ปลาสลิดบางบ่อ แม่อำนวย ของดีสมุทรปราการ - Urban Creature

วันเปิดเล่มของกองบรรณาธิการ Urban Creature เป็นปกติที่ทุกคนจะช่วยกันโยนไอเดียตู้มต้าม และเมื่อถึงคิวคอลัมน์ ‘ประจำจังหวัด’ ฉันก็นึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนอย่าง ‘จังหวัดสมุทรปราการ’ ขึ้นมา

“ป้อมยุทธนาวี พระเจดีย์กลางน้ำ ฟาร์มจระเข้ใหญ่ งามวิไลเมืองโบราณ
สงกรานต์พระประแดง ปลาสลิดแห้งรสดี…

ฉันสะดุดใจกับ ‘ปลาสลิดแห้งรสดี’ ที่กลายเป็นมุกตลก “ปลาสลิดบางบ่อ บางบ่อก็ไม่ใช่ปลาสลิด” และมักตบมุกว่า “เพราะบางบ่อเลี้ยงกุ้ง บางบ่อเลี้ยงปลานิลยังไงล่ะ ผ่าม!” ทว่าตั้งแต่เกิดมาฉันยังไม่รู้เหตุผลที่แท้จริงเลยว่า “ทำไมปลาสลิดต้องบางบ่อ”

เพื่อไม่ให้เสียชื่อคนสมุทรปราการ ฉันจึงออกเดินทางไปสืบประวัติปลาสลิดถึงแหล่งที่มาอย่างอำเภอบางบ่อ เรียนรู้ทุกขั้นตอนตั้งแต่เลี้ยงปลา หมักปลา ยันตากแห้ง พร้อมพาไปรู้จัก ‘ปลาสลิดบางบ่อ แม่อำนวย’ ที่เริ่มต้นขายปลาสลิดตากแห้งราว พ.ศ. 2500 ถือเป็นผู้บุกเบิกที่ทำให้คนบางบ่อหันมาทำบ่อปลาสลิดจนมีชื่อเสียงระดับประเทศ ปัจจุบันร้านแม่อำนวยสืบทอดมาถึงรุ่นที่ 3 การันตีความอร่อยหอมมันเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือมีโปรดักต์หลากหลายให้เลือกสรร

ก่อนไปลงลึกเรื่องปลาสลิดบางบ่อ ฉันจะเล่าวิถีชีวิตคนบางบ่อในอดีตให้ฟัง เป็นเรื่องราวความรักของคุณปู่คุณย่าฉันเอง คนบางบ่อสมัยก่อนเลี้ยงชีพด้วยการทำนา เนื่องจากพื้นที่อำเภอบางบ่อส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม ทำไร่ทำสวนไม่ได้ เมื่อได้ผลผลิตเป็นข้าวเปลือกก็จะล่องเรือมาขายทางคลองสำโรง และซื้อเสบียงกรัง ได้แก่ มะพร้าวห้าว รวมถึงของใช้จำเป็นขนใส่เรือกลับไป

ด้วยการเดินทางระหว่างสองอำเภอที่ต้องนั่งเรือเป็นระยะทางไกล ครอบครัวของคุณปู่ฉันที่มาจากบางบ่อจึงต้องพักค้างแรมที่บ้านสวนของครอบครัวคุณย่าทางฝั่งสำโรง ทำให้ทั้งสองครอบครัวสนิทสนมกัน จนกระทั่งคุณปู่กับคุณย่าได้แต่งงาน และย้ายมาตั้งรกรากอยู่ริมคลองสำโรงนี้เอง

บรรยากาศคลองสำโรง-บางบ่อ พ่อค้าชาวจีนที่ตระเวนรับซื้อข้าวเปลือกทางเรือ และเรือโยงบรรทุกข้าว
ถ่ายโดย Dr.Robert Larimore Pendleton ช่วง พ.ศ. 2478 – 2481
ภาพ : หนังสือสะสม Classic Books. ∞ ภาพถ่ายเก่าโบราณในอดีต

‘บ่อเกิด’ ปลาสลิด

ฉันเดินทางมาที่ร้านแม่อำนวยเพื่อมาหา คุณต้อม-ศิวะพร นาคเกิด ทายาทรุ่นสามผู้รับไม้ต่อมาจาก คุณแม่อำนวย นาคเกิด เซอร์ไพรส์แรก ผู้ที่ฉันมาสัมภาษณ์วันนี้นามสกุลเดียวกับฉัน เซอร์ไพรส์ที่สอง ฉันมีญาติหลายคนที่บางบ่อ แต่ไม่ยักรู้ว่ายังมีผู้สืบทอดภูมิปัญญาปลาสลิดตากแห้งด้วย แบบนี้เขาเรียกว่า “ใกล้เกลือกินด่าง!”

