้าแห้งทั้งวัน เราจินตนาการไม่ออกเช่นกันว่าคนที่ต้องอยู่ในภาวะเช่นนี้ทุกวันจะมีสุขภาพจิตอย่างไร

Chumanee ชูมณี

“การที่คนไร้บ้านเข้าไม่ถึงทั้งการซักผ้าและอาบน้ำมันทำให้สุขอนามัยของเขาแย่ เวลาที่เขาไปมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมก็เป็นปัญหา อย่างบางคนขึ้นรถเมล์ก็ถูกไล่ จะไปสมัครงานก็ไม่มีใครอยากรับเพราะตัวเหม็น ผมเคยเห็นบางรายพอไม่ได้อาบน้ำ แรกๆ เริ่มจากเป็นโรคผิวหนัง แต่บางคนมีแผล พอไม่ได้อาบน้ำทำความสะอาดมันก็ติดเชื้อและเป็นปัญหาร้ายแรงตามมา 

“ความสะอาดมันไม่ได้กระทบแค่สุขภาพกาย แต่มันยังกระทบเรื่องของสุขภาพจิตด้วย ลองนึกถึงตัวเองสิว่าถ้าเราไม่ได้อาบน้ำสักหนึ่งอาทิตย์เราจะรู้สึกยังไง มันทั้งเหนียวเหนอะและรำคาญเนื้อตัว ไปที่ไหนก็ไม่มีคนต้อนรับ มันทำให้สุขภาพจิตของเขาแย่ลงตามไปด้วย”

วันนี้จึงถือเป็นวันแรกที่วันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติได้ถือกำเนิดขึ้นมา และทำให้หลายคนได้มองเห็นปัญหาใหญ่จากจุดเล็กๆ ในสังคม

ก่อนจะมาพบกัน เราพบว่าโครงการนี้ไม่มีช่องทางบริจาค เราจึงสงสัยว่า ถ้าหากมีคนอยากช่วยให้ชูมณีมีอยู่ต่อไปจะช่วยสนับสนุนได้อย่างไรบ้าง

กวินบอกว่า “จริงๆ ง่ายมากเลยครับ แค่มาใช้บริการซักผ้าที่ร้าน Otteri ของเราแค่นั้นเอง เพราะช่วยสนับสนุนได้ทั้งผู้สูงอายุและรถซักผ้า ไม่จำเป็นต้องบริจาคเงินเลย ผมคิดว่าเราควรจะทำการค้าอย่างเป็นธรรมนะ เราคิดว่าเราไม่ควรรับบริจาค เราควรได้เงินมาจากการแลกกับการทำงานอะไรบางอย่าง เหมือนที่เราเองก็ไม่ได้ให้เงินคุณป้าไปเฉยๆ แต่มันเกิดจากงานที่เขาทำให้กับเรา การให้เงินอย่างเดียวมันไม่ได้ช่วยอะไร เพราะสิ่งที่เรากำลังวางแผนไว้ระยะยาวมีสามอย่าง คือ หนึ่ง สร้างงาน สอง สร้างรายได้ สาม สร้างอาชีพ ให้กับคน ในอนาคตเราก็อยากจะเทรนนิงให้คุณป้าสามารถทำซักอบรีดด้วยตัวเองได้ ทำให้เขามีอาชีพมากขึ้นด้วย” 

กวินทิ้งท้ายเอาไว้ว่า หลังจากนี้ทางชูมณีจะถอดบทเรียนจากงานนี้ และจะสื่อสารไปถึงคนที่เกี่ยวข้องต่อไป

“เราอยากสื่อสารไปถึงคนที่เกี่ยวข้องว่าการมีเครื่องซักผ้าหรือห้องอาบน้ำที่ดีมันสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ถึงการทำโครงการต่างๆ เพราะ กทม. ไม่จำเป็นต้องสร้างเองก็ได้ แค่มีที่ให้เรา เราก็พร้อมจะใช้รถชูมณีไปทำให้มันเป็นประโยชน์กับทุกคน เราอยากให้คนทั่วไปสามารถนำผ้ามาซักที่นี่ได้ในราคาประหยัด และกำไรจากชูมณีก็สามารถเอาไปซักผ้าฟรีให้คนไร้บ้านได้เช่นกัน เพราะเราอยากให้โครงการนี้ทำต่อไปได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินบริจาค” 

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.