ไม่ได้ค่าตอบแทน ไม่มีสวัสดิการ ไม่ได้เครดิต พี่เลี้ยงให้ทำแต่งานง่ายๆ บาดเจ็บจากการฝึกงาน โดนบริษัทเอารัดเอาเปรียบ หรือทำงานหนักข้ามวันข้ามคืน
เราเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้ต่อให้คุณไม่มีประสบการณ์ฝึกงานมาก่อนก็คงเคยสัมผัสมาบ้าง ไม่ว่าเสียงบ่นระบายจากคนรอบข้าง คนในโซเชียลมีเดีย ข่าวสารสื่อออนไลน์ หรือเรื่องเล่าต่อกันมา เกิดเป็นแนวคิดการฝึกงานคือการหาประสบการณ์ อย่าไปคาดหวังเงินหรือสวัสดิการตอบแทนนัก บริษัทสอนงานให้ก็ดีแล้ว เป็นต้น ทั้งที่ถ้าพิจารณาตามความจริงแล้ว นี่คือสิทธิที่เด็กฝึกงานพึงได้รับ และไม่ใช่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพียงผู้เดียว เพราะรัฐเองก็ควรเข้ามาช่วยเหลือภาคธุรกิจด้วย
เราไม่รู้ว่าคุณมองเรื่องการฝึกงานยังไง แต่อย่างน้อยมีคนกลุ่มหนึ่งที่มองเห็นความสำคัญของประเด็นนี้ และหยิบยกขึ้นมาสื่อสารในนามของ ‘สมัชชาIntern’ ซึ่งประกอบด้วย สุดปรารถนา ชาตรี, ภูริภัทร ณ สงขลา และนภเศรษฐ์ ผลจันทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อย่างแรกต้องเชื่อก่อนว่าเราเป็นแรงงานคนหนึ่ง ต้องเชื่อในสิทธิมนุษยชนที่เราพึงได้ก่อนที่จะตั้งคำถามถัดไป”
นี่คือแนวคิดที่สมัชชาIntern ต้องการนำเสนอกับสังคม โดยเฉพาะนักศึกษาที่ต้องเข้าฝึกงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสิทธิและเสียงของตัวเอง ให้กล้าตั้งคำถาม ต่อรอง และเรียกร้องกับผู้เกี่ยวข้อง คุณภาพชีวิตของเด็กฝึกงานไทยจะได้ดีขึ้นกว่านี้
มากไปกว่านั้น พวกเขายังร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฝึกงาน โดยทำหน้าที่พูดคุยกับผู้ประกอบการและสื่อสารข้อเสนอสู่สังคม ทำให้นักเรียนนักศึกษาจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ พร้อมเอ่ยตรงกันว่า “ในที่สุดก็มีสิ่งนี้เสียที”
เพราะเคยตั้งคำถามกับการฝึกงานมาเหมือนกัน เราจึงนัดคุยกับสุดปรารถนาและภูริภัทร สองตัวแทนจากสมัชชาIntern ถึงที่มาที่ไปของโปรเจกต์นี้ รวมถึงทัศนะที่มีต่อการฝึกงานในฐานะนักศึกษาที่ต้องฝึกงานในอนาคตอันใกล้
จะมีใครเข้าใจเด็กฝึกงานไปกว่าเด็กฝึกงานด้วยกัน
การก่อตั้งของสมัชชาIntern เกิดขึ้นจากการที่นภเศรษฐ์ชักชวนสุดปรารถนาและภูริภัทรมารวมทีมเข้าแข่งขันแคมเปญการสื่อสารเรื่องรัฐสวัสดิการจากโครงการ ‘YouthWel Hackathon’ ที่โฆษณาบนเฟซบุ๊กของเครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (Society of Young Social Innovators : SYSI)
ในตอนนั้นพวกเขาเห็นว่าประเด็นร่างข้อเสนอเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ยกระดับการฝึกงาน ที่จัดทำโดย เกศนคร พจนวรพงษ์ จากพรรคก้าวไกล ร่วมกับศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจและค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย ทำให้เลือกหยิบเรื่องนี้มาทำแคมเปญสื่อสารเพื่อผลักดันให้ไปถึงคนทั่วไปมากขึ้น
