เบื้องหลัง L’ORÉAL ที่สู้โลกร้อนมานับสิบปี - Urban Creature

แฟชั่นหมุนมาแล้วผ่านไป แนวเพลงสับเปลี่ยนหมุนเวียน แต่เรื่องโลกร้อนอย่างไรก็คงอยู่กับเราไปอีกนาน และเป็นเทรนด์ที่ไม่น่าจะเชยในเร็ววันนี้แน่ๆ (ถึงจะอยากให้กระแสนี้ผ่านไปเต็มที) และเมื่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นเราก็คุยกันเรื่องโลกร้อนบ่อยขึ้นตามไปด้วย นอกจากภาครัฐที่เดินหน้าเรื่องนโยบาย ภาคธุรกิจเองก็ไม่น้อยหน้าเช่นกันเห็นได้จากหลายแบรนด์ที่พยายามปรับตัวมาสู้กับโลกร้อนมากขึ้นในหลายปีมานี้ และเชื่อไหมว่าทุกแบรนด์ ทุกผลิตภัณฑ์สามารถปรับตัวมาสู้โลกร้อนได้ 

คอลัมน์ Sgreen วันนี้อยากขอชวนไปดูเบื้องหลังทุกหยดของ L’ORÉAL (ลอรีอัล) บริษัทความงามจากฝรั่งเศสผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์อย่าง L’ORÉAL PARIS, Garnier หรือ Yves Saint Laurent และอีกมากมาย กับบทบาทที่พวกเขาเดินหน้าต่อสู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศมาเป็นเวลานานเกือบสิบปีแล้ว ถามว่าแบรนด์เครื่องสำอางจะมีส่วนช่วยเรื่องโลกร้อนได้ยังไง ก็ขอเกริ่นให้ฟังก่อนแล้วกันว่า ก็เป็นเพราะแบรนด์ในเครือลอรีอัล กรุ๊ปเลือกใช้วัตถุดิบที่มาจากกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนเกษตรกรรายเล็ก ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ประหยัดทรัพยากรผ่านการรีไซเคิล หรือการเดินหน้าใช้พลังงานทดแทน

แต่ที่เราคิดว่าสำคัญและมีผลกระทบต่อโลกมากที่สุดคือ L’ORÉAL FOR THE FUTURE หรือวิสัยทัศน์ความยั่งยืนปี 2030 ของลอรีอัล เพราะพวกเขาไม่ได้ตั้งแค่เป้าหมายส่วนตัวอย่างการก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือลดการใช้งานพลาสติกเท่านั้น แต่เดินหน้าสื่อสารไปยังผู้บริโภคว่าการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนจะช่วยโลกได้มากแค่ไหน และมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงทั้งระบบนิเวศให้ธุรกิจเจ้าอื่นเดินหน้าสู่ความยั่งยืนด้วยเหมือนกัน 

ว่าแต่บริษัทเครื่องสำอางจากฝรั่งเศสทำอะไรไปแล้วบ้างที่เรายังไม่เคยรู้ วิธีการน่าสนใจขนาดไหน จะโน้มน้าวให้ธุรกิจอื่นร่วมภารกิจกู้โลกนี้ได้ยังไง เป้าหมายของบริษัทที่บอกว่าต้องการ “Create The Beauty That Moves The World” พวกเขาจะสร้างความงามที่ขับเคลื่อนโลกใบนี้ไปข้างหน้าได้อย่างไร ตามไปอ่านกันได้เลย!

01 ใสกว่าหน้า คือความโปร่งใสของที่มาส่วนผสม

วัตถุดิบในเครื่องสำอางเปรียบเสมือนศาสตร์ลี้ลับที่น่าค้นหา สิ่งที่สำคัญมากที่สุดสำหรับลอรีอัลก็คือความไว้วางใจ ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกที่จะตอบทุกคำถามเกี่ยวกับแต่ละผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน ซึ่งที่มาของวัตถุดิบแต่ละอย่างเป็นเรื่องที่ Urban Creature ได้ยินได้ฟังแล้วตื่นเต้นมาก จนอดไม่ได้ที่จะต้องขอหยิบยกบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง ณ ที่นี้ 

หนึ่งในวัตถุดิบที่ทุกคนน่าจะเคยได้มีโอกาสสัมผัสและทดลองใช้ก็คือว่านหางจระเข้ พืชตระกูลอวบน้ำที่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และกรดอะมิโน ที่ขึ้นชื่อเป็นอย่างมากในการเติมความชุ่มชื้นคืนสู่ผิว ว่านหางจระเข้เป็นพืชที่เติบโตตามธรรมชาติในสภาพอากาศร้อนและแห้ง รวมถึงมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก 

