หลังจากการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ชื่อของ ‘พรรคเป็นธรรม’ ก็ปรากฏตามหน้าข่าวอย่างแพร่หลาย และได้รับความสนใจจากคนไทยที่ติดตามการเมืองอย่างเข้มข้น
ที่เป็นแบบนั้นเพราะพรรคเป็นธรรมมี ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เพียงคนเดียวที่ได้รับเชิญจากพรรคก้าวไกลเพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาล จนหลายคนมองว่า นี่คือหนึ่งพรรคการเมืองม้ามืดที่จะมาช่วยขับเคลื่อนให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยเต็มใบอีกครั้ง
ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง ‘กัณวีร์ สืบแสง’ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม และ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 1 ที่ประชาชนจรดปากกาเลือกให้เป็นผู้แทนเข้าไปทำงานในสภาฯ
ก่อนกระโดดเข้ามาทำงานการเมือง กัณวีร์เคยรับราชการที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จากนั้นเขามีโอกาสทำงานด้านมนุษยธรรมที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในพื้นที่สงครามและความขัดแย้งนาน 12 ปี ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ซูดานใต้ ซูดานเหนือ ชาด ยูกันดา บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ เมียนมา และไทย ทำให้กัณวีร์มีความเชี่ยวชาญด้านผู้ลี้ภัย มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน สันติภาพ ความมั่นคง ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
กัณวีร์และพรรคเป็นธรรมตั้งใจที่จะสร้าง ‘การเมืองใหม่’ ที่เน้นคุณค่าของประชาธิปไตยและประชาชนเป็นหลัก รวมถึงผลักดันแนวคิดมนุษยธรรมนำการเมือง สันติภาพกินได้ และการสร้างเสรีภาพโดยเฉพาะในพื้นที่ปาตานี
“อยากให้ทุกคนมองคนให้เป็นคน มองมนุษย์ให้เป็นมนุษย์” คือสิ่งที่กัณวีร์ย้ำกับเราตลอดบทสนทนานี้
อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านมนุษยธรรมว่าเกิดขึ้นตอนไหน
หลังจากเรียนจบด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมานุษยวิทยา ผมทำงานแรกเป็นข้าราชการที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รับผิดชอบเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง กิจการความมั่นคงชายแดน และดูแลนโยบายความมั่นคงที่เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด รวมถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
แต่หลังจากทำงานที่ สมช. ได้ประมาณ 8 ปี ประเทศไทยมีการทำรัฐประหารหลายครั้ง ซึ่งทั้งสองครั้งที่ผมทำงานอยู่ สมช. มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเลย ซึ่งมันขัดกับความคิดของผม และทำให้ผมมองว่า สมช. ไม่ใช่หน่วยงานหรือองค์กรที่จะสนับสนุนให้ความมั่นคงแห่งชาติกลายเป็นความมั่นคงของมนุษย์ได้
ประกอบกับตอนที่ทำงานบริเวณชายแดน ผมเป็นเจ้าหน้าที่โต๊ะที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องหนีภัยการสู้รบและผู้ลี้ภัยทั้งหมด ตอนนั้นต้องดูแลเรื่องเกี่ยวกับผู้หนีภัยการสู้รบบริเวณชายแดนไทยเมียนมาทั้งหมด 9 แห่ง ตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี ทำให้ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับทาง UNHCR จากนั้นจึงไปสมัครสอบเป็น National Officer ของทาง UNHCR ไปอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศต่อผู้หนีภัยการสู้รบหรือผู้ลี้ภัย
แล้วคุณไปปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามเมื่อไหร่