คุณต้อมเล่าที่มาที่ไปของปลาสลิดแม่อำนวย ซึ่งมี คุณยายเผือด ทองค้าไม้ หรือคุณยายของคุณต้อม เป็นรุ่นแรกและเป็นผู้ริเริ่มรับซื้อปลาสลิดมาตากแห้งขายในอำเภอบางบ่อ

“แต่ก่อนบางบ่อเป็นท้องนา คุณยายเผือดมีอาชีพขายปลาตากแห้ง แรกๆ ก็จับปลาจากท้องนามาตากแห้งขาย ทั้งปลาหมอ ปลาช่อน แล้วก็มีปลาสลิด ซึ่งปลาสลิดคนกินแล้วชอบ คุณยายก็เกิดความคิดว่าจะทำยังไงให้มีปลาสลิดมาขายเยอะขึ้น เลยลงทุนให้ คุณตาผัน ตู้เจริญ พี่ชายของคุณยายขุดบ่อเลี้ยงปลาสลิด

“พอทำแล้วรุ่งคนก็เริ่มขุดบ่อตามๆ กัน ใครมีทุนอยู่แล้วก็ขุดของเขาเอง ใครไม่มีทุนก็มาเอาทุนที่คุณยาย จนบ่อปลาสลิดในอำเภอบางบ่อมีมากถึงเจ็ดสิบถึงแปดสิบบ่อ ตอนแรกคนก็เอาปลาสลิดมาขายคุณยายกันหมด แต่พอปลาล้นมือ คนซื้อก็ไม่ถอย คนบางบ่อเลยหันมาทำปลาสลิดตากแห้งขายกันมากขึ้น เริ่มจากตระกูลเรา ตระกูลตาผัน แล้วก็ขยายไปเรื่อยๆ”

คุณยายเผือดไม่ได้ถนัดในการเลี้ยงปลาสลิด แต่คุณยายมีหัวทางธุรกิจ ค้าขายเก่ง และถนัดเรื่องการแปรรูป จนกลายเป็นมรดกตกทอดให้ลูกหลานขยับขยายครอบครัวออกไปมีอาชีพขายปลาสลิดกันทั้งนั้น

ทำไมต้องปลาสลิดบางบ่อ

ทำไมปลาสลิดต้องเลี้ยงที่บางบ่อ คำถามคาใจที่ฉันได้คำตอบว่า แต่ก่อนบางบ่อเป็นพื้นที่ดินเค็มกระทั่งมีโครงการชลประทาน มีการสร้างประตูกั้นน้ำทะเลที่ปากแม่น้ำบางเหี้ย (คลองด่าน) บางบ่อจึงมีน้ำและธรรมชาติที่เหมาะแก่การปลูกข้าว ชาวบ้านทำนากันเป็นอาชีพหลักและมีการปล่อยปลาช่อน ปลาหมอ ปลาสลิด เข้าที่นา ทำคันดินล้อมไว้ให้ปลาเติบโตตามธรรมชาติ เมื่อถึงเดือนออกพรรษาก็เกี่ยวข้าวและจับปลามาตากแห้งขายเป็นอาชีพเสริม

ไม่นานคุณต้อมก็เผยตัวละครลับอย่าง คุณตาผัน ตู้เจริญ อีกบุคคลสำคัญผู้ทำให้การเลี้ยงปลาสลิดเป็นที่แพร่หลาย ตาผันเริ่มจากการเสาะหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาสลิดมาเพาะเลี้ยง แล้วเปลี่ยนที่นาทั้งหมดของตนให้กลายเป็นบ่อเลี้ยงปลาสลิด หลังจากทดลองเลี้ยงปลาสลิดล็อตแรกได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ชาวบางบ่อเห็นดังนั้นก็หันมายึดอาชีพเลี้ยงปลาสลิดกันเป็นล่ำเป็นสัน

