ปี 2030 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด - Urban Creature

ลองมองไปรอบตัว เราจะพบกับผู้คนหลากหลายช่วงวัยอยู่ร่วมกันในสังคม หนึ่งในช่วงวัยที่พบเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ‘ผู้สูงอายุ’

องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดสังคมสูงวัยจากสัดส่วนของประชากรอายุ 60 – 65 ปีขึ้นไป แบ่งตามลำดับดังนี้ 

1) ‘สังคมสูงวัย’ (Aged Society) คือ มีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ

2) ‘สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์’ (Complete Aged Society) คือ มีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 14 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ
3) ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ (Super Aged Society) คือ มีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ

ประชากรโลกกำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ

World Population Prospects 2022 คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรบนโลกนี้มีมากถึง 8 พันล้านคน โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีมีอยู่ราว 10 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050 ซึ่งมีจำนวนมากกว่าสองเท่าของจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และจำนวนผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปก็จะเพิ่มเป็นสามเท่าจาก 157 ล้านคนเป็น 459 ล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้าด้วย 

ทางด้านเว็บไซต์ Nippon ได้นำข้อมูลประมาณการประชากรในปี 2022 จากสำนักสถิติกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารมานำเสนอให้เห็นถึง 10 ประเทศที่มีจำนวนประชากรของผู้สูงอายุเกิน 65 ปีสูงสุด และทุกประเทศล้วนเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดแล้วทั้งสิ้น ได้แก่

1. ญี่ปุ่น 36.27 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 124.71 ล้านคน (29.1%)

2. อิตาลี 14.20 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 59.04 ล้านคน (24.1%)

3. ฟินแลนด์ 1.29 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 5.54 ล้านคน (23.3%)

4. เปอร์โตริโก 0.75 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 3.25 ล้านคน (22.9%)

5. โปรตุเกส 2.35 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 10.27 ล้านคน (22.9%)

6. กรีซ 2.37 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 10.38 ล้านคน (22.8%)

7. มาร์ตินีก 0.08 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 0.37 ล้านคน (22.8%)

8. เยอรมนี 18.69 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 88.37 ล้านคน (22.4%)

9. บัลแกเรีย 1.52 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 6.78 ล้านคน (22.4%)

10. โครเอเชีย 0.90 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 4.03 ล้านคน (22.4%)

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

กลับมาดูรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุในไทย จากรายงานของระบบสถิติทางการทะเบียนแจกแจงข้อมูลให้เห็นว่า ในปี 2022 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย

เห็นได้จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มากถึง 12,116,199 คน (18.3%) ของประชากรทั้งหมดประมาณ 70,080,000 คน แบ่งเป็นเพศชาย 5,339,610 คน เพศหญิง 6,776,589 คน และแบ่งตามช่วงอายุของผู้สูงวัยได้เป็น 3 กลุ่มคือ 

1) อายุ 60 – 69 ปี จำนวน 6,843,300 คน (ชาย 3,123,517), (หญิง 3,719,783)

2) อายุ 70 – 79 ปี จำนวน 3,522,778 คน (ชาย 1,533,624), (หญิง 1,989,136)

3) อายุ 80 ปีขึ้นไป จำนวน 1,750,121 คน (ชาย 682,451), (หญิง 1,067,670)

ผู้สูงอายุมาก เด็กเกิดใหม่น้อย

หลายประเทศทั่วโลกต่างมีจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ค่อนข้างต่ำ เพราะมีเพียง 600,000 กว่าคนต่อปีเท่านั้น โดยสามปีให้หลัง ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียอีก

ปัจจัยหลักคงหนีไม่พ้นเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจที่ทุกคนต่างต้องเผชิญ ทำให้ความมั่นคงทางการเงินเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อการสร้างครอบครัวและการใช้ชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก รวมถึงค่านิยมของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้คนไม่อยากมีลูก และมีแนวโน้มว่าผู้สูงวัยจะใช้ชีวิตด้วยการอยู่เพียงลำพังมากขึ้น

มีการคาดการณ์ว่า ราวปี 2030 ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่น เพราะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากขึ้นถึง 28 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนคนในประเทศ และมีการเพิ่มขึ้นของประชากรเพียง 0.18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นโยบายสังคมผู้สูงอายุทั่วโลก

เมื่อโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น เกือบทุกประเทศล้วนประสบปัญหาแรงงานลดน้อยลงและเกิดการขาดแคลนในเวลาต่อมา ทำให้รัฐบาลต้องวางแผนและออกนโยบายเพื่อบริหารจัดการ อย่างในประเทศญี่ปุ่นมีการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้มีงานทำ โดยเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 60,000 เยน (ประมาณ 15,000 บาท) รวมถึงก่อตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพระยะยาวของผู้สูงอายุที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมองว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถและยังมีศักยภาพช่วยขับเคลื่อนสังคมได้

ในอิตาลีมีมาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุด้วยการลดหย่อนภาษีให้ภาคเอกชน และขยายอายุการเกษียณออกไปที่ 65 – 70 ปี เพื่อเพิ่มจำนวนคนทำงาน ขณะเดียวกัน เรื่องของสุขภาพกายและใจก็นับเป็นปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุ ทำให้ประเทศเยอรมนีออกนโยบายให้ผู้สูงอายุเลือกได้เองว่าจะย้ายไปบ้านใหม่ เลือกอาศัยอยู่กับครอบครัว ย้ายไปบ้านพักคนชรา หรือไปอยู่ที่ไหนก็ได้เพื่อให้พยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด

ส่วนประเทศที่มีความสุขและมีอัตราภาษีสูงที่สุดในโลกอย่างฟินแลนด์ ก็ใช้เงินภาษีที่เก็บได้มาพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีให้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งยังปรับโครงสร้างเมืองให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เพราะต้องการให้กลุ่มคนเหล่านี้ยังคงมีส่วนร่วมในสังคม เช่นเดียวกับโครเอเชีย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เตรียมความพร้อมและมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวสูงวัยอย่างยอดเยี่ยม

วันหนึ่งทุกคนจะเป็นผู้สูงอายุ

ตัวเลขในระดับโลกที่ชี้ให้เห็นอัตราการเกิดที่ลดลงและผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานมีแรงกดดันมากขึ้น บวกกับปัญหาในอนาคตที่ประเทศต่างๆ อาจประสบอย่างการขาดแคลนแรงงาน และการเกิดวิกฤตการคลังจากการที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินสวัสดิการผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้นสวนทางกับการเก็บภาษีที่ลดลง

เพื่อลดภาวะวิกฤตในสังคมผู้สูงวัยที่จะมาถึง องค์การอนามัยโลกได้แนะนำ 3 องค์ประกอบสำคัญสำหรับปรับใช้กับสังคมผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพดี ทำให้ทุกคนมีหลักประกันและความมั่นคงในชีวิต รวมถึงทำให้ผู้สูงวัยได้มีส่วนร่วมและมีคุณค่าทางสังคม เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งของกำลังแรงงาน มีรายได้ที่คุ้มค่า เพื่อช่วยลดภาระพึ่งพิงสวัสดิการจากภาครัฐ พร้อมทั้งส่งเสริมให้คนทุกช่วงวัยได้อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจในสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกยุคสมัย 


Sources :
NED | tinyurl.com/2kcsx4f7 
Marketeer Online | tinyurl.com/2z82dwnm 
Nippon | tinyurl.com/2m7tkjsp 

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.