“ด้วยความที่เราเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่ใกล้เข้าไปอยู่ในระบบการฝึกงาน ทำให้คิดว่าคงไม่มีใครสื่อสารเรื่องนี้ได้ดีที่สุดเท่าตัวพวกเราเองที่เผชิญปัญหาจริงๆ ถ้าหยิบประเด็นนี้มาเล่ามันจะสร้างอิมแพกต์ แล้วคนจะฟังเรามากขึ้น” สุดปรารถนาอธิบาย
แม้ว่าที่ผ่านมาทั้งสองคนจะไม่เคยผ่านการฝึกงานแบบเก็บหน่วยกิตที่เป็นวิชาบังคับจากมหาวิทยาลัยมาก่อน แต่ปัญหาการฝึกงานก็ดูเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สัมผัสกัน แค่เสิร์ชคีย์เวิร์ดว่า ‘ฝึกงาน’ หรือ ‘เด็กฝึกงาน’ ในโซเชียลมีเดีย เรื่องราวความเจ็บช้ำมากมายต่างแสดงผลออกมาให้อ่านเต็มไปหมด
ด้วยเหตุนี้ สมัชชาIntern จึงรับหน้าที่เป็นตัวกลางคุยกับฝั่งผู้ประกอบการที่เป็นอีกขาหลักในสมการนี้ เนื่องจากพวกเขามีคอนเนกชันอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นการเติมเต็มช่องว่างที่เป็นข้อต่อระหว่างร่าง พ.ร.บ. กับภาคธุรกิจที่ขาดหายไป
“ฝั่งคุณเกศนครที่เป็นผู้ขับเคลื่อนริเริ่มร่างเรื่องนี้มี Pain Point ว่าไม่สามารถไปคุยกับผู้ประกอบการได้ เราเลยรับหน้าที่ไปพูดคุยแทน เพื่อให้ข้อเสนอออกมาได้ผลประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุด เนื่องจากเราไม่ต้องการการเปลี่ยนผ่านที่รุนแรง ไม่ต้องลงถนนหรือมีการสูญเสีย เราอยากให้มันอยู่ใน Mutual Agreement เป็นการเปลี่ยนผ่านแบบที่ผู้ประกอบการเองต้องเปลี่ยน เพราะเป็นสิ่งที่ดีทั้งกับตัวเขาและสังคม ไม่ใช่มองแต่ผลประกอบการ รายได้ หรือองค์กรเป็นหลัก” สุดปรารถนาอธิบาย
พวกเขาเล่าว่าตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมที่สมัชชาIntern สื่อสารประเด็นการฝึกงานผ่านเฟซบุ๊กมาจนถึงหัวข้อร่าง พ.ร.บ.ฝึกงาน มีกระแสตอบรับดีเกินคาด เกิดการถกเถียงในสังคมวงกว้างแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
“คิดว่าสาเหตุที่ทำให้สมัชชาIntern เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ส่วนหนึ่งเพราะประเด็นที่เราหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นใหม่ในสังคม ซึ่งจริงๆ แล้วทุกคนรู้ว่ามีเรื่องนี้อยู่ รู้ว่ามีปัญหาเด็กฝึกงานไม่ได้ค่าจ้างหรือปัญหาสัญญาต่างๆ และมีเด็กที่ได้รับผลกระทบจริงๆ เพียงแต่ไม่มีใครลุกมาพูดถึงสิทธิว่าเราทำแบบนั้นแบบนี้ได้นะ ประกอบกับที่คุณเกศนครก็ทำเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กฝึกงานขึ้นมา พอนำมารวมกับเราที่เป็นนักสื่อสารก็เลยทำให้เข้าถึงคนได้มาก จุดประกายให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจ”
นอกจากนี้ทั้งสองคนยังมองว่ามูฟเมนต์ทางการเมืองในปัจจุบัน ทำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงสิทธิของตัวเองจึงมีผลกับการเรียกร้องเรื่องประเด็นนี้ไม่น้อย บริบททางสังคมทั้งหมดนี้รวมเข้ากับคำขอบคุณจากคนทางบ้านที่มองว่าสิ่งที่พวกเขาทำคือความหวังใหม่ ทำให้สมัชชาIntern ผลักดันเรื่องการฝึกงานต่อไป แม้ว่าการแข่งขันโครงการ ‘YouthWel Hackathon’ จะสิ้นสุดไป และถึงเวลาที่พวกเขาจะกลายเป็นนักศึกษาฝึกงานหรือคนทำงานจริงๆ แล้วก็ตาม
