Haikyu!! สุดยอดมังงะฟื้นกระแสวอลเลย์ฯในญี่ปุ่น - Urban Creature

‘เพราะว่าเราไม่มีปีก ดังนั้นเราจึงพยายามหาวิธีที่จะบิน’

หากพูดถึงอนิเมะที่กระแสแรงที่สุดในวินาทีนี้คงหนีไม่พ้น ‘ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน’ หรือ ‘Haikyu!!’ จากกระแส #ประเทศไทยมีศึกกองขยะแล้ว ครองไทม์ไลน์โซเชียลมีเดียตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงปัจจุบัน

Haikyuu

แต่จริงๆ แล้วความเฟมัสของไฮคิว!! ไม่ได้เพิ่งมีในช่วงปีนี้ เพราะที่ผ่านมาไฮคิว!! ถูกพูดถึงมาตลอดในฐานะการ์ตูนสร้างแรงบันดาลใจ ที่ ‘ชาวไฮเคี่ยน’ มักนำโควตของตัวละครในเรื่องมาแชร์กันบ่อยครั้ง ทั้งบทสนทนาที่เปิดมุมมองการใช้ชีวิตและการทำตามความฝัน

ไฮคิว!! ถือเป็นสุดยอดมังงะกีฬา ที่พูดถึงเรื่องราวของ ‘ฮินาตะ โชโย’ เด็กหนุ่มตัวเล็กที่สนใจในกีฬาวอลเลย์บอลตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา หลังบังเอิญได้เห็นการแข่งขันของ ‘ยักษ์จิ๋ว’ เอซ (Ace) ในตำนานของทีมคาราสึโนะ ผู้เล่นตัวเล็กที่สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ทีมตรงข้ามที่สูงถึง 190 เซนติเมตรได้ ทำให้ฮินาตะใฝ่ฝันอยากเป็นอย่างยักษ์จิ๋ว พยายามฝึกฝนกีฬาวอลเลย์บอล เกิดเป็นเรื่องราวมิตรภาพและการแข่งขันตามมา

ไฮคิว!! ถือกำเนิดจากฝีมือการเขียนของ ‘อาจารย์ฮารุอิจิ ฟุรุดาเตะ’ โดยเริ่มต้นจากการตีพิมพ์ในนิตยสารโชเน็งจัมป์รายสัปดาห์ ในปี 2555 ก่อนจะถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะซีซันแรกในปี 2557 ปัจจุบันมีการรวมเล่มมังงะจนจบ 45 เล่ม อนิเมะ 4 ซีซัน โดยล่าสุดภาพยนตร์อนิเมะกำลังฉายในโรงภาพยนตร์ ในชื่อ ‘Haikyu!! The Dumpster Battle ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน ตอน : ศึกที่กองขยะ’ ที่ทำให้มังงะเรื่องนี้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง

คอลัมน์เนื้อหนังขอใช้โอกาสนี้พาทุกคนมาสำรวจว่า อะไรที่ทำให้ไฮคิว!! กลายเป็นสุดยอดการ์ตูนกีฬาสร้างแรงบันดาลใจที่ควรดูสักครั้งในชีวิต พร้อมถอดรหัสความสำเร็จของการฟื้นฟูกระแสกีฬาวอลเลย์บอลที่ซบเซาในญี่ปุ่นได้จริง

แรงบันดาลใจจากยักษ์จิ๋วสู่ฮินาตะ ที่ส่งต่อไปยังนักเรียนญี่ปุ่น

ในบ่ายวันหนึ่ง ขณะที่ฮินาตะเห็นยักษ์จิ๋วจากโรงเรียนคาราสึโนะ นักกีฬาที่มีความสูงไม่ต่างจากตนเอาชนะคู่แข่งในศึกวอลเลย์บอลระดับมัธยมปลายได้ สิ่งนี้คือสิ่งที่จุดประกายเส้นทางการเป็นนักกีฬาอาชีพของฮินาตะที่ใครต่างบอกว่าเป็นไปไม่ได้ให้เริ่มต้นขึ้น

