เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นในสุดสัปดาห์นั้น มันเป็นสุดสัปดาห์ที่คนกรุงเทพฯ ได้หยุดยาวติดกันหลายวัน หลายคนจึงแพลนไปเที่ยวต่างจังหวัดเพื่อใช้วันหยุดให้คุ้มค่าที่สุด
ฉันกับเพื่อนก็ไม่ต่าง แต่เรามีเวลาว่างตรงกันแค่ 1 วัน เลยวางแผนจะขับรถออกไปเที่ยวจังหวัดใกล้ๆ แบบวันเดย์ทริป ติดตรงที่โทรไปขอเช่ารถที่ไหนเขาก็ไม่ให้ “ถ้าจะเช่าต้องเช่าสองวันขึ้นไป” ทุกที่พูดเหมือนกันหมด
ฉันเกือบถอดใจ จนกระทั่งเพื่อนทักมาบอกว่า “ไปเจอนี่มา ลองไหม”
‘นี่’ ที่เพื่อนหมายถึงคือบริการรถเช่าที่คิดค่าเช่ารถตามระยะทางและเวลาที่ใช้ ในระบบมีรถยนต์หลายแบบให้เลือกขับ แถมยังมีจุดให้บริการกระจายอยู่ทั่วทุกมุมเมือง พอฉันคำนวณราคาดูแล้วก็ไม่ได้แตกต่างจากราคาเช่ารถต่อวันเท่าไหร่ เราจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ลอง
นั่นคือครั้งแรกที่ฉันได้ลองใช้บริการของ HAUP
ประสบการณ์การเช่ารถ 1 วันนั้นเต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์ ตั้งแต่การควบคุมระบบทุกอย่างของรถได้จากแอปฯ การที่ HAUP มีบัตรเติมน้ำมันฟรีให้ หรือแม้กระทั่งความสะดวกสบายจากการเช่ารถได้โดยไม่ต้องเจอเจ้าของรถตัวจริงเลย
สิ่งที่เซอร์ไพรส์ฉันมากที่สุดเกิดขึ้นหลังจากที่ลองเสิร์ชข้อมูลของ HAUP เล่นๆ และพบว่า HAUP ไม่ใช่บริการที่ก่อตั้งใหม่ แต่เปิดมาแล้วถึง 6 ปี มากกว่านั้นคือพวกเขาไม่ใช่บริการรถเช่าอย่างที่ฉันคิด แต่นิยามตัวเองว่าเป็นบริการ ‘Carsharing’ หรือการชวนคนที่มีรถอยู่แล้วมาปล่อยให้เช่า โดยมีเป้าหมายคือการทำให้อัตราการซื้อรถของคนเมืองน้อยลง
เมื่อคนซื้อรถน้อยลง การจราจรและสภาพอากาศในเมืองจะดีขึ้น ‘กฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์’ CEO ของ HAUP สรุปให้ฉันฟังอย่างนั้น
แนวคิดเบื้องหลังการปล่อยรถเช่าเพื่อแก้ปัญหาเมืองของ HAUP เกิดขึ้นได้อย่างไร นั่นคือความสงสัยที่พาให้ฉันมานั่งคุยกับเขาที่ตึกพญาไท พลาซ่าในบ่ายวันนี้
ก่อนจะก่อตั้ง HAUP ช่องว่างในตลาดที่คุณมองเห็นคืออะไร
ช่องว่างที่ผมเห็นชัดเจนที่สุดคือจำนวนการใช้รถของคนเมือง อย่างในปี 2015 ที่โตเกียวเขามีการใช้รถเกิน 15,000 คัน ซึ่งกรุงเทพฯ ก็มีจำนวนใกล้เคียงกัน แต่ที่ญี่ปุ่นเขามีระบบคาร์แชร์ริง ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มี
ช่วงนั้นเราดูพฤติกรรมของคนไทยประกอบด้วย พบว่ามีคนทำใบขับขี่เยอะขึ้นทุกปี และเจนฯ ที่ทำใบขับขี่ส่วนใหญ่คือเด็กที่สามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือได้ เพราะฉะนั้นการมีระบบคาร์แชร์ริงที่ทำทุกอย่างผ่านแอปฯ จึงไม่ใช่ปัญหา ทาร์เก็ตของเราจึงเป็น Gen X ขึ้นมาถึง Gen Y เป็นส่วนใหญ่
ตั้งแต่ Day 1 แพลตฟอร์มของเราจึงเน้นการใช้รถในเมือง แต่พอเราเริ่มขยายไปเมืองอื่นๆ เช่น พัทยา เราเลยเข้าใจว่าตลาดท่องเที่ยวก็ต้องการคาร์แชร์ริงด้วยเหมือนกัน เราจึงเปิดแพลตฟอร์มให้กับรถเช่า Local หรือเจ้าของกิจการที่ทำธุรกิจรถเช่าอยู่แล้วมาปล่อยเช่าได้ ปัจจุบันเราจึงมีรถที่อยู่ในระบบ HAUP อยู่ทุกจังหวัด ถ้าเป็นสนามบินเมืองใหญ่ๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ก็มีประมาณที่ละ 40 – 50 คัน ในขณะที่กรุงเทพฯ มีหลักพัน
ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น อะไรจุดประกายให้คุณอยากสร้างแพลตฟอร์มคาร์แชร์ริงขึ้นมา
6 ปีก่อนคือยุคทองของสตาร์ทอัปแนว Mobility (ยานยนต์) กับ Travel (การท่องเที่ยว) ก่อนหน้านั้นผมเรียนจบด้านคอมพิวเตอร์ที่อเมริกา ทำงานในบริษัทกองทุนชื่อ Fidelity Investments และเห็นว่าเขาเริ่มลงทุนในเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น นักลงทุนเขาจะคิดว่าอีก 50 ปี โลกของเราจะขาดแคลนอะไร เขาเริ่มคุยกันเรื่องน้ำ แร่ธาตุหายาก ช่วงนั้นเลยจุดประกายผมว่าจริงๆ บ้านเราก็มีทรัพยากรที่จำกัดอยู่เหมือนกัน ประจวบกับที่สนใจเรื่องพลังงานและการเดินทางอยู่แล้ว ผมเลยไปเรียนต่อด้านความยั่งยืนเพื่อศึกษาเรื่องพลังงานโดยเฉพาะ
ผมทำธีสิสเรื่อง EV Charging Station (สถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า) ที่ลอนดอน พอกลับมาไทยจึงอยากทำเกี่ยวกับด้านพลังงานต่อ เพราะตอนนั้นประเทศไทยมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แค่ 30 จุด และไม่มีใครรู้จักคาร์แชร์ริงเลย ทั้งๆ ที่ในต่างประเทศอย่างอเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน มีระบบคาร์แชร์ริงเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสิ่งที่รัฐบาลอัดเงินสนับสนุน
ทำไมรัฐบาลประเทศอื่นถึงเห็นความสำคัญของคาร์แชร์ริง
คนเมืองจะใช้ชีวิตเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงถ้ามีคาร์แชร์ริง อย่างแรก พวกเขาจะเลิกซื้อรถ เพราะรถคือโครงสร้างสาธารณะที่รัฐบาลอัดฉีดให้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อคนเข้าถึงรถได้ง่าย พวกเขาก็จะไม่ซื้อรถ และเอาเงินไปทำอย่างอื่นได้ เศรษฐกิจก็จะเคลื่อนตัวไวขึ้น
เรื่องที่สองคือสิ่งแวดล้อม พอคนซื้อรถน้อยลง Waste ก็จะน้อยลงโดยปริยาย เรามีรถมือสอง สาม สี่ที่รอกำจัดน้อยลง และจริงๆ พอคนซื้อรถน้อยลง รถก็จะติดน้อยลงด้วย
อีกเหตุผลที่ทำให้ผมเลือกกลับมาทำ HAUP ที่ไทยคือผมเห็นว่าอากาศไม่ค่อยดี และผมคิดว่าการที่เราทำให้พลังงานสะอาดขึ้นมันช่วยเรื่องนี้ได้ และจะทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้นตามมา
อะไรทำให้คุณมั่นใจว่าธุรกิจคาร์แชร์ริงจะไปได้ดีในไทย
เมื่อ 6 ปีที่แล้วคนไทยชอบขับรถ ตอนนี้ก็ยังชอบ คนไทยขับรถเยอะมากจริงๆ ผมจึงคิดแบบ Step by Step เพราะถ้าจะทำให้รถหายไปเลยมันคงยาก ก็เริ่มจากการทำยังไงให้คนชอบขับรถไม่ซื้อรถก่อน เราเลยออกโปรดักต์คาร์แชร์ริงเป็นรายชั่วโมง เพื่อดึงให้คนที่ใช้รถในกิจวัตรประจำวันมาใช้บริการของเรา เพราะฉะนั้นรถของเราจะจอดอยู่ตามคอนโดฯ หรือมหาวิทยาลัยเป็นหลัก
จากความตั้งใจนี้ คุณต่อยอดมาสู่การออกแบบระบบของ HAUP อย่างไร
ผู้บริโภคต้องการสิ่งที่สะดวก เข้าถึงได้ตลอดเวลา และราคาดี