เด็กฝึกงาน = แรงงาน
ในช่วงที่มีแคมเปญผลักดันเรื่องการฝึกงาน สมัชชาIntern มักได้รับคำถามทำนองว่าถ้าเป็นเด็กแล้วออกมาเรียกร้องอะไรแบบนี้ ผู้ใหญ่จะฟังเหรอ ซึ่งนี่แสดงให้เห็นถึงค่านิยมของสังคมไทยที่มองว่าผู้น้อยย่อมมีอำนาจน้อยกว่า แต่สำหรับสุดปรารถนาเธอไม่สมาทานในแนวคิดนั้น
“อย่างแรกต้องเชื่อก่อนว่าเราเป็นแรงงานคนหนึ่ง เราต้องเชื่อในสิทธิมนุษยชนที่พึงได้ ก่อนที่จะตั้งคำถามถัดไป อยากแชร์ในมุมส่วนตัวว่าตั้งแต่มาทำสมัชชาIntern เราได้สมัครโปรแกรมฝึกงานไป เรารู้สึกว่าตัวเองมีความกล้าที่จะต่อรองกับ HR เรื่องค่าตอบแทนทุกอย่าง ซึ่งพอต่อรองไปแล้วมันทำได้ เรามองว่าอุปสรรคหลักๆ ในตอนนี้คือการที่พวกเรามีความเกรงอกเกรงใจต่อผู้มีอำนาจทางสังคม นี่คือสิ่งที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่บางคนยังไม่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตัวเอง”
“จริงอยู่ที่ประเทศไทยมีค่านิยมเคารพคนอายุเยอะกว่า เด็กต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน อย่าออกมาพูดอะไรเยอะ แต่โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งเรามีวิธีที่จะสื่อสารกับผู้ใหญ่ เราลุกขึ้นมาพูดถึงสิทธิของตัวเอง และยังดูอ่อนน้อมถ่อมตัวได้ อีกอย่างเรารู้สึกว่าการคุยด้วยเหตุผล หาผลประโยชน์ตรงกลางของทุกๆ ฝ่ายมันทำให้ผู้ใหญ่เปิดใจรับฟังเด็กฝึกงานมากขึ้น ต้องยอมรับว่าด้วยความที่เราเป็นเด็ก มีพาวเวอร์น้อยกว่า ทำให้ไม่สามารถรวมตัวกันผลักดันอะไรได้ มันมีกลไกที่เข้าใจยากมากกว่านั้น เราเลยพยายามสื่อสารกับคนที่มีพาวเวอร์มากกว่า ให้ผู้ประกอบการและองค์กรต่างๆ เปิดใจรับฟัง พวกเขาจะได้มาร่วมด้วยกับเรา และเมื่อเกิดการผลักดันแล้วอะไรๆ ก็ย่อมง่ายขึ้นในอนาคต อาจจะใช้เวลาหน่อยแต่เราคิดว่ามันค่อนข้างมั่นคงกว่า” ภูริภัทรเสริม
ด้วยความที่พวกเขากำลังเข้าสู่การเป็นเด็กฝึกงาน ทั้งยังลุกขึ้นมาทำสมัชชาIntern จึงทำให้เราอยากรู้ว่าทั้งคู่มีกรอบความคิดเกี่ยวกับเด็กฝึกงานอย่างไร เนื่องจากยังมีคนจำนวนไม่น้อยในสังคมคนทำงานที่มองว่าเด็กฝึกงานคือเด็กที่บริษัทรับมาถ่ายเอกสาร ชงกาแฟ และช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
“ในมุมของเรา เด็กฝึกงานแปลตรงตัวว่าฝึกงาน เพราะฉะนั้นการฝึกงานคือการทดลองทำงาน เด็กฝึกงานต้องได้ทดลองทำงานจริงๆ ให้รำลึกไว้เสมอว่าตราบใดที่ HR ต้องการทั้งเรซูเม จดหมายแนะนำตัว พอร์ตโฟลิโอ เราเชื่อว่าเขาไม่ได้ต้องการแค่เด็กที่เข้าไปชงกาแฟหรือเย็บเอกสาร เขาต้องดูว่าเด็กคนนี้มีโพเทนเชียลมากแค่ไหน ยิ่งคนที่มีผลงานทั้งในและนอกห้องเรียนยิ่งมีโอกาสในการฝึกงานมากกว่า เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากคัดเด็กเข้ามาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ไม่มีทางที่คุณจะมองว่าเด็กฝึกงานเป็นแค่เด็กชงกาแฟ เพราะถ้าจะเอาแค่นั้นคุณหาเด็กที่ไหนมาทำก็ได้