ฮินาตะใช้เวลา 3 ปี ในการฝึกฝนและรวบรวมทีมวอลเลย์บอลของตนเอง ซึ่งการแข่งครั้งแรกของฮินาตะก็คือครั้งสุดท้ายของเขาในระดับ ม.ต้น แม้เขาจะแพ้ให้ทีมตรงข้าม แต่ฮินาตะก็ไม่ย่อท้อต่อเส้นทางนักกีฬาของตนเอง เขาสอบเข้า รร.มัธยมปลายคาราสึโนะ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ยักษ์จิ๋วเคยเรียน และพาทีมวอลเลย์บอลของโรงเรียนชนะระดับจังหวัดสู่การแข่งขันระดับประเทศ พร้อมกับลบคำสบประมาท ‘อีกาปีกหัก’

ย้อนไปช่วงหลังจบการแข่งนัดแรก ฮินาตะพ่ายแพ้ให้กับ ‘คาเงยามะ โทบิโอะ’ ผู้ได้รับฉายาว่า ‘ราชาแห่งสนาม’ ด้วยทักษะการเซตบอลที่เร็วและแม่นยำที่แม้แต่เพื่อนร่วมทีมก็จับจังหวะไม่ทัน จนบอกกับฮินาตะว่า “3 ปีที่ผ่านมา นายมัวไปทำอะไรอยู่!?” หลังเห็นทักษะความว่องไว การกระโดดสูง และความมุ่งมั่นในการเอาชนะของอีกฝ่าย

ความยากลำบากในการรวบรวมทีมของฮินาตะ และบทสนทนาครั้งนั้น ทำให้เราเข้าใจบริบทความซบเซาของวอลเลย์บอลในญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากโรงเรียนมัธยมต้นของเขาไม่มีชมรมวอลเลย์บอลชายให้เข้าร่วม หลังความนิยมกีฬาประเภทนี้ลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์ฟุรุดาเตะอ้างอิงมาจากสถานการณ์จริงของประเทศญี่ปุ่น

กราฟจำนวนชมรมวอลเลย์บอลชายในระดับมัธยมต้นญี่ปุ่นก่อนมี Haikyu!!

จากการสำรวจความชื่นชอบกีฬาวอลเลย์บอลเพื่อเผยแพร่สารคดี ‘We became Strong Through Manga’ โดยสถานีโทรทัศน์แห่งชาติญี่ปุ่น NHK เมื่อปี 2559 พบว่า ก่อนมังงะเรื่องไฮคิว!! จะถือกำเนิดขึ้น เดิมนักเรียนในชมรมวอลเลย์บอลญี่ปุ่นระหว่างปี 2552 – 2555 มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว จาก 41,000 คน เหลือเพียง 37,000 คน ขณะที่จำนวนชมรมวอลเลย์บอลชายในระดับ ม.ต้น ก็ลดลงเช่นกัน

กราฟจำนวนนักเรียนในชมรมวอลเลย์บอลญี่ปุ่น

แต่เมื่อมังงะบทแรกถูกเผยแพร่ในนิตยสารโชเน็งจัมป์รายสัปดาห์ในช่วงปี 2555 สิ่งที่น่าตกใจคือ ตัวเลขนักเรียนที่สนใจวอลเลย์บอลและเข้าร่วมชมรมภายใน 4 ปีถัดมาเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนมากถึง 46,000 คน และทะลุยอด 50,000 คนในปัจจุบัน

ความมุมานะและการพยายามก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องส่วนสูง ทำให้ฮินาตะกลายเป็นไอดอลที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กในประเทศญี่ปุ่นหันมาสนใจกีฬาวอลเลย์บอลจำนวนไม่น้อย และหนึ่งในนั้นคือ ‘ทาเกดะ โชโกะ’ หนึ่งในนักเรียนระดับมัธยมปลายจากเมืองโทคุชิมะ ที่ให้สัมภาษณ์กับทาง NHK ว่า ยกให้ฮินาตะเป็นแรงบันดาลใจในการเล่นกีฬา เนื่องจากทั้งคู่มีส่วนสูงที่ไม่ต่างกันมากนัก

