ปัจจุบันธุรกิจการบินเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูกโจมตีเรื่องการสร้างมลภาวะทั้งในอากาศและจากตัวสนามบินเอง นี่จึงเป็นปัญหาหนึ่งที่ธุรกิจฟากนี้พยายามลดมลพิษที่ปล่อยออกมา
ในขณะเดียวกัน หลังจากผ่านวิกฤตโรคระบาด ผู้คนกลับมาเดินทางกันมากขึ้น ทางเมืองเบงกาลูรู ประเทศอินเดีย ก็หวังเพิ่มความจุผู้โดยสารต่อปีขึ้น 25 ล้านคน และต้องการเป็นศูนย์กลางการขนส่งในหลากหลายรูปแบบ โดยตระหนักถึงความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เมืองเบงกาลูรูจึงขยับขยายพื้นที่ ‘Kempegowda International Airport’ โดยเปิดใช้งานอาคารผู้โดยสารที่ 2 ซึ่งเน้นการออกแบบที่ผสมผสานกับการปลูกต้นไม้ภายในอาคาร โอบล้อมอาคารด้วยสวนภายนอก ใช้วัสดุธรรมชาติ พร้อมกับตกแต่งด้วยไม้ไผ่และกระจก โดยอาคารผู้โดยสารในสวนแห่งนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากชื่อเสียงของเมืองเบงกาลูรูในฐานะ ‘อุทยานนคร’ หรือเมืองที่ให้ความสำคัญต่อพื้นที่สีเขียว
นอกจากความเป็นธรรมชาติในสนามบินแล้ว ความยั่งยืนยังเป็นจุดเด่นของที่นี่ ด้วยการรับรอง LEED Platinum และ IGBC Platinum ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียวระดับสากล ว่าเป็นอาคารสิ่งปลูกสร้างที่มีความยั่งยืนทั้งการออกแบบและสถาปัตยกรรม โดยโครงสร้างของอาคารมีการใช้พลังงานหมุนเวียน สามารถบำบัดและนำน้ำฝนจากทั่วสนามบินมาใช้ใหม่
อาคารผู้โดยสารของ Kempegowda International Airport ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างการสร้างความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในธุรกิจการบิน ที่ตอนนี้ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจการออกแบบลักษณะนี้กันมากขึ้น
Sources :
ArchDaily | bit.ly/3Suvno3
Kempegowda International Airport Bengaluru | bit.ly/495NLsA