เราก็มาคิดต่อว่าจะทำยังไงให้สะดวกที่สุด เลยออกแบบระบบให้ไม่ต้องส่งกุญแจให้ผู้บริโภค ไม่ต้องเจอเจ้าของรถ ต่อมาคือเข้าถึงได้ตลอดเวลา ด้วยการให้ลูกค้าสามารถทำทุกอย่างผ่านแอปฯ ได้ 24 ชั่วโมง เพราะเราอยากให้เกิดความรู้สึกว่ารถของ HAUP เป็นรถของเขา มันต้องเข้าถึงได้ตลอดเวลา
ต่อมาคือการตั้งราคาที่เหมาะสม เราตั้งราคาหลักๆ ชั่วโมงละประมาณ 100 – 150 บาท คือถ้าเปรียบเทียบกับการนั่งแท็กซี่หรือซื้อรถของตัวเอง ราคานี้ถูกกว่าอยู่แล้ว เพราะเราอยากให้ HAUP เข้าถึงได้ง่าย
เรามั่นใจว่าถ้าเราทำให้เกิดคาร์แชร์ริงขึ้นได้จริง ผู้บริโภคก็จะเกิดความรู้สึกว่า จริงๆ ไม่ต้องซื้อรถแล้วใช้แพลตฟอร์มนี้ก็จบ ซึ่งรถยนต์เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะในแพลตฟอร์มตอนนี้มีทั้ง EV สกูตเตอร์ และจักรยาน
สิ่งที่คุณให้ความสำคัญที่สุดในการออกแบบระบบของ HAUP คืออะไร
ผมอยากให้ระบบของ HAUP มัน Localize ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ มันตอบโจทย์คนในท้องถิ่นได้ ทั้งเรื่องของโฟลว์การใช้งาน การชำระเงิน การเข้าออกรถ ทำยังไงให้ประสบการณ์ของผู้ใช้เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และแน่นอนว่าเป้าหมายของเราคืออยากให้เขาไม่ไปซื้อรถ เราจึงพยายามออกแบบแพ็กเกจ ตั้งราคาที่ผู้ใช้รู้สึกว่าคุ้ม
ยกตัวอย่างเช่น เรามี Subscription Package สำหรับคนที่ต้องการใช้รถเป็นรายสัปดาห์ ปกติถ้าเช่ารายวันจะตกวันละ 1,000 บาท แต่ถ้าเช่ารายสัปดาห์ก็จะลดไป 25 เปอร์เซ็นต์ เหลือวันละประมาณ 750 บาท ซึ่งตอนนี้บนระบบก็มีทั้งรายชั่วโมง รายวัน รายเดือน รายสัปดาห์ โดยมีการปรับเปลี่ยนราคาให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้ใช้
ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เช่ารถของ HAUP นี่เขาเช่าไปทำอะไร
เช่าไปซื้อของ ไปรับพ่อแม่ โดยรวมคือเช่าไปใช้เหมือนเป็นรถของตัวเอง หรืออย่างลูกค้าบางคนที่เราเคยสัมภาษณ์ เขาอยู่มหาวิทยาลัยแถวรังสิต เป็นผู้หญิงตัวคนเดียวแล้วไม่อยากนั่งแท็กซี่ตอนดึกๆ ก็เลยเช่ารถของ HAUP มาจอดไว้หน้าหอตัวเองเลย นี่คือเคสที่เขาใช้เหมือนเป็นรถตัวเอง จะเมื่อไหร่ก็ใช้ได้
ไอเดียการคิดค่าบริการรายชั่วโมงดูเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นเคย คุณกังวลว่าคนจะไม่อยากลองใช้บ้างไหม
ผมไม่กังวลเลยนะ ผมมองว่าสุดท้ายแล้วถ้าเซอร์วิสของเราตอบโจทย์ โปรดักต์ของเราให้คุณค่าที่ลูกค้าอยากได้ ยังไงเขาก็ใช้ มันเหมือน iPhone หรือ MacBook ที่คนเขาเลือกใช้กันเพราะมันตอบโจทย์เขานั่นแหละ
ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา รายได้ของเราโต 100 เปอร์เซ็นต์ทุกปี นั่นทำให้ผมมั่นใจว่า HAUP สามารถตอบคุณค่าที่ลูกค้าต้องการได้จริงๆ อีกอย่างคือรถที่อยู่ใน HAUP ไม่ใช่ของเรา เป็นรถของคนทั่วไปที่มาลงในแพลตฟอร์ม และเราทำให้เขาเห็นว่าเราสามารถคืนกำไรแบ่งให้พวกเขาได้จริงๆ ความท้าทายคือเราต้องทำให้เขา ‘เอ๊ะ’ กับการมีรถจอดอยู่เฉยๆ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เราแค่ต้องแนะนำว่าก็เอามาปล่อยเช่าสิ มีรายได้ด้วย ปล่อยรถให้เช่าก็เหมือนซื้อคอนโดฯ แล้วปล่อยให้เช่านั่นแหละ