คู่มือการเล่นวอลเลย์บอล 101 กับการสอนให้คนมีน้ำใจนักกีฬา

นอกจากเนื้อเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียนญี่ปุ่นจำนวนมากแล้ว ไฮคิว!! ยังเป็นเหมือน ‘คู่มือการเล่นวอลเลย์บอล 101’

เนื่องจากตัวอาจารย์ฟุรุดาเตะเคยเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอล จึงพยายามอธิบายกติกากีฬาชนิดนี้ให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย พร้อมสอดแทรกเทคนิคการเล่นที่นำไปปรับใช้ได้จริง ตั้งแต่เรื่องเบสิกอย่างการกำหนดสัญญาณมือระหว่างผู้เล่นในทีม การบล็อกเพื่อจำกัดทิศทางการตบของฝ่ายตรงข้าม หรือแม้กระทั่งเทคนิคการเล่นบอลเร็วประหลาดของคู่หูประจำคาราสึโนะ

และถ้าถามว่าไฮคิว!! ประสบความสำเร็จในการปลูกฝังเรื่องกีฬาวอลเลย์บอลแค่ไหน ก็ดูได้จาก ‘ยานางิดะ มาซาฮิโระ’ และ ‘ยามาอุจิ อากิฮิโระ’ สองผู้เล่นอาชีพระดับประเทศ ที่ให้สัมภาษณ์กับ NHK ว่า ไฮคิว!! เป็นมังงะที่ทำให้พวกเขานึกถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่มีต่อกีฬาวอลเลย์บอล ผ่านความสมจริงที่ถูกถ่ายทอดผ่านบุคลิกที่หลากหลาย ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมทีม การแข่งขันในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และพัฒนาการของตัวละคร รวมถึงพวกเขายังได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในการแข่งขันจริง

Haikyuu

การเก็บรายละเอียดตั้งแต่จุดเริ่มต้นการเล่นวอลเลย์บอลของตัวละครที่ต่างกัน กระทั่งการพัฒนาทักษะและนิสัยของตัวละคร ทำให้เห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลายของวงการกีฬามากขึ้นว่า ไม่มีสูตรสำเร็จการเป็นทีมในอุดมคติ เพราะแต่ละทีมต่างมีรูปแบบการเล่นและการสื่อสารที่ต่างกันตามนิสัยของสมาชิก การฉายภาพการฝึกซ้อมครั้งแล้วครั้งเล่าแสดงให้เห็นว่าทุกคนล้วนเป็นคนธรรมดา ถ้าอยากเก่งก็ต้องฝึกฝนและพยายามไปเรื่อยๆ

นอกจากการพัฒนาทักษะของตนเองแล้ว ไฮคิว!! ยังทำให้เห็นว่า ‘ความร่วมมือ’ เป็นหัวใจหลักของการเล่นวอลเลย์บอล ผ่านคาเงยามะที่ได้รับฉายาราชาแห่งสนาม จากนิสัยที่สนใจแต่การทำคะแนนและละเลยความรู้สึกของเพื่อนร่วมทีม แต่เมื่อได้พบกับฮินาตะและทีมคาราสึโนะ คาเงยามะก็เริ่มเข้าใจความเป็นทีมมากขึ้น พร้อมปรับตัวเป็นเซตเตอร์ที่มีรูปแบบการเล่นเข้ากับคนในทีม โดยครั้งหนึ่งเขาได้พูดประโยคหนึ่งกับ ‘อาซึมาเนะ อาซาฮิ’ เอซ (Ace) ของทีมคาราสึโนะที่หมดกำลังใจในการเล่นวอลเลย์บอล หลังพ่ายแพ้การแข่งกับทีมโรงเรียนเทคนิคดาเตะโคในปีก่อนหน้าว่า

“นายชนะเองคนเดียวไม่ได้หรอกนะ ในสนามมีอยู่หกคน
ฉันคงสอนนายไม่ได้หรอก เพราะฉันก็เพิ่งเข้าใจมันด้วยตัวเอง”

