ทำความเข้าใจ Lighting Master Plan กับ ‘ผศ. ดร.จรรยาพร สไตเลอร์’

ชีวิตคนเมืองกำลังถูกรบกวนด้วยมลภาวะทางแสงโดยไม่รู้ตัว

ไม่ว่าจะเป็นแสงจากป้ายโฆษณา แสงจากอาคาร หรือแม้แต่ไฟจากถนน แน่นอนว่าข้อดีของแสงไฟเหล่านี้คือตัวช่วยให้เรามองเห็นในยามที่ท้องฟ้ามืดมิด แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางครั้งความสว่างเหล่านี้กำลังรบกวนการใช้ชีวิตของเราและสรรพสัตว์ในเมืองโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

แล้วจะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถกำหนดแนวทางการออกแบบแสงสว่างในเมืองได้ โดยการเลือกใช้สีของแสงให้เข้ากับบรรยากาศในพื้นที่ต่างๆ ของเมือง กำหนดความสว่างให้ไม่รบกวนสายตาทั้งในเขตที่อยู่อาศัยและย่านการค้า ซึ่งนอกจากความสวยงามที่ส่งเสริมอัตลักษณ์และกระตุ้นการท่องเที่ยวของเมืองแล้ว ยังช่วยด้านมิติสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

Urban Lighting Master Plan

คอลัมน์ Think Thought Thought วันนี้พาไปพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องแสงในเมืองกับ ‘ผศ. ดร.จรรยาพร สไตเลอร์’ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง (LRIC) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หนึ่งในนักออกแบบแสงสว่าง (Lighting Designer) ว่า Lighting Master Plan คืออะไร และทำไม ‘แสงสว่าง’ ที่ส่งผลกับการใช้ชีวิตของเราในทุกมิติ ถึงควรถูกให้ความสำคัญทั้งจากภาครัฐและเอกชน

ถอดบทเรียนแสงสว่างจากฝรั่งเศส พลิกโฉมอยุธยา กระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองเก่า

ย้อนไป 20 ปีก่อน จรรยาพรเริ่มสนใจเรื่อง Lighting Master Plan การกำหนดแผนแม่บทหรือแนวทางการออกแบบแสงสว่างชุมชนเมือง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่ถูกเห็นความสำคัญในประเทศไทย จากการได้ทุนศึกษาปัญหาใน ‘เมืองเก่าอยุธยา’ ที่แม้จะเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย และรายล้อมไปด้วยสถาปัตยกรรมโบราณ ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกที่รับรองโดย UNESCO แต่กลับมีจำนวนนักท่องเที่ยวในเวลากลางคืนไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น

Urban Lighting Master Plan

“มันน่าเสียดายที่ประเทศเรามีอะไรดีๆ แต่พื้นที่โดยรอบกลับดูเงียบเหงา อยุธยามีปัญหาเรื่องคนไม่มาค้างคืน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เที่ยวตอนกลางวัน ตกเย็นก็กลับเข้ากรุงเทพฯ เพราะกลางคืนเมืองไม่น่าเดิน ล่องเรือช่วงเย็นก็ไม่มีอะไรให้ดู ทุกอย่างมันมืดจนมองไม่เห็นอะไร” เธอบอก

ต่างกับเมืองลียง (Lyon) ประเทศฝรั่งเศส ที่เป็นเมืองสำคัญเก่าแก่เหมือนกัน แต่มีการออกแบบแสงที่ไม่เพียงแค่ส่องเน้นแลนด์มาร์กสำคัญของเมือง แต่ยังเชื่อมต่อจุดนัดพบ พื้นที่สาธารณะ และสะพานคนเดินสำหรับข้ามแม่น้ำ นอกจากสร้างบรรยากาศที่กลมกลืนแล้ว ยังคงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นให้แต่ละย่าน ทำให้กลายเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน

ด้วยเหตุนี้ จรรยาพรจึงตัดสินใจบินลัดฟ้าไปทำวิจัยเกี่ยวกับ Lighting Master Plan ที่ประเทศฝรั่งเศส ในชื่อ ‘Lighting Master Plan Strategies for a Historic City in Thailand: Lessons Learned from European Cities’ จนเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการออกแบบแสงสว่างในเมืองมากขึ้น