“เราอยากให้ทุกคนมองว่าเด็กฝึกงานก็คือแรงงานในอนาคต เพราะหลังจากฝึกงานเขาจะกลายเป็น First Jobber และ Worker ของสังคม ดังนั้นถ้ามองเด็กฝึกงานเป็นคนที่กำลังเตรียมความพร้อมเข้าทำงาน และถ้าคุณทำให้พวกเขาพร้อมได้ พวกเขาจะช่วยผลักดันระบบการทำงานในประเทศให้ก้าวหน้ามากขึ้นแน่นอน เราเชื่อว่าทุกบริษัทพยายามหาแรงงานรุ่นใหม่ๆ เพื่อเข้ามาช่วยให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าอยู่แล้ว เลยคิดว่าถ้าทุกคนมองเด็กฝึกงานเป็นคนทำงานคนหนึ่งก็จะดีมากๆ”
อีกมุมหนึ่งภูริภัทรยังมองว่าการฝึกงานเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างคนทำงานและคนที่กำลังจะเข้าไปทำงานในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะ ความคิด หรือแง่มุมใหม่ๆ ซึ่งถ้ามีความแฟร์ด้านค่าตอบแทนหรือสวัสดิการเข้ามาช่วยนอกเหนือจากการได้รับประสบการณ์ เด็กฝึกงานก็น่าจะอยากทุ่มเทแรงกายแรงใจพัฒนาตัวเองและผลงานยิ่งขึ้น ไม่ต่างอะไรจากคนทำงานที่อยากได้เงินเดือนเพิ่มหรือสวัสดิการดีๆ
แต่ขณะเดียวกันพวกเขารู้ดีว่าถ้ามีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ผู้ประกอบการย่อมคาดหวังว่าเด็กฝึกงานจะต้องทำงานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลังการเก็บข้อมูลจากการพูดคุยกับเหล่าผู้ประกอบการมาแล้ว สมัชชาIntern ได้ข้อเสนอเพื่อแนะนำว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่เด็กฝึกงานไม่สามารถทำงานตามที่ผู้ประกอบการต้องการได้ ก็ควรมีข้อลงโทษอย่างการประเมินให้ไม่ผ่านการฝึกงาน ที่ส่งผลให้นักศึกษาต้องลงเรียนซ้ำและจ่ายค่าเทอมเพิ่ม เป็นต้น เพื่อเป็นการพยายามหาจุดกึ่งกลางให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด
ด้วยเหตุนี้ สมัชชาIntern มองว่าการสื่อสารเรื่องความเป็นธรรมของเด็กฝึกงานให้ครอบคลุมทุกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นตัวเด็กฝึกงานที่ต้องตระหนักในสิทธิ ส่วนผู้ประกอบการก็จะได้เห็นผลดีที่เขาจะได้รับกลับมา หรือแม้แต่ภาครัฐในแง่ที่จำเป็นต้องกำหนดให้เป็นวาระหรือนโยบายด้วย
หลักการสำคัญ แต่กฎหมายเพื่อคนฝึกงานก็สำคัญไม่แพ้กัน
สำหรับร่าง พ.ร.บ.การฝึกงานที่สมัชชาIntern เข้าไปมีส่วนร่วมส่งต่อความคิดเห็นที่ได้รับจากการพูดคุยกับเหล่าผู้ประกอบการและเด็กฝึกงาน จนนำมาสู่การผลักดันให้สังคมรู้จักในวงกว้างมากขึ้นนั้น แรกเริ่มเดิมทีได้รับอิทธิพลจากกฎหมายการฝึกงานและแรงงานของประเทศเยอรมนี บวกกับผลการศึกษาจากฝั่งประเทศสแกนดิเนเวียที่มีรัฐสวัสดิการดีๆ โดยเกศนครได้นำมาปรับให้เข้ากับบริบทเมืองไทย
