นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบอนุภาคนาโนพิเศษในพืช ที่สามารถป้องกันการก่อตัวของผลึกน้ำแข็งทำลายรสสัมผัสอันนิ่มนวลของไอศกรีมให้กลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง การค้นพบดังกล่าวไม่เพียงแต่จะนำไปสู่ไอศกรีมที่อร่อยและอยู่ได้นานมากขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำมาใช้ในการทางแพทย์ได้อีกด้วย เช่นการทำให้อวัยวะของผู้บริจาคอยู่ได้นานขึ้นระหว่างการขนส่ง
โดยปกติแล้วผลึกน้ำแข็งในไอศกรีมจะมีขนาดเล็กมากจนแทบไม่ส่งผลในการลิ้มรส แต่ถ้าอุณหภูมิของไอศกรีมมีการเปลี่ยนแปลงเยอะขึ้น เช่นระหว่างทางจากร้านขายของชำกลับไปแช่ตู้เย็นที่บ้าน ผลึกเหล่านี้ก็จะละลายแล้วรวมตัวกันเป็นผลึกน้ำแข็งขนาดใหญ่ขึ้นจนรู้สึกได้ และหากทิ้งไอศกรีมให้ละลายก่อนนำไปแช่ซ้ำรสสัมผัสก็จะยิ่งแข็งกระด้าง เป็นเกล็ด และแย่ลงมาก
เพื่อป้องกันการก่อตัวของผลึกน้ำแข็งขนาดใหญ่เหล่านี้ในไอศกรีม ผู้ผลิตจึงใส่สารเพิ่มความหนืดลงไปเพื่อให้ไอศกรีมคงตัวได้นานขึ้น แต่ Tao Wu นักวิทยาศาสตร์การอาหารจากมหาวิทยาลัยเทนเนสซีบอกว่า สารที่เพิ่มความคงตัวเหล่านี้ไม่ได้ผลเสมอไปเพราะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่นเวลาในการเก็บรักษาหรือส่วนผสมที่ไม่เท่ากัน ทำให้สารดังกล่าวไม่สามารถใช้กับทุกผลิตภัณฑ์ได้
ไอเดียของเรื่องนี้คือพืชและสัตว์บางชนิดสามารถอยู่รอดได้ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส โดยผลิตโปรตีนต้านการแข็งตัวชนิดพิเศษที่ทำให้ผิวมีทั้งคุณสมบัติในการไล่น้ำและกักเก็บน้ำ ซึ่งโปรตีนดังกล่าวจะจับกับผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กเพื่อป้องกันไม่ให้หลอมละลายจนรวมเป็นผลึกขนาดใหญ่ที่จะทำลายเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต แต่ถึงโปรตีนชนิดนี้จะป้องกันการแข็งตัวในไอศกรีมได้แต่ก็น่าจะมีราคาแพงเกินไป รวมถึงมีกระบวนการที่ยุ่งยาก
Wu ทราบดีว่าผนังเซลล์ของพืชมีอนุภาคที่เรียกว่า เซลลูโลสนาโนคริสตัล ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายกับโปรตีนต้านการแข็งตัว แต่ราคาถูกและหาได้ง่ายกว่า จึงทดลองเพิ่มอนุภาคดังกล่าวลงในไอศกรีม ซึ่งหลังจากทิ้งไอศกรีมไว้สามชั่วโมงก็พบว่า ผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กในไอศกรีมมีขนาดเท่าเดิม ไม่ได้หลอมละลายมารวมกัน และไอศกรีมยังรับมือกับอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นได้ดี จึงเกิดเป็นไอเดียของไอศกรีมที่ละลายช้าลงขึ้นมา
จากการเปิดเผยของ Wu ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า โปรตีนต้านการแข็งตัวในไอศกรีมไม่มีความเป็นพิษ แต่ FDA ยังคงต้องทบทวนก่อนจะอนุญาตให้ใช้ในอาหาร
.
อย่างไรก็ตาม เราสามารถมองไปได้ไกลกว่าโลกของขนมหวาน Wu ตั้งข้อสังเกตว่า การค้นพบครั้งนี้อาจช่วยชีวิตของผู้คนได้มากขึ้น เช่นการปลูกถ่ายหัวใจที่ต้องดำเนินการภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังอวัยวะถูกนำออกมาจากร่างกายของผู้บริจาค ซึ่งโปรตีนต้านการแข็งตัวจากพืชมีความเป็นไปได้ในการยืดอายุของหัวใจที่ถูกนำออกจากร่างกายให้นานขึ้นได้ระหว่างการขนส่งด้วยอุณหภูมิต่ำ