ความสว่างควรมาพร้อมบรรยากาศความปลอดภัย

“หากพูดถึงแนวทางการออกแบบแสงในเมือง หลายคนจะคิดว่านี่คือเรื่องของความมืดและความสว่าง พื้นที่ไหนมืดหรือเปลี่ยวก็แค่เอาเสาไฟไปตั้ง แต่ความจริงมันมีรายละเอียดปลีกย่อยกว่านั้น” จรรยาพรกล่าวถึงความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับแนวทางการออกแบบแสงสว่างของเมืองไทยในปัจจุบัน

Lighting Master Plan เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบและพัฒนาเมืองซึ่งมีความเชื่อมโยงกับมิติทางสังคม ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเลือกวางเสาไฟที่สี่แยกแล้วบอกว่านี่คือความสว่าง ทุกคนในเมืองจงรู้สึกปลอดภัย แต่ต้องใส่ใจทุกรายละเอียดตั้งแต่การศึกษาภูมิหลังของพื้นที่ รวมถึงการปรับภูมิทัศน์โดยรอบ เช่น ทางเท้า รั้ว ต้นไม้ หรือสะพาน เพื่อออกแบบแสงให้ช่วยเสริมบรรยากาศของเมือง ให้รู้สึกน่าเดินและเกิดความปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ควบคู่ไปด้วย

“อยากให้ลองสังเกตว่าหลายครั้งแม้ทางเดินจะมีไฟสว่างแต่เราก็รีบเดินผิดปกติ บางครั้งก็ต้องหันหลังไปดูว่ามีใครเดินตามไหม สิ่งเหล่านี้คือความรู้สึกไม่ปลอดภัยแม้จะมีไฟสว่างก็ตาม” จรรยาพรยกตัวอย่างกรณีที่ไฟสว่างแต่ไม่ได้สร้างความรู้สึกปลอดภัยให้คนในเมือง

เธอเชื่อว่าผลพลอยได้จากการออกแบบแสงสว่างให้คนรู้สึกปลอดภัยและอยากใช้ทางเท้า คือส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจรายย่อย ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเรามีทางเท้าที่สว่าง เดินง่าย ปลอดภัย บรรยากาศดี ก็จะทำให้คนอยากเดินมากกว่าโบกแท็กซี่ ส่งผลให้ร้านรถเข็นหรือร้านอาหารริมทางถูกมองเห็นมากขึ้นตามไปด้วย

Urban Lighting Master Plan

มากไปกว่านั้น นอกจากมิติทางสังคมและเศรษฐกิจแล้ว Lighting Master Plan ยังมีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะประเด็นสำคัญของ Lighting Master Plan คือ การไฮไลต์ส่วนสำคัญและใช้แสงไฟเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

“แนวทางการออกแบบแสงในเมืองคือ การจัดลำดับความสำคัญของสถานที่ เพื่อสร้างเรื่องราวและดึงอัตลักษณ์ของเมือง อาจมีบางอาคารโดดเด่นขึ้นมาจากการใช้ไฟช่วยเล่าเรื่องราวและสร้างบรรยากาศให้เมือง อย่างย่านปากคลองตลาดก็ควรทำให้ความรู้สึกแตกต่างจากย่านบางลำพู” เธออธิบาย

‘มลภาวะทางแสง’ ภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันการใช้ไฟ LED เป็นที่นิยมทั้งในการทำป้ายโฆษณา ป้ายชื่อร้านค้า หรือไฟส่องสว่างในร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอดคืน ซึ่งข้อดีของไฟ LED คือ การประหยัดพลังงานมากกว่าหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ที่นิยมใช้ก่อนหน้านี้ และให้ความสว่างมากกว่าด้วย แต่เมื่อถูกใช้มากเกินความจำเป็นก็ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสง (Light Pollution) ที่รบกวนการใช้ชีวิตของคนในเมืองโดยไม่รู้ตัว ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์และสัตว์ที่อาศัยกลไกของนาฬิกาชีวภาพ (Biological Clock) อันสัมพันธ์กับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์

