The Burari Deaths : ฆาตกรรมหมู่ 11 ศพ ปริศนา - Urban Creature

Spoiler Alert : บทความนี้เปิดเผยรายละเอียดเรื่องราวพร้อมบทสรุปของภาพยนตร์ และมีเนื้อหาหรือภาพที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ

นับว่าเป็นเรื่องอึกทึกครึกโครมในช่วงปี 2018 เมื่อสมาชิกครอบครัวหนึ่งในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย ถูกพบว่าแขวนคอห้อยลงมาจากตะแกรงเหล็กจำนวน 10 ศพ และอีก 1 ศพนอนเสียชีวิต โดยทั้งหมดอยู่ในท่าข้อมือไพล่หลังและข้อเท้าถูกมัดอย่างแน่นหนา มีผ้าปิดดวงตาทั้งสองข้าง และผ้าอุดปากเอาไว้ สร้างข้อสงสัยถึงการจากไปแก่คนหมู่มาก บ้างก็ว่าเป็นเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ บ้างก็ว่าเป็นฆาตกรรมหมู่ แล้วสุดท้ายความจริงคืออะไรกันแน่?

สารคดีชุด House of Secrets : The Burari Deaths มีทั้งหมด 3 ตอน เป็นฝีมือการสร้างของ ลีน่า ยาดาฟ และ อนุพฟ โชปรา จะพาไปไขปริศนาความลับของเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ไม่มีใครล่วงรู้ ‘เจตนา’ เบื้องหลังของครอบครัวจันทวัต ครอบครัวชนชั้นกลางอันแสนอบอุ่นและไร้พิษสง ไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ไม่มีปัญหาชีวิตให้กวนใจ เป็นเพื่อนบ้านที่ดีแก่ผู้คนในละแวกนั้น แต่กลับตายด้วยท่าทางประหลาด จนกระทั่งค้นพบ ‘สมุดบันทึก’ ที่เขียนคำสั่งต่างๆ เพื่อให้ครอบครัวทำตาม นั่นรวมถึงขั้นตอนของการทำพิธีกรรมผ้าผูกคอ ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญของการเสียชีวิต พร้อมกับข้อความว่า 

“อย่าตกใจขณะที่ทำพิธีต้นไทร
พื้นดินอาจสะเทือน หรือท้องฟ้าอาจถล่ม
อย่าปล่อยให้มันทำให้เลิกล้มความตั้งใจ
บอกให้เด็กๆ สวดมนต์ต่อไป
การสวดมนต์อาจนานห้าถึงสิบห้านาที
ระหว่างที่สวดมนต์ 
ละลิตจะปกป้องทุกคน
ได้มีการแบ่งหน้าที่มัดไว้ให้แต่ละคนแล้ว
เมื่อมัดครบทุกคนแน่นแล้ว
ละลิตจะใช้ไม้ให้สัญญาณ
วางน้ำเต็มถังไว้ใกล้ๆ
ทันทีที่น้ำเปลี่ยนสี
ฉันจะกลับมา”

แต่น่าเศร้าที่หลังจากพวกเขาเริ่มทำพิธีไป ก็ไม่มีใครกลับมาได้สักคนเดียว

ความเชื่อและสิ่งเหนือธรรมชาติ

The Burari Deaths ถูกหุ้มเอาไว้ด้วย ‘ความเชื่อ’ ที่แปลงสภาพครอบครัวให้กลายเป็น ‘ลัทธิขนาดย่อม’ มี ‘ละลิต’ ลูกชายคนเล็กของบ้านซึ่งรับสารจาก โภปาล สิงห์ พ่อผู้ล่วงลับ เป็น ‘ตัวกลาง’ และผู้นำความคิด คอยเขียนคำสั่งต่างๆ ลงสมุดบันทึก บอกสิ่งที่สมาชิกในครอบครัวต้องทำหรือไม่ควรทำในแต่ละวัน

สังคมอินเดียยึดโยงกับความเชื่อ ศาสนา และลัทธิ จึงไม่แปลกที่เหตุการณ์ ‘พ่อเข้าสิง’ จะทำให้ทุกคนในบ้านเชื่อมั่นในละลิตอย่างสนิทใจ ลองคิดดูเล่นๆ ว่าถ้าเกิดคนใกล้ตัวของคุณที่พูดไม่ได้มาเป็นปี จู่ๆ ก็เปล่งเสียงออกมาได้ โดยที่เสียงนั้นดันคล้ายกับเสียงของ ‘พ่อ’ ทุกตัวโน้ต ใครบ้างจะไม่รู้สึกว่านี่คือปาฏิหาริย์?