แต่ไม่ใช่ว่าลอรีอัลจะใช้ว่านหางจระเข้จากทั่วโลกนะ เพราะในปี 2019 พวกเขาได้เปิดโปรแกรมการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบโดยร่วมมือกับ Pronatura กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในเม็กซิโกเพื่อแนะนำการปลูกว่านหางจระเข้ออร์แกนิกให้กับเกษตรกรรายย่อย เพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่งและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้หญิงในภาคครัวเรือนให้มีบทบาทมากขึ้น แถมโครงการยังชูประเด็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อุดมไปด้วยความหลากหลายเช่น ป่าทึบ พื้นที่ชุ่มน้ำ และทุ่งหญ้าสะวันนา สลับกับพื้นที่เกษตรกรรม 

การจัดหาวัตถุดิบที่ดีจึงไม่ใช่แค่มอบความโปร่งใสและสบายใจให้กับผู้บริโภค แต่ต้องเป็นธรรมกับเกษตรกรผู้ผลิตด้วย เช่นน้ำมันอะโวคาโดที่ถูกนำมาเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางจากลอรีอัล มาจากผู้ผลิตรายย่อยในเคนยาและแทนซาเนีย ที่ได้มาตรฐาน Fair For Life ซึ่งเป็นการรับรองสำหรับความเป็นธรรมในการเกษตรทั้งการผลิตและการค้า แถมอะโวคาโดที่นำมาใช้ยังคัดออกมาจากผลที่ไม่เหมาะกับการนำไปประกอบอาหาร เพื่อให้ผลไม้เหล่านี้ยังสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรโดยไม่เสียไปเปล่าๆ 

อันที่จริงเรื่องวัตถุดิบของแบรนด์เครื่องสำอางจากฝรั่งเศส ยังเล่าได้อีกยาวมาก แต่คงต้องขอเบรกไว้ก่อน เพราะวันนี้เรายังมีภารกิจนำคุณไปอ่านอีกหลายเรื่องราว ที่ต้องบอกว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน 

02 ขวดใหม่ ไฉไลกว่าเดิม

เมื่อปีที่ผ่านมาลอรีอัล ได้เผยวิสัยทัศน์ใหม่เพื่อความยั่งยืน L’ORÉAL for the Future ที่ตั้งใจเปลี่ยนกระบวนการทำงานหลายอย่าง โดยยึดเอาขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกเป็นที่ตั้ง ทีนี้นอกจากเรื่องวัตถุดิบที่เน้นไปที่กระบวนการปลูกแบบอินทรีย์จากเกษตรกรรายย่อย หรือทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงหากำไรแล้ว จึงต้องกลับมาคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้บรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มความงามเหล่านั้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามไปด้วย 

แน่นอนว่าคำตอบเดียวไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ลอรีอัลเดินหน้าคิดค้นนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ไว้หลากหลายทางเหมือนกันตั้งแต่การรีไซเคิลพลาสติก PET ด้วยเทคโนโลยีการรีไซเคิลด้วยเอนไซม์เป็นครั้งแรกของโลกจาก Carbios ซึ่งมีข้อดีคือสามารถรีไซเคิลพลาสติก PET ได้ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นแบบใส แบบมีสี หรือแบบขุ่นก็สามารถนำกลับมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด โดยมีเป้าหมายใหญ่เพื่อให้ 100 เปอร์เซ็นต์ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกมาจากพลาสติกรีไซเคิล และยังจับมือกับ Paboco บริษัทผู้ผลิตขวดกระดาษ เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนสำหรับอนาคต โดยมีเป้าหมายที่การรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน

แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ เครื่องสำอางที่วางอยู่หน้าโต๊ะเครื่องแป้งของทุกคนอาจมีขวดที่ผลิตขึ้นมาจากการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกของโลกด้วย เทคโนโลยีที่ว่านี้คือการแปรรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างน่าสนใจมาก โดยเริ่มจากการดักจับก๊าซที่ภาคอุตสาหกรรมออกมา ก่อนจะนำมาแปลงเป็นเอทานอล และใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ดึงน้ำออกมาจนกลายเป็นเอทิลีน จนได้โพลีเอทิลีนหรือพลาสติกสังเคราะห์ ก่อนจะใช้โพลีเอทิลีนนี่แหละผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางมาให้พวกเราใช้กัน 