Urban Lighting Master Plan

“บางคนอาจคิดว่าป้าย LED ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขา แต่ความจริงแม้แต่ไฟถนนจากภาครัฐที่แสงสว่างส่องลอดเข้ามาในบ้านของคุณ ถ้าเกิดความเข้มแสงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต่างประเทศเขาอาจจะฟ้องกันไปแล้ว เราอยากให้ภาคประชาชนรู้เรื่องนี้มากขึ้นเพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง” จรรยาพรเล่าถึงปัญหามลภาวะทางแสงจากป้าย LED

นี่ยังไม่รวมแสงสีฟ้า (Blue Light) ที่ส่งผลต่อนาฬิกาชีวภาพ ทำให้นอนหลับยากขึ้นและส่งผลเสียต่อดวงตา ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้มีอยู่แค่จากหน้าจอโทรศัพท์อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ แต่ไม่ว่าจะเป็นไฟจากอาคาร ร้านสะดวกซื้อ เสาไฟ หรือป้ายโฆษณาก็ล้วนแต่มีแสงสีฟ้าด้วยกันทั้งนั้น และแสงเหล่านี้ก็กำลังค่อยๆ ทำลายสุขภาพเราโดยไม่รู้ตัว

“เราเคยแนะนำภาครัฐว่า การติดตั้งแสงในเมืองหรือย่านที่อยู่อาศัยไม่ควรใช้ไฟที่เป็นแสงขาวสว่างจ้า แต่ภาครัฐกลับมองว่า หากไม่ติดไฟที่สว่างอาจจะโดนร้องเรียนได้ ซึ่งนั่นเป็นเพราะประชาชนไม่รู้ว่าแสงเหล่านี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเขา”

เนื่องจากมลภาวะทางแสงยังเป็นหนึ่งในประเด็นที่คนทั่วไปยังมองไม่เห็นความสำคัญ จรรยาพรจึงหวังว่าในอนาคต เธอจะเห็นการรณรงค์และสื่อสารผลเสียของแสงสว่างเหล่านี้จาก สสส. มากขึ้น ควบคู่ไปกับการที่กรมโยธาฯ จะออกกฎหมายอาคาร เพื่อสร้างกฎเกณฑ์ในการควบคุมแสงสว่างจากอาคารและป้ายโฆษณา

Lighting Master Plan ≠ Lighting Events

อีกประเด็นที่มองข้ามไปไม่ได้คือ เมื่อกล่าวถึงการออกแบบแสงสว่าง หลายคนคงนึกถึงงานเทศกาลแสงสีอย่าง ‘Awakening Bangkok’ หรือ ‘Projection Mapping’ ซึ่งมีจุดประสงค์แตกต่างจากแนวทางการออกแบบแสงสว่างที่จรรยาพรกล่าวถึง 

เพราะอีเวนต์เหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงศักยภาพของนักออกแบบ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในระยะสั้น เมื่อสิ้นสุดกิจกรรม ไฟเหล่านี้จะถูกถอดออก ต่างจาก Urban Lighting ที่เป็นการออกแบบติดตั้งแสงสว่างสำหรับพื้นที่ อาคารสาธารณะ รวมถึงสถานที่สำคัญของเมือง ซึ่งควรมีแนวทางการออกแบบเพื่อความเหมาะสม สวยงาม ปลอดภัย และไปในทิศทางเดียวกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านแสงอย่างจรรยาพรก็อยากใช้เทศกาลเหล่านี้เป็นพื้นที่นำเสนอแนวทางการออกแบบแสงสว่างของเมืองไปด้วย

Urban Lighting Master Plan

“เราอยากนำงานเทศกาลเหล่านี้มาช่วยเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับ Lighting Master Plan ให้หน่วยงานรัฐและคนทั่วไปรับรู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องแยกระหว่าง ไฟตกแต่ง กับ ไฟส่องสว่าง เพราะไฟหนึ่งดวงสามารถทำหน้าที่ทั้งสองอย่างควบคู่กันไปได้ ไม่ใช่พอหมดช่วงเทศกาล เมืองก็กลับมาไร้ชีวิตชีวาเหมือนเดิม” 