พลังของมังงะที่ช่วยขับเคลื่อนกีฬาและการท่องเที่ยวในประเทศ

ไม่ใช่แค่ตัวมังงะ แต่เพลงประกอบอนิเมะเรื่องนี้ยังช่วยส่งต่อกำลังใจและการเอาชนะข้อจำกัดของตนเอง ด้วยท่วงทำนองที่ฟังแล้วรู้สึกฮึกเหิม แม้เราจะฟังภาษาญี่ปุ่นไม่ออกก็ตาม

ไม่ว่าจะเป็น ‘Imagination’ เพลงเปิดในซีซันแรกของพาร์ตแรก โดย SPYAIR วงร็อกชื่อดังของญี่ปุ่น ที่เนื้อเพลงสื่อถึงการแข่งขันกับตัวเองและเอาชนะสิ่งที่น่ากลัว หรือเพลง ‘Fly High!!’ โดย Burnout Syndromes ที่ถูกยกให้เป็นเพลงประจำเรื่องไฮคิว!! เพราะเนื้อเพลงสื่อถึงการบินขึ้นไปให้สูงกว่าเดิม ตรงกับสโลแกนของทีมคาราสึโนะว่า ‘จงโบยบิน’

แถมทั้ง 2 เพลงยังถูกเปิดในการแข่งขันโอลิมปิก ปี 2020 ระหว่างการแข่งขันวอลเลย์บอลชายญี่ปุ่น สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับแฟนคลับไฮคิว!! เป็นอย่างมากกับการเลือกใช้เพลงประกอบอนิเมะในการแข่งกีฬาระดับนานาชาติ

Haikyuu

แต่กระแสของไฮคิว!! ยังไม่หยุดอยู่เท่านี้ เพราะนอกจากเพลงที่ใช้เปิดระหว่างการแข่งโอลิมปิกแล้ว ไฮคิว!! ยังได้คอลแลบกับ ‘V.LEAGUE’ ลีกวอลเลย์บอลอาชีพสูงสุดของประเทศญี่ปุ่นในการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรม ‘Haikyu!! x V. League Collab Special Match 2020’ การจัดแข่งขันในนามของทีม SCHWEIDEN ADLERS และทีม MSBY BLACK JACKAL ซึ่งเป็นสโมสรวอลเลย์บอลที่ฮินาตะและคาเงยามะสังกัดอยู่หลังแยกย้ายจากชั้น ม.ปลาย หรือการร่วมมือกับทีมชาติของญี่ปุ่นในการจัดทำมังงะฉบับพิเศษ ที่มีตัวละครจากทีมชาติญี่ปุ่นตัวจริงมาแข่งวอลเลย์บอลกับนักกีฬาจากไฮคิว!!

อีกทั้งไฮคิว!! ยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในทางอ้อม เพราะการที่อาจารย์ฟุรุดาเตะเลือกใช้สถานที่จริงมาเป็นต้นแบบในการวาด ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการอยากไปตามรอยตามที่ต่างๆ

ยกตัวอย่าง Tatesaka Electronic Store ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยจุดประกายความฝันให้ฮินาตะ, โรงเรียนมัธยมปลายคารุไม ต้นแบบของ รร.คาราสึโนะ, Takesawa Store ต้นแบบ Shimada Mart ร้านที่เพื่อนร่วมรุ่นของโค้ชอุไคสอนเสิร์ฟให้กับ ‘ยามากุจิ ทาดาชิ’ สมาชิกจากทีมคาราสึโนะ, ศูนย์พัฒนากีฬาวอลเลย์บอลแห่งชาติ อายิโนะโมะโต๊ะ ที่มีสมาคมวอลเลย์บอลญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ หรือค่ายฝึกซ้อมทีมชาติญี่ปุ่นรุ่นเยาวชนที่คาเงยามะเข้าร่วม และศูนย์กีฬาในร่มโตเกียว (Tokyo Metropolitan Gymnasium) ที่เป็นต้นแบบสถานที่ที่ใช้จัดการแข่งขันชิงแชมป์ระดับ ม.ปลาย ซึ่งถูกใช้เป็นสนามหลักของการแข่งขันโอลิมปิก ปี 2020 ด้วยเช่นกัน

