หยุดเลือกปฏิบัติทางเพศ ความหวัง LGBTQ+ เกาหลีที่ถูกกดทับ - Urban Creature

I 01 ชีวิต LGBTQ+ ในเกาหลีไม่ง่าย

สิทธิการรับบริการขั้นพื้นฐานที่สะดวกสบายของประชาชนเกาหลีใต้ อาจเป็นเรื่องยากมากเพียงเพราะคุณเป็น LGBTQ+

Park Edhi หญิงข้ามเพศชาวเกาหลี ที่อาศัยในโซล เป็นผู้ประสานงานประจำ DDing Dong ศูนย์ช่วยเหลือเยาวชน LGBTQ แห่งเดียวในเกาหลี ยังต้องเจอกับปัญหามากมาย เพียงเพราะเอกสารราชการระบุว่าเธอเป็นผู้หญิงข้ามเพศ ตัวตนของเธอจึงถูกตั้งคำถามตลอดเวลา ดังนั้นเรื่องง่ายๆ อย่างการสมัครบัตรเครดิต ก็ต้องใช้เวลานานมาก เพราะต้องมีการเช็กเวชระเบียนเพื่อรับรองว่าเธอเทคฮอร์โมนเพศหญิงอยู่

ดังนั้นเลยพูดอย่างเต็มปากได้ว่าชุมชน LGBTQ ในเกาหลีใต้ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก สำหรับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยกัน อัตราการยอมรับความหลากหลายทางเพศของเกาหลี ถือว่าอยู่ในอันดับต่ำมาก ซ้ำยังไม่มีการคุ้มครองด้านกฎหมายสำหรับ LGBTQ+ ด้วย

ต้นปี 2564 นี้มีเคสคนข้ามเพศเลือกจบชีวิตในบ้านบนหน้าสื่อถึงสองคน คนแรกคือ Kim Ki-hong นักเคลื่อนไหวและนักการเมืองข้ามเพศ และคนถัดมาคือ Byun Hee-soo ที่ต้องออกจากกองทัพ เพื่อเข้ารับการผ่าตัดยืนยันเพศสภาพ


I 02 โควิด-19 กำลังทำร้าย LGBTQ+ เกาหลี

ไม่น่าเชื่อว่า COVID-19 จะสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชน LGBTQ+ ในเกาหลีใต้อย่างมาก เพราะโรคระบาดนี้ ยิ่งทำให้เกิดอคติต่อความหลากหลายทางเพศ และเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของคนข้ามเพศหลายคน 

เพื่อนๆ หลายคนของ Park Edhi ต้องสูญเสียงานประจำที่ทำในร้านกาแฟและร้านอาหาร ซึ่งเป็นงานประเภทสุดท้ายที่คนข้ามเพศมีทางเลือกที่จะทำได้ เพราะพวกเขาถูกผลักไสและกีดกันจากการทำงานด้านอื่นๆ 

ในย่านอิแทวอน ซึ่งตั้งอยู่ในโซลเป็นที่รู้จักกันมานานว่าเป็นพื้นที่หลบภัยของชาว LGBTQ+ เกาหลี แต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นหัวข้อข่าวดัง เมื่อมีกลุ่มผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสมากกว่า 130 รายจากไนต์คลับเกย์ของย่าน ผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกติดตามตัวตนด้วยนโยบายเชิงรุกของภาครัฐ ในขณะเดียวกันก็ถูกสำนักข่าวอนุรักษ์นิยมคาดเดาว่าใครก็ตามที่ติดเชื้อโควิด-19 มาจากคลับนี้ อาจเป็นเกย์ ซ้ำร้ายยังเปิดเผยที่อยู่ และที่ทำงานของผู้ติดเชื้อ จนเรื่องนี้แพร่หลายในข่าวและโซเชียลอย่างรวดเร็ว และยิ่งซ้ำเติมให้เกิดความเกลียดชังกลุ่มคนรักเพศเดียวกันอย่างมาก และแน่นอน คลับของคอมมูนิตี้เกย์ดังกล่าวถูกรุกล้ำอย่างรุนแรงทันที

