มีใครสงสัยเหมือนเราบ้างว่า ทำไมในกรุงเทพฯ ถึงมีร้านส้มตำอยู่ทุกหัวมุมถนน ทุกหนแห่ง แค่นึกอยากจะกินก็มีให้เลือกอยู่ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากที่ที่เราอยู่เสมอ
ทำไมเนื้อหาของละครทีวีช่วงค่ำยุคปัจจุบันถึงได้เปลี่ยนจากเซตติงที่เป็นคุณหญิงคุณชายในรั้ววัง มาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคณะหมอลำซึ่งมีฉากหลังเป็นทุ่งนาต่างจังหวัดกันมากขึ้น มากไปกว่านั้นคือตัวละครทั้งหมดล้วนพูดภาษาถิ่นอีสานกันทั้งหมด ทั้งที่ฉายไปทั่วประเทศ
ขยับเข้ามาในระดับที่แคบขึ้นอีกนิด ทำไมคนขับแท็กซี่มักเป็นคนร้อยเอ็ด ทำไมนางแจ๋วในละครถึงต้องเป็นคนอีสาน ทำไมถึงมีคำศัพท์ใหม่อย่าง ‘v้นE-3’ แพร่หลายเป็นมุกตลกทั่วไปของเด็กรุ่นใหม่บางกลุ่ม จนกลายเป็นชนวนของการทะเลาะใหญ่โตบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
วันเวลาผ่านไป ตั้งแต่ยุคที่คนกุลายังร้องไห้ จนมีลูกหลานเป็นสาวน้อยหัวใจติดดิน สวมกางเกงยีนส์เก่าๆ ใส่เสื้อตัว 199 มุ่งหน้าไปสู่การเป็นนางเอกละครเย็นในช่วงเรตติงดีที่สุด ประดับซับไตเติลเป็นภาษาไทยกลาง เพราะเว้าภาษาอีสานกันทั้งเรื่อง เกิดอะไรขึ้นกับคนอีสานอพยพใน ค.ศ. 2022
ตามมาเบิ่งปรากฏการณ์นี้ในหนังสือ ‘เฮ็ดหยังอยู่’ ธีสิสจบการศึกษาของ ‘ข้าวตัง-ศศิตา มณีวงษ์’ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ ภาควิชานิเทศศิลป์ สาขาวิชานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กันแหน่เด้อ
เฮ็ดหยังอยู่
ก่อนจะพูดถึงโปรเจกต์ที่ช่วยไขสารพัดข้อสงสัยเรื่องคนอีสานอพยพ เราขอย้อนความก่อนว่า ศศิตาหรือผู้เขียนบทความนี้เป็นเด็กกรุงเทพฯ ที่มีตาเป็นคนอำนาจเจริญ และยายเป็นคนสุรินทร์ เติบโตมากับเรื่องเล่าของการถูกปลิงกัดเมื่อดำนา การซักผ้าด้วยขี้เถ้า และการเดินเท้าเกือบสิบกิโลเพื่อไป-กลับโรงเรียน
ตายายหยิบเอาเรื่องราวการดำรงชีวิตอยู่ในอำเภอห่างไกลความเจริญเมื่อห้าสิบปีก่อนมาใช้แทนนิทานเรื่องเจ้าหญิงต่างๆ ก่อนจะเข้านอนทุกคืน ในวัยนั้นเราต้องยอมรับว่าเรื่องที่ทั้งคู่เล่าสนุกกว่านิทานพวกนั้นมาก แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่บันทึกมันไว้เมื่อยังมีโอกาส
ไม่มีใครทราบได้ว่าโอกาสนั้นกลับมาอีกครั้งในรูปแบบของการศึกษาศิลปะ เราเลือกทำหนังสือ ‘เฮ็ดหยังอยู่’ ในรูปแบบสารคดีรวบรวมบทสัมภาษณ์ เล่าเรื่องราววิถีชีวิตของคนอีสานที่ย้ายมาอยู่ในกรุงเทพฯ ผ่านอาชีพยอดนิยมของพวกเขาที่เป็นภาพจำผ่านสื่อ เช่น แม่ค้าส้มตำที่เคยเป็นสาวโรงงาน คนขับแท็กซี่ที่เป็นแนวหน้าผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ช่างเสริมสวยที่คิดว่าภาษาถิ่นของตัวเองไม่น่ารัก นักศึกษาที่เป็นแฟนคลับหมอลำตัวยง ไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ที่ใช้เวลาเกินกว่าครึ่งของชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ยังเรียกตัวเองว่าเป็น ‘คนอีสาน’ อยู่เสมอ
