มะมะมะหมูเด้ง ยังจำฮิปโปแคระขี้โมโหตัวนี้กันได้อยู่หรือเปล่า
ถ้าวันนี้เหนื่อย อยากเติมยีราฟ แมวน้ำ หรือหมูเด้ง แล้วปุบปับออกเดินทางไปสวนสัตว์ในไทยเลยโดยไม่ได้หาข้อมูลล่วงหน้า ก็อาจจะเจอปัญหาทั่วๆ ไปอย่างการไม่รู้ขนาดของสวนสัตว์ เดินไม่ถูก อยากไปดูคาปิบารา ต่อด้วยโคอาลา แต่ดันเลี้ยวซ้ายไปเจอลิงเสียอย่างนั้น หรือบางทีก็ไม่รู้ว่าตั๋วที่นี่ราคาแพงแค่ไหน ใช้บัตรนักเรียนนักศึกษาลดได้ไหม และอีกมากมายหลากหลายคำถามที่หาคำตอบไม่ได้สำหรับการเที่ยวสวนสัตว์ในไทย

เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลากหลายสวนสัตว์ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน หรืออเมริกา สวนสัตว์เหล่านั้นมีระบบการจัดการที่แม่นยำและเข้าใจง่ายกว่ามาก เช่น กดตั๋วเข้าสวนสัตว์ล่วงหน้าได้ มีแอปพลิเคชันดูโซนของสวนสัตว์ว่าห่างกันแค่ไหน หรืออยากหาจุดเติมน้ำ เข้าห้องน้ำก็ดูผ่านสมาร์ตโฟนได้เช่นกัน เนื่องจากสวนสัตว์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่นักเดินทางทั่วโลกมักไปเยี่ยมเยือน ไม่ใช่เพียงคนในประเทศเท่านั้น การพัฒนาระบบให้เข้าใจง่ายจึงเป็นหนึ่งในประเด็นที่จำเป็น
คอลัมน์ Debut ขอชวนมารู้จักกับ ‘แมวน้ำ-ศิลปี กอบกิจวัฒนา’ และ ‘พัท-นนทพัทธ์ ชลวิทย์’ ที่ร่วมกันทำโปรเจกต์ UX/UI ออกแบบแอปพลิเคชันให้สวนสัตว์เปิดเขาเขียวเที่ยวง่ายและสนุกกว่าเดิม
เปิดประตูสู่โลกของเหล่าสัตว์
โปรเจกต์นี้เริ่มต้นขึ้นจากการเดินทางไปเที่ยวที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวของเขาทั้งสอง ด้วยแรงใจที่อยากจะไปเจอหมูเด้ง ฮิปโปแคระหน้าตาน่ารัก แก้มอมชมพู ผู้เป็นที่รักของคนทั่วโลก แต่การตัดสินใจไปเที่ยวที่นี่โดยไม่ได้หาข้อมูลให้ละเอียดก่อน ทำให้ทั้งคู่เจอปัญหาหลักๆ อย่างการไม่รู้เลยว่าบ้านของหมูเด้งอย่างสวนสัตว์เปิดเขาเขียวที่จังหวัดชลบุรีนี้มีขนาดใหญ่ถึง 5,000 ไร่ ซึ่งถ้าหากอยากดูสัตว์ให้ครบภายในหนึ่งวัน ย่อมเดินเท้าไปเรื่อยๆ ไม่ได้แน่นอน

หลังกลับมาจากสวนสัตว์ ช่วงเวลานั้นก็กลายเป็นจุดกำเนิดของโปรเจกต์ UX/UI ที่แมวน้ำสนใจอยากลองทำเป็นทุนเดิม เพิ่มมาด้วยแรงบันดาลใจในการพัฒนาพื้นที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวให้เที่ยวง่ายขึ้น ทั้งเรื่องแบรนดิ้ง ตั๋ว และรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่เล็กน้อยทว่าสำคัญ
“ปัญหาที่เจอคือ สวนสัตว์เปิดเขาเขียวไม่มีอะไรเหล่านี้เลย ไม่ว่าจะแบรนดิ้งหรือระบบตั๋ว ในฐานะคนไปเที่ยวรู้สึกว่า คงจะดีกว่านี้ถ้าเข้าไปหน้าเว็บแล้วกดจองล่วงหน้าได้” แมวน้ำเล่า
วิเคราะห์ปัญหาผ่านตัวตนคนรักสัตว์
หลังจากได้ไอเดียว่า ต้องการปรับระบบให้สวนสัตว์เปิดเขาเขียวเที่ยวง่ายขึ้น ทั้งสองจึงเริ่มต้นจากการหา Art Direction ของสวนสัตว์เปิดเขาเขียวว่า ที่นี่ควรเป็นสถานที่ที่เข้าถึงง่าย มี Tagline น่ารักแบบ ‘Khawkheow zoo home of Moodeng and friends’ (สวนสัตว์เปิดเขาเขียว บ้านของหมูเด้งและผองเพื่อน)
หลังจากนั้นก็มาแบ่งพาร์ตทำงานกัน โดยพัททำหน้าที่คิด Creative Idea ที่เป็นไอเดียหลักๆ ของงาน ส่วนแมวน้ำดูเรื่องรูปแบบงานอาร์ต รวมไปถึง UX/UI โดยกระบวนการทำแอปฯ เริ่มต้นจากการหาข้อมูลผู้ใช้งานกับปัญหาต่างๆ มาตั้งเป็น Persona แล้วค่อยดีไซน์ Interface ขึ้นมา เพื่อตั้งเป้าหมายว่างานที่ออกแบบจะแก้ไขปัญหาที่ตั้งไว้อย่างไร