และใช่! สิ่งนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวจันทวัต ครั้งหนึ่งละลิตประสบอุบัติเหตุจนทำให้สมองเขากระทบกระเทือน และครั้งที่สองเขาเกือบตายเพราะถูกขังไว้ในโรงอัดไม้ที่ถูกจุดไฟเผา ซึ่งชายหนุ่มอ้างว่า เป็นเพราะสูดดมควันจำนวนมากลงปอด ทำให้เสียงของเขาหายไปอย่างถาวร นับว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับคนรอบข้างที่เห็นว่าละลิตไม่สามารถเรียกชื่อ ‘ศิวาม’ ลูกชายคนเดียวตั้งแต่เกิด 

หลังจากนั้นไม่นานโภปาลก็เสียชีวิต ละลิตแว่วเสียงพ่อบอกว่า ให้เขาท่องบทสวดหนุมาน จาลีสา ทุกวันตอนสี่ทุ่ม แล้วเขาจะได้เสียงกลับคืนมา ไม่เพียงแค่ละลิต แต่รวมไปถึงครอบครัวที่สวดมนต์ภาวนาตอนเช้า กลางวัน และก่อนนอนถึงพระผู้เป็นเจ้า ใช้แรงศรัทธามหาศาล จนกระทั่ง 1 ปีต่อมาความปรารถนาของครอบครัวจันทวัตก็เป็นจริง 

สิ่งนี้จึงยิ่งตอกย้ำว่า ‘ทั้งหมดที่เกิดขึ้นล้วนเป็นพรจากพ่อของเขา’ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความเชื่อระยะเวลากว่า 11 ปี เพราะนอกจากปาฏิหาริย์ที่ว่า สถานะทางการเงินของครอบครัวยังดีขึ้นอย่างน่าประหลาด แถมไม่เคยมีใครเจ็บตัวจากความเชื่อดังกล่าว ยกเว้นครั้งสุดท้าย… 

หากตัดเรื่องความเชื่อออกไป เรื่องนี้ไม่มีปาฏิหาริย์ ไม่มีสิ่งลี้ลับ ไม่มีสิ่งเหนือธรรมชาติ เหตุการณ์เกือบโดนเผาทั้งเป็นของละลิต ย่อมสร้างบาดแผลขนาดใหญ่แก่เขาจนเกิด PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ทำให้เขาอยู่ในภวังค์ของการตระหนกตกใจ ซึ่งอาจกระทบให้ละลิตหลีกเลี่ยงการพูดถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เขาเจ็บปวด

น่าเศร้าที่อาการ PTSD ของเขาไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะสังคมอินเดียคิดว่าการหาจิตแพทย์ = คนบ้า ประกอบกับการเสียชีวิตของพ่อยิ่งทวีคูณความบอบช้ำ จนเกิดอาการหลอนว่าได้ยินเสียงโภปาลขึ้นมา

การสวดมนต์ หันหน้าพึ่งศาสนา และศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงเป็นเพียงที่พึ่งทางใจที่ละลิตสร้างขึ้นมาใหม่ และการได้เสียงกลับคืนมาก็เป็นผลลัพธ์จากการเยียวยาจิตใจจากเหตุการณ์ร้ายๆ เหล่านั้นได้

ปิตาธิปไตยในสังคมอินเดีย

แม้โภปาลจะไร้กายหยาบและครอบครัวเชื่อว่าเขาหลงเหลือเพียง ‘วิญญาณ’ ในโลกมนุษย์ แต่วันที่โภปาลเคยเป็นทั้งผู้นำครอบครัว พ่อ และสามี สมาชิกในบ้านต่างเชื่อฟัง ให้ความเคารพ และยกการตัดสินใจทุกเรื่องในชีวิตเป็นความรับผิดชอบของเขา เพราะสังคม ‘ชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ยกบทบาทการเป็นหัวหน้าครอบครัวให้เขาอัตโนมัติ คอยจัดแจงไม่เว้นแม้แต่การวางแผนว่าลูกจะเรียนอะไร หรือมีชีวิตแบบไหน ทำให้ ‘นารายานี’ ภรรยาข้างกายทำหน้าที่เป็นเพียง ‘เมียที่ดี’ เท่านั้น

ถึงวันที่บทบาทผู้นำของโภปาลถึงคราวสิ้นสุดลง นารายานีก็ไม่สามารถเป็นผู้นำครอบครัว เพราะโครงสร้างของสังคมที่เอื้อพื้นที่ให้ ‘ผู้ชาย’ ทำให้ครอบครัวมองหา ‘เสาหลักต้นใหม่’ เพศชายมาแทนที่ มีเพียง ‘ภูนาศ’ ลูกคนกลาง และ ‘ละลิต’ ลูกคนเล็ก ชายทั้งสองคนที่ยังอยู่อาศัยในบ้านจันทวัต ก่อนทุกคนจะเลือกให้ละลิตเป็นเสาหลักต้นนั้น

ถึงใครๆ จะเชื่อฟังละลิต แต่สิ่งที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษคือ แม้ว่าละลิตขึ้นมาแทนที่โภปาล แต่ก็เป็นแค่การแทนที่ด้วยกายหยาบเท่านั้น เพราะทุกคนในบ้านเชื่อว่านั่นคือ ‘โภปาล’ จึงยินยอมให้บงการชีวิตในฐานะผู้นำครอบครัวคนเก่า 