การตั้งคำถามกับสิ่งมากมายรอบตัวทำให้เราเกิดปัญญา แต่การเฟ้นหาคำตอบให้คำถามเหล่านั้นทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าในชีวิต หนังสือเล่มนี้จึงถือกำเนิดขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ง่ายๆ อย่างการที่อยากจะคุยกับตาและยาย และบันทึกเรื่องราวของผู้อพยพตัวเล็กๆ ซึ่งสะท้อนภาพใหญ่ของสังคมเมืองกรุงเทพฯ ในยุคสมัยที่เรากำลังดำรงอยู่
ทางมีหลายเส้น ตามใจสิเลือกไต่
จากการดำดิ่งอยู่กับบทสนทนาของผู้คนหลากวัยและหลายบุคลิก ทำให้เราพบว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีชื่อเสียงหรือยากดีมีจนอย่างไร ล้วนมีเรื่องราวที่น่าสนใจและหวือหวาเหมือนตัวละครในภาพยนตร์ด้วยกันทั้งสิ้น โดยที่เหล่าตัวละครเอกอย่างพวกเขา (หรือผู้อ่านทุกคน) ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน
คนอีสานอพยพที่เราสัมภาษณ์ส่วนใหญ่มักเป็นคนจากชนชั้นแรงงานหรือประกอบธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ พวกเขามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองเทพสร้างแห่งนี้ให้เป็นเมืองที่ศิวิไลซ์ที่สุดมาตั้งแต่สมัยที่คนอีสานยังเป็นแรงงานหลักของประเทศไทย หลายวัฒนธรรมที่ติดตามพวกเขามาจากบ้านเกิดจึงแทรกซึมลงไปจนกลายเป็นวัฒนธรรมของคนเมือง ทั้งอาหารการกิน สื่อบันเทิง ภาษา ไปจนถึงเรื่องของการเมืองที่เปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ไปสู่จุดหนึ่งที่หลายคนไม่คาดฝัน ทำให้ภาพลักษณ์ของคนอีสานพ่วงติดมากับภาพ ‘เลือดนักสู้’ ที่เราต้องยอมรับว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ
ในบทหนึ่งที่เราชอบเป็นพิเศษ คือ บทที่ 4 มิตรรักคนเสื้อแดง ที่นำพาให้เราได้ไปรู้จักกับคุณลุงคนขับแท็กซี่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนธรรมดาที่เรานั่งบนรถเขาจนไปถึงจุดหมายและจากไปโดยไม่ติดใจอะไรได้ จนกว่าจะได้ฟังเรื่องราวชีวิตของเขา
คราวแรกที่ต้องหาข้อมูล เราค่อนข้างกังวลที่จะคุยเรื่องการเมืองกับคนแปลกหน้า แต่วันนั้นเราได้คุยกับคุณลุงนานถึงสามชั่วโมงจนทะลุปรุโปร่ง ด้วยคำถามง่ายๆ อย่าง ‘ทำไมถึงเป็นคนเสื้อแดง’
ว่ากันตามตรง สามชั่วโมงเป็นช่วงเวลาสั้นมากที่จะทำความรู้จักใครสักคน แต่ในระยะเวลาเท่านั้นเรากลับได้เห็นทั้งรอยยิ้ม ความเหนื่อยเหงา และน้ำตาของคุณลุง
แน่นอนว่า เนื้อเรื่องเกี่ยวกับชีวิตคุณลุงคนขับแท็กซี่เป็นไปตาม Stereotype แบบ ‘อีส้าน อีสาน’ ทุกกระเบียดนิ้ว
พ่อของคุณลุงตายเพราะจะจับงูเห่ามากินจนถูกกัด ไม่มีเงินไปหาหมอเลยใช้หมอผีชาวบ้านมาปัดเป่า แต่ก็ไม่รอด ทำให้ลูกๆ ทุกคนลำบาก ต้องดิ้นรนเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ
คุณลุงทำงานแบบเก็บหอมรอมริบจนผ่อนแท็กซี่คันหนึ่งได้ และนโยบายสามสิบบาท รักษาทุกโรค ของพรรคเพื่อไทยก็ช่วยคนในครอบครัวของเขาให้มีชีวิตอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ก่อนลงเอยสู่จุดสูงสุดด้วยการร่วมเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง
สิ่งเหล่านี้นำพาเราไปสู่คำตอบของหลายคำถามที่เราหาไม่ได้จากหนังสือเล่มไหนหรือบทความใดในอินเทอร์เน็ต เมื่อรวมกับบทความงานวิจัยทางวิชาการต่างๆ ที่เราหาได้ คำตอบที่ว่า ‘ทำไมคนอีสานถึงรักทักษิณ’ หรือ ‘เหตุใดคนขับแท็กซี่ถึงกลายมาเป็นกำลังสำคัญของกลุ่ม นปช.’ จึงกระจ่างขึ้นในสมอง ซึ่งเราอธิบายทุกสิ่งไว้ในเล่มเรียบร้อยแล้ว
บทนี้เป็นแค่ส่วนเดียวจากหนังสือ 100 กว่าหน้าที่เราเขียน และมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกเป็นร้อยเป็นพันอย่างในบทอื่นๆ หรืออาจจะถึงหมื่น แสน ล้านเรื่องที่เราไม่อาจเขียนลงไปได้หมด
ความสำคัญของหนังสือเล่มนี้จึงอยู่ที่การเดินทางไปหาคำตอบ และการได้บันทึกเรื่องราวทรงคุณค่าเหล่านี้เอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ให้มันหายไปกับกาลเวลา
ให้ซ่างบ้อนเสมอดั่งปลาหลด
พอเรียบเรียงข้อมูลเสร็จเป็นบทความ สิ่งสำคัญที่เราต้องนึกถึงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือความเพลินตา ที่เรียกร้องให้ผู้คนอยากอ่านสารคดีไปพร้อมๆ กันด้วย
ด้วยความที่เรียนศิลปะมา เราพอจะรู้ว่ากว่าที่คนคนหนึ่งจะยอมสละเวลาเล่นโทรศัพท์มือถือมานั่งอ่านข้อความทั้งหมดในเล่ม ต้องมีการหลอกล่อพอสมควร
สิ่งแรกที่ทุกคนจะได้รู้จักหนังสือเล่มนี้คือหน้าปก จากนั้นก็เป็นรูปประกอบที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางคร่าวๆ ว่าผู้อ่านจะได้เจอกับอะไร เราจึงพยายามทำให้แนวคิดของมันไม่ซับซ้อน แต่กินใจ คนทุกวัยสามารถเข้าใจได้ทันที
ส่วนปกนอกและโปสเตอร์ของหนังสือเล่มนี้ จริงๆ แล้วเป็นแค่รูปพื้นถนนที่ไม่มีอะไรเลย แต่เราเจาะช่องให้เห็นชื่อหนังสือที่วางอยู่ในปกรอง เพื่อบอกใบ้ว่า ถ้าเปิดไปแล้วจะเจอภาพดินที่แห้งแตกอยู่ด้านในอย่างมีเลศนัย
และลวดลายที่เห็นอยู่ด้านนอกทั้งหมดเป็นสติกเกอร์ที่เราแถมมาให้พร้อมหนังสือ ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ ที่ทำให้นึกถึงภาคอีสานและเนื้อหาในเล่ม
โดยผู้อ่านสามารถตกแต่งหน้าปกเหล่านั้นได้ด้วยตนเอง ใครใคร่อยากให้มีจานส้มตำเด่นอยู่ข้างหน้าก็ทำไป
จากแนวคิดการออกแบบนี้ เราต้องการสื่อสารถึงวัฒนธรรมอีสานที่เข้ามาอยู่ในเมือง ภายใต้พื้นถนนคอนกรีตในเมืองหลวงที่ฉาบอยู่บนผิว ขณะที่ข้างใต้ยังเป็นดินแดงแห้งแล้งของบ้านเกิด ซึ่งโปรยทับพื้นด้านหน้าเหล่านั้นได้อย่างกลมกลืนด้วย Sticker Bomb ที่เป็นตัวแทนของวิถีชีวิตที่คนอีสานอพยพเหล่านี้นำติดตัวเข้าเมืองมาด้วย ดังนั้น ‘เฮ็ดหยังอยู่’ ทุกเล่มจะมีหน้าตาที่ไม่เหมือนกัน เหมือนกับมนุษย์ทุกคนที่ไม่มีใครเหมือนใครได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์
นกหนูบ่ห่อนหนีไกลห้วยหากินไกลถิ่น
ผ่านพ้นช่วงยั่วยวนของหน้าปกไปแล้ว งานศิลปะที่อยู่ภายในเล่มเองก็ไม่ควรทำให้ผู้อ่านผิดหวัง การเลือกใช้สีหรือจัดวางองค์ประกอบภาพทั้งหมดล้วนเป็นความรู้สึกเดียวกันกับที่เราต้องคัดเลือกเนื้อหาน่าสนใจเพื่อนำมาเขียนในเล่ม นั่นคือ ความรักพี่เสียดายน้อง