“เราเคยเสวนาร่วมกับทางศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ โดยงานครั้งนั้นมีตัวแทนสถานทูตจากสวีเดนเข้าร่วมด้วย เขาให้มุมมองที่น่าสนใจเรื่องสิทธิว่าด้วยความที่อยู่ในประเทศเจริญแล้ว ถือเป็นเรื่องปกติที่คนรู้ว่าสิทธิของตัวเองคืออะไร ดังนั้นประเทศเขาเลยผลักดันเรื่องนี้ได้ ทีนี้ในประเทศไทยปัจจุบันเด็กๆ หรือกระทั่งผู้ใหญ่หลายคนก็เริ่มรู้แล้วว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง เริ่มกล้าเรียกร้องสิทธิตัวเอง เราเลยคิดว่าการเดินตามรอยประเทศที่เจริญแล้วไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีเลย ถ้าเห็นว่าประเทศเขาทำแล้วดี ก็ลองเอามาปรับใช้กับประเทศไทยได้ เรื่องไหนเวิร์กก็หยิบมาทำในรูปแบบของเรา” ภูริภัทรให้เหตุผลถึงการมีโมเดลร่าง พ.ร.บ.ฝึกงาน
ตอนนี้ตัวร่าง พ.ร.บ.เสนอไปยังคณะกรรมาธิการการแรงงานเรียบร้อยแล้ว และจะมีการพิจารณาในวาระการประชุมปีหน้า โดยรายละเอียดเบื้องต้นของร่าง พ.ร.บ.ฝึกงาน มีดังนี้
มีสัญญาการฝึกงานเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างนายจ้าง เด็กฝึกงาน และสถานศึกษา, ระบุขอบเขตหน้าที่การฝึกงานอย่างชัดเจนในสัญญา, เด็กฝึกงานต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป, ระยะการฝึกงานต้องไม่น้อยกว่า 2 เดือนและไม่เกิน 1 ปี ยกเว้นนักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาชีพที่มีเงื่อนไขเฉพาะ, เวลาทำงานของเด็กฝึกงานต้องไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์, เด็กฝึกงานต้องมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน หลังจากที่ทำงานมาแล้วไม่เกิน 4 ชั่วโมง, เด็กฝึกงานสามารถลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง หากลาป่วยเกิน 3 วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์แสดงต่อนายจ้าง, ห้ามเด็กฝึกงานทำงานในพื้นที่และรายละเอียดงานที่มีความเสี่ยงต่ออันตราย, บ่อนการพนัน สถานที่ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยมีผู้บำเรอปรนนิบัติลูกค้า อาบอบนวด คือ สถานที่ที่ห้ามฝึกงาน, ค่าตอบแทนของการฝึกงานคิดเป็นรายชั่วโมงละ 50 บาท และสุดท้าย ต้องมีบทลงโทษตามกฎหมายหากนายจ้างละเมิดเด็กฝึกงาน
นอกจากเป้าหมายที่อยากทำให้เหล่าเด็กฝึกงานได้รับความคุ้มครองทางด้านกฎหมายอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และได้รับประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่และเห็นกระแสการย้ายประเทศ สุดปรารถนามองว่าการมี พ.ร.บ. ฉบับนี้จะช่วยปกป้องแรงงานไทยตั้งแต่ต้นน้ำก่อนจะเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้แรงงานที่มีคุณภาพสมองไหลไปประเทศอื่น
“คุณลองคิดดูว่าถ้าแรงงานคุณภาพมีความสามารถ สามารถย้ายไปประเทศอื่นที่มีความพร้อมและเสนอคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าได้ ทำไมเขาถึงจะไม่อยากไป เรายังอยากไปเลย อย่างอเมริกาช่วงนี้เขาต้องการแรงงานฝั่ง STEM (Science, Technology, Engineering และ Mathematics) แรงงานไทยที่เก่งๆ มีคุณภาพก็ไปทำงานหรือหาลู่ทางไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากต่างประเทศมีระบบเศรษฐกิจที่ซัปพอร์ตให้คนเขาพร้อมตั้งตัวทำสตาร์ทอัป ทดลองไอเดียใหม่ๆ ยังไม่นับเรื่องของการศึกษาที่เปิดกว้างอีก ไม่แปลกที่ใครๆ ก็อยากย้ายออกไป สุดท้ายประเทศไทยจะไม่เหลือคนเก่งๆ เลยถ้าเราไม่เริ่มทำระบบแรงงานให้ดีตั้งแต่ตอนนี้
