Household คนไทยและถิ่นที่อยู่ - Urban Creature

‘ที่อยู่อาศัย’ คือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ช่วยให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นทั้งพื้นที่ส่วนตัว พื้นที่พักผ่อน และพื้นที่ที่ให้ความสุขสบายทั้งกายและใจ ดังนั้นการมีบ้านหรือที่อยู่สักแห่งเป็นของตัวเองนั้นจึงเป็นความฝันและเป้าหมายของใครหลายคน

แต่การจะมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังในตอนนี้แทบกลายเป็น ‘ความฝัน’ ที่เอื้อมไม่ถึงของคนไทยจำนวนไม่น้อย ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทำให้ทุกคนต้องรัดเข็มขัดให้แน่นกว่าเดิม รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อย่างวัสดุการสร้างบ้าน ค่าที่ดิน หรือดอกเบี้ยการกู้เงินที่สูงขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก จนทำให้คนที่ตั้งใจจะซื้อที่อยู่เป็นทรัพย์สินของตัวเองต่างต้องเลื่อนโครงการในฝันนี้ออกไปเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วเมื่อไหร่ถึงจะได้มีบ้านในครอบครองเสียที

คอลัมน์ Overview เดือนพฤษภาคมนี้ ชวนทุกคนไปสำรวจเรื่องราวเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยในยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เทรนด์การเช่าอยู่ที่กำลังมาแรง ไปจนถึงแนวโน้มของที่อยู่อาศัยที่จะรองรับวิถีชีวิตของผู้คนในอนาคต

ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองสูง

household

ปัจจุบันที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ มูลค่าของตัวบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้างต่างๆ ที่ปรับตัวขึ้น รวมไปถึงราคาประเมินที่ดินเมื่อต้นปี 2566 ที่ปรับขึ้นถึง 8.93 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ราคาซื้อขายที่อยู่ต้องปรับขึ้นตาม โดยทำเลไหนที่เป็นแหล่งตลาดงานและเดินทางสะดวก ราคาก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก ตัวอย่างทำเลในกรุงเทพฯ ที่ใกล้แหล่งทำงานและขนส่งสาธารณะที่มีราคาสูง ได้แก่ 

– ถนนเพลินจิต 1,000,000 บาท/ตร.ว.

– ถนนสีลม 750,000 – 1,000,000 บาท/ตร.ว.

– ถนนสาทร 450,000 – 800,000 บาท/ตร.ว.

– ถนนสุขุมวิท 230,000 – 750,000 บาท/ตร.ว.

– ถนนอโศกมนตรี 600,000 บาท/ตร.ว.

แต่หากสู้ราคาในเมืองไม่ไหว การเลือกทำเลที่ออกนอกเมืองไปก็เป็นตัวเลือกสำรองที่ราคาบ้านจะลดต่ำลงมา ซึ่งอาจต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าเมืองที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในอนาคตพื้นที่นอกเมืองเหล่านี้ก็ดูมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากมีการขยายขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าออกไปยังชานเมือง เพื่อให้คนในทุกพื้นที่เดินทางอย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ผลที่อาจตามมาคือผู้คนและนักลงทุนจะให้ความสนใจพื้นที่เหล่านี้มากกว่าเดิม จนราคาที่อยู่อาศัยในบริเวณรอบนอกต้องปรับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

คนไทยเช่าอยู่มากกว่าซื้ออยู่

household

นอกจากราคาบ้านที่สูงขึ้นแล้ว ยังมีเรื่องของดอกเบี้ยบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าแรงที่ยังคงอยู่ในระดับเดิม รายได้ที่ลดลงจากโควิด-19 รวมไปถึงการขอสินเชื่อธนาคารที่เข้มงวดขึ้น จนทำให้หลายคนที่คิดอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง รู้สึกว่ายังไม่พร้อมที่จะลงทุนเงินก้อนใหญ่ไปกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์เท่าไหร่นัก

‘การเช่าอยู่’ จึงกลายเป็นทางเลือกหลักของคนหลายกลุ่มในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เพราะข้อดีของการเช่าอยู่คือ ไม่ต้องมีภาระหนี้ระยะยาว สามารถโยกย้ายที่อยู่ตามการย้ายงาน และวางแผนค่าใช้จ่ายล่วงหน้าได้ตลอดทั้งปี เป็นต้น