สามฟีเจอร์หลักเปลี่ยนวิธีเที่ยวสวนสัตว์
เริ่มต้นด้วยระบบจองตั๋วผ่านช่องทางออนไลน์ที่จองตั๋วในวันเวลาที่ต้องการ และแนะนำให้จองรถกอล์ฟขับชมสวนสัตว์ล่วงหน้าได้ เพื่อไม่ให้ต้องประสบกับปัญหาการเดินมาราธอนในสวนสัตว์
และเมื่อไปถึงสวนสัตว์แล้วก็ใช้ระบบบอกตำแหน่งสัตว์หรือ Real-time Map ให้ไม่ต้องเดินสะเปะสะปะ หลงทาง หรือตามหาแผนที่กระดาษที่บางทีก็นำมาพัดจนยุ่ยหรือทำขาดคามือ หากอยากจะดูหมูเด้งก่อนก็แค่ไปทางนี้ หรือถ้าต้องการหลบคนจำนวนมากไปพักใจกับเหล่ายีราฟขอเชิญอีกโซน
นอกจากนั้นยังมีหน้าโปรไฟล์ที่ใช้สะสม Badge เมื่อไปเจอสัตว์ชนิดนั้นๆ ลองนึกถึงเกมโปเกมอนที่ให้เราสะสมสัตว์น้อยใหญ่ในแค็ตตาล็อกได้ เป็นการเพิ่มความสนุกในการไปเยือนสวนสัตว์อีกวิธีหนึ่ง
แมวน้ำเล่าให้เราฟังต่อว่า ข้อจำกัดหลักๆ ของงานนี้คือ ความเป็นมือใหม่ในวงการ UX/UI ทำให้เธอต้องศึกษาโปรแกรมกับระบบอะไรต่อมิอะไรใหม่ทั้งหมด รวมถึงเทคนิคการทำงานต่างๆ ที่ยังไม่คุ้นชิน เสียเวลาลองผิดลองถูกอยู่ไม่น้อย

“อย่างพาร์ตการออกแบบ เรามานั่งคิดว่า ถ้าไปใช้งานจริง สีที่ใช้อยู่มันโอเคไหม ต้องเปลี่ยนให้เข้าถึงทุกวัยกว่านี้ไหม ผู้สูงอายุดูแล้วจะเข้าใจหรือเปล่า” เธอเล่าเสริม
สุดท้ายแล้วถ้ามีคนสนใจนำแอปพลิเคชันนี้ไปใช้จริง ฝั่งผู้สร้างอย่างแมวน้ำเชื่อว่าต้องปรับปรุงอีกหลายส่วน ทั้งหน้าตั๋วที่ต้องแม่นยำมากขึ้น และต้องใส่ระบบสำคัญๆ ได้อีกมาก เพื่อให้การเที่ยวสวนสัตว์สะดวกขึ้น
ไม่ใช่เพียงแต่พื้นที่อย่างสวนสัตว์ที่เธอมองว่าควรนำระบบบางอย่างเข้ามาพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่พื้นที่อื่นๆ ที่เปิดโอกาสให้คนหลากหลายเจเนอเรชันได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งกรุงเทพฯ และชานเมือง หรือตามต่างจังหวัดต่างๆ ก็น่าจะใช้เทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชันเหล่านี้พัฒนาให้คนมาเจอกันได้ง่ายขึ้นด้วย
ใครเป็นแฟนคลับน้องหมูเด้ง หรือเป็นประชาชนคนรักสัตว์ที่อยากเห็นพื้นที่ของน้องๆ ถูกพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ลองไปเล่น Prototype ของสวนสัตว์เปิดเขาเขียวกันได้ที่ www.figma.com/…/%5BLO-FI-wireframe%5D-KK-ZOO…