“เราคิดว่ามันน่ากลัวนะที่แรงงานที่เป็น White Collar ของเราจบการศึกษาสูง มีสกิลดีต้องกลายเป็นแรงงาน Blue Collar ในประเทศพัฒนาแล้ว รวมไปถึงปัญหาในประเทศอย่าง Misskilled Job (การทำงานไม่ตรงสาย) กระทั่งหลักสูตรการศึกษาที่ไม่อัปเดตทำให้ไม่ตอบต่อระบบแรงงานในอนาคต นี่เป็นเรื่องที่เรากังวลเหมือนกัน
“อีกอย่างเราสงสัยมากว่าทำไมการเรียกร้องรัฐสวัสดิการ เพื่อการมีชีวิตที่ดีตามหลักสิทธิมนุษยชนมันถึงได้มีคำถามและข้อกังขามากมายขนาดนี้ในสังคมไทย ทำไมเราไม่มีเสรีภาพในการจะใช้ชีวิตที่ดี สูดอากาศบริสุทธิ์ ทำงานที่เป็นธรรม ได้ค่าแรงและการคุ้มครองที่มีประกันสุขภาพ ทำไมคำถามเกิดขึ้นมาเยอะทั้งที่มันควรเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนควรจะได้อยู่แล้ว”
แม้ระบบฝึกงานเปลี่ยนช้า แต่ต้องเปลี่ยนได้แน่
ระหว่างรอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฝึกงาน สมัชชาInern ตั้งใจจะผลักดันประเด็นเด็กฝึกงานให้เป็นกระแสยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้พวกเขาตั้งเป้าพูดคุยกับกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นนี้ให้มากขึ้น เพื่อนำมาปรับร่าง พ.ร.บ.นี้ให้เข้ารูปเข้ารอยที่สุด เพราะทั้งสองคนมั่นใจว่ายังไงร่าง พ.ร.บ. นี้ต้องถูกปัดตกแน่นอน
“เราเตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว แต่มุมมองหนึ่งของคุณเกศนครที่เราชอบมาก และมองว่าเป็นกำลังใจสำคัญในภาวะหดหู่ของสังคมไทยแบบนี้คือ เขาบอกว่าแม้ตัว พ.ร.บ.จะไม่ได้ตีขึ้นเป็นกฎหมาย แต่ถ้าจิตสำนึกของทุกคนตระหนักแล้วว่าสิทธิของแรงงานเป็นสิ่งที่พึงได้พึงมี รวมถึงผู้ประกอบการเองก็ตระหนักในเรื่องนี้ แต่พวกเราก็คิดว่าจะดีกว่าไหมถ้าทำเป็นนโยบายไปด้วยกัน ภาพรวมสังคมมันน่าจะดีขึ้น” สุดปรารถนาพูด
“เรารู้ว่ามันคงไม่เกิดขึ้นในปีสองปีนี้หรอก แต่อย่างน้อยก็มีการกรุยทางมาแล้วว่าเด็กๆ ตื่นตัวกัน ในอนาคตถ้ามีพรรคการเมืองหยิบเรื่องนี้เป็นนโยบายให้เกิดขึ้นจริง มันก็น่าจะดี อีกอย่างเราค่อนข้างเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้ถ้าทุกคนรวมตัวพร้อมใจผลักดัน ซึ่งเรารู้สึกว่าเอฟเฟกต์มันเกิดขึ้นแล้ว หลายๆ สื่อทักมาหาเรา มีการทำข่าวการฝึกงานที่ได้ค่าแรงและสวัสดิการ หลายๆ บริษัทเริ่มพูดถึงเรื่องนี้ บางบริษัทก็แอบหวั่นๆ ว่าถ้าผู้ประกอบการในแวดวงมีนโยบายเด็กฝึกงานแล้วจะปรับตัวยังไง คล้ายๆ Butterfly Effect ที่ถึงแม้ขยับนิดเดียว แต่การขยับนั้นส่งผลถึงอนาคตแน่นอน เราเชื่อในคนรุ่นเรา คนรุ่นถัดไป และแม้กระทั่งคนรุ่นก่อนที่มีใจเปิดรับ สำหรับมูฟเมนต์นี้เราคิดว่าทำดีที่สุดแล้ว” ภูริภัทรเสริม
ถึงอย่างนั้นสมัชชาIntern ก็เน้นย้ำว่าหัวใจสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฝึกงานฉบับนี้ ไม่ใช่การจ่ายค่าตอบแทน แต่เป็นการทำสัญญาและประกันชีวิต รวมถึงประกันภัยที่คุ้มครองอุบัติเหตุระหว่างทำงาน ส่วนเรื่องตัวเงินให้เป็นไปตามที่นายจ้างและเด็กฝึกงานตกลงกัน
