สมัยนี้อย่าเลือกงานมากเลย แต่ทำไมงานถึงเลือกเพศ?
โดนกาหัวใบสมัครงาน เพราะไม่ใช่ผู้หญิงหรือผู้ชาย
ตำแหน่งงานที่จะโปรโมตสำหรับผู้หญิงเท่านั้น เธอไม่ใช่ผู้หญิง
อย่ามาแสดงท่าทางตุ้งติ้ง หรือทำตัวเจ้าฮะให้เห็นตอนทำงานล่ะ
ถกประเด็นโอกาสเข้าถึงงานของเพศหลากหลายกับ โกโก้-กวินตรา เทียมไสย์ ผู้หญิงข้ามเพศผู้เป็นนักวิจัยนโยบายให้กับองค์กรระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง พร้อมกับสร้างโปรเจกต์ She Can เพื่อฝึกทักษะและเตรียมพร้อมเยาวชนคนข้ามเพศให้เติบโตเป็นผู้นำในสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากเธอเรียนจบปริญญาโทด้าน Gender Studies ที่วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน (SOAS University of London) ด้วยทุนรัฐบาลอังกฤษ
ก้าวชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ใครจะคิดว่าเธอเคยเป็นเด็กจบใหม่ที่ร่อนสมัครงานไปมากกว่า 200 ใบแต่กลับไม่มีใครเรียกไปสัมภาษณ์ จะว่าคุณสมบัติที่มีไม่เหมาะสมกับงานทั้งสองร้อยงานเลยก็คงไม่ใช่ เธอจึงเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากเหตุแห่งเพศ เพราะสังคมไทยที่เป็นอยู่ไม่มีทั้งกฎหมายรับรองสถานะทางเพศ ยังคงเหยียด เลือกปฏิบัติ และมอง LGBTQ+ ไม่เท่ากับคนอื่น
ไหนว่าอย่าเลือกงาน แต่ทำไมงานถึงเลือกเพศได้? เธอพร้อมแล้วที่จะถกประเด็นให้คุณได้รู้
งานเลือกเพศ
งานวิจัยการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของ LGBTI ในประเทศไทยปี 2561 จากธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งสำรวจกลุ่ม LGBTQ+ และคนที่ไม่ใช่ LGBTQ+ รวม 3,502 คนพบว่า การเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ+ ที่ร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นในตลาดแรงงาน ซึ่งลิดรอนโอกาสการเข้าถึงตั้งแต่เห็นใบสมัคร และในฐานะที่โกโก้เคยประสบปัญหานี้เหมือนกัน เธอมองว่าความไม่เท่าเทียมในโลกการทำงานที่เกิด มาจากการตีตรา และการเหยียดด้วยกรอบความเป็นชายหญิง
การตีตรา (Stigmatization) สังคมไทยยังมอง LGBTQ+ เป็นคนที่ไม่เท่าคนอื่น ประโยคที่ว่าเป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดี เป็นกะเทยต้องแต่งหน้าเก่ง เต้นเก่งหรือเปล่า ไปจนถึงการที่คนหลากหลายทางเพศต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าใคร ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตีตราจากสังคมให้เชื่อว่าต้องเป็นเช่นนั้น การยอมรับที่มีจึงแคบแทบไม่พ้นกะลา
เหยียด (Discrimination) มุมมองแง่ลบที่สังคมมีต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เหยียดใส่กันเพราะการแสดงออกทางเพศของแต่ละคน จนผลักให้เป็นความผิดปกติในสังคม
“เราถูกผลักให้เป็นคนอื่น ทำให้รู้สึกว่าเราผิดปกติ ซึ่งสิ่งที่สังคมต้องการคือความเป็นปกติตามกรอบชายหญิง เช่น ถ้าเป็นทรานส์วูแมนก็ต้องสวย ต้องเนียนนีเหมือนผู้หญิง หรือถ้าเป็นเกย์ ต้องแอ๊บแมนให้ดูมีความเป็นผู้ชาย อย่ามาตุ้งติ้ง”
โกโก้อธิบายต่อว่าถ้ามองให้ลึกไปมากกว่าการตีตราและการเหยียด คือการไม่มีความรู้ และไม่ตระหนักรู้ด้านความหลากหลายทางเพศในสังคม เนื่องจากการศึกษาไทย ทั้งหลักสูตร และการสอนไม่ได้เตรียมพร้อมให้เข้าถึง และเข้าใจความหลากหลาย แม้กระทั่งโจทย์เลขยังเป็นการแต่งงานของชายหญิงแล้วมีลูก เพื่อถามสรุปว่าในครอบครัวมีกี่คน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมบางคนที่จบมาจากระบบการศึกษาและเติบโตเข้าวัยทำงานหรือเป็นเจ้าขององค์กรยังมีแนวคิด และหลักปฏิบัติที่กีดกันผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
ไม่เท่าเทียมในที่เดียวกัน