ฉันชักอยากจะเห็นแล้วสิว่าบ่อปลาสลิดที่ว่าเลี้ยงตามธรรมชาติหน้าตาเป็นอย่างไร คุณต้อมเลยอาสาพาไปดูพอมาถึงปุ๊บฉันถึงกับเอ่ยปากถามว่า “ไหนคะบ่อปลาสลิด” ฉันคาดหวังจะได้เห็นบ่อปลาขนาดใหญ่ที่มีน้ำปริ่มเหมือนบ่อกุ้งที่ฉันคุ้นเคย แต่ก็ต้องประหลาดใจที่คุณต้อมชี้ไปทางร่องน้ำตื้นๆ ซึ่งตอนนี้แห้งขอด ก่อนเฉลยว่าเจ้าของบ่อเพิ่งขึ้นปลาสลิดไปไม่กี่เดือนก่อน ซึ่งจะจับปลาสลิดกันแค่ปีละครั้งเท่านั้น ทำให้ฉันแอบผิดหวังเล็กน้อยที่ไม่ได้มาเห็นกับตา

“บ่อปลาสลิดที่เลี้ยงธรรมชาติต้องมีหญ้าในบ่อนะ ไม่ใช่บ่อเตียนๆ เพราะหญ้าคืออาหารของปลาสลิดโดยธรรมชาติ ต้องมีการฟันหญ้าให้เกิดลูกไร ฟันหญ้าเสร็จก็จะปล่อยไว้พักหนึ่ง หลังจากนั้นสามถึงสี่เดือนก็จะฟันหญ้าอีกรอบ เพื่อให้เกิดสารอาหารตลอดเวลา ส่วนเรื่องน้ำก็ต้องมีระหัดวิดน้ำเข้าออก พอช่วงที่มีน้ำเยอะเราก็ต้องวิดน้ำในคลองเข้าบ่อ ก็จะได้ปลาเล็กปลาน้อยอย่างปลานิล ปลาช่อน ปลาหมอติดเข้ามาด้วย”

สรุปง่ายๆ คือการเลี้ยงปลาสลิดจะเริ่มจากการขุดบ่อตื้นๆ ล้อมด้วยหญ้าแพรก หรือหญ้าทรงกระเทียม พอปล่อยปลาลงก็จะสับหญ้าให้คลุมผิวน้ำไว้ พอหญ้าเปื่อยยุ่ยก็จะเกิดลูกไรหรือแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของปลาสลิด ปลาสลิดที่เลี้ยงตามธรรมชาติจึงเนื้อแน่นและหอมมันกว่าปลาสลิดที่เลี้ยงเหยื่อ เนื่องจากได้รับแร่ธาตุที่อยู่ในดินในน้ำ และมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเพราะต้องหาอาหารด้วยตัวเอง เป็นที่มาว่าทำไมปลาสลิดบางบ่อถึงอร่อยกว่าที่อื่น

ส่วนที่บอกว่าปลาสลิดที่เลี้ยงตามธรรมชาติจับได้ปีละครั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าปลาโตตอนไหน ช่วงนี้เป็นหน้าฝนปลากำลังขยายพันธุ์และจะโตเต็มวัยหลังจากเลยหน้าฝนไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป หน้าแล้งยาวนานขึ้น ช่วงเวลาจับปลาก็เขยิบออกไป โดยส่วนมากประมาณเดือนสิงหาคมไปจนถึงกุมภาพันธ์ปลาจะขึ้นเยอะ

Weather Fighter

หลังได้ปลาจากบ่อ ขอดเกล็ด และทำความสะอาดเรียบร้อย ก็ถึงเวลาหมักและตากแห้ง ซึ่งการหมักเป็นขั้นตอนสำคัญที่ปลาจะอร่อยหรือไม่อร่อยก็วัดกันตรงนี้ แม้คุณต้อมจะคุ้นเคยกับกรรมวิธีต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ยังเจอปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เมื่อได้ลงมือทำเองจึงปรับวิธีการหมักและตากแห้งเพื่อให้ปลามีรสชาติและคงคุณภาพดีที่สุด