ผมเข้าทำงานร่วมกับ UNHCR ในปี 2009 ซึ่งตอนนั้นผมอยู่ใน Emergency Roster Team (ERT) ทีมที่ถูกฝึกอบรมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังจากนั้นในปี 2011 ซูดานใต้ได้รับเอกราชและแบ่งออกเป็นประเทศซูดานใต้ ทำให้มีปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยเกิดขึ้น จึงมีการเรียกเจ้าหน้าที่ ERT เข้าไปดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยจากซูดานเหนือเข้ามายังซูดานใต้ ตอนนั้นผมโดนส่งเข้าไปอยู่ในค่าย ต้องนอนกินอยู่กับผู้ลี้ภัย และให้การคุ้มครองระหว่างประเทศไปเรื่อยๆ
การปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามมีความท้าทายหรือยากลำบากยังไงบ้าง
การปรับตัวทุกครั้งจำเป็นต้องมีความอ่อนตัว เพราะผมเคยเห็นหลายๆ คนที่พอถึงเวลาต้องย้ายไปอยู่ประเทศใหม่ อยู่ได้ประมาณหนึ่งวันร้องไห้เก็บกระเป๋ากลับบ้านก็มี เพราะการกินการอยู่ของเราไม่เหมือนคนทั่วๆ ไป อย่างตอนที่อยู่ซูดานใต้ ผมต้องนอนในเต็นท์ประมาณสามเดือน เมื่อเราอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยก็ต้องใช้ชีวิตให้เหมือนผู้ลี้ภัย ทั้งเรื่องการอยู่ การกิน และการหาอาหาร
จากประสบการณ์การทำงานด้านมนุษยธรรมในหลายประเทศ คุณคิดว่าเหตุการณ์ไหนน่าหดหู่ใจที่สุด และสะท้อนให้เห็นอะไร
มันน่าหดหู่เกือบหมด แต่ถ้าให้ยกตัวอย่างคงเป็นช่วงที่ผมอยู่ซูดานใต้ ตอนนั้นผมต้องนำทีมลงทะเบียน มีผู้ลี้ภัยมาต่อแถวทุกวัน วันละ 400 – 500 คน มีวันหนึ่งผมเห็นคนขาขาดไปข้างหนึ่งแล้ว เอาผ้ามัดไว้เลือดก็ยังไหล ผมกับทีมวิ่งไปดูกัน เราบอกเขาว่า เรามีโรงพยาบาลที่เรียกว่า Primary Health Unit คอยดูแลอยู่นะ เขาก็บอกว่าไม่ได้ ถ้าไปโรงพยาบาลเดี๋ยวเขาจะไม่ได้ลงทะเบียน ลูกและเมียจะไม่มีข้าวกิน ไม่มีที่อยู่ ไม่มียารักษาโรค เพราะกฎของพวกเราบอกไว้ว่าผู้ลี้ภัยต้องลงทะเบียนก่อน
เท่านั้นแหละ ผมปรี๊ดแตกกับทีมงานเลยว่า เราไม่ใช่พระเจ้านะที่จะมากำหนดว่าคนนี้จะมีชีวิตรอดหรือไม่รอดเพียงเพราะต้องลงทะเบียน เราต้องจัดลำดับความสำคัญให้ได้ว่าคนคนนี้ต้องได้รับการดูแลก่อน ทีแรกเขาก็ไม่ยอมไปโรงพยาบาล ผมเลยจะไปด้วย แต่เขาเดินไม่ไหวผมเลยช่วยอุ้มเขาไป พอไปถึงโรงพยาบาลปั๊บ เขาถามผมคำเดียวว่า ลงทะเบียนให้หรือยัง พอบอกว่าลงให้เรียบร้อยแล้ว เขาก็เสียชีวิตคามือผมเลย
หลังจากนั้นผมถามทีมว่า สิ่งที่เราทำมันถูกต้องไหม เขาต้องมาเสียชีวิตแบบนี้ ซึ่งตัวเขามีผลกระทบต่อ 4 ครอบครัว เพราะคนที่นั่นเขามีหลายครอบครัวแบบ Polygamy แล้วเราเป็นใคร ตอนนั่งลงทะเบียนเรายังมีร่มบังแดด แต่คนกลุ่มนี้เขาเดินทางและหนีมาหลายสิบกิโล แล้วยังต้องมายืนขาขาดเพราะโดนกับระเบิด คุณยังปล่อยให้เขายืนต่อแถวกลางแดดร้อนๆ คุณทำได้ยังไง คิดได้ยังไง ทำไมไม่มองคนเป็นคน คุณคิดว่าถ้าเราขาขาดแล้วเราจะยืนอยู่ตรงนั้นไหม เหตุการณ์นี้เลยทำให้ผมต้องเปลี่ยนความคิดทีมใหม่
คุณต้องทำงานอยู่ในพื้นที่สงครามและความขัดแย้งนานหลายปี เคยรู้สึกเหนื่อย กลัวหรือท้อบ้างไหม
เหนื่อยและกลัวมีแน่นอน เพราะมันมีทั้งการวางระเบิด การยิงกัน การลักพาตัว การข่มขืน ซึ่งการข่มขืนนี่ไม่ใช่แค่เพศเดียว มีหมดทุกเพศ เพราะฉะนั้นความกลัวมีอยู่แล้ว แต่ความท้อคงไม่มี เพราะถ้าท้อเมื่อไหร่ต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านอย่างเดียว ซึ่งเราสามารถร้องขอได้เลย แจ้งได้ว่าเราไม่ไหวแล้ว เราทำเต็มที่แล้ว เขาจะให้เราไปพัก แต่มีส่วนน้อยที่ท้อกัน
งานด้านมนุษยธรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยต้องทำอะไรบ้าง