ทั้งนี้ เธออยากให้ทุกคนเข้าใจว่า Lighting Master Plan เป็นเพียงหนึ่งในแนวทางการออกแบบและพัฒนาเมืองที่ต้องอาศัยการบังคับใช้ ร่วมกับการดูแลรักษาให้เป็นไปตามแนวทางที่วางไว้ โดยมีภาครัฐหรือหน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่อย่างกรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นเจ้าภาพในการจัดทำแนวทางการออกแบบแสงสว่างในเมือง พร้อมยกตัวอย่างโครงการปรับปรุงแสงสว่างบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์เมื่อปี 2565

“การออกแบบแสงบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เป็นการร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการปรับภาพรวมของกรุงเก่าในช่วงฟ้ามืด จากการทำแบบสอบถามก็พบว่าหลายคนพอใจกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะภาพรวมของเมืองดูดีและปลอดภัยขึ้น ให้ความรู้สึกสง่างามและช่วยส่งเสริมบรรยากาศความเป็นเมืองเก่า” เธอพูดถึงผลตอบรับที่ได้จากโครงการดังกล่าว

Urban Lighting Master Plan

นโยบายรัฐกับการสร้างแรงจูงใจให้ Lighting Master Plan เป็นจริง

ถ้าหากจะดูเมืองที่มีการวางแนวทางการออกแบบแสงสว่างและนำไปใช้ได้จริง ประเทศที่น่าสนใจและอยู่ไม่ห่างจากบ้านเรามากนัก หนึ่งในนั้นคือ ‘สิงคโปร์’ 

เนื่องจากหน่วยงานด้านการพัฒนาเมือง (Urban Redevelopment Authority หรือ URA) ร่วมมือกับนักออกแบบแสงชาวญี่ปุ่นในการกำหนดระดับความสว่างโดยรวม อุณหภูมิสี และเทคนิคการจัดแสงที่ใช้กับอาคารสำคัญหรือพื้นที่ริมน้ำ เช่น ตลาดกลางคืนในย่านคลาร์กคีย์ (Clarke Quay) มารีนาเบย์ หรือย่านธุรกิจที่รายล้อมไปด้วยตึกสูงอย่าง Central Business District (CBD)

Urban Lighting Master Plan

“Lighting Guidelines ของสิงคโปร์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่าอาคารต่างๆ ควรจัดแสงอย่างไร พร้อมมีกลไกกระตุ้นให้ผู้ออกแบบอาคารปฏิบัติตามแนวทางนี้คือ มีทั้งส่วนที่เป็นข้อบังคับในการกำหนดแสงสว่างของอาคาร และการสนับสนุนเงินสำหรับโครงการที่ออกแบบแสงอาคารได้ตรงกับแนวทางของเมืองที่วางไว้” จรรยาพรเล่าถึงสาเหตุที่การวางแนวทางแสงสว่างในเมืองของสิงคโปร์สำเร็จ

นอกจากเหตุผลข้างต้น เธอยังมองว่า ปัจจัยที่ภาครัฐเป็นเจ้าของพื้นที่หรือโครงการส่วนใหญ่ ทำให้สิงคโปร์ประสานงานเพื่อปรับเปลี่ยนแสงสว่างในเมืองให้เป็นไปตามแนวทางที่วางไว้ง่ายกว่าประเทศไทย ซึ่งมีข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิในพื้นที่เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของเอกชน นั่นจึงแปลว่าหากบ้านเราจะเอาอย่างสิงคโปร์บ้างก็คงเป็นงานช้างที่ต้องรวมพลังของหลายภาคส่วนอยู่ไม่น้อย

“Lighting Master Plan เป็นหนึ่งในการบ้านที่ภาครัฐต้องหาแนวทางในการนำไปปฏิบัติจริง โดยอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง โดยอาจเริ่มจากพื้นที่ต้นแบบก่อน เป็นตัวอย่างในการสร้างความเข้าใจและทำให้คนเห็นภาพเกี่ยวกับแนวทางการออกแบบแสงสว่างของเมืองมากขึ้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนของเมือง” ผู้เชี่ยวชาญด้านแสงสว่างทิ้งท้าย ซึ่งเธอหวังเหลือเกินว่ามันจะเกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้นี้

Urban Lighting Master Plan

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.