การดีไซน์ภายในเล่ม เราพยายามไม่ดุ๊กดิ๊กพลิกแพลง เปิดกันสิบแปดตลบเหมือนในงานศิลป์ที่มากเกินกว่าความเข้าใจของคนทั่วไป เราสามารถยื่นหนังสือเล่มนี้ให้ลุงยาม ป้าข้างบ้าน หรือน้องวัยประถมอ่านได้ง่ายๆ โดยไม่ทุลักทุเล ทุกอย่างนี้เราทำเองทั้งหมดจนไปถึงภาพถ่ายด้านในด้วย รูปดีหน่อยก็ให้อยู่หน้าเปิดใหญ่ๆ ภาพไหนไม่ค่อยสวยงามก็นำมาตัดแต่งเป็นศิลปะ
แต่ที่แน่ๆ คือสีสันในเล่มเราได้รับการช่วยเหลือไว้ด้วยสื่อบันเทิงและวัฒนธรรมอีสานที่เป็นภาพจำ ได้แก่ ความสนุก ตลก สดใส ฉูดฉาด แบบภาพยนตร์เรื่องแหยมยโสธร บ้างก็เป็นสีสันของหมอนขิด ผ้าขาวม้า ขบวนแห่บั้งไฟ การตกแต่งและเครื่องแต่งกายของหมอลำหน้าฮ่าน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นแรงบันดาลใจให้เราทั้งสิ้น
ในขณะเดียวกัน การออกแบบองค์ประกอบรูปภาพต่างๆ ในแต่ละหน้าก็มีความหมาย เช่น ในบทที่เล่าเรื่องการเก็บกระเป๋าหนีเข้ากรุงเทพฯ โดยรถไฟของตา เพราะช้ำรัก เราเลือกใช้ลวดลายการปักผ้าแส่วที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์การรอนแรมย้ายถิ่นฐาน ที่มีรูป ‘คนขี่ช้าง’ หรือ ‘คนขี่ม้า’ มาใส่ในหน้านั้น เพื่อเปรียบว่าการรอนแรมของตาคือการเดินทางตามหาความเจริญ ความหวัง และความรักครั้งใหม่
มีปลาบ่มีหม้อสิเอาหยังมาต้มอ่อม
เราเชื่อว่า งานที่ดีจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมันได้ทำงานอยู่ในใจของคนอ่าน
เมื่อหนังสือเล่มนี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไปในวงเล็กๆ จนไปถึงมือผู้ให้สัมภาษณ์ เป็นประเด็นให้คนจำนวนหนึ่งได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุดคือการนำเรื่องราวและบทความเหล่านี้กลับไปหาผู้ให้สัมภาษณ์ รวมถึงผู้คนที่ช่วยเหลือในการเติมข้อมูลให้งานเขียนเป็นงานเขียนที่ดี ให้งานศิลป์เป็นงานศิลป์ที่สวยงาม
เพราะหนังสือสารคดีที่ดีไม่มีทางกำเนิดขึ้นได้หากขาดแหล่งข้อมูลที่เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก หรือกระทั่งการยกตัวอย่างที่น่าติดตาม เพื่อทำให้เราอธิบายเรื่องของประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรม หรืออะไรก็ตามที่เป็นลมให้คนหาวหวอด ดูเป็นเรื่องที่สนุกสนานขึ้นมาทันตาได้
เราอยากให้พวกเขารับรู้ว่าประสบการณ์ในชีวิตของพวกเขาได้มีส่วนในการเปิดโลกของคนอื่นๆ ให้กว้างขึ้น ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขความเข้าใจผิดประเภท ‘โง่ จน เจ็บ’ ที่ถูกผลิตซ้ำมาอย่างยาวนานในสื่อบันเทิง
จากนี้พวกเขาจะไม่ใช่แค่ช่างเสริมสวยที่เหนียมอายกับการพูดภาษาอีสาน ไม่ใช่แค่แม่ค้าส้มตำที่ทำงานอยู่แต่ก้นครัว ไม่ใช่คนขับแท็กซี่ที่บ้าการเมือง แต่พวกเขามีส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองเป็นเมืองอย่างทุกวันนี้ได้ ท่ามกลางการต่อสู้กับความหวังว่าตนเองและครอบครัวจะมีชีวิตที่ดี
อ่านหนังสือ ‘เฮ็ดหยังอยู่’ ในรูปแบบ E-Book ได้ที่ anyflip.com/rgsbe/hmaj