องค์กร LGBTQ+ โต้กลับฉับพลันว่าการคุกคามข้อมูลส่วนตัวแบบนี้ ไม่ได้ช่วยป้องกันโรค พวกเขาจึงจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรฉุกเฉินที่ชักชวนให้รัฐบาลท้องถิ่นตรวจโรคโดยไม่ต้องระบุชื่อ (ปัจจุบันเป็นนโยบายมาตรฐานแล้ว) เพื่อให้ LGBTQ+ กล้าออกมาตรวจเชื้อโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกลงโทษ

จากเหตุการณ์นี้ Hong Seok-cheon นักแสดงคนแรกของวงการบันเทิงที่เปิดตัวเป็นเกย์ ผู้ผันตัวมาเปิดร้านอาหารไทยในอิแทวอน คิดว่าสังคมแค่หาแพะรับบาป ซึ่งทำให้ Hong กลับมาทบทวนว่าหลังการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางเพศกว่า 20 ปี เจ้าโคโรนาไวรัสกลับทำให้เขารู้สึกราวกับว่าชุมชน LGBTQ+ เกาหลีต้องกลับมาตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ เพราะความเกลียดชังที่รุนแรงเกินรับไหว เพราะเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ชาวคริสต์ในประเทศกลุ่มใหญ่ออกมาประท้วงหน้าสถานีโทรทัศน์เพื่อขับไล่เขาออกจากวงการบันเทิง

Hong Seok-cheon มีธุรกิจร้านกาแฟและร้านอาหารถึงเจ็ดสาขา แต่กลับต้องสูญเสียลูกค้าในช่วงโควิด และต้องปิดร้านอาหารที่เหลือในเดือนสิงหาคม 2563 สอดคล้องกับความคิดเห็นของ So Sunguk นักเคลื่อนไหวด้านเอชไอวี ที่คิดว่าเวลาคนพูดถึงผู้ป่วยโควิดที่เป็นเกย์ คนในสังคมกลับรู้สึกเกลียดชังราวกับพวกเขาเป็นโรคเอดส์ 

แม้ว่านโยบายการทดสอบและติดตามโควิด-19 ในเกาหลีจะได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก แต่ก็ทำให้เกิดความกังวลว่ากลุ่มเพศหลากหลายอาจถูกไล่ออกจากย่านชุมชนต่างๆ เช่น ย่านอิแทวอนและจงโร พื้นที่ใจกลางโซลซึ่งเป็นที่นิยมและเป็นย่านไลฟ์สไตล์สำคัญของชาว LGBTQ+ เพราะในช่วงการระบาดใหญ่ที่ผ่านมา พวกเขาไม่สามารถออกไปพบปะผู้คนในพื้นที่ที่เคยปลอดภัยเหล่านี้ได้อีก ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องกลัวการถูกคุกคามเวลาออกไปนอกบ้านด้วย


I 03 LGBTQ+ เกาหลีใต้ยังมีความหวัง

ชุมชน LGBTQ+ เกาหลียังมีความหวัง เมื่อสิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลง หลังต้องเจอกับปัญหาการล็อบบี้กฎหมายรับรองสิทธิความเท่าเทียมทางเพศของนักการเมืองและองค์กรศาสนามานานหลายสิบปี แต่ในขณะนี้กำลังมีร่างบัญญัติต่อต้านการเลือกปฏิบัติสี่ฉบับ ที่ยื่นต่อหน้าคณะกรรมการฝ่ายนิติบัญญัติในรัฐสภา และมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก 

ผลสำรวจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกาหลีแสดงให้เราเห็นว่า ชาวเกาหลีใต้เจ็ดในสิบคนเชื่อว่าการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยทางเพศเป็นความผิด และเก้าในสิบคนสนับสนุนการออกกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่ครอบคลุมชีวิตผู้มีความหลากหลายทางเพศ

Choi Gio ผู้อำนวยการร่วมของกลุ่มแนวร่วมเกาหลีใต้เพื่อการออกกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ยืนยันกับนิตยสาร TIME ว่าเป้าหมายสำคัญของพวกเขาคือทำให้ปี 2021 เป็นปีแรกที่มีกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเพศในเกาหลีให้ได้ แม้การต่อสู้ยังห่างไกลชัยชนะ และผู้สนับสนุนร่างกฎหมายยังคงต้องต่อสู้กับการล็อบบี้ทางศาสนาและกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ทรงอิทธิพลก็ตาม