ส่วนใหญ่คนชอบคิดว่าเราเอาของไปให้เฉยๆ เช่น น้ำ ที่พักพิง ของใช้จำเป็น และยารักษาโรคต่างๆ แต่จริงๆ แล้วการทำงานของฝ่ายมนุษยธรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยหรือการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ เราจะพยายามมองหาการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน (Durable Solutions) ตั้งแต่ช่วงเริ่มสถานการณ์ฉุกเฉิน
ดังนั้นการทำงานด้านมนุษยธรรมจะต้องเชื่อมการทำงานด้านมนุษยธรรมกับการพัฒนาไว้ด้วยกันให้ได้ ซึ่งการเชื่อมตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าเราวางสะพานผิดตั้งแต่ต้น มันจะทำให้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างผู้หนีภัยการสู้รบบริเวณชายแดนไทยเมียนมา ถ้าเราไม่มองว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ลี้ภัย เราแค่ให้อาหาร ให้น้ำ ให้ยารักษาโรค การแก้ปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืนก็จะไม่เกิดขึ้น
ปัจจุบันชาวเมียนมาที่อยู่บริเวณชายแดนกว่า 91,000 คนได้อยู่ในพื้นที่มานานกว่า 40 ปีแล้ว รัฐบาลไทยไม่สามารถให้ความคุ้มครองคนกลุ่มนี้ได้ ไม่สามารถร่วมมือกับเวทีระหว่างประเทศในการมองหาการแก้ไขปัญหาอย่างยืน มันจึงเกิดปัญหาตรงนี้ขึ้น และนั่นคือเหตุผลที่ชุมชนของชาวมนุษยธรรมพยายามจะแก้ไขปัญหาตรงนี้
แล้วการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืนที่คุณกำลังพูดถึงมีวิธีไหนบ้าง
มีสามข้อหลักๆ หนึ่งคือ การเดินทางกลับประเทศมาตุภูมิโดยสมัครใจ (Voluntary Repatriation) ซึ่งการแก้ไขปัญหาข้อนี้ไม่สามารถทำได้แน่นอนในสถานการณ์โรฮีนจา เพราะประเทศต้นกำเนิดไม่ยอมรับคนเหล่านี้
สองคือ การผสมผสานกลมกลืนกับประเทศที่ขอลี้ภัย (Local Integration) เป็นการรองรับผู้ลี้ภัยให้พวกเขาอยู่ในประเทศลี้ภัยได้ สามารถอยู่และทำงานได้ อย่างบังกลาเทศก็ยังไม่มีนโยบายใดๆ ที่จะทำให้ชาวโรฮีนจาทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สามคือ การตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม (Resettlement) ในทุกๆ ปี ทั่วโลกจะมีโควตาให้แค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมดทั่วโลก คนเหล่านี้จะตั้งถิ่นฐานใหม่ได้ แต่ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ลี้ภัยประมาณ 60 – 70 ล้านคน หมายความว่าโควตาจะมีแค่ประมาณ 6 แสนคนต่อปี เพราะฉะนั้นวิธีนี้จะไม่สามารถตั้งถิ่นฐานใหม่ให้ชาวโรฮีนจาที่มีอยู่กว่าหนึ่งล้านคนในบังกลาเทศได้ทั้งหมด นั่นคือเหตุผลที่เรายังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้
ตอนนี้เทรนด์การแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยคือ Local Integration เพราะถ้าเราสนับสนุนและรับรองสถานะผู้ลี้ภัยได้ ด้วยการมองคนให้เป็นคน มองมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ และเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ศักยภาพของตัวเองมาร่วมพัฒนาประเทศที่ขอลี้ภัย วิธีนี้จะทำให้เขาสามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเอง และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศที่เขาขอลี้ภัยได้
ผมมองว่าถ้าเขาได้ทำงานในประเทศของเรา เขาจะจงรักภักดีกับประเทศเรา เนื่องจากมอบทั้งที่อยู่ อนาคต การศึกษา รวมถึงโอกาสให้บุตรหลานของพวกเขาเติบโต แต่ปัญหาคือ หลายๆ ประเทศไม่เห็นความสำคัญของวิธีนี้ เพราะมองว่าจะกระทบต่อความมั่นคง และกลัวว่าผู้ลี้ภัยจะมาแย่งงาน แย่งที่ดินทำกิน รวมถึงมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นอาชญากรเสียมากกว่า
ในฐานะที่คุณเคยทำงานกับผู้ลี้ภัยโดยตรง อยากบอกอะไรกับคนที่อาจยังไม่เข้าใจประเด็นนี้