“คนสมัยก่อนจะคลุกเกลือแล้วหมักในถังไม้กลมๆ คุณพ่อมักจะเสียดาย ไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำแข็ง ทำให้ปลาเดี๋ยวเน่าบ้าง เดี๋ยวเค็มบ้าง เราจึงต้องเปลี่ยนมาควบคุมความเค็มและอุณหภูมิ เปลี่ยนถ่ายเกลือและน้ำแข็งเพื่อให้ความเย็นในถังสม่ำเสมอ เพราะอุณหภูมิเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เนื้อสด เวลากินเราจะได้รสชาติของเนื้อปลาแท้ๆ”

มาถึงจุดไคลแมกซ์ของ ‘ปลาสลิดตากแห้ง’ นั่นก็คือการตากแห้ง ใช่ว่าอากาศเมืองไทยจะลมดีและมีแดดอ่อนๆ ซึ่งเหมาะแก่การตากปลาสลิดตลอดทั้งปี โจทย์ยากจึงเป็นการต่อกรกับลมฟ้าอากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ซึ่งคุณต้อมก็งัดวิธีการใหม่ๆ ไปจนถึงทดลองนำเทคโนโลยีมาเอาชนะปัจจัยที่เกินความควบคุมนี้

“ปลาสลิดไม่ได้ต้องการแดดมาก แต่ต้องการลมที่ทำให้ผิวปลาด้านนอก และด้านในท้องปลาแห้งพร้อมกัน ผิวพรรณปลาจะสวย ถ้าหน้าร้อนแดดจัด ผิวปลาจะเข้มและเนื้อจะเหลืองหรือสุกได้ เราก็แก้ปัญหาโดยการเอาสแลนมาขึง หรือถ้าปลาแห้งแล้วก็จะคลุมไว้ เพราะปลาแห้งเกินไปบางทีเนื้อจะเหี่ยวไม่สวย

“ยากที่สุดคือหน้าฝน อากาศชื้นปลาจะแห้งช้า ในช่วงนี้ปลาเลยต้องเค็มหน่อย เพราะถ้าจืดไปกว่าจะถึงที่หมายสินค้าก็อาจเน่าเสีย ตรงนี้เราต้องควบคุมอย่างดี หากปลาไม่แห้งหรือฝนตก เราก็แก้ปัญหาโดยการย้ายมาไว้ในร่มและเป่าพัดลมช่วย หรือซีนสุญญากาศเก็บไว้ในตู้ฟรีซ เพราะฝนฟ้าเราจะไปห้ามก็ไม่ได้ ก็ค่อยๆ หาทางแก้กันไป เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทานปลาสลิดในช่วงหน้าฝน ถ้าสมัยก่อนฝนตกปุ๊บจบกันเลย อดทานปลาสลิดแน่นอน”

บางครั้งอากาศไม่ดีต้องเก็บปลาที่ตากไว้เข้าร่มบ่อยๆ ก็อาจส่งผลต่อความสดของปลาได้ คุณต้อมจึงคิดหาวิธีตากปลาโดยไม่รอคอยลมฟ้าอากาศเป็นใจ จนไปเจอ ‘ตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์’ ด้วยการสนับสนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่หลังคาทำจากแผ่นโพลีคาร์บอเนตชนิดเคลือบสารป้องกันแสงยูวี ทำให้ความร้อนถูกกักเก็บอยู่ภายใน มีพัดลมระบายความชื้นและน้ำที่ระเหยออกมาด้วยกำลังไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ 

ข้อดีของตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์คือมั่นใจได้เรื่องความสะอาด ปลอดภัย ช่วยป้องกันฝุ่นและแมลง หรือต่อให้ฝนตกก็ไม่ต้องย้ายหนีฝน ตู้อบที่ร้านปลาสลิดตากแห้ง แม่อำนวย นำมาทดลองใช้เป็นตู้ขนาดเล็กที่ยังมีข้อด้อยอยู่บ้าง หากไม่มีแดดเลยก็ใช้ไม่ได้ และหากแดดร้อนเกินไปเนื้อปลาก็อาจสุก ตู้นี้จึงเหมาะกับการใช้ตากพริกหรือกล้วยมากกว่า คุณต้อมไม่ได้วางตู้นี้ทิ้งไว้มุมใดมุมหนึ่งของบ้าน แต่จัดการโมดิฟายเพิ่มพัดลมเข้าไปเพื่อไล่ความร้อนที่เกินขนาด แถมยังแพลนจะขยับขยายซื้อตู้อบขนาดจัมโบ้กว่าเดิม ในอนาคตอันใกล้เราๆ คงไม่พ้นได้กิน ‘ปลาสลิดสูตรอบพลังงานแสงอาทิตย์’ จากแบรนด์แม่อำนวยก็เป็นได้