งานวิจัยฯ โชว์ปัญหามากมายที่ LGBTQ+ ต้องเผชิญในที่ทำงาน ซึ่งแต่ละข้อล้วนเป็นสิ่งที่เราขอใช้คำว่า ‘อิหยังวะ’ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครก็ไม่ชอบ แล้วทำไมถึงยังสาดสิ่งเหล่านี้ใส่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
ถูกปัดใบสมัครงานทิ้งเพราะอัตลักษณ์ทางเพศ – “บัดซบค่ะ” โกโก้พูดแล้วเล่าว่าเพื่อนที่ทำงานอยู่บริษัทใหญ่โตเห็น HR ที่บริษัทปัดใบสมัครทิ้ง เพียงเพราะคนนั้นเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ “HR พูดตอนคัดใบสมัครเลยว่า คนนี้เป็นกะเทยไม่เอาได้ไหม แล้วก็โยนใบสมัครทิ้ง”
ถูกมองข้ามการเลื่อนตำแหน่ง – โกโก้หัวเราะหนึ่งทีแล้วบอกว่า แทบไม่มีบริษัทในไทยที่มีนโยบายที่เข้าใจและโอบอุ้มความหลากหลายของประสบการณ์ชีวิต เกย์บางคนทำงานเก่งแต่แสดงท่าทางออกในสิ่งที่เป็น ทรานส์บางคนลาไปผ่าตัดแปลงเพศ นี่คือสิ่งที่ไม่ใช่ใครก็เจอเหมือนกัน
“คุณทำงานเก่งนะ แต่ลาไปแปลงเพศสองอาทิตย์ ซึ่งบริษัทไม่มีนโยบายวันลาตรงนี้ ก็อาจจะส่งผลกับการเลื่อนตำแหน่ง ทั้งที่การผ่าตัดแปลงเพศนับเป็นการผ่าตัดทางการแพทย์ ไม่ใช่เพื่อความงาม คือฉันไม่ได้เอาจิ๋มมาอวดใครว่าจิ๋มฉันงาม แล้วยังมีอีกความคิดที่ว่า LGBTQ+ บุคลิกดูไม่น่าเชื่อถือ จะโปรโมตเพื่อไปเป็นหัวหน้าใครคงไม่เหมาะสม”
ถูกห้ามไม่ให้แสดงออกและบอกใครว่าฉันเป็น – “การแสดงออกทางตัวตนไม่ได้ส่งผลต่อการทำงาน และมันเป็นหนึ่งใน Democratic Value ถ้าใครออกไปเรียกร้องประชาธิปไตย แต่กลับห้ามคนอื่นไม่ให้แสดงตัวตน นั่นแปลว่าคุณไม่เชื่อเรื่องความเสมอภาคอย่างแท้จริง จะมาบอกว่า ห้ามทาปากสีแดงนะ ห้ามกรี๊ดเสียงดังนะเพราะเป็นกะเทย เราว่ามันไม่แฟร์ ทำไมอะ ตุ้งติ้งแล้วยังไง เห็นแล้วตายเหรอ” เธอตอบด้วยเสียงมุ่งมั่น
เพราะเป็น Trans จึงยากกว่าใคร
หากทำความเข้าใจแต่ละสเปกตรัม Transgender หรือคนข้ามเพศ จัดเป็น Gender Identity หรืออัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งต้องเปลี่ยนร่างสู่อีกเพศหนึ่งตรงข้ามตามเพศกำเนิด ทำให้การยอมรับนั้นยากขึ้นอีกหลายเท่าตัว งานวิจัยฯ ระบุว่า 77 เปอร์เซ็นต์ของคนข้ามเพศ ถูกปฏิเสธงานเพราะอัตลักษณ์ทางเพศที่เป็น ซึ่งโกโก้มองว่านอกจากการตีตราและการเหยียดจากสังคม ยังมีแง่ที่ว่าประเทศไทยแทบไม่มีคนข้ามเพศที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็น Role Model ให้เห็น จึงไม่เกิดความเชื่อ ทั้งยังมีความคิดแง่ลบต่อคนข้ามเพศโดยเฉพาะ เช่น คิดว่าหญิงข้ามเพศต้องวีนเหวี่ยง เลยไม่น่าร่วมงานด้วย ไปจนถึงอาการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ (Transphobia) ที่ยิ่งทำให้การเข้าถึงงานเป็นเรื่องยากกว่าเดิม จนบางคนตกงาน ขาดรายได้ และต้องไปทำอาชีพนอกระบบแรงงาน เช่น Sex Worker คนทำงานกะดึก ฟรีแลนซ์ และงานอีกมากมายที่ไม่ได้อยู่ในระบบ ไม่มีสัญญาจ้าง
ขณะเดียวกันแม้เข้าไปทำงานได้แล้ว คนข้ามเพศก็ยังเผชิญกับการถูกกดทับอย่างหนักหน่วง กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ถูกเหยียดและทำให้เป็นอื่น 40 เปอร์เซ็นต์ ถูกคุกคามในที่ทำงาน และ 23.75 เปอร์เซ็นต์ ถูกไล่ให้ใช้ห้องน้ำตามเพศกำเนิด
“เราเคยทำงานเป็น PR ให้กับบริษัทหนึ่ง ครั้งหนึ่งต้องขึ้นพรีเซนต์งานลูกค้า HR บอกว่าไม่ได้ เลยถามว่าทำไม เขาบอกว่าเป็นกะเทยมันดูไม่ Professional มันดูตลก เราเลยถามว่าแล้วหนูดูตลกตรงไหนคะ เป็นเหตุการณ์ที่เจอแล้ว What! ซึ่งก็ไม่ขึ้นพรีเซนต์ แต่ก็ยังพยายามโปรโมต Gender Awareness ว่าทำแบบนี้ผิดมาก เราสามารถฟ้องผ่าน พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศได้
“เราเคยโดนคุกคามทั้งการกระทำและคำพูด ตั้งแต่จับหน้าอก ถามว่าคืนนี้นอนที่ไหน แปลงเพศหรือยัง ก็จะตอบตลอดว่านี่คือข้อมูลส่วนตัวของฉัน และคิดว่าไม่ควรเอามาถามกัน It’s just like me asking how big is your dick?