โครงสร้างสังคมและนโยบายจากภาครัฐที่สนับสนุนให้คนกล้าฝัน

หากเราเรียกไฮคิว!! ว่าเป็นเชื้อเพลิงในการจุดประกายความฝัน แต่ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐและทุกหน่วยย่อยในสังคมตั้งแต่การสนับสนุนกิจกรรมชมรมอย่างจริงจัง จำนวนนักกีฬาวอลเลย์บอลชายในญี่ปุ่นคงจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างในทุกวันนี้

โดยจุดเริ่มต้นของเชื้อเพลิงนี้เริ่มจาก ‘นโยบาย Cool Japan’ ที่พยายามสร้างกระแสความนิยมญี่ปุ่นผ่านวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้ภายในต่างประเทศอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2555

Haikyuu

แก่นของนโยบายนี้คือ การใช้กลยุทธ์ ‘จุดแข็งเสริมจุดอ่อน’ ที่ตระหนักว่าประเทศญี่ปุ่นมีความแข็งแรงทางวัฒนธรรม และเลือกสนับสนุนให้กลุ่มผู้ผลิตสามารถเข้าถึงเงินทุนและสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้เต็มที่ เพื่อเสริมความนิยมของกีฬาวอลเลย์บอลที่กำลังถดถอยลงให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

นอกจากนั้น วงการมังงะในประเทศญี่ปุ่นยังเปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์สามารถเข้าถึงโอกาสในการเผยแพร่เนื้อหาของตนเองสู่สาธารณะ ผ่านการตีพิมพ์รวมอยู่กับนิตยสารรายสัปดาห์ที่อาจมีเพียงไม่กี่หน้าต่อเล่ม แต่เมื่อเริ่มเกิดกระแสนิยมกับมังงะเรื่องนั้นมากขึ้น จะมีการทาบทามไปผลิตแบบรวมเล่มออกวางขายทันที

ขณะเดียวกัน ความสำเร็จนั้นอาจต่อยอดไปถึงการผลิตเป็นภาพยนตร์อนิเมะหรือซีรีส์หลายซีซัน หรืออาจได้ไปคอลแลบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องหลัก เพื่อใช้ในการโฆษณามังงะและหน่วยงานนั้น อย่างที่อาจารย์ฟุรุดาเตะถ่ายทอดเรื่องราวที่อยู่ในหัวของเขาผ่านโชเน็งจัมป์รายสัปดาห์ และถูกหยิบไปใช้ในการโฆษณาสโมสรวอลเลย์บอล V.LEAGUE ที่ได้ประโยชน์ทั้งความฟินของชาวไฮเคี่ยน และทำให้คนญี่ปุ่นหันมาสนใจกีฬาวอลเลย์บอลมากขึ้น

Haikyuu

นอกจากนั้น เดิมรัฐบาลญี่ปุ่นก็มีการจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลระดับมัธยมศึกษา เพื่อเฟ้นหาตัวแทนแต่ละจังหวัดสู่การแข่งในระดับประเทศ และคัดเลือกนักกีฬาเยาวชนที่มีแววพัฒนาเป็นผู้เล่นทีมชาติมาฝึกในศูนย์ฝึกซ้อมอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสในฟากของกีฬา ควบคู่ไปพร้อมๆ กับการผลักดันด้านงานสร้างสรรค์

และถึงแม้ผู้อ่านไฮคิว!! ทุกคนจะไม่ได้เลือกเส้นทางการเป็นนักกีฬาอาชีพอย่างฮินาตะ แต่เชื่อว่าหากใครได้อ่านมังงะเรื่องนี้ จะได้ข้อคิดและแรงผลักดันในการลงมือทำอะไรสักอย่างแน่นอน


Sources :
CBR | t.ly/GWsx-
Creative Thailand | t.ly/sy72a
ScreenRant | t.ly/DkNL2
The Japan Times | t.ly/9vux3
WAY Magazine | t.ly/0WqO4
YouTube : Triana Nero | youtube.com/watch?v=uxwc5v8Sqbg
อิทธิพลของการ์ตูนเรื่องไฮคิว คู่ตบฟ้าประทาน ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น | t.ly/Otyph

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.