การเป็นผู้ลี้ภัยมันไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะตอนนี้ หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หากวันใดวันหนึ่งเราต้องกลายไปเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศอื่นๆ แล้วต้องไปเผชิญการกดทับในประเทศที่เราลี้ภัยอีกโดยที่ไม่ให้สถานะอะไรแก่เราเลย และอาจจะจับเราเข้าคุกด้วย อย่างที่พี่น้องชาวอุยกูร์ในไทยที่ถูกขังมานานกว่า 9 ปี และยังไม่รู้ว่าจะได้ออกมาวันไหน รวมถึงพี่น้องชาวโรฮีนจาที่โดนจับไปอยู่ในห้องกัก 500 กว่าคน หลายรายต้องตายอยู่ในห้องกัก
ถ้าวันนั้นเป็นวันของเรา เราจะทำยังไง เพราะฉะนั้นผมอยากให้ทุกคนมองมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ เพราะทุกคนล้วนมีชีวิตจิตใจเหมือนกัน
เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศที่เคยทำงานมา คุณคิดว่าปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ของบ้านเรารุนแรงขนาดไหน
มันอาจจะไม่รุนแรงเหมือนกับการฆ่าฟันกันต่อหน้าต่อตา แต่สถานการณ์จริงๆ มันรุนแรง เพราะถูกทับถมมานาน เนื่องจากตอนนี้รากเหง้าของปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ยังไม่ถูกพูดถึงอย่างชัดเจน เราชอบมองว่ามันเป็นปัญหาของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ รัฐไทยเลยใช้ความมั่นคงกระแสหลักเพื่อปราบปรามความไม่สงบ ตอนนี้จึงมีกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก ที่ทำให้ปัญหาในพื้นที่มันทับซ้อน โดยไม่มองว่ารากเหง้าของปัญหาคืออะไร
จากแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบนี้ ทำให้การสร้างสันติภาพในประเทศไทยไม่เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า
กรอบการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ยังผิดฝาผิดตัว เพราะเอาทหารสองฝั่งมาคุยกัน ระหว่างทหารไทยกับกลุ่ม BRN แถมยังมีอดีตทหารจากมาเลเซียมานั่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุข ซึ่งมันเป็นวิธีที่ไม่สามารถแก้ไขเรื่องสันติภาพได้อย่างยั่งยืน ทำได้เต็มที่ก็แค่ข้อตกลงการหยุดยิง (Ceasefire Agreement) เท่านั้น
แล้วการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนต้องเป็นแบบไหน
ผมมองว่าประเทศไทยต้องสร้างกระบวนการสร้างสันติภาพแบบสมมาตรซึ่งมีทั้งหมด 3 ขา หนึ่งคือ ประเทศไทยต้องยกระดับการสร้างสันติภาพนี้ให้ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติให้ได้ เพราะตลอด 19 ปีที่ผ่านมา งบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาทถูกใช้ในพื้นที่ภาคใต้ แต่เรายังไม่เห็นว่าจะสร้างสันติภาพได้เลย เพราะฉะนั้นต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ระบบรัฐสภาเพื่อสร้างความมั่นคงและสร้าง พ.ร.บ.สันติภาพให้เกิดขึ้น
สองคือ เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ประเทศไทยจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนพูดได้ กฎหมายต่างๆ ที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 113 มาตรา 116 และมาตรา 215 ต้องยกเลิกไปให้หมด ส่วนกฎหมายพิเศษต้องยกเลิกไปเช่นกัน
สามคือ การปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการ พรรคเป็นธรรมเน้นเรื่องการกระจายอำนาจให้ประชาชน พวกเขาจะเป็นคนกำหนดทิศทางของตัวเอง การกระจายอำนาจในที่นี้คือจังหวัดจัดการตนเอง คล้ายๆ กับการนำรูปแบบการปกครองของ กทม. เข้ามาใช้ในพื้นที่ชายแดนทั้งหมดของประเทศไทย บวกกับจังหวัดชายฝั่งทะเลและเกาะแก่ง รวมถึงยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพราะสองส่วนนี้เป็นหน่วยงานที่ถูกสร้างขึ้นมาแก้ปัญหา แต่กลับไปปิดกั้นและกดทับปัญหามากกว่าเดิม เนื่องจาก กอ.รมน. ใช้อำนาจเต็มที่ ใช้กฎหมายพิเศษจับกุมคุมขังประชาชน ขณะเดียวกัน งบประมาณยังไปอยู่ที่ ศอ.บต. แต่กลับไม่ส่งต่อให้ประชาชน ไม่เคยมีการเยียวยาเกิดขึ้น