“อีกเรื่องโง่ๆ งี่เง่าๆ อย่างห้องน้ำหญิงเลี้ยวซ้าย ห้องน้ำชายเลี้ยวขวา ก็จะมีคนที่ไม่มีความรู้มาพูดว่า เอ้า เป็นผู้ชายทำไมไม่เลี้ยวขวาล่ะ เรารู้สึกตลอดว่าทำไมต้องมีปัญหากับอัตลักษณ์ทางเพศของฉัน”
สหภาพแรงงานหลากหลายทางเพศ
แล้วสังคมทำงานแบบไหนที่ควรเป็น? โกโก้มองว่าคือที่ทำงานที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำงานได้ผ่านนโยบาย และสวัสดิการที่มีทั้งความเสมอภาค และความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีเพศตามเพศกำเนิด ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และถ้าเฉพาะเจาะจงเรื่องความหลากหลายทางเพศ เธออยากสร้าง ‘LGBTQ+ Labour Union’ หรือ ‘สหภาพแรงงานหลากหลายทางเพศ’ ที่ระบบข้างในจะนำเสนอความต้องการของทุกสเปกตรัม ให้ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกัน เพื่อแก้ปัญหาที่มี นำเสนอเรื่องสวัสดิการ และต่อรองอำนาจกับองค์กร
“เราต้องเอาปัญหามากางดูว่า คนข้ามเพศเจอปัญหาอะไร เลสเบี้ยนเจออะไร เกย์เจออะไร เพศหลากหลายเจออะไร แล้วต้องเขียนข้อมูลเฉพาะสำหรับแต่ละสเปกตรัม เพราะถ้า Gender ยังเป็น Agenda ที่ทุกคนพูดถึงไม่ได้ ก็ต้องมี LGBTQ+ Labour Union เพื่อให้องค์กรมองเห็น เข้าใจ และยอมรับในอัตลักษณ์ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ”
ไม่เพียงเท่านั้น ในฐานะที่รัฐไทยเป็นรัฐแบบควบรวมอำนาจ (Centralized) ซึ่งไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เพราะหากแทรกแซงอย่างถูกจุด ก็จะมีผลดีตามมา เธอจึงอยากให้ภาครัฐเข้มข้นกับกฎหมายที่โอบอุ้มและโอบรับทุกเพศสภาพ เช่น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศที่เธอมองว่าฉาบฉวย เพราะระบุเพียงห้ามเลือกปฏิบัติ ก็ควรสานต่อโดยการมองเห็นถึงสิ่งที่เกิดกับทุกสเปกตรัมใน LGBTQ+ และควรมีกฎหมายรับรองเพศสภาพของบุคคลข้ามเพศ ซึ่งจะส่งผลต่อคำนำหน้า เอกสาร และไปไกลถึงหากต้องเข้าโรงพยาบาลจะนอนวอร์ดหญิงหรือชาย นอกจากนี้ควรเกิดการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership) เพื่อจัดอบรมและบังคับใช้กฎหมายให้เกิดขึ้นจริง
“เราไม่ได้ต้องการการยอมรับจากสังคมมากขนาดเต็มร้อย แต่เราต้องการความอดทนที่จะไม่โยนความเกลียดชังสู่กัน เพื่อไม่ทำอะไรที่แย่ หรือส่งผลกระทบต่อ LGBTQ+ รัฐเองก็ต้องเข้าใจด้วยว่าการเป็น LGBTQ+ ไม่ได้ทำให้รัฐเสื่อมเสียในการเป็นรัฐ รัฐควรเป็นรัฐของคนทุกคน งานก็ควรกระจายถึงทุกคน ไม่ใช่แค่ชายหรือหญิง ต้องเปิดรับและคิดได้แล้วว่าประชาชนมีความหลากหลาย ดังนั้นรัฐต้องทำตัวให้สมกับเป็นรัฐ และโอบอุ้มประชาชนทุกสเปกตรัม ขอบคุณค่ะ”
โกโก้ปิดท้ายการพูดคุยกับเราแบบมงลง สมกับเป็นคนฝึกการตอบคำถามให้ อแมนด้า-ชาลิสา ออบดัม สำหรับขึ้นประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020