03 ชาวนาอีสานโตได้ ต้นไม้โตด้วย

หลังจากพูดเรื่องวัตถุดิบจากต่างแดนและการขยับตัวระดับโลกไปแล้ว เชื่อไหมว่าในบ้านเราก็เป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญแห่งหนึ่งของลอรีอัล ที่มีความตั้งใจอยากยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อย โดยริเริ่มโครงการน้ำมันรำข้าวอย่างยั่งยืน ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเน้นไปที่ 3 เสาหลักด้วยกันตั้งแต่การสร้างห่วงโซ่อุปทานน้ำมันรำข้าวอย่างยั่งยืนของลอรีอัล กรุ๊ป บนพื้นฐานการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อเกษตรกร และขยายปริมาณความต้องการน้ำมันรำข้าวประจำปีของแบรนด์เพื่อให้เข้าถึงเกษตรกรในไทยมากขึ้น และยังไม่ลืมสิ่งแวดล้อมด้วยการสนับสนุนการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านโครงการทางการเกษตรขนาดใหญ่ร่วมกับชาวนา 

บริษัทเครื่องสำอางจากฝรั่งเศสบอกเราว่ามีเกษตรกรจากภาคอีสานเกือบ 1,000 รายที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการนี้ อย่างแรกคือราคาที่เป็นธรรม ผ่านการทำงานร่วมกับสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ 4 แห่ง ในอีสานบ้านเฮา

ลอรีอัลยังช่วยเติมความม่วนซื่นและเขียวชอุ่มในพื้นที่ผ่านการร่วมมือกับ Pur Projet องค์กรจากฝรั่งเศสที่เดินหน้าฟื้นฟูระบบนิเวศผ่านการทำงานร่วมกับชุมชน ด้วยการปลูกต้นไม้บริเวณนาข้าวเพื่อทำให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์ จากคุณสมบัติการกักเก็บความชื้นของต้นไม้ และเติมความหลากหลายทางชีวภาพ 

ราคาที่เป็นธรรมทำให้ชาวนาอีสานโตได้ แถมต้นไม้ยังได้โตมากขึ้นเพราะได้ปักลงดินไปแล้วกว่า 138,000 ต้น ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งต้นไม้เหล่านี้มีการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ามากถึง 8,843 ตัน และเป็นส่วนสำคัญในการก้าวสู่ภารกิจการเป็นกลางทางคาร์บอน

04 ศูนย์กระจายสินค้า ที่ไม่กระจายคาร์บอน

อาจเป็นเพราะวางเป้าหมายไว้เป็นการต่อสู้กับขีดจำกัดของโลก ทำให้ลอรีอัลต้องใส่ใจในทุกกระบวนการความกรีนของตัวเองให้ได้มากที่สุด การขนส่งจึงเป็นเรื่องที่จะปล่อยปละละเลยไปไม่ได้เด็ดขาด เพื่อเป็นการใช้พลังงานให้คุ้มค่าทุกตารางเมตร ลอรีอัลจึงทำการเปิดตัวศูนย์กระจายสินค้าสีเขียว ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ

ศูนย์กระจายสินค้าที่ได้รับมาตรฐาน LEED หรือ Leadership in Energy and Environmental Design ที่แปลว่าผู้นำด้านการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและสิ่งแวดล้อมระดับ Silver กำลังเดินหน้าพาโลกกลับมายังจุดที่ดีขึ้นเพราะช่วยประหยัดพลังงานได้มากถึงร้อยละ 43 ด้วยหลอดไฟ LED แบบพิเศษที่ใช้กำลังไฟฟ้าต่ำ มีการใช้แหล่งน้ำฝนสำหรับห้องสุขา ช่วยลดปริมาณน้ำได้มากถึง 120,000 ลิตรต่อปี และเพิ่มระบบไหลเวียนอากาศให้สูงกว่าระดับมาตรฐาน และได้บรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านการรับรองจาก Renewable Energy Certificates (RECs) แล้ว

ในยุคที่อีคอมเมิร์ซคือกระแสหลัก แบรนด์ควรจะทำตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่ร่วมกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และเทรนด์โลกได้อย่างยั่งยืน นอกจากศูนย์กระจายสินค้าสีเขียวคำตอบของลอรีอัลคือ เริ่มจากการลดใช้พลาสติกสำหรับการจัดส่งผลิตภัณฑ์หันมาใช้กระดาษรีไซเคิลในการกันกระแทกแทน และเลือกใช้เทปกระดาษที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายกว่าแทนเทปพลาสติกแบบดั้งเดิม รวมถึงใช้กล่องกระดาษที่ได้รับการออกแบบใหม่ซึ่งลดการใช้เทปได้มากถึง 88 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงใช้ไบโอฟิล์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมห่อสินค้าแทนฟิล์มพลาสติก และอีกมากมายเพื่อให้ทุกกระบวนการของแบรนด์สอดคล้องไปกับการเดินหน้าไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นได้จริง 