พรรคเป็นธรรมชูนโยบาย ‘มนุษยธรรมนำการเมือง’ อยากให้อธิบายว่าแนวคิดนี้คืออะไร
สมัยที่ผมทำงานด้านมนุษยธรรม พวกเราไม่มีเกราะคุ้มกันตัวเอง เราใช้แค่หลักมนุษยธรรม 4 ข้อในการคุ้มครองตัวเราเอง
หนึ่งคือ เรื่องเกี่ยวกับมนุษยธรรม (Humanity) คือการเอาบุคคลในความห่วงใยเป็นศูนย์กลางการพิจารณาโครงการทั้งหมด เราจะไม่เอาผลประโยชน์ทับซ้อนจากกลุ่มไหนๆ มาสร้างโครงการหรือแผนงานของเรา เพราะฉะนั้นเมื่อนำมาปรับใช้กับการเมือง มันคือการเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อทำให้อำนาจที่แท้จริงเป็นของประชาชน แล้วโครงการแผนงานและงบประมาณทั้งหมดจะไปตอบสนองความต้องการและเติมเต็มช่องว่างต่างๆ ที่ประชาชนต้องการจริงๆ
สองคือ การจัดลำดับความสำคัญและการไม่เอนเอียง (Impartiality) เพราะเวลาที่เราทำงานด้านมนุษยธรรมในสมรภูมิ จะมีคนหลายกลุ่มที่ถืออาวุธแล้วมาบอกเราว่า เราต้องให้ของกับคนกลุ่มนี้ก่อน คนกลุ่มนั้นก่อน ซึ่งเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะฉะนั้นหลักการนี้ควรจะกลับมาใช้กับระบอบประชาธิปไตย เราต้องไม่เอนเอียง ไม่ว่าจะมีกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มาบอกเราให้ทำอะไร
สามคือ ความเป็นกลาง (Neutrality) ข้อนี้คล้ายๆ กับหลักการไม่เอนเอียง แต่ความเป็นกลางในที่นี้คือ หากเรามีคู่ขัดแย้งอยู่แล้ว เราจะไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราต้องเป็นกลางให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ต้องบอกได้ว่าข้อไหนดี ข้อไหนเสีย ข้อไหนทำได้หรือทำไม่ได้
สี่คือ ความเป็นอิสระ (Independence) เราต้องมีอิสรภาพในการทำงาน เราจะไม่ขึ้นตรงต่อกลุ่มนายทุนอย่างแน่นอน หรือแม้แต่กลุ่มประเทศมหาอำนาจ คนเดียวที่สามารถทำให้เราไม่มีอิสรภาพได้คือบุคคลในความห่วงใย เพราะฉะนั้นในทางการเมือง กลุ่มคนที่จะมีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของเราคือประชาชน
ถ้าเรานำ 4 หลักการนี้มาปรับใช้เป็นมนุษยธรรมนำการเมืองได้ ผมเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยจะไปต่อได้ มีหลักการต่างๆ เกิดขึ้น และทำให้ประชาธิปไตยงอกงามในประเทศไทย
สุดท้ายนี้ คุณอยากฝากอะไรถึงคนไทยที่มีความหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้
ผมอยากให้ทุกคนมีความหวังต่อไปนะ เพราะผลการเลือกตั้งแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ประชาชนต้องการเห็นประเทศไทยเดินไปในทิศทางไหน ผมมองเห็นว่าประชาชนอยากเห็นการเมืองใหม่ อยากเห็นการเมืองที่เป็นของประชาชนจริงๆ รวมถึงอยากเห็นว่าอำนาจต่างๆ ที่ไม่เคยอยู่กับเราจะกลับคืนสู่ประชาชนเสียที
และพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคที่พรรคก้าวไกลพยายามจัดตั้งขึ้นนี้ จะเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน เราจะสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ให้ได้ ในนามของพรรคเป็นธรรมและตัวผมเอง เราจะใช้ศักยภาพที่มีอยู่ ไม่ว่าเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม หรือการสร้างสันติภาพ เข้าไปเสริมรัฐบาลชุดนี้ในการผลักดันให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนมีหวัง ประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อไป