หากใครกล้าขัดความคิดเขา พระเจ้าจะลงโทษให้เจอหายนะ รวมถึง ‘ทีน่า’ ภรรยาสาวที่เรียนจบปริญญาโทด้านสังคมวิทยา ผู้คอยสนับสนุนความคิดของสามีจนจบชีวิตลงด้วยความยินยอม

แปลกที่การศึกษาของทีน่าไม่ทำให้เธอเฉลียวพอจะโต้แย้งความเชื่ออันสุดโต่งของสามี เป็นไปได้ว่ามายาคติการเป็นภรรยาที่ดี ยิ่งเป็นสะใภ้เล็กสุดของครอบครัวในสังคมอินเดีย ประเทศซึ่งมีความเหลื่อมล้ำทางเพศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำให้เธอจำยอมปิดตาหนึ่งข้างปล่อยให้ละลิตชักจูงคนอื่นๆ  

ถ้าหากระบบปิตาธิปไตยไม่มีอยู่ อภิสิทธิ์หรือบทบาทของผู้ชายไม่ได้ถูกกำหนดไว้สูงล้ำ และเสียงของผู้หญิงอินเดียได้ดังและถูกฟังมากพอ คงไม่มีประโยค “เกิดเป็นวัวในอินเดียยังจะดีกว่าเกิดเป็นสตรี” และท้ายที่สุดตอนจบของครอบครัวจันทวัตอาจไม่ใช่แบบที่คุณเห็น เพราะอาการทางจิตของละลิตคงไม่มีโอกาสได้ชักนำใครไปสู่ความตาย

พลังแห่งความเชื่อ

เมื่อความเชื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้คนยังมีความหวังในการมีชีวิต และยังสามารถสร้างโศกนาฏกรรมเช่นเดียวกับการตายหมู่ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวจันทวัต สะท้อนให้เราเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างระบบชายเป็นใหญ่ ความเชื่อและสิ่งเหนือธรรมชาติในสังคมอินเดียที่เป็นโครงสร้างสำคัญให้เกิด Mass Suicide โดยไร้การยับยั้ง

House of Secrets : The Burari Deaths เผยให้เห็นถึงพลังของความเชื่อ ที่แม้มองไม่เห็นด้วยตา แต่สร้างผลลัพธ์เป็นรูปธรรมให้เรารับรู้ได้มากกว่าที่คิด ในไทยเองก็เกิดเหตุการณ์คล้ายกับครอบครัวจันทวัต โดยเฉพาะข่าวโด่งดังเมื่อแม่ฆ่าลูกสาวตัวเองร่วมกับญาติอีก 3 คน เพื่อบูชาพระอินทร์ เพราะเชื่อว่ามีความชั่วร้ายติดตัวเด็กผู้หญิงคนนี้อยู่ และต้องการปลดปล่อยวิญญาณให้ไปอยู่กับพระอินทร์ ซึ่งท้ายที่สุดผลตรวจของผู้ลงมือทั้ง 4 คน พบว่ามีอาการป่วยทางจิต

และอีกหนึ่งความเชื่อที่ไม่ใช่การฆ่าแกงเพื่อบูชายัญ แต่โชว์ให้เห็นมุมมองของผู้คนหลากหลายที่เข้าไปสัมผัสความเชื่อทางศาสนา จากภาพยนตร์เรื่อง เอหิปัสสิโก ซึ่งรัฐไทยพยายามครอบตัวเองด้วย ‘ศาสนาพุทธ’ แต่พุทธแบบไหนกันล่ะที่เราเลือกเชื่อและศรัทธา

เอหิปัสสิโก ถ่ายทอด ‘พุทธพาณิชย์’ ของวัดพระธรรมกายที่ทำให้คนเชื่อว่าการทำทานเป็นมหาบุญ มหากุศล ซึ่งบางคนอาจมองว่า ‘งมงาย’ และบางคนอาจเลือก ‘ศรัทธา’ คอยสะสมบุญเอาไว้ใช้ในชาติหน้า

น่าสนใจที่บางคนเชื่อว่าเขาร่ำรวยได้ เพราะยึดมั่นในหลักคำสอนพุทธศาสนาแบบธรรมกาย ซึ่งจุดไคลแมกซ์ของภาพยนตร์พาให้เราเห็น ‘กำแพงแห่งศรัทธา’ ของศิษยานุศิษย์ที่พยายามปกป้องวัดพระธรรมกายในยุคที่ คสช. ออกหมายจับธัมมชโย ถึงแม้ เอหิปัสสิโก และ House of Secrets : The Burari Deaths ไม่มีจุดจบแบบเดียวกัน แต่ระหว่างทางทำให้เราเห็นถึงพลังแห่งความเชื่อที่สร้างอิมแพกต์อันยิ่งใหญ่ได้

อันที่จริงไม่มีใครต้องการบอกว่าคุณควรเชื่อแบบไหน และไม่ควรเชื่ออะไร เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่สิ่งที่ผู้คนมักหลงลืม คือพวกเขาเหล่านั้นมีสิทธิ์ปฏิเสธการครอบงำไหม ถูกบังคับให้เชื่อหรือเปล่า

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.