Soo Not Sue นักธุรกิจไบเซ็กชวลและยูทูบเบอร์เฟมินิสต์ หวังว่ากฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติจะถูกปรับปรุงสักที ซึ่งเธอยังหวังด้วยว่า สื่อแมสจะเลิกมองพวกเธอเป็นตัวประหลาด แล้วหันมาให้ความเคารพ พร้อมทั้งสร้างการตระหนักรู้เรื่องเพศในสังคมร่วมกัน

การต่อสู้เพื่อกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเพศของเกาหลีใต้ในปีนี้ นับเป็นความพยายามครั้งที่แปดที่จะผลักดันการผ่านร่างกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา สถานภาพการสมรส อัตลักษณ์ และรสนิยมทางเพศ

เพราะในอดีตที่ผ่านมา กลุ่มคริสเตียน ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจใหญ่ในระบบการเมืองเกาหลีมีอิทธิพลต่อความคิดนักการเมืองในประเทศสูงมาก ทั้งยังจงใจโจมตีและสนับสนุนการละเว้นการคุ้มครองทางเพศ ซึ่งกลุ่มคริสเตียนบางกลุ่มยังจัดการประท้วงต่อต้านงานพาเหรด PRIDE ในเกาหลีทุกปี จนเกิดความรุนแรงขึ้นหลายๆ ครั้ง เช่น ในปี 2561 งานเทศกาลเควียร์ที่ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในเมืองอินชอนนั้น มีผู้เข้าร่วมงานหลายคนถูกเย้ยหยัน และถูกทำร้ายร่างกายโดยผู้ประท้วงทางศาสนากว่าหนึ่งพันคน

แต่ในปีนี้คอมมูนิตี้ LGBTQ+ ก็กลับมามีความหวังอีกครั้ง เพราะจำนวนผู้คนในสังคมได้หันมาให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกฎหมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้มีผู้บัญญัติกฎหมายสามคนจากพรรคการเมืองหนึ่งได้ส่งร่างบัญญัติต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคณะกรรมการกฎหมายและตุลาการของรัฐสภาเกาหลีใต้ ซึ่งบัญญัตินี้จะช่วยคุ้มครองรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึงการเอาผิดคนที่เลือกปฏิบัติทางเพศได้อีกด้วย 

ในขณะที่คำร้องออนไลน์ต่อสภานิติบัญญัติที่เรียกร้องให้มีการดำเนินการตามบัญญัติต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่ร่างโดยพรรคการเมืองหัวก้าวหน้าขนาดเล็กอย่าง Justice ก็สามารถรวบรวมผู้สนับสนุนหนึ่งแสนรายชื่อได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ 

ทั้งนี้ยังมีเคสของ Kim และ So คู่รักชายที่อาศัยอยู่ในโซล ซึ่งแต่งงานกันในปี 2562 ตัดสินใจฟ้องกรมประกันสุขภาพแห่งชาติในข้อหาตัดสิทธิ์สถานะการพึ่งพากันของคู่สมรส ซึ่งทั้งคู่ยังคงหวังอย่างยิ่งด้วยว่าวันหนึ่งคนเพศเดียวกันในเกาหลีใต้จะแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยปราศจากอุปสรรคต่างๆ

ปัจจุบันนี้ ร่างบัญญัติต่างๆ จะต้องผ่านสภานิติบัญญัติต่อไป หลังจากการลงนามออนไลน์หนึ่งแสนฉบับ ร่างทั้งหมดจะต้องได้รับการตรวจสอบภายในเก้าสิบวัน แต่ขณะเดียวกันคณะกรรมการนิติบัญญัติก็มีสิทธิ์ขยายระยะเวลาการพิจารณาได้ ซึ่งหมายความว่าในทางทฤษฎีร่างบัญญัติเหล่านี้อาจถูกปฏิเสธได้


Source : TIME

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.