เว็บไซต์สำหรับผู้ที่กำลังมองหาอสังหาริมทรัพย์ DDproperty เปิดเผยว่า ‘คอนโดมิเนียม’ คือประเภทที่อยู่อาศัยที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนเมือง ซึ่งในปี 2565 นั้นมีจำนวนคำค้นหาการเช่าคอนโดฯ มากที่สุด และค่าเช่ารายเดือนที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ

– อันดับ 1 ค่าเช่า 10,000 – 20,000 บาท

– อันดับ 2 ค่าเช่าไม่เกิน 10,000 บาท

– อันดับ 3 ค่าเช่า 30,000 บาทขึ้นไป

ราคาโดยทั่วไปของการเช่าอยู่นั้นขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งเช่นเดียวกันกับการซื้อขาด หากตั้งอยู่บริเวณในเมือง เดินทางสะดวก หรือใกล้ขนส่งสาธารณะมากเท่าไร ค่าเช่าก็จะสูงขึ้นตามเท่านั้น หากต้องการคอนโดฯ ที่ค่าเช่าลดลงมาก็อาจต้องแลกกับการเดินทางที่นานขึ้น นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมของคอนโดฯ ก็มีผลต่อราคาด้วยเหมือนกัน เพราะต่อให้ทำเลตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่อยู่ในที่เปลี่ยวหรือมีสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ค่าเช่าก็อาจลดต่ำลงมาได้ แต่อาจต้องแลกด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัยและปัญหาอื่นๆ เช่น ความสะอาด เพื่อนบ้าน เป็นต้น

เทรนด์ที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน

household

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านเพื่อขายขาดหรือปล่อยเช่า ทั้งหมดล้วนต้องคำนึงถึงการใช้งานของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก เพื่อสร้างจุดขายให้เกิดการลงทุนและการตัดสินใจเข้าอยู่อาศัย

หากมาโฟกัสเทรนด์การอยู่อาศัยของผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น ทำให้ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นโครงการบ้านและคอนโดฯ หลายแห่งที่เน้นการออกแบบพื้นที่สีเขียวสำหรับการพักผ่อน เลือกใช้วัสดุรีไซเคิลในการทำเฟอร์นิเจอร์ หาทางเลือกที่ช่วยประหยัดพลังงาน มีมาตรการการจัดการขยะ หรือแม้แต่ติดตั้งแท่นชาร์จสำหรับรถ EV

ไม่เพียงเท่านั้น อีกหลายโครงการยังคำนึงถึงการออกแบบที่เอื้อต่อผู้อยู่อาศัยทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้สูงวัย เนื่องจากในอนาคตอันใกล้นี้ สังคมไทยมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด การออกแบบพื้นที่การใช้งานและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในครัวเรือนจึงต้องมีฟังก์ชันที่ใช้งานง่าย และอำนวยความสะดวกคนทุกกลุ่ม 

เท่านั้นยังไม่พอ เทคโนโลยีในรูปแบบของ Smart Living คืออีกหนึ่งทางเลือกสำคัญสำหรับเทรนด์บ้านในปัจจุบันและอนาคต เพราะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้สะดวกสบายและง่ายมากขึ้นด้วยฟังก์ชันที่ล้ำและทันสมัย เช่น การตั้งเวลาเปิด-ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าอัตโนมัติ การสั่งการผ่านสมาร์ตโฟน และระบบดูแลความปลอดภัยในกรณีฉุกเฉินหรือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เป็นต้น

เราเชื่อว่าในอนาคต เรื่องที่อยู่อาศัยจะยังคงเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง เพราะท่ามกลางวิกฤตหรือความไม่แน่นอนในสังคม เช่น โรคระบาดหรือภาวะโลกร้อน อาจทำให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาใช้เวลาอยู่ที่บ้านหรือคอนโดฯ มากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องจับตามองกันต่อไปว่า โครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศไทยจะพัฒนาและนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และรองรับการใช้ชีวิตของคนเมืองต่อไปอย่างไร

_______________________________________

Sources : 
DDproperty | bit.ly/3WoTrsx, bit.ly/3BPeVWd, bit.ly/3WnsZjc, bit.ly/41WKSGA, bit.ly/3BNezzk
Property Flow | bit.ly/3Iy3oy6, bit.ly/3IwSl8i
Times of India | bit.ly/3WnUmJI

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.