เราสูญเสียป่ากันไปเท่าไหร่กับไฟป่าภาคเหนือ - Urban Creature

ต้นปีที่ผ่านมา สถานการณ์ไฟป่าในภาคเหนือกินระยะเวลาหลายเดือน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 จนถึงขั้นวิกฤตส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ กระทั่งเมื่อต้นเดือนเมษายน มีฝนโปรยปรายลงมาทำให้ไม่พบจุดความร้อนแล้วและมีค่าฝุ่นดีขึ้นในช่วงนี้


| ทำไมไฟป่าภาคเหนือจึงเกิดขึ้นทุกปี

ไฟป่าและหมอกควันเป็นปัญหาที่พี่น้องในภาคเหนือต้องเผชิญทุกปี เพราะภูมิศาสตร์ของภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและมีที่ราบเป็นแอ่งกระทะ ลักษณะของป่าผลัดใบเมื่อเข้าฤดูแล้งใบไม้และกิ่งไม้แห้งจะกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี และด้วยอากาศไม่ถ่ายเทจึงทำให้ฝุ่นควันถูกกักเอาไว้ นอกจากปัจจัยทางธรรมชาติยังมีสาเหตุของไฟป่าที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์อีกด้วย โดยเฉพาะการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ต้องเผาป่าเพื่อเริ่มทำการเกษตรครั้งใหม่รวมไปถึงการหาของป่า


| เราสูญเสียป่ากันไปเท่าไหร่

หากติดตามข่าวจะสังเกตได้ว่าจุดความร้อน หรือจุดที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลก ซึ่งส่วนมากคือความร้อนจากไฟ ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าสงวน เราจึงนำสถิติที่รวบรวมโดยฝ่ายวิชาการสภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ป่าในภาคเหนือของไทยมีพื้นที่เท่าไร พบจุดความร้อนทั้งหมดกี่จุด และพื้นที่ป่าภาคเหนือถูกไฟไหม้ไปมากน้อยแค่ไหน เพื่อหาแนวทางป้องกันการเกิดไฟป่าในปีต่อๆ ไป หรือจำกัดความเสียหายให้น้อยลง

พื้นที่ป่าใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2562 มีทั้งหมดประมาณ 45 ล้านไร่ พบจุดความร้อน 6.3 หมื่นจุด มีพื้นที่ถูกไฟไหม้ทั้งหมดประมาณ 5.5 ล้านไร่ (คิดเป็น 12.2 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่ป่าทั้งหมด) แบ่งเป็น

  • ป่าผลัดใบ พื้นที่ประมาณ 11 ล้านไร่ (คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่ป่าทั้งหมด) พบจุดความร้อน 1.5 หมื่นจุด พื้นที่ถูกไฟไหม้ประมาณ 1.3 ล้านไร่ (คิดเป็น 2.9 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่ป่าทั้งหมด)
  • ป่าผสม พื้นที่ประมาณ 19 ล้านไร่ (คิดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่ป่าทั้งหมด) พบจุดความร้อน 3.1 หมื่นจุด มีพื้นที่ถูกไฟไหม้ประมาณ 2.7 ล้านไร่ (คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่ป่าทั้งหมด)
  • ป่าไม่ผลัดใบ พื้นที่ประมาณ 15 ล้านไร่ (คิดเป็น 33 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่ป่าทั้งหมด) พบจุดความร้อน 1.7 หมื่นจุด มีพื้นที่ถูกไฟไหม้ประมาณ 1.5 ล้านไร่ (คิดเป็น 3.3 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่ป่าทั้งหมด)

สรุปได้ว่าพื้นที่ป่าใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2562 ที่ไม่ถูกไฟไหม้ มีประมาณ 39.5 ล้านไร่ (คิดเป็น 87.8 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่ป่าทั้งหมด) แม้ตัวเลขจะดูเหมือนเยอะ แต่หากเราไม่หาแนวทางป้องกัน และไฟป่าทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีจนป่าไม่สามารถฟื้นฟูได้ทัน อนาคตป่าในภาคเหนือของไทยก็อาจไม่เหลือ


| พื้นที่ป่าแบบไหนไม่ควรเกิดไฟป่า

จากสถิติจะเห็นได้ว่าไฟป่าภาคเหนือเกิดขึ้นทั้งในป่าผลัดใบและป่าไม่ผลัดใบ ทั้งที่จริงแล้วป่าผลัดใบ ซึ่งได้แก่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าเต็งรัง-ไม้สน ในหน้าแล้งความชุ่มชื้นในดินจะลดลงมาก ต้นไม้ในป่าจะผลัดใบทิ้งและผลิใบใหม่ในหน้าฝน ธรรมชาติของป่าผลัดใบจะเกิดไฟป่าที่เรียกว่า “ไฟจำเป็น” เพื่อรักษาสมดุล ช่วยเคลียร์หน้าดิน เร่งการงอกของเมล็ดพันธุ์ที่มีเปลือกแข็งและหนา ซึ่งขี้เถ้าจากการเผาไหม้จะเป็นแร่ธาตุให้แก่ต้นไม้ 

แต่ป่าไม่ผลัดใบ ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าดิบเขา เป็นป่าที่มีความเขียวชอุ่มตลอดทั้งปี ป่าประเภทนี้ต้องป้องกันไม่ให้เกิดไฟ เนื่องจากไฟจะไปทำลายระบบนิเวศ เพราะพืชในป่าผลัดใบมีความเปราะบางและยากต่อการฟื้นฟู ส่วนป่าผสมคือรอยต่อของป่าผลัดใบและป่าไม่ผลัดใบนั่นเอง


| ปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟป่าและแนวทางป้องกัน

การเกิดไฟป่าประกอบด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ คือ มีปริมาณเชื้อเพลิงแห้งขนาดเล็กเพียงพอ มีความร้อนมากพอที่จุดไฟติดได้ และปริมาณออกซิเจนที่พอเหมาะ ดังนั้นวิธีการป้องกันคือการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการหลายวิธีเข้าด้วยกัน ได้แก่ การลดปริมาณเชื้อเพลิง การเปลี่ยนแปลงประเภทของเชื้อเพลิง การทำแนวกันไฟ และการชิงเผา ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางออกที่สุดคือต้องร่วมมือกันจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพราะผืนป่าเป็นสมบัติของชาติที่เราต้องรักษาให้คงอยู่ตราบชั่วลูกชั่วหลาน


Source : เอกสารชุดความรู้ รับมือ PM 2.5 โดยสภาลมหายใจเชียงใหม่ | https://bit.ly/3fWymT2

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.