“เด็กฝึกงานแต่ละคนมีพื้นทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน อย่างคนชนชั้นกลางในเมืองมีเงินจ่ายไหว ไม่ว่าจะค่าเดินทาง ค่าที่อยู่ ค่ากิน และค่าใช้ การไปฝึกงานแบบไม่ได้เงินเดือนแต่ได้ประสบการณ์อาจเป็นสิ่งที่เขาไม่ได้รู้สึกเดือดร้อน แต่กับเด็กที่ไม่ได้มีทางบ้านซัปพอร์ตได้มากขนาดนั้น ต่อให้มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะฝึกงานได้ เขาจะเสียโอกาสตรงนั้นไปเลย เราอยากให้ทุกคนมองมุมนี้ด้วย” สุดปรารถนาอธิบาย
เท่าที่เก็บข้อมูลมา ภูริภัทรเล่าว่ามีเด็กฝึกงานที่อยู่ต่างจังหวัดและต้องเดินทางเข้ามาฝึกงานในกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อย หลายคนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายหลักหมื่นต่อเดือน เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลให้นักศึกษาที่ไม่พร้อมด้านการเงินพลาดโอกาสทำงานดีๆ ไป
“เราคิดว่า พ.ร.บ.ตัวนี้จะช่วยลดช่องว่างตรงนั้น แน่นอนมันคงไม่เสมอกัน เพราะแต่ละคนมีต้นทุนไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยลดให้ช่องว่างนั้นเข้าใกล้กันมากขึ้นก็น่าจะช่วยได้เยอะ เราไม่อยากให้เด็กต่างจังหวัดถูกผลักไปสู่นอกความเจริญ ความเจริญควรไปถึงทุกพื้นที่ ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ เราควรให้ความสำคัญกับเด็กคนอื่นๆ ด้วย ถ้าคุณมองว่าเขาเป็นอนาคตของชาติ คุณก็ต้องลงทุนกับอนาคตของชาติหน่อยไหม ใส่ใจเห็นใจช่วยเหลือเขาหน่อยเท่าที่จะช่วยได้”
สุดท้ายนี้ตัวแทนจากสมัชชาIntern บอกกับเราว่า ถ้าร่าง พ.ร.บ.ฝึกงานผ่าน และสังคมไทยหันมาใส่ใจชีวิตของเด็กฝึกงาน รวมถึงแรงงานมากขึ้นเมื่อไหร่ พวกเขาเชื่อว่าประสิทธิภาพโดยรวมของระบบการทำงานในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อเป็นแบบนั้น คนทำงานก็จะได้ยกระดับคุณภาพชีวิต และฐานะทางการเงินให้ไม่ติดกับดักรายได้ปานกลางที่เป็นหล่มเรื้อรังของประเทศ อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็มองในแง่มูฟเมนต์ทางสังคมว่ามันจะจุดประกายให้เกิดความหวังใหม่ๆ ในประเทศนี้ด้วย
“เราคิดว่าเด็กทุกคนจะรู้สึกว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้ เรื่องอื่นๆ ก็น่าจะเกิดขึ้นได้อีกเช่นกัน พวกเขาจะมีความหวัง แล้วมาร่วมกันสร้างสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น อย่าลืมว่าเด็กรุ่นใหม่มีความคิดดีๆ เยอะมาก สมัชชาIntern เป็นแค่ส่วนหนึ่ง จริงๆ เราแค่ทำในส่วนเล็กๆ แต่เมื่อรวมกับไอเดียที่ดีของคนส่วนอื่นๆ มันจะกลายเป็นภาพรวมใหญ่ที่สร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นได้
“เราอยากให้คนเห็นอนาคตของชาติว่ามันดีกว่านี้ได้ มันยังมีความเป็นไปได้อยู่” ภูริภัทรทิ้งท้ายด้วยสีหน้าที่มีความหวัง
ติดตามสมัชชาintern ได้ที่ facebook.com/assemblyofintern