แปรรูป OTOP เป็น Snack

ปลาสลิดทอดกรอบกินกับข้าวสวยร้อนๆ เสริมรสชาติด้วยน้ำพริก หรือสับเนื้อปลาทอดให้ฟูแล้วยำกินกับข้าวต้ม เมนูโปรดที่แค่พูดขึ้นมาก็หิว ปลาสลิดตากแห้งจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่มีติดตู้เย็นทุกบ้าน เพราะซื้อครั้งหนึ่งเก็บไว้กินได้นาน แถมรสชาติอร่อยไม่เปลี่ยน 

ด้วยความนิยมของปลาสลิด การขายปลาสลิดตากแห้งจึงเกิดคู่แข่งมากมาย สิ่งที่ทำให้ร้านแม่อำนวยอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้คือการไม่หยุดพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการหมักหรือตากแห้ง เพื่อคงรสชาติและคุณภาพให้ดีเสมอต้นเสมอปลาย อีกทั้งเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

“เราเป็นรุ่นที่สามแล้ว ย้อนกลับไปรุ่นคุณพ่อคุณแม่ก็เคยมีปัญหาขาดทุน ด้วยปลาสลิดต้องเลี้ยงนานกว่าจะได้ขายค่อนข้างลำบาก ในการทำตลาดก็ยากเพราะมีการแข่งขันสูง และดินฟ้าอากาศก็ทำให้สินค้าเราเกิดปัญหาได้ ตอนหลังขาดทุนเยอะขึ้นคุณพ่อคุณแม่เกือบจะเลิกทำปลาสลิด ได้พี่สาวเข้ามาช่วยประคับประคองก็ยังขาดทุนอยู่ เราเป็นลูกคนเล็ก เขาก็ถามว่าเราอยากทำไหม เราเลยตัดสินใจทำแต่ขอทำตามสูตรของเรา คือเน้นเรื่องความสะอาดและควบคุมการผลิตให้ดี”

ไม่เพียงคุมความสะอาดและคุณภาพ คุณต้อมยังแปรรูปสินค้าให้หลากหลายตอบโจทย์ผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็เป็นการเปลี่ยนวัตถุดิบที่จากเดิมต้องทิ้งให้เกิดมูลค่าไปในตัว

“ปลาตัวเล็กที่ตกไซซ์ขายไม่ได้เราก็แปรรูปเป็นน้ำพริก มีน้ำพริกนรกปลาสลิด และน้ำพริกปลาสลิดกรอบทรงเครื่อง ปลาตัวเล็กตัวน้อยใช้ได้หมด ทอดทั้งตัวทั้งก้าง 

“อีกอย่างคือปลาสลิดทุกวันนี้ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ เราอยากให้คนได้รู้ว่าปลาสลิดบางบ่อของเรามีคุณค่า พอได้จด OTOP เรามีตลาดกว้างขึ้น และได้รู้จักคนที่เก่งเรื่องการแปรรูป เราก็ส่งไปแปรรูปเป็น Snack ปลาสลิดเส้นอบกรอบ ซึ่งเป็นอาหารคลีนเพราะใช้เนื้อปลาล้วนๆ และใช้วิธีการอบกรอบ อีกทั้งมีสารอาหารจากปลาสลิดที่เราเลี้ยงธรรมชาติ

“ส่วนก้างปลาที่เหลือก็มีคุณค่าทางสารอาหารเช่นกัน จากที่ขายไม่ได้ราคาก็นำมาแปรรูปเป็นก้างปลาทอดกรุบกรอบ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของจังหวัดสมุทรปราการไปแข่งระดับประเทศ”

ไม่พอ…

เนื่องจากเส้นถนนที่ตั้งร้านเรียกว่าสุขุมวิทสายเก่า สามารถทะลุไปตำบลปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ หรือถ้าตรงออกไปก็ออกจังหวัดฉะเชิงเทรา-ชลบุรี ดังนั้น วันเสาร์-อาทิตย์ ลูกค้าจึงเยอะมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล

เป้าหมายต่อไปของร้านแม่อำนวยจึงเป็นการพัฒนาหน้าร้านให้มีของดีอื่นๆ ในชุมชนมาวางขายด้วย เช่น กะปิคลองด่าน ปลาทะเลตากแห้ง ข้าวเกรียบ ขนมต่างๆ โดยเตรียมเปิดเป็นร้านของฝากและแหล่งแปรรูป ลูกค้าอยากได้แบบทอดหรือเป็นกระเช้าก็พร้อมให้บริการ

‘สืบสาน’ ภูมิปัญญาบางบ่อ

แม้สมุทรปราการจะเป็นเมืองอุตสาหกรรม บางบ่อก็ยังมีธรรมชาติหลงเหลืออยู่ บ้านหลายหลังยังคงหันหน้าเข้าคลอง เรือหางยาวก็แล่นฉิวเหมือนเคย สิ่งที่พอจะเห็นว่าเปลี่ยนคือบ่อปลาสลิดที่ค่อยๆ ลดน้อยหายไป

“สมุทรปราการเป็นแหล่งอุตสาหกรรม พอมีโรงงานมากขึ้นคนก็เลือกที่จะขายที่ดินไปทำงานโรงงาน บวกกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่ด้วยผู้บริโภคมีความต้องการสูง พื้นที่อื่นๆ ที่มีน้ำเหมาะสมใกล้เคียงกับอำเภอบางบ่อ อย่างจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ก็หันมาเลี้ยงปลาสลิดกัน ทำให้ปลาสลิดไม่ได้ขาดไป แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการเลี้ยงเหยื่อ ซึ่งใช้ต้นทุนหลักล้านแต่ก็ให้ผลผลิตสูง”

ฉันถามทิ้งท้ายด้วยความรู้สึกเสียดายว่า พอจะมีแนวทางไหนที่ทำให้การเลี้ยงปลาสลิดธรรมชาติอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งคุณต้อมยังคงเชื่อมั่นว่า หากคนในชุมชนเห็นความสำคัญ ปลาสลิดบางบ่อก็จะรักษาตำแหน่งของดีประจำจังหวัดสมุทรปราการไว้ได้

“การเลี้ยงปลาสลิดปีหนึ่งขึ้นได้ครั้งเดียวก็จริง แต่การลงทุนไม่มีอะไรมาก แค่ต้องลงแรงและมีค่าน้ำมันสำหรับระหัดวิดน้ำ เรียกว่าได้กำไรแน่นอน พอยุคสมัยเปลี่ยนไป คนหันมาเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลานิล เพราะใช้เวลาเลี้ยงแค่สามเดือน ได้เงินไวกว่า แต่ต้องใช้ทั้งเหยื่อและสารเคมี ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนเยอะ จะหันกลับมาเลี้ยงปลาสลิดที่ได้ปลาแค่ปีละครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราอยากให้หน่วยงานเข้ามาช่วยส่งเสริม ให้ความรู้ เพื่อให้ผู้เลี้ยงปลาสลิดอยู่ได้ด้วยเอง หรือให้ความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เลี้ยงที่มีความตั้งใจทำต่อไป รวมถึงเข้ามาสอดส่องดูแลเพราะบางทีก็มีโรงงานลักลอบปล่อยน้ำเสีย ซึ่งส่งผลกระทบกับผู้เลี้ยงโดยตรง และสุดท้ายก็ต้องอาศัยชุมชนที่มีความมุ่งมั่น มีความรักในอาชีพ และภูมิใจในสิ่งที่เรามี ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด”

หากสนใจสั่งออนไลน์ดูรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊ก ปลาสลิดบางบ่อ ต้อง แม่อำนวย หรือ โทร 08-6396-3450 

ส่วนใครที่อยากไปซื้อเองหน้าร้านก็เสิร์ชหา ‘แม่อำนวย ปลาสลิดบางบ่อ’ บนกูเกิลแมปได้เลย
ที่ตั้งร้าน : 246 หมู่12 ถ.สุขุมวิท ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ สมุทรปราการ 10280
https://goo.gl/maps/3SYxVr6NWZ8q1VDn6

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.