ช่วยเล่ากระบวนการให้ฟังหน่อยสิ สมมติว่าถ้าเรามีรถแล้วอยากปล่อยให้เช่า เราต้องทำอะไรบ้าง
ค่อนข้างเรียบง่าย สเต็ปแรกคือสมัครเข้ามาก่อน แล้วเราจะตรวจสอบว่ารถพร้อมใช้งานหรือเปล่า ถ้าตรวจแล้วผ่าน HAUP ก็จะนำเข้าระบบ มีกระบวนการสมัครประกันภัยและติดตั้งระบบ GPS หรือ IOT เข้าไปเพื่อให้สามารถปลดล็อกรถผ่านแอปฯ ได้ สุดท้ายก็ออนไลน์ แค่นั้นเอง
มองเผินๆ การทำงานของ HAUP ไม่ต่างจากธุรกิจเช่ารถทั่วไป คุณเคยคิดว่าการมีอยู่ของ HAUP จะเป็นการดิสรัปต์ธุรกิจรถเช่าไหม
ไม่เลยนะ เพราะคนที่ทำธุรกิจปล่อยเช่ารถ เขาก็มาปล่อยให้เช่าผ่าน HAUP เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นเหมือนกัน เราเป็นหนึ่งในช่องทางการขายให้กับคนที่ประกอบธุรกิจรถเช่าอยู่แล้ว นั่นคือความตั้งใจของเราตั้งแต่ Day 1 คือเราไปคุยกับผู้ประกอบการรถเช่าทุกเจ้าเพื่อเป็นคู่ค้ากัน ปัจจุบันจะเห็นว่ามีหลายเจ้าอยู่ในแอปฯ ของเราแล้ว
ความท้าทายอยู่ที่ผู้ใช้งานมากกว่า สมัยก่อนเราคงนึกไม่ออกหรอกเพราะเรียกแท็กซี่ก็เร็วอยู่แล้ว ทำไมต้องไปเรียกผ่านแอปฯ ที่ให้รอหลายนาที แต่พอมันทำไปเรื่อยๆ การรอไม่กี่นาทีมันก็เมกเซนส์ ผมมองว่าตลาดรถเช่าก็เหมือนกัน ถ้าผู้ใช้สามารถจองผ่านแอปฯ ได้มันจะสะดวกขึ้น
ในแง่การทำธุรกิจ คุณหากำไรจากสิ่งที่ทำอยู่ได้อย่างไร
โมเดลธุรกิจของ HAUP เป็นแพลตฟอร์มแบบ Sharing Economy ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแบ่งปันสินทรัพย์ ซึ่งจริงๆ ก็มีหลายธุรกิจที่อยู่ใน Sharing Economy อย่างแชร์เรือยอช์ต แชร์เครื่องบิน ส่วน HAUP เราโฟกัสที่แชร์รถ จึงทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางที่จับพาร์ตเนอร์กับยูเซอร์มาเจอกัน แล้วเราก็ทำให้ทั้งคู่มีประสบการณ์ที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นการจะสร้างกำไรจากสิ่งนี้มันยากมาก และอาจจะยาวนาน 8 – 10 ปีเหมือนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั่วไป
แล้วถ้ากำไรไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ อะไรคือสิ่งนั้น
ที่เราทำตรงนี้เพราะเราอยากสร้างมูลค่าที่เป็น Positive คืนกับสังคม ในเชิงเศรษฐศาสตร์จะเรียกว่า Positive Externality ซึ่งเอาเข้าจริงเราจะซื้อรถมาปล่อยเช่าเองแล้วคาดหวังกำไรสูงสุดเลยก็ได้ จะกักกำไรทุกอย่างไว้กับตัวเองแล้วไม่ต้องแบ่งกำไรให้พาร์ตเนอร์ก็ได้ นั่นเป็นอีกโมเดลหนึ่ง แต่มันจะไม่สนุกไง แบบนั้นเราจะทำอยู่คนเดียว แล้วสังคมแบบ Sharing Economy ก็จะไม่เกิดขึ้น
ย้อนกลับไปในสิ่งที่ผมอยากเห็นคือไม่อยากให้เมืองมีมลพิษ และผมก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะสามารถออกนโยบายบังคับคนได้ วิธีของผมจึงเป็นการสร้างให้เกิด Positive Externality หรือสร้างให้เกิดสังคมที่ช่วยกันทำ ผมต้องการเพื่อนมาช่วยผมสร้างแล้วแบ่งกำไรกัน นี่คืออีกวิธีหนึ่งในการทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น