05 จะสวยนาน ต้องสวยไปด้วยกัน

อาจจะฟังดูน้ำเน่าไปเล็กน้อยแต่บางครั้งในชีวิตจริงเมื่อปัญหามันใหญ่ถึงระดับโลกบางทีการขยับตัวของคนหรือองค์กรเพียงหนึ่งเดียว ไม่ต้องบวกลบคูณหารหรือใส่สมการอะไรไปมากมายก็พอจะเดากันได้ไม่ยากว่าไม่น่าจะเพียงพอในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่แล้ว 

กลยุทธ์ในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนของลอรีอัลตั้งอยู่บนเสา 3 ต้น ต้นแรกคือการเปลี่ยนแปลงตัวเอง และให้ความเคารพต่อโลก ซึ่งก็นำมาสู่การเดินหน้าทั้งในเรื่องผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ หรือการขนส่งที่เราพูดถึงไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นเรื่องภายในองค์กรที่แบรนด์สามารถลงมือได้เอง ทีนี้เสาต้นที่เหลือกลายเป็นเรื่องที่ต้องชวนคนอื่นมาร่วมด้วยแล้ว 

เสาต้นที่สองของลอรีอัลว่าด้วยเรื่องการยกระดับระบบนิเวศของธุรกิจนี้ ด้วยการช่วยให้เปลี่ยนไปในทิศทางที่ยั่งยืนขึ้น เพราะเชื่อว่าเป็นความรับผิดชอบในการที่จะเชิญชวนทุกภาคส่วนให้ปรับตัวเข้ากับความเป็นไปของโลกเช่นทำสัญญากับซัปพลายเออร์ที่บริหารงานอย่างยั่งยืนตามข้อกำหนดจากสหประชาชาติ สื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมไปยังผู้บริโภค แบ่งปันข้อมูลทุกอย่างที่พวกเขาควรรู้ว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไรบ้าง รวมถึงมีกิจกรรมที่มีส่วนช่วยในการเรียกร้องให้ทั้งคู่ค้าและแบรนด์อื่นเข้าร่วมภารกิจครั้งนี้ไปด้วยกัน 

ส่วนต้นที่สามคือแบรนด์ควรจะมีส่วนช่วยรับผิดชอบกับปัญหาที่เร่งด่วนทั้งในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการดำเนินการมากมายแล้วสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือพวกเขาต้องการให้คำมั่นสัญญาเหล่านี้นำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปสู่อีกระดับหนึ่ง ด้วยการชี้ให้ธุรกิจอื่นมองเห็นความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม วิธีการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ จนอาจนำไปสู่โมเดลธุรกิจใหม่ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น 

ทุกอย่างไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ ลอรีอัลแสดงให้เห็นว่าองค์กรมีความตระหนักดีถึงความท้าทายในการต่อสู้กับวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกตั้งแต่แรกเริ่ม และทำการขยับตัวครั้งใหญ่มาตั้งแต่เกือบทศวรรษที่แล้ว ผลลัพธ์คือหากเทียบกับปี 2005 ลอรีอัลลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากศูนย์กระจายสินค้าและโรงงานได้มากถึง 81 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2020 ทั้งที่เพิ่มอัตราการผลิตมากกว่าเดิมถึง 1 ใน 3 รวมถึงสถานประกอบการและโรงงาน 50 แห่งได้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนแล้วในปี 2020 ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีพวกเขาค้นพบวิธีการใหม่มากมายในการเดินหน้าสู่โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนขึ้น 

อเล็กซานดรา พัลต์ รองประธานบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความรับผิดชอบขององค์กร ลอรีอัล กรุ๊ป บอกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ลอรีอัลได้นำความยั่งยืนมาเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจ และตอนนี้บริษัทกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง 

พวกเขาตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2025 โรงงานและศูนย์กระจายสินค้าทุกแห่งจะมีความเป็นกลางทางคาร์บอน และใช้พลังงานทดแทนทั้งหมด ในปี 2030 พลาสติกที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์ต้องมาจากการรีไซเคิลหรือจากแหล่งวัสดุชีวภาพเท่านั้น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละผลิตภัณฑ์สำเร็จลง 50% เมื่อเทียบกับปี 2016

อย่างไรก็ตามคำสัญญาของลอรีอัล ไม่ได้พูดถึงการมุ่งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีการสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการเลือกสรรผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักให้ระบบนิเวศธุรกิจ ไปสู่ความยั่งยืนตามไปด้วย ซึ่งเป็นก้าวที่เราอยากเห็นมากที่สุดจากทุกแบรนด์และทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก 

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.