‘ญี่ปุ่น’ คือประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องของเมืองที่ทั้งสะอาด เป็นระเบียบ และสะดวกสบาย ซึ่งผลลัพธ์เช่นนี้มาจากความใส่ใจของรัฐบาลญี่ปุ่นและพฤติกรรมชาวเมืองที่มีวินัยในการใช้ชีวิตกันอย่างเป็นระบบระเบียบ
และถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีพื้นที่ใช้สอยภายในประเทศอย่างจำกัด แต่หน่วยงานภาครัฐก็ให้ความสำคัญต่อระบบการเดินทางคมนาคมให้มีความสะดวกสบายและปลอดภัยอย่างสูงสุด เช่นเดียวกับ ‘ทางคนเดินเท้า’ ที่ออกแบบมาตอบโจทย์วิถีชีวิตของประชากรในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้คนใช้วิธีการเดินในการเดินทางควบคู่ไปกับคมนาคมที่ดี

📌 การออกแบบที่ทุกคนใช้งานได้
โครงสร้างทางเท้าที่ญี่ปุ่นถูกออกแบบมาให้ทุกคนใช้งานได้อย่างปลอดภัย สะดวกสบาย และซัพพอร์ตผู้ที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริมอย่างวีลแชร์และไม้เท้า ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดล้วนคำนึงถึงผู้ใช้งานและผ่านการคิดตามหลักวิศวกรรมมาแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นความกว้างของทางเท้าที่ต้องมีขนาดเพียงพอต่อการรองรับผู้ใช้งานที่หลากหลาย โดยมีการอ้างอิงจากขนาดความกว้างมาตรฐานในการใช้เดินทาง ได้แก่ คนปกติใช้ความกว้าง 0.75 เมตร ผู้ใช้วีลแชร์ใช้ความกว้าง 1 เมตร และผู้พิการทางสายตาที่ใช้สุนัขนำทางใช้ความกว้าง 1.5 เมตร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้นำมาใช้ในการออกแบบความกว้างของทางเท้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานอย่างเหมาะสม โดยทางเท้าญี่ปุ่นจะยึดหลักการออกแบบให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร เพื่อให้ผู้ใช้วีลแชร์สวนกันได้ ส่วนพื้นที่ทางเท้าที่อนุญาตให้จักรยานขึ้นมาขี่ได้จะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 3 เมตร และยังมีการแบ่งเป็น Bike Lane แยกออกมาด้วยในบางเขต
ส่วนพื้นผิวบนทางเท้าจะปูพื้นเป็นบล็อกที่อัดแน่นและชิดกัน ทำให้การเดินปกติหรือใช้รถเข็นนั้นไม่มีสะดุดเลย รวมถึงเบรลล์บล็อก (Braille Block) ทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตาก็มีตลอดเส้นทาง และเชื่อมโยงกับทางม้าลายทุกพื้นที่ ไม่มีการตัดขาดเส้นทางอีกด้วย ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องกังวลถึงความปลอดภัยในการเดินบนทางเท้า
👥 ปรับทางเท้าให้ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่น
แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มากมาย แถมระบบขนส่งก็ครอบคลุมทั่วทุกจังหวัดในประเทศ แต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ยังเลือกเดินไปทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ดี ซึ่งแนวคิดการเดินนี้ชาวญี่ปุ่นได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เห็นได้จากเด็กประถมที่เดินไปโรงเรียนแถวบ้านเอง
ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นก็ใส่ใจและมองเห็นความสำคัญของการเดินมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพราะเมื่อประชากรมีจำนวนมากขึ้นจนเกิดความกังวลว่าพื้นที่การเดินอาจไม่เพียงพอหรือแออัดเกินไป ทางรัฐบาลก็สั่งการปรับพื้นที่ทางเท้าให้ขยายกว้างขึ้นและลดพื้นที่ถนนลง ยกตัวอย่าง เมืองเกียวโต ที่มีประชากรสวนทางกับขนาดของเมือง จึงมีการปรับขยายทางเท้าจากข้างละ 3.5 เมตรเป็น 6.5 เมตร และลดพื้นที่บนถนนจาก 4 เลนเหลือ 2 เลนแทน
รวมถึงการปรับพื้นที่จอดรับคนของรถโดยสารสาธารณะให้เป็นแบบยื่นไปบนถนน (Terrace) แทนแบบเดิมที่เว้าเข้าทางเท้า เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้คนรอรถเมล์ ส่วนรถเมล์ก็จอดเทียบป้ายได้ชิดให้คนขึ้นลงสะดวกอีกด้วย
🚶 แม้บางพื้นที่จะไม่มีทางเท้า แต่คนเดินเท้าก็ยังเดินได้ปลอดภัย
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีพื้นที่การใช้งานอย่างจำกัด การสร้างที่อยู่อาศัยหรืออาคารใช้งานต่างๆ จึงถูกจับจองกันเต็มพื้นที่ถนน รวมไปถึงภายในตรอกซอกซอยที่มีขนาดเล็กมากๆ ด้วยนั่นเอง ซึ่งการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ในซอยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นพื้นถนนที่ไม่มีพื้นที่ทางเท้า ซึ่งถูกออกแบบมาให้รถยนต์ขับสวนกันได้เท่านั้น แต่ด้วยความที่ชาวญี่ปุ่นเดินกันเป็นประจำ จึงทำให้มีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานพื้นที่ขนาดเล็กในซอยต่างๆ ให้คนสามารถเดินได้
วิธีการคือ ลบเส้นจราจรเดิมออกแล้วตีเส้นใหม่ให้มีพื้นที่สำหรับคนเดินเพิ่มขึ้น ซึ่งการลบเส้นแบ่งกลางถนนออกส่งผลให้ถนนมีพื้นที่น้อยลง คนขับรถที่ใช้เส้นทางนี้จะต้องชะลอความเร็วและระมัดระวังมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มการติดตั้งเสาสีส้มความสูงระดับเข่าบนพื้นที่ทางเดินที่ทำหน้าที่เสมือนจุดสังเกต แบ่งเส้นทางระหว่างทางคนเดินและทางรถวิ่ง คนใช้รถจะได้ระมัดระวังมากขึ้น ส่วนคนเดินเท้าจะได้ปลอดภัยมากขึ้นตามไปด้วย
Sources :
Japan-Guide.com | japan-guide.com/e/e2009.html
KIJI | kiji.life/japan-footpath-part1, kiji.life/japan-footpath-part2
Kyoto City Official Website | city.kyoto.lg.jp/tokei/page/0000091539.html
Thai PBS | shorturl.asia/LJ3CR
The Urbanis by UDDC | theurbanis.com/mobility/26/06/2023/14399
TTGmice | shorturl.asia/vpFmI
มองญี่ปุ่น | shorturl.asia/YHF1s